Skip to main content
sharethis

เว็บไซต์วิเคราะห์นโยบายต่างประเทศนำเสนอกรณีกลุ่มประเทศ BRICS จัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาแข่งกับ IMF และธนาคารโลก แม้อาจเกิดการคานอำนาจในการให้ทุนพัฒนา แต่อีกแง่ก็มีความกังวลว่าจีนจะมีอำนาจนำเหนือกองทุนนี้และน่าสงสัยในเจตนา


22 ก.พ. 2558 คาจา บาม ผู้เขียนบทความลงในเว็บไซต์วิเคราะห์นโยบายการต่างประเทศ Foreign Policy In Focus นำเสนอเรื่องเกี่ยวกับกลุ่ม 5 ประเทศ BRICS ได้แก่ บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน และแอฟริกาใต้ ประกาศว่าจะตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาแหล่งใหม่แข่งกับองค์กรกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ 'ไอเอ็มเอฟ' และธนาคารโลกของประเทศตะวันตก โดยวิเคราะห์ว่าจะส่งผลอย่างไรบ้างกับสถาบันการเงินแหล่งใหญ่ที่เคยมีอยู่

กลุ่มประเทศ BRICS ได้ร่วมลงขันกันเป็นวงเงิน 1 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็นเงินทุนโครงการพัฒนาเช่นเดียวกับที่ธนาคารโลกเพิ่งทำไป โดยวางแผนจัดตั้งสำนักงานที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน โดยจะให้ตัวแทนอินเดียเป็นนั่งเป็นประธาน ขณะที่บอร์ดบริหารจะเป็นตัวแทนจากรัสเซียและบอร์ดผู้อำนวยการจะเป็นตัวแทนจากบราซิล

ก่อนหน้านี้กองทุนธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟเป็นแหล่งทุนใหญ่ที่มีบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโลกมานานกว่า 70 ปีแล้ว พวกเขาถูกวิจารณ์เรื่องการตั้งเงื่อนไขการกู้ยืมที่เลวร้ายกับประเทศที่อ่อนแอและไม่สามารถเป็นตัวแทนของการเปลี่ยนแปลงทางอำนาจเศรษฐกิจโลกได้

โดยกลุ่มประเทศ BRICS ไม่พอใจที่ไอเอ็มเอฟไม่ปรับโควต้าการลงคะแนนเสียงเพิ่มให้กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีการเติบโตขึ้น และประเทศอย่างอินเดียกับจีนเองก็ไม่พอใจที่โควต้าการโหวตของพวกเขาลดลงแม้ว่าเศรษฐกิจจะพัฒนาขึ้นก็ตาม ขณะที่ทางสหรัฐฯ ซึ่งควรจะมีโควต้าการโหวตลดลงร้อยละ 0.5 ก็ยังไม่มีการอนุมัติให้ลด กลุ่มประเทศ BRICS คิดว่าโควต้าการลงคะแนนควรพิจารณาจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ 'จีดีพี' ของประเทศนั้นๆ

สำหรับประเทศกำลังพัฒนา ไอเอ็มเอฟดูจะเป็นที่พึ่งสุดท้ายมากกว่าจะเป็นแหล่งทุนเพื่อการพัฒนา ดร.รอสลิน ฟูลเลอร์ นักวิจัยกลุ่มให้คำปรึกษา INSYTE กล่าวว่าการที่ไอเอ็มเอฟไม่สนใจผู้ชนะในเกมเศรษฐกิจโลกและทำให้ผู้แพ้ตกอยู่ในสภาพเลวร้ายของทุนนิยม จึงไม่เป็นที่แปลกใจเลยที่ต่อมากลุ่มผู้ชนะกับกลุ่มผู้แพ้จะจับมือกันเอง ฟูลเลอร์กล่าวอีกว่าความผิดพลาดของสถาบันการเงินโลกตะวันตกอยู่ที่มีคนใช้ตำแหน่งในสถาบันเพื่ออำนวยผลประโยชน์ให้กับประเทศตัวเอง

บามระบุว่าทั้งหมดนี้ทำให้ธนาคารของ BRICS เน้นเรื่องการแบ่งโควต้าโหวตที่เหมาะสมในกลุ่มตัวแทน และมีข้อกำหนดการยืมที่ต่างจากของไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกเพราะกลุ่มประเทศ BRICS มีระบบเศรษฐกิจที่แตกต่างจากกลุ่มอื่นในประเทศพัฒนาแล้วโดยเฉพาะกรณีจีนและรัสเซีย ทำให้ BRICS อาจจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาและต้องการกู้ยืมโดยเงื่อนไขแบบอื่นนอกเหนือจากของไอเอ็มเอฟ

อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าสถาบันการเงินของตะวันตกเองก็ดูเหมือนจะอ้าแขนต้อนรับธนาคารของ BRICS โดย จิม คิม ประธานธนาคารโลกบอกว่าสภาวะขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้โดยสถาบันการเงินแห่งเดียวอย่างธนาคารโลก ทำให้ธนาคารของ BRICS ถือเป็นสิ่งที่จะช่วยเสริมการลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานได้

ถึงแม้ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งใหม่จะมีระบบการลงคะแนนของสมาชิกคนละแบบกับสถาบันการเงินตะวันตก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทางเลือกใหม่นี้จะทำให้หนทางของประเทศกำลังพัฒนาโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะกองทุนสำรองฉุกเฉิน (Contingency Reserve Arrangement) ที่มีเงินทุนอยู่ 1 แสนล้านดอลลาร์ มีผู้ควบคุมหลักๆ อยู่คือจีน เป็นการเปิดโอกาสให้จีนใช้อำนาจนำกลุ่ม BRICS ได้แบบเดียวกับที่ชาติตะวันตกควบคุมไอเอ็มเอฟ ซึ่งหมายความว่าจีนอาจจะฉวยโอกาสเอื้อผลประโยชน์ให้ตนเองแทนการพัฒนาร่วมกัน

วอลเดน เบลโล ประธานคณะกรรมการกิจการแรงงานข้ามชาติในสภาผู้แทนฯ ฟิลิปปินส์ระบุว่ากลุ่มประเทศ BRICS มีเศรษฐกิจแบบที่เน้นการส่งออกเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งส่งผลให้เกิดความไม่สงบในเรื่องความไม่เท่าเทียมและเกิดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมในประเทศของพวกเขา ทำให้น่าสงสัยว่าพวกเขาจะช่วยพัฒนาประเทศอื่นได้อย่างไรในเมื่อพวกเขาก็มีปัญหาในประเทศตนเอง นอกจากนี้ยังน่าสงสัยว่าการพยายามจัดตั้งธนาคารของ BRICS มีแรงจูงใจหลักๆ เป็นเรื่องการเมืองในประเด็นของไอเอ็มเอฟมากกว่าจะเป็นเพราะพวกเขาต้องการแบ่งปันในเรื่องการพัฒนากับประเทศอื่นๆ

บามระบุว่า แม้จะยังบอกไม่ได้ชัดเจนว่าธนาคารของ BRICS จะสามารถท้าทายอำนาจนำของไอเอ็มเอฟกับธนาคารโลกได้หรือไม่ แต่มันก็สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนของอำนาจอิทธิพลทางการเงินโลก และอาจจะทำให้เกิดการแข่งขันในแง่การเพิ่มประสิทธิภาพของการพัฒนาได้

 

เรียบเรียงจาก

A New Global Development Bank in Town, FPIF, 18-02-2015
http://fpif.org/new-global-development-bank-town/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net