Skip to main content
sharethis

 

“ที่จริงแล้วนี่เป็นความผิดครั้งใหญ่เลยล่ะ ความผิดครั้งใหญ่” ซามซาริน อัมปาตวนกล่าวในขณะจิบกาแฟอยู่ในร้านแห่งหนึ่งในตัวเมืองโคตาบาโต

“จริงๆ แล้วคนทำก็มีอยู่คนสองคนจากตระกูลอัมปาตวน หรือจะว่าเป็นสามคนก็ได้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้คนทั้งตระกูลต้องมารับผิดชอบกับอาชญากรรมครั้งนี้เสียหน่อย ผมไม่เชื่ออย่างนั้นน่ะ” เขากล่าว

นั่นเป็นคำตอบของซามซาริน อัมปาตวน นายกเทศมนตรีเมืองราจาห์ บูอายันในจังหวัดมากินดาเนา ทางตอนใต้ของเกาะมินดาเนา ตอนใต้ของฟิลิปปินส์ ต่อคำถามเรื่องการสังหารหมู่ประชาชน 58 คน เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 ในจำนวนนั้น 32 คนเป็นนักข่าว สันนิษฐานกันว่าตระกูลของเขามีส่วนรับผิดชอบต่อการสังหารดังกล่าว

เขาเองเป็นหลานของอันดาล อัมปาตวน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการไต่สวนในศาล พร้อมกับลูกชายเขาอีกสองคน ญาติคนอื่นๆ รวมถึงสมาชิกจากกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ที่ใกล้ชิดกับครอบครัวอัมปาตวน ในข้อหาฆาตกรรมเพื่อต้องการขจัดคู่แข่งทางการเมือง

ซามซาริน อัมปาตวน

การที่นายกเทศมนตรีเมืองราจาห์ บูอายัน ตอบคำถามนักข่าวจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างฉะฉาน ในเรื่องการมีส่วนเกี่ยวข้องต่อการฆาตรกรรมที่นับว่าร้ายแรงที่สุดต่อผู้สื่อข่าว ไม่ได้เป็นอะไรที่น่าประหลาดใจมากนัก มันชี้ให้เห็นอย่างดีว่าภูมิทัศน์ทางสังคมการเมืองของฟิลิปปินส์ยังคงเป็นแบบศักดินา ถึงแม้ฟิลิปปินส์จะอ้างว่าตนยึดหลักการประชาธิปไตย

สภาพสังคมแบบนี้เอง ที่ยังทำให้กลุ่มติดอาวุธอิสระและกลุ่มพลเรือนติดอาวุธยังถูกใช้เพื่อเป้าหมายทางการเมืองและเศรษฐกิจ

การบอกเล่าของซามซามิน อัมปาตวนนั้นบอกอะไรได้หลายอย่าง มันทำให้เราเข้าใจบริบทที่ซับซ้อนและน่าสับสนของสถานการณ์ในมินดาเนา และของทั้งประเทศ ต่อเรื่องสาเหตุของการไม่ต้องรับผิด

เขาเล่าถึงสมัยที่ประเทศอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกของเฟอร์ดินัน มาร์กอสว่า แถบพื้นที่โมโรถูกโจมตีจากทหารบ่อยครั้ง เนื่องจากต้องสงสัยว่าชุมชนแถวนี้ช่วยหลบซ่อนกลุ่มกบฎ ทั้งนี้ คำว่า “โมโร” ก่อนหน้านี้ถูกใช้แบบมีนัยดูถูกเพื่อเรียกกลุ่มชนพื้นเมืองในมินดาเนา โดยเฉพาะชาวมุสลิม แต่ภายหลังชาวมุสลิมได้หยิบคำดังกล่าวมาใช้เรียกตนเองแทน

คฤหาสถ์ของตระกูลอัมปาตวน หนึ่งใน 2 ตระกูลใหญ่ผู้ทรงอิทธิพลในเมืองมากินดาเนา

ซามซามินกล่าวว่า รัฐบาลได้จัดตั้งกองทหารตัวแทนขึ้นมา เพื่อช่วยกองทัพฟิลิปปินส์ต่อสู้กับกลุ่มกบฎในพื้นที่ ต่อมา รัฐบาลก็มักจะนิยมจัดตั้งกองกำลังเช่นนี้ขึ้นมา และอนุญาตให้กลุ่มเหล่านี้ติดอาวุธได้ ทำให้ตระกูลอัมปาตวนและตระกูลทางการเมืองอื่นๆ ล้วนได้รับประโยชน์จากการจัดตั้งกองกำลังเช่นนี้

นายกเทศมนตรีรู้ดีว่าเขากำลังพูดถึงใคร

นายกเทศมนตรีอัมปาตวน กล่าวต่อว่า ตระกูลอัมปาตวน ได้จัดตั้งกองกำลังของตัวเองขึ้นเพื่อสนับสนุนรัฐบาลในการต่อสู่กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน และปกป้องตัวเองจากการจองล้างของตระกูลคู่แข่ง ทั้งนี้ ริโด ดาโต๊ะ พักซ์ มังกูดาดาตู บิดาของผู้ว่าราชการเมืองมากินดาเนาคนปัจจุบัน เอสมาอิล โตโต้ มังกูดาดาตู ก็เป็นสมาชิกกลุ่มติดอาวุธเช่นเดียวกัน

เมื่อผู้สื่อข่าวถามผู้ว่าฯ มังกูดาดาตูว่าเขาเองมีกองกำลังเอกชนติดอาวุธหรือไม่ เขาหัวเราะ ส่ายหัว และกล่าวว่า “ไม่มีหรอก ที่ผมลงแข่งกับตระกูลอัมปาตวนก็เพราะผมไม่ชอบอะไรแบบนี้ แล้วผมก็คัดค้านการยกเลิกกฎอัยการศึกในจังหวัดมากินดาเนามาตลอด เพราะผมไม่อยากให้มีกองกำลังเอกชน ประธานาธิบดียังโทรมาหาผมสองที แล้วบอกว่า นี่ ผมจะยกเลิกกฎอัยการศึกจังหวัดคุณนะ ผมก็ว่า อย่าเลยท่าน เพราะผมไม่อยากให้ผู้นำชุมชนเราอนุญาตให้คนติดอาวุธได้ ผมอยากเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของจังหวัดผมน่ะ” เขากล่าว

นายกเทศมนตรีไม่เคยตอบคำถามเกี่ยวกับพ่อของเขาเลย

กลุ่มพลเรือนติดอาวุธกับการไม่ต้องรับผิด

ทนายแฮรี่ โรฆ ระบุว่า กองกำลังติดอาวุธของครอบครัวผู้มีอิทธิพลนั่นเองคือ ส่วนสำคัญในการหล่อเลี้ยงวัฒนธรรมการไม่รับผิด

ทนายแฮรี่ โรฆ ผู้ว่าความให้กับครอบครัวของเหยื่อการสังหารหมู่15 ครอบครัว กล่าวว่า การที่กลุ่มติดอาวุธอยู่ภายใต้การควบคุมของครอบครัวผู้มีอิทธิพลทางการเมืองอย่างตระกูลอัมปาตวน ทำให้วัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิดยังคงดำรงอยู่

“นี่เป็นส่วนหนึ่งของการปกครองด้วยความกลัว เพื่อที่คนจะได้ทำตามที่เขาสั่ง เห็นได้ชัดว่ามันคือระบอบศักดินา ทั้งทรัพยกรมหาศาลและกองกำลังติดอาวุธส่วนตัว ใครที่วิพากษ์วิจารณ์ตระกูลนี้คาดได้เลยว่าต้องเจอการข่มขู่หรือความตาย” โรฆกล่าว

องค์กรเตือนภัยนานาชาติ (International Alert Organization) องค์กรด้านการสร้างสันติภาพซึ่งทำงานในกว่า 25 ประเทศ ได้ออกเอกสารกำหนดนโยบายเมื่อเดือนเมษายน 2557 ซึ่งย้ำความคิดเห็นของโรฆว่า

“เศรษฐกิจใต้ดินในเขตบังสาโมโร (หมายถึงเขตที่มีชุมชนมุสลิมอยู่หนาแน่น) เป็นแหล่งที่มาของความร่ำรวย อำนาจ และความขัดแย้ง ชนชั้นนำในท้องถิ่นได้ใช้ฐานเศรษฐกิจตรงนี้เพื่อนำไปสู่จุดมุ่งหมายทางการเมือง เศรษฐกิจใต้ดินเป็นแหล่งที่มาของความขัดแย้ง เพราะต่างเต็มไปด้วยต้นทุนทางเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งมาเฟียท้องถิ่น กลุ่มติดอาวุธ และตระกูลผู้มีอิทธิผลต่างได้ประโยชน์”

เรย์ มอนทีชิลโล ประธานองค์กร  Mindanao People’s Caucus (MPC) ซึ่งทำงานด้านกระบวนการสันติภาพในมินดาเนา เล่าอีกด้านของการเพิ่มจำนวนของกองกำลังเอกชนในฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะในมินดาเนา และเหตุใดกลุ่มกบฏโมโรจึงเกิดขึ้น

“ภายใต้ระบอบมาร์กอส กองทัพได้เกณฑ์ชาวโมโรประมาณร้อยคนเพื่อฝึกเป็นหน่วยคอมมานโด เพื่อส่งไปก่อความไม่สงบในซาบาห์ มาเลเซีย คนเหล่านี้ถูกส่งไปยังเกาะคอรเรกิดอร์ ใกล้กับอ่าวมะนิลา แต่พวกเขาก็ถูกฆ่าหมดเนื่องจากไม่ยอมทำตามคำสั่งให้บุกเข้าไปในซาบาห์ นี่เป็นปัจจัยที่ที่ทำให้เกิดปัญหาในมินดาเนา รวมถึงการเพิ่มจำนวนของกลุ่มติดอาวุธเอกชน” มอนทิเชลโลกล่าว เขาเองก็เคยเป็นสมาชิกของกลุ่มพลเรือนติดอาวุธ ชื่อว่ากองกำลังพิทักษ์บ้านพลเมือง(Community Home Defence Forces)

ในทางประวัติศาสตร์ ซาบาห์นั้นเคยอยู่ภายใต้การปกครองของสุลต่านซูลู ตอนที่ประเทศฟิลิปปินส์ยังไม่เกิดขึ้น แต่ต่อมาสุลต่านให้สัมปทานเกาะซาบาห์แก่บริษัทบริทิช อีส อินเดีย ซึ่งผูกขาดการค้าและการปกครองในภูมิภาคในขณะนั้น

ที่มาของกลุ่มพลเรือนติดอาวุธ

โจเซฟ จูเบลัก ผู้สื่อข่าวในเมืองเจเนรัล ซานโตส ที่ซึ่งผู้สื่อข่าวที่ถูกสังหาร 12 รายถูกฝังอยู่ อธิบายว่ากลุ่มพลเรือนติดอาวุธ อย่างหน่วยกองกำลังพลเรือนตามภูมิภาค มักถูกจ้างโดยกลุ่มผู้มีอิทธิพลทางการเมืองและบริษัทยักษ์ใหญ่ โดยเฉพาะที่ทำธุรกิจด้านเหมืองแร่ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง

ในช่วงการปกครองภายใต้มาร์กอส (อดีตประธานาธิบดีผู้ถูกขับไล่จากการลุกฮือของประชาชนในปี 2529) กลุ่มพลเรือนติดอาวุธถูกตั้งชื่อว่า กองกำลังพิทักษ์บ้านพลเมือง (Civilian Home Defense Forces) ซึ่งรัฐบาลจัดตั้งเพื่อให้ต่อสู้กับคอมมิวนิสต์

จูเบลัก อดีตทหารกองหนุน ให้ข้อสังเกตว่า “พลเรือนติดอาวุธหลายคน ไม่ได้รับการศึกษาและไม่ได้รับการฝึกอบรมที่เป็นระบบ ต่างจากโครงสร้างของกองทัพ ที่มีมาตรฐานการวัดคุณภาพ นี่เป็นปัญหาหนึ่งเพราะพวกเขามักถูกชักจูงได้ง่ายโดยนักการเมือง”

ในหลายกรณีที่มีการข่มขู่นักข่าวและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน พบว่ากองกำลังเอกชนและพลเรือนติดอาวุธมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม แทบไม่มีกรณีใดที่กระบวนการทางกฎหมายสามารถเอาผิดได้

ตั้งแต่ปี 2544 มีนักเคลื่อนไหว นักข่าว นักสิ่งแวดล้อม และบาทหลวงถูกสังหารหลายร้อยคน รายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ปี 2555 ระบุว่ามีการสังหารนอกกฎหมายราว 114 คดี กรณีตั้งแต่ประธานาธิบดีอาคีโนขึ้นสู่ตำแหน่ง

รายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ปี 2535ระบุว่า การเพิ่มจำนวนของกลุ่มพลเรือนติดอาวุธในฟิลิปปินส์เพิ่มสูงขึ้นมากช่วงที่ฟิลิปปินส์อยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง รายงานระบุว่า กองทัพฟิลิปปินส์ทำงานใกล้ชิดกับกลุ่มพลเรือนติดอาวุธ ที่ชื่อว่ากองกำลังพิทักษ์พลเรือน (Civil Guards) ซึ่งถูกจัดตั้งโดยกองกำลังความมั่นคงภายในฟิลิปปินส์และได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากเจ้าที่ดินซึ่งร่วมมือกับทางการญี่ปุ่น

ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1970 กลุ่มพลเรือนติดอาวุธถูกยุบรวมเข้ากับกองกำลังพิทักษ์บ้านพลเมือง (Civilian Home Defense Force –CHDF) ในมินดาเนา สมาชิกกลุ่ม CHDF มักถูกส่งไปปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับกลุ่มสุดโต่งคริสเตียนเพื่อปราบการลุกฮือของประชากรมุสลิม ในช่วงต้นปี 2517 CHDF ยังถูกส่งไปต่อสู้กับกองทัพปลดปล่อยประชาชน (New People’s Army) ปีกติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์ฟิลิปปินส์ รายงานฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุ

รัฐธรรมนูญฟิลิปปินส์ฉบับปี 2530ระบุว่า ให้กลุ่มพลเรือนติดอาวุธทุกกลุ่ม รวมถึง CHDF สลายตัว และกลายเป็นกองทัพปรกติ อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญยังให้จัดตั้งกองกำลังของพลเรือนได้ กลุ่ม CDHF และหน่วยติดอาวุธอื่นๆ จึงถูกยุบหกเดือนถัดมา อย่างไรก็ตาม เพียงสิบวันหลังจากนั้น ประธานาธิบดีคอราซอน อาคิโน ก็ได้ออกหนังสือคำสั่งเพื่อจัดตั้งกองกำลังพลเรือนตามภูมิภาคขึ้น รายงานข่าวซึ่งอ้างแหล่งข่าวจากทหารชี้ว่า กองกำลังที่ตั้งขึ้นใหม่ ต่างรับอดีตสมาชิก CHDF ถึง 30-70% เข้าเป็นกองกำลัง
 

พลเรือนติดอาวุธในอินโดนีเซีย

ในประเทศอินโดนีเซีย กลุ่มพลเรือนติดอาวุธและกองกำลังปฏิบัติการได้อย่างอิสระโดยเฉพาะในแถบต่างจังหวัด กลุ่มดังกล่าวรวมถึงกลุ่มเยาวชนปัญจสีละ ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองกึ่งทางการที่สนับสนุนการปกครองของเผด็จการซูฮาร์โต กลุ่มเยาวชนปัญจสีละมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการรัฐประหารนำโดยซูฮาร์โตในปี 2508ในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Act of Kiling, ได้ฉายภาพของกลุ่มเหล่านี้ ในฐานะที่เป็นหน่วยสังหารให้กับกองทัพอินโดนีเซีย ซึ่งสังหารคนที่ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์และชาวจีนอินโดนเซียหลายล้านคนในจังหวัดสุมาตราเหนือ

กลุ่มพลเรือนติดอาวุธอีกองค์กรหนึ่งคือ กลุ่มพลเรือนแดงขาว ซึ่งเคยเกี่ยวข้องกับทอมมี่ ซูฮาร์โต บุตรชายของอดีตประธานาธิบดี และสแยมซู จาลาล ผู้บังคับการกองกำลังทหารตำรวจที่เกษียณอายุแล้ว กลุ่มพลเรือนแดงขาวทำงานร่วมกับกองทัพบกอินโดนีเซีย และตำรวจเพื่อฝึกอบรมและให้การศึกษาเกี่ยวกับการปกป้องประเทศ

ไลลา เดอ ลิมา รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ยอมรับว่ากรณีสังหารหมู่อัมปาตวนนั้นจะเป็นแบบทดสอบต่อระบบยุติธรรมของประเทศ จากบริบทของกองกำลังติดอาวุธเอกชนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของนักการเมืองท้องถิ่น

เธอกล่าวว่า “นักการเมืองท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่รัฐมักจะเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อมวลชน นักการเมืองเหล่านี้ถูกตั้งข้อสงสัยว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารนักข่าวหลายราย (รวมถึงการสังหารในมากินดาเนา)แต่เธอยอมรับว่า “ในหลายคดีนั้นมีความท้าทายอย่างยิ่งเนื่องจากการเปิดโปงผู้อยู่เบื้องหลังนั้นยากมาก เราสามารถสาวไปถึงแค่มือปืน ซึ่งก็มักจะปิดปากเงียบ หลายกรณีที่เราดำเนินคดีไปถึงแค่ตัวมือปืนเท่านั้น”

ไลลา เดอ ลิมา รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม

เธอยังชี้ว่า การเพิ่มปริมาณของปืนยังมีส่วนให้อาชญากรรมเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับการปฏิบัติการของกองกำลังเอกชน “มีปืนที่ไม่ได้จดทะเบียนหลายกระบอกที่ไหลไปสู่กลุ่มอาชญากรและกองกำลังเอกชนของนักการเมืองผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น นี่เป็นปัจจัยสำคัญต่ออาชญากรรมที่สูงขึ้น”

คาร์ลอส คอนเด นักวิจัยฮิวเเมนไรท์วอทช์ประเทศฟิลิปปินส์ อธิบายว่า “การเพิ่มขึ้นของจำนวนอาวุธปืนโดยเฉพาะในมินดาเนา เกี่ยวข้องกับสองอย่าง คือ มันเป็นพื้นที่ที่มีตระกูลผู้มีอิทธิพลอย่างในมากินดาเนา และการที่ตระกูลดังกล่าวมีความสัมพันธ์เหนียวแน่นกับตำรวจหรือทหาร คุณจะไม่มีทางรู้เลยว่าปืนเถื่อนเหล่านี้มาจากไหน”

ในกรณีของการสังหารหมู่มากินดาเนานั้น ไม่มีปืนเถื่อนมาเกี่ยวข้อง อาวุธปืนในคดีนี้เป็นของเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างตำรวจ ทหาร และองค์กรอาสาสมัครพลเรือนที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้อง ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ปืนเถื่อน หากแต่อยู่ที่ระบบในพื้นที่นั้นไม่ตอบสนองต่อกรณีความรุนแรงหรือการสังหารนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนและผู้สื่อข่าว

“รายงานของตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์ ชี้ว่ามีปืนเถื่อนอยู่ในประเทศราว 1,110,372 กระบอก โดยกระจุกตัวอยู่มากที่สุดในตัวเมืองเมโทร มะนิลา ตามมาด้วยอันดับสอง คือเขตการปกครองตนเองในมุสลิมมินดาเนา ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนโมโร(MILF)มีปืนเถื่อนราว 114,189 กระบอก” รายงานในเว็บไซต์ digitaljournal.com ซึ่งเขียนโดยอันโตนิโอ ฟิกาโรอา ระบุ

รายงานฉบับดังกล่าวชี้ให้เห็นด้วยว่า ในปี 2554 นิคานอร์ บาร์โทโลม อธิบดีสำนักงานตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์ ยอมรับว่า จำนวนปืนเถื่อนที่ถูกนำไปใช้ในการก่ออาชญากรรมนั้นอาจมีมากถึง 600,000 กระบอก เขากล่าวว่า ปืนที่ใช้ในการก่ออาชญากรรมนั้นไม่ถูกจดทะเบียน และเสริมว่า “ทุกครั้งที่เราจับกุมอาชญากรรมที่เกี่ยวกับอาวุธ นั่นคือทุกครั้งที่จำนวนปืนเถื่อนลดลง”

สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังวางแผนดำเนินโครงการที่ชื่อว่า ปฏิบัติการคาตอค เพื่อแก้ปัญหาปืนเถื่อน “คาตอค” ในภาษาฟิลิปปินส์หมายถึงการเคาะประตู เพราะนั่นคือสิ่งที่ตำรวจพยายามจะทำ คือการเคาะประตูตามบ้านเพื่อดำเนินการรณรงค์ รมต.เดอ ลิมา กล่าวว่า “ตำรวจจะเข้าไปสอบถามว่าที่บ้านนี้มีปืนเถื่อนไหม ถ้ามีก็ต้องส่งมอบ หรือจดทะเบียน ตำรวจจะดำเนินการจดทะเบียนให้ด้วย”

การเพิ่มจำนวนของกองกำลังเอกชน เป็นตัวบ่งชี้ของการไม่ต้องรับผิด ในพื้นที่ที่นักการเมืองมีกองกำลังเอกชนเป็นของตัวเองนั้น ย่อมทำให้คู่แข่งทางการเมืองและนักข่าวกลัวแน่นอน” ไรอัน โรซาอูโร ผู้สื่อข่าวนสพ.ฟิลิปปินส์ เดลี่ อินไคว์เรอร์ กล่าว

สภาพรถยนต์ที่ได้รับความเสียหายจากการใช้กำลังอาวุธถล่มสังหารหมู่นักข่าวเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ภาพถ่ายจากสถานที่เก็บหลักฐาน เมืองดาเวา ซีตี้ 

สถานที่เกิดเหตุสังหารหมู่นักข่าว 32 คน ในมืองมากินดาเนา เป็นพื้นที่ลับตาคน ในหมู่บ้านเล็กๆ ห่างจากถนนใหญ่ราว 6 กิโลเมตร 

แนวร่วมเพื่อสิทธิมนุษยชนในฟิลิปปินส์นานาชาติThe International Coalition for Human Rights in the Philippines (ICHRP) ระบุว่า ในระหว่างเดือนกรกฎาคม 2553 (ช่วงเริ่มต้นสมัยประธานาธิบดีอาคีโน) จนถึงเดือนเมษายน 2555 มีกรณีการสังหารนอกระบบ 142 ราย การพยายามฆ่า 164 คดี การอุ้มหาย 16 คดี มีการจับกุมและคุมขัง 293 คน และเด็ก 16 คนถูกฆาตกรรมในสถานการณ์ที่คลุมเครือ

รายงานดังกล่าวยังตั้งข้อสังเกตว่า กลุ่มพลเรือนติดอาวุธมักจะเกี่ยวข้องกับหลายกรณีที่เกี่ยวกับการสังหารนอกกฎหมาย การซ้อมทรมาน และการอุ้มหายในพื้นที่ที่มีการต่อต้านกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งขับไล่ชาวนาและชนพื้นเมืองออกจากที่อยู่อาศัย

รายงานดังกล่าวชี้ว่า การกระทำดังกล่าวดำเนินการโดยกองทัพฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ กองทัพฟิลิปปินส์อ้างว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกองทัพได้ลดลงแล้ว หลังจากได้ดำเนินตามแผนการเพื่อสันติภาพและความมั่นคง ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นเพียงการกล่าวอ้างที่ไม่มีหลักฐาน

เว็บไซต์ ucanews.com ระบุว่า “กองทัพอ้างว่า มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยทหารเพียง 7 กรณีเท่านั้นในปี 2556ในขณะที่ปีก่อนหน้า จำนวนคดีทั้งหมดคือ 22 คดี และในปี 2554 มี37 คดีและ ในปี 2553 มี 51 คดี  ด้านผบ.ทบ. พล.อ. เอมมานูเอลลา บาอูติสตา ยังกล่าวด้วยว่า  กองทัพได้จัดตั้งสำนักงานสิทธิมนุษยชนเพื่อให้การศึกษาแแก่ทหาร เพื่อจะแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลนั้นตั้งใจจริงในการแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชน บาอูติสตายังกล่าวด้วยว่ากองทัพคาดหวังว่าจะควบคุมปฏิบัติการความมั่นคงภายในด้วยแผนการดำเนินการที่ยึดหลักสิทธิมนุษยชน โดยมุ่งเป้าไปที่กองทัพปลดปล่อยประชาชนของพรรคคอมมิวนิสต์

ฮิวแมนไรท์วอทช์ยังได้เก็บข้อมูลสามกรณีในช่วงตุลาคม 2554 กรณีแรกคือนักเคลื่อนไหวต่อต้านเหมืองแร่และโครงการพลังงาน ที่น่าจะถูกสังหารโดยกลุ่มพลเรือนติดอาวุธที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพ โดยเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2555 มาการิโต้ คาบาล อายุ 47 ปี ซึ่งเป็นแกนนำของเครือข่ายรักษาปูลังกี และต่อต้านการก่อสร้างเขื่อนพลังงานน้ำในจังหวัดบูคิดนอน ถูกคนร้ายสองคนขี่จักรยานยนต์ยิงเสียชีวิตใกล้ที่พักอาศัย

กลุ่มพลเรือนติดอาวุธชื่อว่าบากานี ยังอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลอบสังหารบาทหลวงชาวอิตาเลียน เฟาส์โตเตนโตริโอ ในวันที่ 17 ตุลาคม 2554 บาทหลวงเตนโตริโอ เป็นนักรณรงค์เพื่อสิทธิชนพื้นเมืองในอารกัน ทางตอนเหนือของโคตาบาโต และคัดค้านการสร้างเหมืองแร่ในพื้นที่ดังกล่าว เขาเป็นบาทหลวงคนที่สองจากสถาบันการเผยแพร่ศาสนาในต่างประเทศแห่งสมเด็จพระสันตะปาปา(Pontifical Institute for Foreign Mission)ที่ถูกสังหารในฟิลิปปินส์ คนแรกคือบาทหลังงตูลิโอ ฟาวาลี ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตในเดือนเมษายน 2528 โดยสมาชิกจากกองกำลังพิทักษ์บ้านพลเรือน
ยังไม่มีใครถูกดำเนินคดีจากการสังหารบาทหลวงเตนโตริโอ แม้ว่าสำนักงานสอบสวนแห่งชาติได้ส่งสำนวนคดีให้สั่งฟ้องผู้ต้องสงสัยแล้วสี่คน เพื่อนร่วมงานของเตนโตริโอกล่าวว่า ผู้ต้องสงสัยที่ใกล้ชิดกับกองทัพกลับไม่ถูกแตะต้อง นอกจากนี้ พยานสองคนกับครอบครัว ต้องหลบซ่อนในขณะที่พยานคนอื่นถูกข่มขู่

สำนักข่าวออนไลน์ Rappler.com รายงานเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 ว่า “ในการไต่สวนในคองเกรสเมื่อเดือนพ.ย. 2555 โดยคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนในดาเวา อาทูโร (นามแฝง) เปิดเผยว่าเขาเป็นสมาชิกของกองกำลังบากานี และอยู่ในที่ประชุมซึ่งมีคูมานเดอร์ ไอริง เป็นประธาน ซึ่งประกาศว่า ทหารจะให้ค่าหัว 50,000 เปโซ หากใครสามารถสังหารบาทหลวงเตนโตริโอได้”

คำว่าบากานี เป็นศัพท์ท้องถิ่นซึ่งมีความหมายว่า นักสู้ของชนเผ่า ซึ่งมีหน้าที่ปกป้องคนของตนเอง อย่างไรก็ตาม รายงานของ Rappler.com ระบุว่ากองกำลังบากานีนั้นหาใช้หน่วยพิทักษ์ชนเผ่า แต่เป็นกองกำลังพลเรือนติดอาวุธซึ่งประกอบด้วยชนพื้นเเมืองเป็นหลัก และถูกฝึกให้เป็นหน่วยกำลังเสริมพลเรือนเพื่อต่อสู้กับกองกำลังคอมมิวนิสต์ในพื้นที่

รายงานในเว็บไซต์ Rappler.com ยังระบุว่า ปัจจุบันยังมีกองกำลังราว 85 กลุ่ม ที่อยู่ภายใต้การสนับสนุนของนักการเมืองหลายแห่งทั่วประเทศ ทั้งนี้ คำนิยามของกองกำลังเอกชน หมายถึง กลุ่มจัดตั้งที่ประกอบด้วยสองคนขึ้นไป ติดอาวุธที่ถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย และใช้อาวุธเพื่อข่มขู่ด้วยเป้าหมายทางการเมืองหรือเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ รายงานฮิวแมนไรท์วอทช์ ยังได้ระบุว่า ประธานาธิบดีอาคีโน ได้ประกาศว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เข้าไปสลายขั้วกองกำลังเอกชนแล้วถึง 28 กลุ่ม ฮิวแมนไรท์วอทช์ยังได้เรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดจำนวนกองกำลังเอกชนและชี้แจงว่ารัฐบาลดำเนินการถึงขั้นใดแล้วในเรื่องที่รัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มเหล่านี้

รายงานยังระบุว่า เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2553 หรือสองเดือนหลังจากการสังหารหมู่มากินดาเนา รัฐมนตรีด้านความมั่นคง นอร์แบร์โต กอนซาเลส ได้เผยว่า มีกองกำลังเอกชนทั้งหมด 132 กลุ่ม ในวันเดียวกันนั้น เคซุส แวร์โซซา อธิบดีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่ามีกองกำลังเอกชนทั้งหมด 68 กลุ่ม ในจำนวนนี้ 25 กลุ่มอยู่ในเขตปกครองพิเศษมุสลิมมินดาเนา และอีก 43 กลุ่มอยู่นอกเขตดังกล่าว แวร์โซซากล่าวในเวลานั้นว่า ทางสำนักงานตำรวจกำลังตรวจสอบกองกำลังเอกชน 102 กลุ่มที่ต้องสงสัยว่ามีอาวุธปืนอยู่ในครอบครอง ในจำนวนนั้น มี 77 กลุ่มอยูในเขตปกครองพิเศษมุสลิมมินดาเนา อีก 25 กลุ่มอยู่บริเวณอื่น

“รัฐบาลชุดก่อนๆ ทำอะไรไม่ดีไว้เยอะในจังหวัดของเรา แต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยกล้าออกเสียง ทั้งภาคบริการและการลงทุนก็น้อยเพราะนักลงทุนไม่อยากมาจังหวัดมากินดาเนา เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของอาวุธปืน” ผู้ว่าฯ มังกูดาดาตูกล่าว
การสังหารนอกระบบ รวมถึงการสังหารที่มีแรงจูงใจทางการเมืองโดยหน่วยงานความมั่นคงของรัฐ และกองกำลังเอกชน จะยังเป็นปัญหาที่คงอยู่อย่างยาวนานในฟิลิปปินส์ แม้จำนวนการสังหารจะลดลงอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสิบปีก่อน แต่วัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิดยังคงอยู่ต่อไป


นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และผู้สื่อข่าวยังตกอยู่ในความเสี่ยง เช่นเดียวกับเยื่อบางๆ ของความเป็นประชาธิปไตย

 

 

 

*บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในโครงการของพันธมิตรสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(Southeast Asian Press Alliance (SEAPA) อาร์ปาน รัชมาน ซึ่งเป็นนักข่าวประเทศอินโดนีเซีย เขียนให้กับเว็บไซต์ Okezone.com เป็นหนึ่งในผู้ได้รับทุนปี 2557 โดยหัวข้อหลักของปีนี้คือ การสร้างความเข้าใจในภูมิภาคต่อการไม่ต้องรับผิดของการสังหารในฟิลิปปินส์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net