Skip to main content
sharethis

24 ก.พ.2558 ภายหลังจากที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมาการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง (คศป.) เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ ได้นำคณะเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังคดีการเมืองที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังในคดีปี 2552, 2553, 2557 รวม 19 ราย ไม่รวมผู้ต้องขังในคดี 112 โดยใช้เวลาหารือราว 2 ชั่วโมง

ภายหลังการหารือ นายเอนกได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า ได้เข้าพบพูดคุยกับผู้ต้องหาคดีการเมืองเพื่อสอบถามความเป็นอยู่ ความต้องการ ทำให้มีโอกาสได้พบทั้งผู้ต้องขังที่กำลังจะตาบอดทั้งสองข้าง ผู้ต้องขังวัย 60 กว่าหรือกระทั่งผู้ต้องขังที่จบจากอังกฤษ ทุกคนยอมรับผิด สำนึกผิดและอยากเห็นประเทศไทยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ นอกจากนี้ผู้ต้องขังแม้จะคนละเสื้อสีแต่ก็มีความรักสามัคคีกันดี

“ความคิด อุดมการณ์ของเขา เขาก็รักษาไว้ได้ แต่จะต้องไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง แตกแยก แตกหัก”

“การได้มาคุยด้วยตัวเองมันดีเหลือคน ทุกคนหมดใจแล้ว ในความหมายที่ว่า ความอาฆาตพยาบาทต่อกันนั้นไม่มีแล้ว ผมย้ำว่า ไม่ได้ให้เขาทิ้งจุดยืนทางการเมือง แต่ขอให้มาสู่สันติวิธี” เอนกกล่าว

เขากล่าวด้วยว่า ยังไม่ได้รับปากหรือสัญญาว่าการพบปะหารือครั้งนี้จะนำไปสู่อะไร แต่พยายามจะทำให้พวกเขากลับสู่ครอบครัวให้ได้ ซึ่งจะต้องกลับไปหารือรายละเอียดแนวทางการดำเนินการในคณะกรรมการเสียก่อน

ผู้สื่อข่าวถามว่าความช่วยเหลือของคณะกรรมการฯ จะเป็นการเร่งการอภัยโทษหรือการนิรโทษกรรม เอนกตอบว่า อย่าถามว่าอะไรดีกว่ากัน อะไรทำได้ก็ทำ คาดว่าการอภัยโทษนั้นจะดำเนินการได้ง่ายกว่า โดยอาจจะเป็นช่วยทำให้กระบวนการเร็วหรือเป็นกอบเป็นกำมากขึ้น

""การช่วยเหลือนี้ไม่ใช่อภิสิทธิ์ แต่เป็นไปเพื่อให้บ้านเมืองกลับสู่ความรู้รักสามัคคี" เอนกกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะรวมคดีมาตรา 112 ด้วยหรือไม่ เอนกกล่าวว่า “ตามปกติก็ต้องเกี่ยวอยู่แล้ว โดยทั่วไปคดีที่เกี่ยวกับการเมืองก็จะอำนวยความยุติธรรมให้”

เอนกกล่าวต่อว่า นายกฯ ได้มีบัญาถึงกระทรวงยุติธรรมและคณะกรรมการฯ ว่าให้มีการดูแลเยียวยาผู้ทีเกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบจากการชุมนุมตั้งแต่ปี 2548-2557 ด้วย

ด้านนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชน 35 กล่าวว่า คณะกรรมการนี้เรียกได้ว่าทำงานต่อยอดจากชุด คณิต ณ นคร (คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ -คอป.) เพราะชุดดังกล่าวมีวาระสั้นเกินไปทำให้ทำอะไรได้ไม่มากนัก มีจุดมุ่งหมายให้สังคมไทยกลับสู่วัฒนธรรมแห่งการให้อภัย แม้จะมีความเชื่อความศรัทธาของตนเองก็จะไม่นำสู่ความรุนแรง ส่วนเรื่องมาตรา 112 นั้นยังไม่ใช่ส่วนที่จะหารือในขณะนี้ เอาเฉพาะที่สังคมไทยเห็นพ้องกันก่อนก็ถือว่าเป็นเรื่องดีแล้ว เริ่มจากระดับนี้แล้วจึงอาจจะขยับออกไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังในครั้งนี้ มีนางพะเยาว์ อัคฮาด แม่ของน.ส.กมนเกด อัคฮาด หนึ่งในผู้เสียชีวิตในวัดปทุมฯ ปี 2553, นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 2535 และนายบุญเลิศ  คชายุทธเดช หรือ บุญเลิศ ช้างใหญ่ ร่วมการเข้าเยี่ยมด้วย

เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเรือนจำแหล่งใหญ่ที่สุดที่คุมขังผู้ต้องหาในคดีการเมือง เกือบทั้งหมดคือ “กลุ่มเสื้อแดง” ส่วนมากเป็นคดีสืบเนื่องจากเหตุการณ์การชุมนุมปี 2553 มีผู้ต้องขังที่กล่าวได้ว่าเป็น "กลุ่ม กปปส." 1 ราย ในคดีอาวุธ เหตุเกิดที่แยกหลักสี่ ก่อนวันก่อนเลือกตั้ง 2557 หรือที่เรียกกันว่า ‘มือปืนป๊อบ คอร์น’ ผู้ต้องขังเกือบทั้งหมดมีโอกาสได้ร่วมหารือกับคณะกรรมการชุดนี้ แต่ไม่รวมถึงคดีมาตรา 112 และคดีเผาศาลากลางที่กระจายคุมขังอยู่ตามต่างจังหวัด รวมถึงคดีนายปรีชา ผู้ต้องขังคดีขับรถชนตำรวจ กรณีการชุมนุมวันที่ 7 ตุลาปี 2551 ที่ถูกคุมขังที่เรือนจำคลองเปรม

ทั้งนี้ คณะกรรมการดังกล่าวก่อตั้งขึ้นหลังจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีการพิจารณาบทบัญญัติกลไกที่จะสร้างความปรองดอง ในหมวดที่ 3 จากนั้นประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จึงลงนามแต่งตั้ง โดยมีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติและกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นประธาน คณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วยสมาชิก 15 คน ส่วนใหญ่เป็นสมาชิก สปช.ที่อยู่ในคณะอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญคณะที่ 10 ที่ศึกษาเรื่องการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองเช่นเดียวกับนายเอนก เช่น นายไพบูลย์ นิติตะวัน, นายดิเรก ถึงฝั่ง, นายบุญเลิศ คชายุทธเดช, พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ, นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์, นายประสาร มฤคพิทักษ์ เป็นต้น ส่วนคนนอกมีเช่น นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ จากกลุ่มญาติวีรชนเดือนพฤษภาฯ 35, นางพะเยาว์ อัคฮาด และ นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม เป็นต้น 

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าว คือ   1.พิจารณาศึกษาและแสวงหาแนวทางเพื่อลดและยุติความขัดแย้งทางการเมืองในทุกระดับให้ชนในชาติเกิดความรู้รักสามัคคี บนพื้นฐานความคิดที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การสร้างความปรองดองเกิดขึ้นภายในชาติ

2.จัดทำแผนดำเนินงานในการสร้างความปรองดองให้ควบคู่ไปกับกระบวนการปฏิรูปประเทศ ที่มาจากข้อมูลและสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริงจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การชุมนุมอันเกี่ยวเนื่องมาจากเหตุความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ พ.ศ.2548 ถึง พ.ศ.2557
3.จัดทำข้อเสนอแนวทางการเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การชุมนุมอันเกี่ยวเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ พ.ศ.2548 ถึง พ.ศ.2557 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ

4.อำนวยการให้มีการจัดทำและเผยแพร่ฐานข้อมูลเกี่ยวกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การชุมนุมอันเกี่ยวเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมือง ตั้งแต่ 2548 ถึง 2557 ทุกกลุ่มทุกฝายที่ต้องการการเยียวยาและฟื้นฟูชีวิตในด้านต่างๆ 
   

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net