รู้ยัง! เพลง ‘แสงดาวแห่งศรัทธา’ มีลิขสิทธิ์? หลัง Youtube เตือนว่าแต่ง-ดูแลระบบโดย Grammy

นอกจากกิจกรรม “เลือกตั้งที่(รัก)ลัก” ในวันแห่งความรัก 14 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งจัดโดยกลุ่มพลเมืองโต้กลับที่หน้าหอศิลป์ กทม. เพื่อรำลึกการเลือกตั้ง 2 ก.พ.57 จะถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ความมั่นคง ทั้งกั้นรั้ว จับกุมผู้ร่วมกิจกรรมดำเนินคดีแล้ว เพลงแสดงดาวแห่งศรัทธาที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมในวันนั้นร้อง ก็ดูเหมือนจะถูกควบคุมผ่านระบบลิขสิทธิ์ใน Youtube อีกด้วย

โดยเมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา จามร ศรเพชรนรินทร์ นักทำสารคดีโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กตัวเอง ‘Jamon Kaojaikid’ ถึงกรณีที่ Youtube เตือนลิขสิทธิ์เพลง ‘แสงดาวแห่งศรัทธา’ ว่า “การแต่งเพลง ดูแลระบบโดย  GMM Grammy” หลังจากที่เขาอัพโหลดคลิปวิดีโอเหตุการณ์ในกิจกรรม “เลือกตั้งที่(รัก)ลัก” ซึ่งมีช่วงหนึ่งที่ผู้ร่วมกิจกรรมได้ร้องเพลงนี้ร่วมกัน

ข้อความที่ Youtube เตือน โพสต์โดย ‘Jamon Kaojaikid

ทั้งนี้คลิปดังกล่าวยังไม่ได้เผยแพร่สาธารณะ แต่อย่างไรก็ตาม จามร ได้ตัดเฉพาะส่วนที่ผู้ร่วมกิจกรรมร้องเพลงแสงดาวแห่งศรัทธาอัพโหลดขึ้น Youtube แม้จะสามารถเผยแพร่สาธารณะได้ แต่จากการสอบถาม จามร เพิ่มเติม เขาระบุว่าคลิปวิดีโอดังกล่าวก็ยังถูก Youtube เตือนเรื่องลิขสิทธิ์เพลงเช่นเดิม โดยเขาระบุว่าได้ส่งจดหมายชี้แจงแล้วว่า เพลงนี้เป็นการร้องของคนผู้คน ไม่มีดนตรี พร้อมทั้งนำข้อมูลเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา ที่เผยแพร่ผ่านวิกิพีเดียส่งไปชี้แจงกับ Youtube ด้วย

วิดีโอที่ตัดเฉพาะส่วนที่ร้องเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา

แต่งโดยจิตร ร้องโดยมวลชน

สำหรับข้อมูลเพลงนี้ที่เผยแพร่ในวิกิพีเดีย ระบุว่า เป็นเพลงที่ประพันธ์โดย จิตร ภูมิศักดิ์ ในช่วงปี พ.ศ. 2503-2505 ขณะถูกขังอยู่ที่ คุกลาดยาว โดยใช้นามปากกาว่า "สุธรรม บุญรุ่ง" ต่อมาเพลงนี้ถูกนำมาขับร้องโดยวง คาราวาน ในช่วงหลัง เหตุการณ์ 14 ตุลา และเป็นที่รู้จักกันทั่วไป เป็นเพลงที่ใช้ปลุกพลัง ความหวัง และศรัทธา ได้เป็นอย่างดี

ข้อมูลยังระบุด้วยว่า 14 ตุลา 2516, 6 ตุลา 2519 ยุคเผด็จการทรราชย์ครองเมือง นักศึกษาถูกสังหาร ถูกจับกุมคุมขัง เหตุเพราะเรียกร้องหา "เสรีภาพ" มีเรื่องเล่าว่า : ในคุกที่กลุ่มนักศึกษาถูกจองจับจำนวนมาก ท่ามกลางความสิ้นหวัง หวาดกลัว เจ็บแค้นและปวดร้าว พลันก็มีคนคนหนึ่งเปล่งเสียงนำขึ้น ทำลายความเงียบงัน ร้องเพลงเพลงหนึ่งขึ้น จาก 1 เสียงเพิ่มทีละเสียงๆ จนดังกังวาน ก้องไปทั่ว ดังเข้าไปในจิตวิญญาณของผู้เรียกร้องเสรีภาพและความเป็นธรรม เพลงๆ นั้นยังคงเป็นอมตะตราบทุกวันนี้

วงดนตรีเพื่อชีวิต "คาราวาน" เป็นผู้นำเพลงแสงดาวแห่งศรัทธามาขับร้องจนเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ผลงานเพลงของจิตรมีมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเพลงปฏิวัติ เพลงปลุกใจ โดยเพลงนี้แสดงลักษณะการมองโลกในแง่ดีของจิตร ถึงแม้ว่าจะถูกจับกุมคุมขัง แต่ก็ยังมองเห็นความหวัง ฟ้าทั้งผืนแม้จะมืดมิด แต่ก็ยังมีดาวดวงน้อยแซมแต้ม การจับกุมคุมขัง มิใช่การสิ้นสุดบทบาทของชีวิต เมื่อมองเห็นความหวังแล้ว ก็มีพลังศรัทธาในการที่จะทำงานเพื่อผลประโยชน์ของสาธารณชนอีกต่อไปอย่างเชื่อมั่น ความเป็นจริงจะต้องปรากฏสักวันหนึ่งว่าใครทำอะไรเพื่อใคร

เนื้อเพลง :

"พร่างพรายแสง ดวงดาวน้อยสกาว
ส่องฟากฟ้า เด่นพราวไกลแสนไกล
ดั่งโคมทอง ส่องเรืองรุ้งในหทัย
เหมือนธงชัย ส่องนำจากห้วงทุกข์ทน
พายุฟ้า ครืนข่มคุกคาม
เดือนลับยาม แผ่นดินมืดมน
ดาวศรัทธา ยังส่องแสงเบื้องบน
ปลุกหัวใจ ปลุกคนอยู่มิวาย
ขอเยาะเย้ย ทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ
คนยังคง ยืนเด่นโดยท้าทาย
แม้นผืนฟ้า มืดดับเดือนลับมลาย
ดาวยังพราย ศรัทธาเย้ยฟ้าดิน
ดาวยังพราย อยู่จนฟ้ารุ่งราง"
 

ร้องทุกกลุ่ม เพลงโปรดลุงจำลอง

สำหรับปัจจุบันเพลงนี้มักถูกร้องขึ้นในหลายเวทีทางการเมือง แม้แต่ จำลอง ศรีเมือง อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ยังชื่นชอบเพลงนี้ เพราะให้ความหมายของการต่อสู้ที่ไม่ย่อท้อต่อความทุกข์ยากและอุปสรรค ถึงขนาดที่เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ปี 51 ทีมงานเอเอสทีวีและพันธมิตรฯ ได้ทำมิวสิกวีดีโอภาพการต่อสู้ของ “จำลอง” ประกอบเพลงนี้ หลังจาก จำลองถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัว ระหว่างการไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. โดยสนธิ ลิ้มทองกุลได้นำมาเปิดระหว่างการปราศรัยบนเวทีที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อสดุดีจำลอง

MV จำลอง ประกอบเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา

เพลงเพื่อชีวิต และคอมมิวนิสต์ชื่อจิตร

อติภพ ภัทรเดชไพศาล เคยเขียนถึงเพลงนี้ ในวารสาร “อ่าน” ปีที่ 3 ฉบับที่ 4 ตุลาคม 2554-มีนาคม 2555 ว่า “เพลงเพื่อชีวิต” เป็นการส่งผ่านแนวคิดของจิตร ภูมิศักดิ์ (พ.ศ. 2473-2509) ที่ว่าด้วยศิลปะเพื่อชีวิตและเพื่อประชาชน อันเป็นแนวคิดของนักคิดนักเขียนฝ่ายก้าวหน้า ในความหมายถึงอุดมการณ์แบบสังคมนิยม จำนวนมากในยุคหนึ่ง ที่เสนอว่าศิลปะทุกประเภทควรมีหน้าที่รับใช้สามัญชนคนธรรมดา เปิดเผยและสะท้อนภาพสังคมที่เป็นจริง อันจะนำไปสู่การสร้างสรรค์สังคมใหม่ที่ดีกว่าเดิม แต่ภาพลักษณ์ของเพลงเพื่อชีวิตในปัจจุบันกลับเปลี่ยนแปลงไปจนมีสถานะที่ยากต่อการนิยาม เช่นกันกับภาพตำนานของจิตร ที่สามารถปรากฏทั้งบนเวทีเสื้อเหลืองและเวทีเสื้อแดง ที่ดูเหมือนจะมีอุดมการณ์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพลงของจิตร ถูกนำมาขับร้องบนเวทีชุมนุมของสองฝ่าย การกล่าวขานถึงจิตรก็เป็นไปอย่างเข้มข้นบนเวทีของทั้งสอง อันนำไปสู่คำถามว่า ภาพลักษณ์ของจิตร ปรากฏต่อการรับรู้ของผู้คนในแบบใด และด้วยที่มาที่ไปอย่างไร

ความเป็นคอมมิวนิสต์ของจิตร นั้นไม่ควรเป็นที่กังขา ไม่ว่าจิตรจะมีความขัดแย้งกับสมาชิกระดับสูงของพรรคดังที่เคยมีผู้กล่าวไว้หรือไม่ ตัวตนของจิตร ภูมิศักดิ์ในวัยที่เปี่ยมด้วยวุฒิภาวะนั้น เห็นได้ชัดว่ามีอุดมการณ์การต่อสู้ด้วยแนวคิดฝ่ายสังคมนิยม โดยเฉพาะหลังกรณีโยนบกที่จุฬาฯ (พ.ศ. 2496) จิตรบันทึกไว้ว่า “เป็นการระเบิดรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้ขั้นแตกหักระหว่างความขัดแย้งภายในความคิดของข้าพเจ้า ซึ่งความคิดใหม่ชนะความคิดเก่า และสะท้อนออกมาเป็นการเหวี่ยงจากปลายสุดขั้วทางขวา มาสู่ปลายสุดขั้วทางซ้าย”

และไม่ว่าคำว่า “ซ้าย” จะเป็นเพียงอุปมา หรือจะสื่อโดยตรงไปถึงแนวคิดแบบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ก็ตาม วรศักดิ์ มหัทธโนบล เขียนไว้ว่า หลังจากกรณีโยนบก พลพรรคของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ได้เข้ามาทำความรู้จักกับจิตร และ “จัดตั้ง” จิตรจริงๆ โดยผู้ดูแลจิตรในขณะนั้นมาจาก พคท. มีบทบาทอยู่ในแวดวงคนทำหนังสือ และมีส่วนช่วยให้จิตรได้ไปพบปะกับนายผี (อัศนี พลจันทร) สองต่อสองราวหนึ่งชั่วโมง ตามคำขอร้องของจิตรอีกด้วย

ลิขสิทธิ์ไทยเข้ม ขนาดร้องงานแต่งยังถูกค่ายเพลงฟ้อง

ต่อประเด็นลิขสิทธิ์เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ไทยรัฐออนไลน์ รายงานด้วยว่า กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ได้ส่งจดหมายเรียกตัวฟอร์ด สบชัย ไกรยูรเสน อดีตนักร้องชื่อดัง มาเป็นพยานในคดีที่บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ว่าจ้างฟอร์ด ไปร้องเพลง "หยุดตรงนี้ที่เธอ" ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์เพลงของบริษัทอาร์เอส ในงานแต่งงาน เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2557 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ โดยทางบริษัทอาร์เอสเชื่อว่า ได้มีการจ่ายค่าตอบแทนให้กับสบชัย ทำให้อาร์เอสได้รับความเสียหาย จึงประสงค์ดำเนินคดีกับผู้ว่าจ้างที่ให้ฟอร์ดไปร้องเพลงในงานแต่งงานนี้ จนกว่าคดีจะถึงที่สุด

ล่าสุดวานนี้(19 ก.พ.) Sanook.com รายงานว่า ฟอร์ด เปิดเผยว่าจะเลิกร้อง 3 เพลงดังของตัวเองตลอดชีวิต ได้แก่ หยุดตรงนี้ที่เธอ กระต่ายในจันทร์ และ ไม่อยากทำให้เธอลำบากใจ เพื่อตัดปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์จากค่ายเพลง และยังฝากถึงศิลปินรุ่นใหม่ว่านอกจากร้องเพลงเก่งแล้ว ควรต้องรู้เรื่องกฏหมายด้วย

การคุ้มครองลิขสิทธิ์ใน Youtube

Youtube ได้อธิบายถึงกรณีที่วิดีโอที่มีเนื้อหาที่ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ไว่ว่าหากอัปโหลดวิดีโอที่มีเนื้อหาดังกล่าง อาจได้รับการอ้างสิทธิ์ Content ID ซึ่งการอ้างสิทธิ์นี้ออกโดยบริษัทเจ้าของเพลง ภาพยนตร์ รายการทีวี วิดีโอเกม หรือเนื้อหาที่ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์อื่นๆ

โดย Youtube ระบุด้วยว่า ส่วนใหญ่แล้ว การได้รับการอ้างสิทธิ์ Content ID ไม่ใช่สิ่งไม่ดีสำหรับช่อง YouTube ของคุณ แต่หมายความว่า “นี่ เราพบเนื้อหาบางอย่างในวิดีโอของคุณที่เป็นของคนอื่น”

โดยเจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิ์ตัดสินใจว่าผู้อื่นสามารถนำเนื้อหาดั้งเดิมของตนไปใช้ซ้ำได้หรือไม่ ในหลายๆ ครั้งเจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตการใช้เนื้อหาของตนในวิดีโอ YouTube เพื่อแลกกับการวางโฆษณาบนวิดีโอเหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีเจ้าของลิขสิทธิ์ก็ไม่ต้องการให้ผู้อื่นใช้เนื้อหาของตนซ้ำอีก

-       การบล็อกวิดีโอ: บางครั้งเจ้าของลิขสิทธิ์อาจบล็อกวิดีโอของคุณ ซึ่งหมายถึงผู้อื่นจะไม่สามารถดูวิดีโอดังกล่าวได้ เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถเลือกบล็อกวิดีโอของคุณทั่วโลก หรือแค่ในบางประเทศได้ หากวิดีโอของคุณถูกบล็อกทั่วโลก สถานะของบัญชีของคุณอาจได้รับผลกระทบ ซึ่งหมายถึงคุณจะเสียสิทธิ์การเข้าถึงคุณลักษณะบางอย่างของ YouTube โปรดทราบว่าว่าการลบวิดีโอที่ส่งผลต่อสถานะของบัญชี ไม่สามารถกู้สถานะที่ดีของบัญชีคืนมาได้

-       การปิดเสียงวิดีโอ: หากวิดีโอของคุณมีเพลงที่ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถเลือกปิดเสียงวิดีโอได้ ซึ่งหมายถึงผู้อื่นจะยังสามารถดูวิดีโอของคุณได้ แต่จะไม่ได้ยินเสียงวิดีโอ และจะไม่ส่งผลต่อสถานะของบัญชี

-       การบล็อกเฉพาะแพลตฟอร์ม: ในบางกรณี เจ้าของลิขสิทธิ์อาจจำกัดอุปกรณ์ แอป หรือเว็บไซต์ที่จะแสดงเนื้อหาของตน การจำกัดดังกล่าวจะไม่ส่งผลต่อการแสดงวิดีโอบน YouTube.com

เมื่อคุณได้รับการอ้างสิทธิ์ Content ID คุณสามารถเลือกดำเนินการตามสถานการณ์ได้ดังนี้

-       รับทราบการอ้างสิทธิ์: หากคุณเห็นด้วยกับการอ้างสิทธิ์ คุณสามารถรับทราบการอ้างสิทธิ์แล้วปล่อยไว้เช่นนั้น คุณสามารถเปลี่ยนใจภายหลังได้ทุกเมื่อหากไม่เห็นด้วยการการอ้างสิทธิ์

-       ลบเพลง: หากคุณได้รับการอ้างสิทธิ์เพลงในวิดีโอ คุณสามารถลบเพลงได้โดยไม่ต้องแก้ไขหรืออัปโหลดวิดีโอใหม่ได้ เรียนรู้เพิ่มเติม

-       เปลี่ยนเพลง: หากมีการอ้างสิทธิ์เพลงในวิดีโอของคุณ แต่คุณยังต้องการใช้เพลงในวิดีโอ คุณสามารถเปลี่ยนแทร็กเสียงเป็นเพลงใช้ฟรีเพลงใดเพลงหนึ่งของเราได้ เรียนรู้เพิ่มเติม

-       แบ่งรายได้: หากคุณเป็นสมาชิกของโปรแกรมพันธมิตร YouTube และกำลังเล่นเพลงที่นำมาทำใหม่ คุณอาจสามารถแบ่งรายได้กับผู้เผยแพร่เพลงได้ วิธีนี้ทั้งสองฝ่ายจะมีรายได้จากวิดีโอ เรียนรู้เพิ่มเติม

-       โต้แย้งการอ้างสิทธิ์: หากคุณมีสิทธิ์ที่จำเป็นในการใช้เนื้อหาที่ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในวิดีโอของคุณ หรือหากคุณคิดว่าระบบระบุวิดีโอผิดพลาด คุณสามารถโต้แย้งการอ้างสิทธิ์ได้

หากต้องการโต้แย้งการอ้างสิทธิ์ ให้ไปที่ประกาศเกี่ยวกับลิขสิทธิ์และคลิกลิงก์ทางด้านขวาของเมนู "แก้ไข" ของวิดีโอ ซึ่งจะพาคุณมายังหน้าที่มีข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่ถูกอ้างสิทธิ์ในวิดีโอของคุณและผู้อ้างสิทธิ์ดังกล่าว และคุณสามารถดูตัวเลือกในการโต้แย้งการอ้างสิทธิได้ในหน้านี้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท