Skip to main content
sharethis

“พ.อ.ดิ๊กสัน พี เฮอร์โมโซ” นายทหารจากกองทัพบกฟิลิปปินส์ เผยบทเรียน 40 ปีความขัดแย้งที่มินดาเนา เผยจุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ที่ระดับนโยบาย ย้ำกระบวนการสันติภาพต้องสร้างความไว้ใจทั้งสองฝ่าย สารพันปัญหาที่ต้องระวังและ 3 สิ่งที่ต้องทำต่อไปให้สำเร็จ

 

ภาพจาก โรงเรียนวิชาการเมือง "เมื่อทหารทำงานสันติภาพ: บทเรียนและประสบการณ์จากมินดาเนา"

 

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 ห้องเรียนสันติภาพ สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ร่วมกับ โรงเรียนวิชาการเมือง ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (College of Deep South Watch) จัดบรรยายสาธารณะหัวข้อ เมื่อทหารทำงานสันติภาพ: บทเรียนและประสบการณ์จากมินดาเนา โดย พ.อ.ดิ๊กสัน พี เฮอร์โมโซ นายทหารจเรและโฆษกประจำ กองพลทหารราบที่ 6 กองทัพบกฟิลิปปินส์ ค่ายซิอองโก จังหวัดมากินดาเนา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์

การบรรยายครั้งนี้จัดขึ้นที่ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ อาคารเรือนพักรับรอง ม.อ.ปัตตานีโดยมี รศ.ดร.ฉันทนา บรรพศิริโชค หวันแก้ว จากศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับหน้าที่แปลและนำการอภิปราย มีตัวแทนภาคประชาสังคม นักวิชาการ เจ้าหน้าที่รัฐทั้งตำรวจและทหารมาร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันเป็นจำนวนมาก

 

จากนักรบสู่นักสร้างสันติภาพ

พ.อ.ดิ๊กสัน เริ่มต้นการบรรยายว่า ตัวเขาเกิดในเมืองโกตาบาโตซึ่งเป็นพื้นที่สู้รบระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ(ทางภาคใต้ของประเทศ) ตัวเขาเริ่มมีบทบาทตั้งแต่อายุยังน้อยโดยเป็นทหารสู้รบกับกองกำลังติดอาวุธบังซาโมโร ซึ่งตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมาเป็นเวลากว่า 40 ปีที่มีการสู้รบกันมา เกิดข้อสงสัยว่าทำไมจึงแก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลย จึงเป็นที่มาของการเปลี่ยนจากนักรบมาเป็นผู้สร้างสันติภาพ

พ.อ.ดิ๊กสัน บรรยายต่อไปว่า เหตุการณ์หนึ่งที่สำคัญของประเทศฟิลิปปินส์ก็คือ การชุนนุมขับไล่ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ที่ถนน EDSA ในปี 1986 ซึ่งครั้งนั้นทหารเข้าข้างประชาชน เพราะหากทำตามคำสั่งประธานาธิบดีในเวลานั้น คงทำให้มีประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก

ภายหลังจากประชาชนได้รับชัยชนะในการชุมนุมครั้งนั้น คอรีย์ อากีโน ก็ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศฟิลิปปินส์

 

จุดเริ่มต้นของการเจรจา

พ.อ.ดิ๊กสัน กล่าวว่า คอรีย์ อากีโน เริ่มเดินทางไปพบกลับกลุ่มต่างๆ พร้อมกับเปิดโต๊ะเจรจากับหลายๆ กลุ่ม เช่น กลุ่ม MILF รวมไปถึงพรรคคอมมิวนิสต์ด้วยในปี 1996 จนถึงประธานาธิบดีคนต่อมาคือ นายพลฟิเดล รามอส ก็สามารถมีข้อตกลงกับกลุ่ม MILF ได้

แต่ในปี 2000 ในช่วงของประธานาธิบดีโจเซฟ เอสตราดา มีการเปลี่ยนนโยบายใหม่โดยใช้วิธีการปราบปรามอย่างเดียวจนทำให้การเจรจาต้องยุติลง การสู้รบกับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก แต่ทหารสามารถคุมพื้นที่ได้เพียงบางส่วนเท่านั้น

พ.อ.ดิ๊กสัน กล่าวต่อไปว่า ในสมัย กลอเรีย มาคาปากัล-อาร์โรโย เป็นประธานาธิบดี มีการไปพูดคุยกับมหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีของประเทศมาเลเซียในขณะนั้น ให้มาช่วยเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยกับกลุ่ม MILF มาเลเซียจึงกลายมาเป็นฝ่ายที่ 3 ทำให้เกิดการเจรจาสันติภาพขึ้น

ตอนนั้น ข้อเรียกร้องของ MILF ในช่วงแรกคือต้องการเอกราชเพื่อปกครองแบบรัฐอิสลาม ภายหลังฝ่ายที่สามสามารถเจรจาต่อรองจนเปลี่ยนข้อเรียกร้องเป็นเขตปกครองพิเศษ

พ.อ.ดิ๊กสัน กล่าวอีกว่า ต่อมาในสมัย เบนนิกโน อากีโน ประธานาธิบดีในปัจจุบัน ได้ประกาศนโยบายในการปกครองประเทศที่สำคัญ 5 ประการ ซึ่ง 1 ใน 5 ประการดังกล่าวก็คือ การสร้างสันติภาพที่เป็นธรรม ครอบคลุมทุกฝ่าย มีความยั่งยืนและการมีหลักนิติธรรม

พ.อ.ดิ๊กสัน กล่าวว่า ประธานาธิบดีเป็นผู้นำที่มาจากพลเรือนมีอำนาจสั่งการทหารได้ และกองทัพเป็นเพียงเครื่องมือของการนำนโยบายไปปฏิบัติ

 

จุดเปลี่ยนอยู่ที่ระดับนโยบาย

พ.อ.ดิ๊กสัน กล่าวว่า เมื่อนโยบายเปลี่ยน การปฏิบัติงานก็เปลี่ยนและความคิดก็ย่อมเปลี่ยนไปด้วย โดยเปลี่ยนจากความคิดที่ต้องการเอาชนะด้วยสงคราม มาเป็นการเอาชนะด้วยสันติภาพ

“แม้กองทัพมีศักยภาพที่จะปราบปรามได้ แต่กองทัพก็ตระหนักว่าหน้าที่จริงๆ ก็คือการคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน เพราะภัยที่แท้จริงก็คือการคุกคามความสงบของประชาชนต่างหาก”

พ.อ.ดิ๊กสัน กล่าวด้วยว่า “สิ่งที่เราจะต้องทำความเข้าใจก็คือ ทำไมกลุ่มกองกำลังติดอาวุธจึงเลือกที่จะจับอาวุธสู้กับเรา อาจมีเงื่อนไขบางประการที่ทำให้เขาไม่สามารถใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไปได้ ดังนั้นแทนที่เราคิดที่จะกำจัดเขา เปลี่ยนมาเป็นแก้ปัญหาโดยอาศัยความเข้าใจน่าจะถูกกว่า เพราะการที่เราคิดที่จะกำจัดเขา ทำให้เขาส่งต่อความคิดหรืออุดมการณ์ไปสู่รุ่นต่อรุ่นและมันจะไม่จบไม่สิ้น”

“สิ่งแรกที่จะต้องทำก็คือ ปิดเสียงปืนให้ได้ก่อนหรือหยุดยิงนั่นเอง และการพูดคุยจะต้องเกิดขึ้ นแต่จะต้องคุยบนหลักการไม่ใช่คุยบนความต้องการ เพราะหากคุยบนความต้องการมันก็จะไม่สิ้นสุดเช่นกัน ที่สำคัญจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ได้ หากหยุดยิงได้เมื่อไหร่ก็จะนำไปสู่ข้อตกลงสันติภาพได้ และจะเกิดบรรยากาศที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาความมั่นคงของประชาชนได้” พ.อ.ดิ๊กสัน กล่าว

 

ที่มาของกองกำลังติดอาวุธโมโร

พ.อ.ดิ๊กสัน กล่าวว่า ที่มาของกลุ่มกองกำลังติดอาวุธในโมโร เริ่มตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว เพราะสเปน(เจ้าอาณานิคมขณะนั้น) ปกครองโดยการปฏิบัติต่อชาวโมโรอย่างไม่เสมอภาค และพยายามชักจูกให้หันมานับถือศาสนาคริสต์ แต่ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนความเชื่อของคนโมโรได้

“ยังมีเรื่องเล่าที่น่ากลัวเกินจริง เช่น เมื่อมีเด็กทำผิดหรือไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่ก็จะโดนขู่ว่าเดี่ยวจะโดนโมโรมาจับ เป็นต้น ทำให้ภาพของชาวโมโรในความคิดของคนฟิลินปินส์เต็มไปด้วยความหวาดกลัว” พ.อ.ดิ๊กสัน กล่าว

พ.อ.ดิ๊กสัน กล่าวอีกว่า ความสำเร็จของกระบวนการเจรจาสันติภาพกับกลุ่ม MILF ส่งผลให้เกิดร่างกฎหมายพื้นที่บังซาโมโรที่จะสร้างหน่วยการเมืองบังซาโมโรขึ้นมา ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาในสภาเพื่อประกาศใช้ต่อไป

“บางครั้งการเจรจาก็มีข้อเสียอย่างหนึ่งก็คืออาจทำให้เกิดกลุ่มติดอาวุธเพิ่ม ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการเจรจาและแยกออกมา ตัวอย่างเช่น กลุ่ม MILF เองก็แตกออกมาจากการที่รัฐบาลฟิลิปปินส์เจรจากับ MNLF แม้มีการอธิบายว่า เป็นการแตกแยกทางยุทธศาสตร์ภายในกลุ่มเองก็ตาม” พ.อ.ดิ๊กสัน กล่าว

 

ปัญหาที่เรื้อรังมีโอกาสแก้ไขได้

พ.อ.ดิ๊กสัน กล่าวว่า ประสบการณ์ที่ผ่านมาบอกกับเราว่า ยังมีโอกาสที่จะจัดการกับปัญหาที่ยืดเยื้อยาวนานได้ แต่ไม่สามารถจัดการได้โดยใช้กำลังทหารเพียงอย่างเดียว และทหารเองก็เป็นเพียงแค่เครื่องมือของรัฐเท่านั้น สิ่งที่สำคัญจริงๆ ก็คือกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วม อย่างการทำประชามติ

“นอกจากนั้นบทบาทของภาคประชาสังคมก็สำคัญไม่แพ้กัน ที่ขาดไม่ได้ก็คือเสียงหรือบทบาทของผู้หญิง” พ.อ.ดิ๊กสัน กล่าว

พ.อ.ดิ๊กสัน กล่าวว่า ที่กล่าวมาข้างต้นไม่ได้คิดเอาเอง แต่มาจากการเป็นทหารที่ได้ดำเนินการตามที่กล่าวข้างต้นมาแล้ว แต่ก่อนอื่นเราจะต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนเพื่อเขาเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพได้ เพราะเมื่อกระบวนการสันติภาพสำเร็จเมื่อไหร่ คนที่จะได้รับประโยชน์เต็มๆ ก็คือประชาชน

 

โรดแมปสันติภาพ

พ.อ.ดิ๊กสัน กล่าวต่อไปว่า แม้จะมีข้อตกลงสันติภาพแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดสันติภาพในทันที  กระบวนการสันติภาพยังต้องเดินทางต่อไป สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือโรดแมปสันติภาพ เพราะโรดแมปคือ สิ่งที่จะบอกว่ามันจะเริ่มตรงไหนและไปจบที่ตรงไหน

 

ต้องสร้างความไว้ใจทั้งสองฝ่าย

พ.อ.ดิ๊กสัน กล่าวว่า ขั้นตอนที่สำคัญก็คือการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ เพราะแน่นอนว่ากลุ่มต่อต้านรัฐย่อมไม่ไว้ใจรัฐ และรัฐเองก็ไม่ไว้ใจกลุ่มต่อต้าน เรียกได้ว่าอยู่ภาวะสูญเสียความไว้วางใจ ดังนั้นการสร้างความเชื่อมั่นจะต้องเกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย โดยรัฐจะต้องเป็นฝ่ายเริ่มก่อน โดยการแสดงความจริงใจและจริงจังออกมาผ่านมาปฏิบัติไม่ใช่เพียงแค่การพูดเท่านั้น

“ที่สำคัญทุกๆ คนหรือทุกๆ ฝ่ายจะต้องเชื่อมั่นในแนวทางนี้อย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะระดับผู้นำของทุกฝ่าย เพราะในช่วงของการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจอาจมีกลุ่มไม่หวังดีสร้างสถานการณ์ขึ้น เพื่อทำลายเป้าหมายที่ตั้งไว้ ดังนั้นเราจึงจะต้องยึดมั่นในเส้นทางหลักที่ได้ตั้งไว้”พ.อ.ดิ๊กสัน กล่าว

 

คนในสนามรบและการสื่อสารสำคัญมาก

พ.อ.ดิ๊กสัน กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญที่จะยุติสงครามได้ก็คือคนที่อยู่ในสนามสงคราม นั่นก็คือทหารหรือนักรบของทั้งสองฝ่าย จะต้องไม่ออกจากแนวทางหลักหรือเป้าหมายหลักของกระบวนการสันติภาพ

“สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือสื่อ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ เพราะเมื่อเราสื่อสารให้ผู้คนโดยเฉพาะประชาชนเข้าใจแล้ว กระบวนการสันติภาพก็จะทำงานต่อไปได้ ข้อมูลข่าวสารคืออำนาจที่สามารถเปลี่ยนความคิดคนได้” พ.อ.ดิ๊กสัน กล่าว

 

ทหารกับกระบวนการสันติภาพ

พ.อ.ดิ๊กสัน กล่าวว่า ทหารดำเนินการตามนโยบายของชาติ คือมีการปรับแผนความมั่นคงภายใน โดยแทนที่จะเอาชนะด้วยสงคราม ก็เปลี่ยนไปเป็นการจัดการให้เกิดความยุติธรรม ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะเปลี่ยนวิธีการทำงานของทหารได้ เพราะทหารถูกฝึกมาให้สู้รบ แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ทหารเองก็เข้าใจแล้วว่าทางออกเป็นอย่างไร

“ในช่วงแรกๆ มีทหารที่ไม่เข้าใจและไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ ซึ่งมีทหารระดับสูงอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย แต่วิธีการจัดการก็คือ คนที่ออกจากแนวทางหรือละเมิดสิทธิของประชาชนจะถูกจับกุมคุมขัง หรือไม่ให้เติบโตในตำแหน่งหน้าที่ จนปัจจุบันทหารที่ไม่เข้าใจกระบวนการสันติภาพไม่มีเหลือแล้ว” พ.อ.ดิ๊กสัน กล่าว

พ.อ.ดิ๊กสัน กล่าวต่อไปว่า การหยุดยิงเป็นคำสั่งที่ลงมาจากระดับผู้บริหาร ดังนั้นการที่ทั้งสองฝ่ายจะหยุดยิงได้จริงๆ นอกจากมีคำสั่งลงมาแล้ว ยังจะต้องมีนายทหารยศสูงในฝ่ายรัฐและผู้อาวุโสในฝ่ายกลุ่มติดอาวุธคอยทำหน้าที่เป็นกรรมการที่ปฏิบัติหน้าที่เฉพาะกิจร่วมกันในการติดตามหรือตรวจสอบ หากมีการละเมิดข้อตกลงหยุดยิง

 

หน่วยเอเอฟพีเพื่อสันติภาพ

พ.อ.ดิ๊กสัน กล่าวว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2011 มีการจัดตั้งหน่วยงานเอเอฟพี เพื่อกระบวนการสันติภาพ (Creation of the AFP Peace Process Office) คาดว่าหน่วยงานนี้น่าจะอยู่ถึงปี 2020 นอกจากนั้นยังจัดทำหลักสูตรสันติภาพรวมอยู่ในการฝึกทหารทั้งหมด รวมทั้งในหลักสูตรระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาและวิทยาลัย

พ.อ.ดิ๊กสัน กล่าวอีกว่า ที่สำคัญก็คือ กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมมีความสำคัญมากในการต่อชีวิตกระบวนการสร้างสันติภาพในช่วงที่การเจรจามีโอกาสล้ม เพราภาคประชาสังคมสามารถทำหน้าที่กดดันทั้งสองฝ่ายได้ แต่ปัญหาอยู่ที่องค์กรภาคประชาสังคมมีมากจนแยกไม่ออกว่าองค์กรไหนทำงานจริงหรือองค์กรไหนจัดตั้งเพื่อดึงเงินสนับสนุนมาใช้

“ดังนั้นหน้าที่อย่างหนึ่งของหน่วยงาน AFP ก็คือการแยกแยะว่าใครเป็นใครในองค์กรภาคประชาสังคม” พ.อ.ดิ๊กสัน กล่าว

 

สารพันปัญหาที่ต้องระวัง

พ.อ.ดิ๊กสัน กล่าวว่า นอกจากเรื่องการไม่ไว้วางใจอย่างที่กล่าวมาแล้ว ยังมีเรื่องทัศนคติหรืออคติ เช่น เมื่อทหารมุสลิมถูกส่งลงไปยังชุมชนมุสลิมเพื่อทำงานชุมชนสัมพันธ์หรืองานพัฒนา กลับถูกมองว่าเข้ามาสอดแนมหรือมาสืบข้อมูลจากชุมชน เป็นต้น

“ที่สำคัญคือความอ่อนไหวในเรื่องวัฒนธรรม เช่น ในเดือนรอมฎอนทหารนำอาหารไปให้ชาวมุสลิมในช่วงกลางวัน ซึ่งเกิดจากการไม่รู้ว่าเขาถือศีลอดอยู่ วิธีการแก้ก็คือเชิญอิหม่ามหรืออุสตาซมาสอนเหล่าทหารในเรื่องการวางตัวเมื่อต้องเข้าไปในชุมชนของมุสลิม” พ.อ.ดิ๊กสัน กล่าว

พ.อ.ดิ๊กสัน กล่าวว่า นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องการล้างแค้นระหว่างตระกูลที่เรียกว่า “ริโด้” ซึ่งทหารที่ไม่ระมัดระวังตนเองอาจถูกลากเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยโดยไม่ได้ตั้งใจ อีกเรื่องก็คือปัญหาปืนหายบ่อย สิ่งที่จะตามมาก็คือปัญหาอาชญากรรมหรือการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และยังมีปัญหาเรื่องการอพยพด้วย

 

3 สิ่งที่ต้องทำต่อไปให้สำเร็จ

พ.อ.ดิ๊กสัน กล่าวว่า สิ่งที่จะต้องทำต่อไปให้สำเร็จคือ 1.กระบวนการสันติภาพ (peace process) จะต้องทำด้วยความจริงใจ และห้ามออกนอกเส้นทางนี้ 2.DDR คือการปลดอาวุธ(Disarmament) ยุติการระดมมวลชน/เคลื่อนไหวต่อต้าน(Demobilization) และการกลับคืนสู่สังคมŽ(Reintegration) อย่างหลังเริ่มทำได้บ้างแล้ว แต่สองอย่างแรกยังทำไม่สำเร็จ 3.SSR คือแนวคิดเกี่ยวกับการปฏิรูปภาคความมั่นคง (Security Sector Reform) ซึ่งก็ยังคงต้องดำเนินการต่อไป

“นับจากความเคลื่อนไหวที่เป็นชัยชนะของประชาชนในปี 1986 เป็นต้นมา และจากประสบการณ์การสู้รบมาหลายสิบปี ทำให้คิดได้ว่าการแก้ปัญหาความขัดแย้งจะต้องเอาชนะด้วยสันติภาพไม่ใช่ด้วยสงคราม ช่วงแรกๆ ยังไม่มั่นใจว่าวิธีนี้จะสามารถยุติปัญหาได้หรือไม่ แต่จากที่ได้ดำเนินการมาแล้วทำให้เราได้เห็นว่า สิ่งที่ทำอยู่นี้แหละคือคำตอบที่แท้จริง”พ.อ.ดิ๊กสัน กล่าวทิ้งท้าย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net