ศาสนากับการเมืองฯ (3) นิธิ เอียวศรีวงศ์: ศาสนากับรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย

บรรยายสาธารณะ “ศาสนากับการเมือง ชาตินี้เราคงแยกกันไม่ได้” นิธิ เอียวศรีวงศ์ ชี้ว่าอิทธิพลของพุทธศาสนาต่อสังคมไทยลดถอยลงนับตั้งแต่เริ่มปฏิรูปคณะสงฆ์ในสมัยรัชกาลที่ 4-5-6 ปัจจุบันมหาเถรสมาคมผูกขาดได้แต่สบง-จีวร ชี้ “พ.ร.บ. ปกป้องพุทธศาสนา” ในมือ สนช. อันตราย-ระวังจะกลายเป็น “ม.112 ทางศาสนา” เพราะเป็นการเอาอำนาจรัฐมาเผยแพร่ศาสนา-ลงโทษคนวิจารณ์ศาสนา

 

 

การนำเสนอหัวข้อ "ศาสนากับรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย" โดยนิธิ เอียวศรีวงศ์

21 ก.พ. 2558 – ในการบรรยายสาธารณะ “ศาสนากับการเมือง ชาตินี้เราคงแยกกันไม่ได้” จัดโดยกลุ่มสภาหน้าโดม ที่ห้อง ศศ.107 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น ภายหลังการบรรยายหัวข้อ “ศาสนาผีกับการเมือง” โดยสุจิตต์ วงษ์เทศ และการบรรยายหัวข้อ "พุทธศาสนากับการเมืองไทย" โดยธเนศ อาภรณ์สุวรรณ จากวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง [1] , [2]) ต่อมาเป็นการบรรยายของนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ หัวข้อ “ศาสนากับรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย” มีรายละเอียดดังนี้

000

ก่อนที่จะพูดเรื่อง รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม กับศาสนาในประเทศไทย ผมขอตกลงเกี่ยวกับเรื่องการเมืองก่อนว่า คำว่า “การเมือง” ที่ผมใช้ในที่นี้เกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ แปลว่าคนกลุ่มต่างๆ มีความสัมกับในเชิงอำนาจนะครับ ไม่ใช่อย่างการที่เราไปซื้อก๋วยเตี๋ยวกิน ความสัมพันธ์เชิงอำนาจมันปรากฎออกมาให้เห็นไม่มากนัก ยกเว้นแต่ร้านที่มันไม่มีลูกค้าเลย แล้วคุณโผล่ไปกิน จนเกือบจะเป็นเทวดามาจุติในร้าน แบบนี้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจของคุณกับร้านก๋วยเตี๋ยวก็จะมาก แต่โดยทั่วไปคุณก็เป็นแค่ลูกค้าคนหนึ่ง ไม่ปรากฎภาพของความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เห็นได้ชัด นอกจากคนกลุ่มต่างๆ สถาบันต่าง ไม่ว่าในทางการเมือง สังคม ศาสนา วัฒนธรรม อะไรก็แล้วแต่ มันก็มีความสัมพันธ์กับสถาบันอื่น และคนอื่นๆ ในสังคม และท่ามกลางความสัมพันธ์นานาชนิด มันมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจอยู่ในนั้นด้วย พระที่นุ่งเหลืองห่มเหลืองในวัฒนธรรมไทยคุณไม่สามารถไปตบไหล่ท่านได้ ที่จริงท่านก็เป็นคนเหมือนกันเราแบบนี้ แต่ในวัฒธรรมไทยมันมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ให้อำนาจบางอย่างแกคนนุ่งเหลืองห่มเหลืองเหนือเรา ผมจะหมายถือการเมืองในลักษณะแบบนี้นะครับ

ศาสนาเข้ามาเกี่ยวพันกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจอย่างไร สรุปให้เหลือสั้นๆ ก็คือ มันให้อำนาจหรืออิทธิพล คืออำนาจหรืออิทธิพลมันก็เหมือนกันนะครับ เป็นแต่เพียงว่าอำนาจมันมีกฎหมาย มันมีประเพณีรองรับ อิทธิพลเป็นอำนาจที่ไม่มีกฎหมาย ไม่มีประเพณี ไม่มีวัฒนธรรมอะไรรองรับ เราก็เรียกมันว่าอิทธิพล

เราจะพูดได้ว่าศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องในการที่ทำให้อำนาจหรืออิทธิพล หรืออะไรก็แล้วแต่ไหลไปยังสถาบันบางสถาบัน ไหลไปยังกลุ่มบางคนบางกลุ่ม แล้วในขณะเดียวกันก็รอนอำนาจของสถาบันบางสถาบัน รอนอำนาจของกลุ่มคนบางกลุ่ม เวลาเราพูดถึงศาสนากับการเมืองเรากำลังมองในแง่นี้ว่า ไอ้ตัวพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นองค์กรนักบวชก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นคำสอนก็ตาม มันเข้าไปเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจอย่างไร

โดยสรุปเท่าที่ผมนึกออก พุทธศาสนา เข้าไปเพิ่มอำนาจให้กับคนบางกลุ่มรอนอำนาจให้กับคนบางกลุ่มโดยผ่านสิ่งต่อไปนี้ อันที่หนึ่งคือ ผ่านนักบวช สมัยอดีตประเทศไทยนี่เป็นประเทศที่มีนักบวช ที่เป็นพระภิกษุแยะมากๆ นะครับ เพราะฉะนั้นแค่จำนวนและอิทธิพลที่พระมีต่อชาวบ้านเอง มันก็แสดงว่าตัวองค์กรศาสนา องค์กรนักบวชศาสนาตัวมันเองมันมีอำนาจมากขนาดไหน และอำนาจอื่นๆที่อยู่ในสังคม ต้องสัมพันธ์เชิงอำนาจกับตัองค์กรนักบวชอย่างไร จึงจะทำให้นักบวชไม่ไปเตะก้นตัวสถาบันหรือกลุ่มคนที่มีอำนาจอยู่ในสังคม เข้าใจไหม คุณต้องอยู่ร่วมกันอย่างไร

อีกอันหนึ่งนอกจากมีจำนวนมากแล้ว แน่นอนคนไทยก็นับถือ ตัวนักบวชเป็นอย่างสูงด้วยเมื่อคนนับถือ อำนาจที่นักบวชมีก็มากเป็นธรรมดา

อันที่สามต่อมาตัวคำสอนของพระพุทธศาสนาที่มีในประเทศไทยเอง ตัวหลักธรรมคำสอน และความคาดหวังที่มีต่อคนที่นุ่งเหลือห่มเหลือง หรืออ้างความเป็นพุทธก็ตามแต่ มันให้อพนาจแก่คนด้วย เพราะว่าตัวหลักธรรมคำสอนไม่มีใครรู้หรอกว่าพระพทธเจ้าจริงๆ แล้วท่านสอนอะไรไว้ คุณมีพระไตรปิฎกซึ่งเขียนขึ้นครั้งแรก 500 ปีหนึ่งจากพุทธปรินิพพานไปแล้ว ตั้แต่ฉบับเก่าที่สุดในประไตรปิฏกมันก็ถูกตีความแล้ว ฉะนั้นตัวหลักธรรมคำสอนของทุกศาสนาในโลกนี้ถูกตีความเสมอ ไม่มีหรอกครับว่าพระเซยู สอนไว้ว่าอะไร มันก็ถูกตีความใหม่เสมอ

และขอให้สังเกตว่าพุทธศาสนาในประเทศไทยก็ตาม หรือคริสต์ศาสนาในสมัยกลางในยุโรปก็ตามแต่มันตีความให้สอดคล้องกันกับสภาวะของอำนาจในยุโรปสมัยนั้น และในประเทศไทยสมัยโบราณเหมือนกัน ผมขอยกตัวอย่างเพียวเรื่องเดียวที่คงทราบกันดีอยู่แล้ว ถามว่าพุทธศาสนามันเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ลืมไปได้เลย เพราะว่ามันคนเรื่องกัน แต่ถามว่าพุทธศาสนาให้ความเป็นเชื่อให้แก่ความคิดเรื่องความเสมอภาคได้มั้ย อย่างยิ่งเลย เป็นศาสนาแรกๆ ในโลกที่บอกว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพเท่าเทียมกันในการบรรลุพระนิพพาน แต่ขอประทานโทษคำสอนอันนี้ไม่ได้ถูกเน้น หรือนำมาใช้เลย คุณปฎิรูปศาสนามากี่ครั้งไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้ จนกระทั่งพุทธทาสก็ไม่พูด

ในยุโรปพอคุณกลับมาเน้นเรื่องว่า พระเจ้าสร้างมนุษย์ให้เท่าเทียมกันเท่านั้นแหละ ระเบิดตกเลยคือ เกิดreformation (การปฏิรูปคริสต์ศาสนา) เกิดอะไรร้อยแปดเลย เฮ้ยถ้างั้นพระไม่เกี่ยวเว้ย อั๊วสามารถติดต่อกับพระเจ้าเองโดยตรง ท่านก็สร้างเรามาเท่ากับสร้างพระมาเหมือนกันนี่ ทำไมจะติดต่อพระเจ้าต่อผ่านพระ เพราะฉะนั้นหลักการของพระพุทธเจ้าที่บอกว่ามนุษย์มีศักยภาพที่สามารถบรรลุพระนิพพานได้หมดเนี่ย จะไม่ถูเน้นในพุทธศาสนาไทยเลย เวลาเราพูดถึงพุทธศาสนาไม่เกี่ยวกับสมณะโคดมนะครับ หมายถึงพุทธศาสนาไทย คืทอเราเลือกเน้นเลือกตีความให้มันเข้ากับวัฒนธรรม และอำนาจทางการเมืองในประเทศไทยด้วย

ประเด็นที่สี่ต่อมา ศาสนาในสังคมโบราณทุกแห่งเป็นผู้คุมการศึกษา แค่คุณเป็นคนคุมการศึกษาอย่างเดียวคุณสามารถที่จะทำให้คนคิดอะไรในเชิงอำนาจ ยอมรับอำนาจนี้ ไม่ยอมรับอำนาจโน้น นี่คือหัวใจสำคัญเลย และโดยจะตั้งใจหรือไม่ก็แล้วแต่ ศาสนาทุกศาสนา ส่วนหนึ่งของการศึกษาศาสนาคือการ กล่อมเกลาให้คุณยอมรับว่าอะไรคือ อำนาจ และอำนาจลดหลั่นกันอย่างไรอยู่ตลอดเวลา

เพียงแค่หลังการปฎิรูปศาสนาในรัชกาลที่ 4 - 5 - 6 มานี้ แล้วคุณดึงการศึกษาออกจากมือพระ ผมคิดว่าอิทธิพลของพระหายไปประมาณ 60 เปอร์เซ็นเป็นอย่างต่ำ ครั้งหนึ่งคุณเคยสอนกุลบุตร กุลธิดาทั้งหลาย แล้ววันหนึ่งเขาบอกคุณหยุดไม่ต้องสอนแล้ว แล้วตั้งกระทรวงศึกษาธิการขึ้นมา และมีครูที่เป็นฆารวาสมาสอนแทน คำสอนเรื่องเกี่ยวความสัมพันธ์เชิงอำนาจเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเลย เป็นการริดรอนอำนาจขององค์กรคณะสงฆ์ที่แรงที่สุด นอกจากนั้นแล้วตัวการศึกษามันสร้างเครือข่ายทางการเมืองด้วย อันนี้ออกนอกเรื่องนิดนึง สมัยโบราณก่อนหน้าที่คุณจะมีองค์กรปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลาง ถามว่าพระไทยถูกจัดตั้ง ถูกจัดองค์กรอย่างไร คำตอบคือ เขาการจัดองค์กรคล้ายๆ สมัยพุทธกาลเลย คือแบ่งตามสำนักครู สำนักอาจารย์ ถ้าคุณเป็นพระที่มีสิทธิที่จะบวชคนอื่นได้ เพราะบวชมาแล้ว 10 ปีแต่วัตรปฏิบัติของคุณไม่เป็นที่เคารพของชาวบ้าน ก็ไม่ใครเอาลูกหลานมาบวชกับพระองค์นี้ ก็เฉพาะพวกพระที่เป็นอาจารย์ที่วัตรปฏิบัติดีที่ชาวบ้านเขาจะเอาลูกหลานมาบวชกับพระอาจารย์คนนั้น พระอาจารย์คนนั้นถ้าบวชเสร็จก็กลายเป็น ถ้าภาษาก็จะเป็นหัววัดคือเป็น วัดที่ไปคลุ่มวัดอื่นๆ มันได้ขึ้นอยู่ส่วนกลางด้วย มันก็เป็นสำนึกส่วนๆ ไอ้เครือข่ายอันนี้หลังจากที่คุณดึงการศึกษาไปแล้ว คุณสร้างองค์กรคณะสงฆ์ที่มาจาก พ.ร.บ. การรปกครองคณะสงฆ์ ที่มาจากส่วนกลาง หายหมดเลยมันเป็นอำนาจจากส่วนกลางที่เขามาคุมทุกอย่าง

อย่างที่ห้า เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะไปเกี่ยวพันกับอบำนาจหรือความสัมพันธ์เชิงอำนาจก็คือ ศาสนาเป็นตัวให้อัตลักษณ์ เป็นการบอกให้รู้ว่าคุณเป็นใคร เป็นส่วนสำคัญแต่ไม่ใช่อันเดียวนะครับ คนเราอัตลักษณ์มันมีหลายอย่าง แต่การที่คุณบอกคุณเป็นชาวพุทธ มันเป็นอัตลักษณ์อีกอย่างหนึ่ง และพุทธศาสนามันให้ความเป็นตัวตนแก่คนไทยมาเก่าแก่มา อันนี้ก็เป็นอำนาจอีกชนิดหนึ่ง และก็เป็นเครื่องมือของความสัมพันธ์เชิงอำนาจอีกอย่างหนึ่ง

อันสุดท้ายผมใช้คำว่าศาสนาสากล แต่ก่อนที่คุณนับถือผี มันเป็นผีของท้องถิ่น แต่พอคุณสามารถรวมอำนาจกลายเป็นราชอาณาจักรขึ้นมา ไม่ว่าจะเล็กใหญ่ก็แล้วแต่ พุทธศาสนามันเป็นศาสนาที่ทำให้คุณเชื่อมโยงไปกับโลกกว้างได้ ที่จริงศาสนาสากลทุกชนิดสามารถเชื่อมโยงไปสู่โลกกว้างได้หมด ถ้าคุณไปอ่านตำราเช่น ชินกาลมาลีปกรณ์ ศาสนวงศ์ อะไรก็แล้วแต่เขาไม่ได้พูดเฉพาะเมืองไทย เขาจะพูดเลยไปถึงลังกา อินเดีย ทั้งหมดเหล่านี้คือ การบอกให้คุณรู้ว่าคุณเชื่ออยู่กับโลกกว้างอย่างไร สำคัญนะครับถ้าคุณยังอยู่ในหมู่บ้านอย่างเดียวโดยไม่มีราชอาณาจักรเลย จะมีเรื่องกับใครก็ชั่ง ไม่เกี่ยว แต่พอคุณเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักที่ใหญ่ขึ้นคุณอยากจะนิยามตนเอง ให้เชื่อมโยงกับโลกกว้างด้วย แฃะพุทธศาสนาเป็นสะพานไปสู่จุดนั้น แต่ทุกวันี้ไม่ใช่แล้วนะ คุณพูดภาษาอังกฤษเป็นเปล่า ถ้าคุณพูดภาษาอังกฤษเป็นคุณเชื่อมกับโลกกว้าง คุณกำลังพูดภาษาเดียวกับสหรัฐอเมริกานะเว้ย ซึ่งสมัยโบราณไม่ใช่ คุณรู้สึกว่าคุณเป็นคนกลุ่มเดียวกันที่เป็นลูกหลานสืบทอดมาจาก พุทธศาสนาในลังกา คุณเชื่อมกับโลกกว้างผ่านพุทธศาสนา แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว

ทีนี้มาดูเรื่องศาสนากับการเมืองในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม ผมต้องเตือนไว้ก่อนว่าในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมนั้น ผมต้องการจะชี้ให้เห็นว่า ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมไทย ไม่ได้ถูกกำหนดด้วยกำหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่มันถูกกำหนดด้วยวัฒนธรรมหรือระบบความสัมพันธ์ทางสังคมที่สืบทอดกันมา แต่ระบบความสัมพันธ์ที่สืบทอดกันมา หรือวัฒนธรรมมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มันไม่ได้อยู่นิ่งกับที่ เมื่อไหร่ที่คุณเรียกหาอัตลักษณ์ไทย เอกลักษณ์ไทย ความเป็นไทย คุณบ้านแล้ว เพราะของเหล่านี้มันไม่มี มันไม่อยู่นิ่ง มันเปลี่ยนตลอดเวลาอยู่แล้ว ความเป็นอเมริกันก็ไม่มี ความเป็นฝรั่งเศสอะไรมันก็ไม่มี เพราะมันไม่เคยหยุดนิ่งกับที่มันเปลี่ยนไปตลอดเวลา ฉะนั้นไอ้ตัวรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมจึงไม่เคยอยู่นิ่งเหมือนกัน และปัจจุบันนี้มันเปลี่ยนไปมากทีเดียว แต่สิ่งที่มันยังไม่เปลี่ยนจากเมื่อครั้งที่ผมเขียนเมื่อ 20- 30 ปีที่แล้ว มีอย่างหนึ่งที่ผมอยากจะพูดไว้ก่อนว่า แปลกนะครับในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย เรายอมรับเสรีภาพในศาสนาของทุกศาสนามาตั้งแต่โบราณแล้ว แต่เสรีภาพทางศาสนาไม่ได้แปลว่าทุกศาสนาเท่าเทียมกัน พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีความเหนือกว่าทุกศาสนา เพราะฉะนั้นคุณมีเสรีภาพที่จะนับถือศาสนาใดๆ ก็ได้ แต่คุณต้องเป็นรองพุทธศาสนา อันนี้เป็นมาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน ที่แม้แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับรายลักษณ์อักษรจะพูดถึงเสรีภาพในการนับถือศาสนา แต่ความเสมอภาคทางศาสนาไม่มี คนละเรื่องกัน ปัจจุบันก็ยังเป็นอยู่เช่นอย่างเรื่องวันหยุดทางศาสนา

เพราะฉะนั้นเมื่อวัฒนธรรมทางการเมืองมันเปลี่ยน มันก็ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมเปลี่ยนไปด้วย ทีนี้เรามาดูว่ามันเปลี่ยนอย่างไร ประการที่หนึ่งผมคิดว่า สิ่งที่น่าสังเกตุพุทธศาสนาไทยตั้งแต่โบราณมาจนถึงทุกวันนี้ ถูกเสนออย่างไม่มีพัฒนาการ เหมือนกับการที่คุณบอกว่า สิ่งที่ชาวยุโรปนับถือทุกวันนี้ คือสิ่งที่พระเยซูสอน ถามว่ามีใครเชื่อไหม ก็อย่างมีสองศาสนาที่มันทะเลาะกันคือ โปรแตสแตนท์ กับคาทอลิก ถูกไหม ก็แสดงว่าพระเยซูคงไม่ได้สองทั้งสองอย่าง มันต้องสอนอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็แสดงว่าศาสนามันก็เปลี่ยน

ทีนี้มาดูพุทธไทยบ้างคือ พุทธไทยมันไม่มีความคิดว่าศาสนาเปลี่ยนไปตามยุคสมัย คำสอนของศาสนาถูกตีความให้เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ พระพุทธเจ้าท่านอาจจะสอนอย่างนี้ x ผมก็ไม่รู้ว่า x มันคืออะไร แต่ว่าที่เราถือกันอยู่ในทุกวันนี้มันไม่ใช่ x แล้วนะครับ มันเปลี่ยนไปตลอดเวลา แค่ยอมรับว่าศาสนา หรือลัทธิคำสอนมันเปลี่ยนแปลงตัวเองตลอดเวลา ผมคิดว่ามันจะทำให้เราเข้าใจศาสนา ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับการเมือง กับสังคม และวัฒนธรรมดีขึ้นแยะ แต่ถ้าคุณไปจับติดแต่เพียงว่า เฮ้ยศาสนาพุทธไทยจะต้องเหมือนที่พระพุทธเจ้าสอนเป๊ะ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ยุ่งล่ะสิ มันไม่สามรถจะปรับจะเปลี่ยนอะไรได้เลย

ผมอยากจะยกตัวอย่าง งานของอาจารย์ท่านหนึ่งคือ ศรีศักร วัลลิโภดม ท่านชี้ให้เห็นมานานแล้วว่า จริงแล้ว 20 ปี แล้วมั้ง จริงๆ พุทธในสมัยอยุธยาตอนต้น สุโขทัย หรือเชียงใหม่ก็ตาม วัดพุทธจะเน้นที่พระสถูป หรือพระเจดีย์ ซึ่งก็ตรงกับลังกา ลังกาจนถึงทุกวันนี้ก็ยังเน้นที่พระสถูป เจดีย์ ถามว่าคุณเข้าวัดสิ่งที่สำคัญที่สุดเวลาเข้าวัดคืออะไร คำตอบคือพระเจดีย์ แต่พอมาถึงอยุธยาตอนกลางและตอนปลายมันเปลี่ยน จนมาถึงปัจจุบันนี้ เปลี่ยนมาเป็นพระพุทธรูปแทน คุณเข้าวัดนั้นวัดนี้ เพื่อที่จะไปไหว้หลวงพ่อโต หลวงพ่อทองคำบ้าง หรือหลวงพ่ออะไรก็แล้วแต่ เข้าใจไหมครับ ส่วนพระเจดีย์เป็นของประดับเฉยๆ บางคนไม่ทันได้มองด้วยซ้ำไปว่ามันมีพระเจดีย์อยู่หลังโบสถ์นะเว้ย เพราะว่านี่ไงตัวหลักศาสนา หลักคำสอน มันเปลี่ยนโดยอัตโนมัติด้วยตัวมันเอง

แต่ก่อนหน้าที่เราจะนับถือหลวงพ่อในวัดในโบสถ์ เรานับถือพระเจดีย์ ซึ่งเป็นพระบรมธาตุนั้นเอง ถ้าคุณอ่านเอกสารสมัยสุโขทัย และอยุทธยาตอนต้น เรื่องพระธาตุลอยไปลอยมา มาตกตรงนั้นตรงนี้ แล้วคุณมาเจอแล้วเอาไม้มาปัก เพื่อที่จะสร้างเจดีย์เหนือพระธาตุ คุณจะเห็นเรื่องเหล่านี้ตลอดมา แต่ว่าพอมาช่วงรัตนโกสินทร์ไม่เคยมีใครเห็นพระธาตุลอยไปลอยมาสักที ไอ้ที่ลอยๆ เห็นจะเป็นการบินไทยเสียมากกว่า

ทีนี้เรามาดูว่า พุทธศาสนาในประเทศไทยได้เปลี่ยนไปอย่างไร และได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองอย่างไร อันที่หนึ่งเลยผมคิดว่า องค์กรคณะสงฆ์มันเคยเป็นเครื่องมืออย่างดีให้กับรัฐมาก่อน อย่างซ้อนกับประวัติศาสตร์นิดหน่อย อันที่หนึ่งก็คือว่าเมื่อตอนสมัยรัชการที่ 5 เมื่อท่านรวมศูนย์การปกครองคณะสงฆ์เข้ามา และคณะสงฆ์ก็ถูกใช้ให้เป็นประโยชน์ทางการเมือง จริงๆ แล้ว คณะธรรมยุติกนิกาย ที่เข้าไปในอีสานระยะแรกๆ จุดหมายมุ่งหมายแรกๆ ไม่ใช่เรื่องศาสนานะครับ แต่เป็นการขยายวัฒนธรรมสมัยใหม่ ให้เขาไปในอีสานโดยผ่านพระสงฆ์ธรรมยุติ ก็แน่นอนสมัยนั้นคนก็หวังกับพระสงฆ์มหานิกาย และไม่ได้ใช้พระสงฆ์มหานิกายเป็นเครื่องมือในการขยายความทันสมัยเข้าไปในอีสาน แต่ว่าใช้พระธรรมยุติเป็นหลัก นี่เป็นตัวที่ชัดเจนว่าหลังจากรวมศูนย์มาได้ คุณก็ใช้อันนี้เป็นเครื่องมือในทางการเมืองอย่างมาก

อีกอันหนึ่งที่เห็นชัดเจนมากๆ ในสมัยรัชกาลที่ 6 ท่านประกาศสงครามกับฝ่ายอักษะ ส่งทหารไปรบ สิ่งหนึ่งที่เคยมีปัญหาในสังคมอื่นแยะมาก แต่ไม่เคยมีปัญหาในประเทศไทยเลย ก็คุณบอกว่าคุณถือศีล 5 ใช่ไหม เป็นทหารแล้วไปยิงข้าศึกตายนี่มันไม่ปาณาติบาตเหรอว่ะ ปัจจุบันนี้คำถามนี้ไม่น่าจะถาม แต่สมัยรัชกาลที่ 6 ถามนะครับ คนจำนวนมากสงสัยว่าส่งทหารไปรบกับเขาได้อย่างไร ไหนว่าถือพุทธไงแล้วจะไปยิงเขาได้อย่างไร ในความเป็นจริง ทหารไทยที่ไปรบหลังรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา ที่ยังถือศีล 5 อยู่นี่ยังมีนะครับ พ่อตาของภรรยาเก่าผม เป็นทหารที่ไปอาสาสมัครรบในสงครามอินโดจีน สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ผมถามท่านว่า เวลาคุณยิงข้าศึกนี่ทำอย่างไร ท่านบอกท่านไม่ได้ยิง เมื่อไหร่ที่เขาสั่งให้ยิง ท่านก็จะยิงไปที่เหนือพุ่มไม้มันจะได้ไม่โดนใคร เดี๋ยวเขาตาย

แต่ประเด็นปัญหาเรื่อง ปาณาติบาต เป็นปัญหาใหญ่มากในอเมริกา มันมีบางนิกายของศาสนาคริสต์ที่ไม่ยอมเป็นทหารเพื่อที่จะไปยิงคนเลย ในที่สุดรัฐมีการยอมแพ้ ฉะนั้นก็มีการเกณฑ์ทหารแต่ก็เกณฑ์มาเป็นเสนารักษ์แล้วกันไม่มีการยิงใคร แต่ในเมืองไทยกลับไม่เป็นปัญหา ตอนที่จะส่งกองทัพไป ท่านไปขอให้สมเด็จพระสังฆราชคือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ให้ช่วยอธิบายเรื่องนี้ และท่านอธิบายว่า การฆ่าคนบาปแน่นอน แต่ถ้าคุณฆ่าศัตรูที่จะทำลายพระพุทธศาสนา ไม่เป็นไร อันเดียวกันกับฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาปแหละครับ เพราะคอมมิวนิสต์ทำลายพุทธศาสนาเหมือนกัน หลักความคิดอันนี้มันฝังลงมาทันที เราไม่เคยตั้งข้อสงสัยเลยนะว่า เป็นทหารนี่มันจะถูกหรือ

อันต่อมาก็ชัดเจนเหมือนที่อาจารย์ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ พูดถึงสมัยจอมพลสฤษดิ์ ใช้พระในการต่อต้านคอมมิวนิสต์แยะมาก อันนี้ทั้งมหานิกาย และธรรมยุติ พระจะเป็นคนที่ขึ้นไปบนเขาเพื่อไปเปลี่ยนศาสนาของม้ง ตอนนั้นไม่ได้รังเกลียดผีอะไร แต่ไม่ไว้ว่าใจว่าม้งเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ ถ้าเปลี่ยนมันเป็นพุทธซะจะได้เลิกเป็นคอมนิสต์ซะที พระเป็นผู้นำการพัฒนาในท้องถิ่นหลายแห่งด้วยกัน แล้วองค์กรคณะสงฆ์ก็ให้ความร่วมมือกันรัฐเผด็จการ สบายเฉยเลย ไม่ได้รู้สึกอะไรเลย สืบมาจนถึงทุกวันนี้องค์กรคณะสงฆ์ก็จะยอมรับใครก็ได้เข้ามามีอำนาจในบ้านเมืองด้วยวิธีใดก็ได้เสมอมา

ในที่สุดอะไรขึ้นกับองค์กรคณะสงฆ์ในประเทศไทย ในทัศนะผมนะครับ เดี๋ยวอย่างไรถ้าไม่เห็นด้วยก็เอาไว้ไปเถียงกันข้างนอกแล้วกัน ก็คือว่า ผมคือว่าองค์กรคณะสงฆ์นประเทศไทยหมดพลังลงไปแล้ว โดยเฉพาะเมื่อสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น รัฐบาลเองก็เข้มแข็งมากขึ้น รัฐไทยเองก็เข้มแข็งมากขึ้น คือเวลานี้ถ้าถามว่า คุณอยากจะปฏิรูปการศึกษา เปลี่ยนหลักสูตรเด็กชั้นประถมทั้งวหมด ถามว่าต้องให้พระช่วยไหม ไม่ต้องแล้วเพราะมีข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการเพียงพอที่จะเปลี่ยนได้ ถามว่ารัฐอยากทำอะไรที่อยากให้พระสงฆ์ช่วย ผมนั่งนึกแทนรัฐนะ นึกไม่ออกว่ะ คล้ายว่าจะบอกว่า ท่านอยู่เฉยๆ อย่ามายุ่งกันจะดีกว่า ฉะนั้นพลังอันนี้มันหมดไปเมื่อคุณไปรับใช้รัฐมากๆ มันทำให้ลืมสังคม ในขณะที่สังคมอาจจะต้องการอะไรอีกหลายอย่างเช่น พระสมัยก่อนพระเป็นอิสระจากรัฐ และเนื่องจากท่านเป็นอิสระจากรัฐท่านจึงเบรกรัฐได้เป็นครั้งคราว แต่หลังรัชกาลที่ 5 เป็นต่อมาพลังเบรกตรงนี้มันไม่มีแล้ว ก็ไม่มีประโยนช์อะไรกับสังอีกต่อไปแล้ว แต่ถามว่ารัฐใช้ประโยชน์ได้ไหมก็ได้ตามที่ผมยกตัวอย่างไป แต่ในปัจจุบันนี้เขาก็ไม่รู้จะใช้ทำอะไรอีกแล้ว สังเกตนะครับแม้แต่นักการเมือง ถามว่ามีใครไปขอให้พระเป็นหัวคะแนนบ้าง เปรียบเทียบกับเมื่อ 30 ปีที่แล้วน้อยลงมากเลย มันแสดงให้เห็นว่าพระเองก็คุ้มความศรัทธาของชาวบ้านเนี่ยได้น้อยลงไปด้วย จึงไม่มีประโยชน์ที่จะใช้พระเป็นหัวคะแนนอีกต่อไปเป็นต้น

การรื้อฟื้นบทบาทของพระสงฆ์ ไม่ได้ทำโดยองค์กรส่วนการของพระสงฆ์ในประเทศไทย แต่กระทำโดยสำนักทั้งหลาย เช่น สันติอโศก ธรรมกาย ว.วชิระเมธี ทั้งหมดเหล่านี้จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยไม่สำคัญ แต่สิ่งที่ผมอยากให้สังเกตคือ อันที่หนึ่ง ทั้งสำนักทั้งหมดเหล่านี้ ล้วนแต่ไม่ได้กระทำตามนโยบาย หรือการกำกับของมหาเถรมหาคม ท่านทำของท่านเอง อันที่สองต่อมายิ่งน่าสนใจใหญ่ ไม่ว่าคุณจะได้รับการรับรองจากมหาเถรสมาคมหรือไม่ คุณก็สามารถหาศรัทธาจากชาวบ้านได้อยู่แล้ว เช่น สันติอโศก หลังจากถูกพิพากษาท่านก็เปลี่ยนเครื่องนุ่งห่มเสีย ถามว่าศรัทธา หรืออุบาสก อุบาสิกา ของท่านลดน้อยลงไหม … ไม่ กลับเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำไป

ผมคุยกับคนที่อยู่ข้างนอกเมื่อครู่นี้สักพักหนึ่ง ผมก็คิดเวลานี้มหาเถรสมาคมผูกขาดได้อย่างเดียวคือ สบง จีวร สีเหลือง นอกนั้นไม่มี ไม่มีคุณเข้าใจไหม ทุกคนไม่จำเป็นที่ต้องสังกัดมหาเถรสมาคม แล้วท่านผู้นั้นก็แย้งผมว่า อ้าวแล้วความเป็นนักบวชนทางกฎหมายล่ะ ผมก็ถามว่าในประเทศไทยนี่เขาให้อะไรกับความเป็นนักบวชบ้างว่ะ เกณฑ์ทหารก็ต้องไปเกณฑ์ เพราะฉะนั้นคุณจะเอาอะไร ขึ้นรถเมล์ฟรีงั้นเหรอคือ มันน้อยมากความเป็นนักบวชมันได้อภิสิทธิ์ตามกฎหมายน้อยมากๆ แล้วคุณจะอยาดเป็นไปทำไมนักบวชตามกฎหมาย นักบวชที่สังคมเขาให้ความเคารพนับถือสิ ไอ้นี้สิสำคัญกว่านักบวชตามกฎหมาย

ประเด็นต่อมาที่ผมอยากจะพูดถึงก็คือว่า ความเสื่อมโทรมขององค์กรคณะสงฆ์ มันเห็นได้ชัดอย่างที่พูดไปแล้ว อีกอันหนึ่งถ้าคิดให้ดีแล้วน่าตกใจมากๆ นะครับ ตัวหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นพุทธศาสนาของพุทธทาส พุทธศาสนาของ ว.วชิระเมธี หรือใครก็แล้วแต่มันไม่กำกับพฤติกรรมของใคร ไม่กำกับวิธีคิดของใครเท่าไหร่นัก อันนี้อย่างเพิ่งตกใจนะครับในพม่าก็เหมือนกัน ในลังกาก็เหมือนกัน ผมเพิ่งทราบข่าวว่ารัฐบาลเผด็จการพม่าต้องรีบถอนตัวร่าง พ.ร.บ. อันหนึ่งกลับไป เพราะว่า ไปให้สิทธิพลเมืองกับพวกโรฮิงญา แล้วคนที่ออกมาต่อต้านมากคือ พระถือธงนำหน้าเลยนะครับ คำถามพระพุทธเจ้าท่านเคยแบ่งระหว่างโรฮิงญา กับพม่าไว้ตั้งแต่เมื่อไร มนุษย์มีศักยภาพที่จะบรรลุพระนิพพานเท่ากัน ท่านจึงไม่แบ่งไง แต่พระนี่ไม่ได้ ไม่ได้ โรฮิงญานี่ไม่ได้ ในที่สุดรัฐบาลก็ต้องถอย

ในลังกาเองเมื่อตอนเกิดสงครามกับพวกทมิฬ คนที่ถือธงไปบอกให้ฆ่าทมิฬคือ พระนะครับ ฉะนั้นมันได้เกิดแค่ในเมืองไทยนะ มันเกิดในสังคมชาวพุทธแยะมากคือ สิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านสอนเอาไว้ถามว่ามันยังมีความหมายต่อชีวิตคนอีกหรือไม่ ผมคิดว่าน้อยมาก OK คนที่เชื่อท่านพุทธทาสโดยที่ไม่ได้ไปบวชที่สวนโมกมีไหม ก็มี แต่ผมกลับคิดว่าจำนวนน้อยนะครับ แล้วก็ปฏิบัติตามที่ท่านพูดจริงๆ หรือว่ามีวิธีคิดแบบที่ท่านพุทธทาสสอนจริงก็ไม่มากเท่าไหร่

หน้าที่ที่มีความสำคัญของพุทธศาสนาที่มีต่อคนในโลกปัจจุบัน มีความสำคัญมากกว่าคำสอนอีก คือตัวอัตลักษณ์ การประกาศตนว่าเป็นชาวพุทธ มันมีความหมายดีบางอย่าง ที่ดีกว่าสมัยเมื่อรัชกาลที่ 4 แยะเลย เพราะว่าฝรั่งเองก็ออกมายกย่องพุทธศาสนาอย่างงั้น อย่างงี้ คือศาสนาพุทธมันเป็น อัตลักษณ์ที่ดี เป็นที่น่าประกาศ เราเคยเจอฝรั่งคนหนึ่งชาวออสเตเรีย ซึ่งมันเคยระยำตำบอนถึงที่สุดนะครับ แต่มันก็ประกาศตัวเองว่าผมเป็นชาวพุทธ ผมเป็นชาวพุทธ ก็ไปวัดเพื่อที่จะไปอะไรก็ไม่รู้ ผมก็ไม่เคยตามมันไป แต่ว่าอย่างไงก็ตามแต่มันกลายเป็นอัตลักษณ์ และคนไทยก็คิดว่าความเป็นชาวพุทธมันเป็นอัตลักษณ์ที่แยกจากความเป็นคนไทยไม่ได้ เหตุดังนั้นสิ่งที่มีความหมายในชีวิตของคนไทยในปัจจุบันนี้ ที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาจึงไม่ใช่หลักธรรมคำสอนนะครับ ทำไมเราถึงต้องบ้าพิธีกรรมมาก ก็แหงสิ พิธีกรรมมันเป็นตัวบอกอัตลักษณ์น่ะ คุณบอกว่าคุณไม่ยึมั่นถือมั่น มันไม่มีอัตลักษณ์อะไร จืดฉิบเป๋ง ถ้าเอาตามคำสอนของพุทธทาส จืดมากไม่ตัวตนอะไรเลย แต่คุณห้อยพระเว้ย คุณเห็นพระคุณไหว้เว้ย เพราะมันทำให้คุณมีอัตลักษณ์ความเป็นชาวพุทธขึ้นมา คุณปกป้องการล่วงละเมิดพุทธศาสนาทั่วโลก เช่นศิลปินชาวเยอรมันเอาพระพุทธรูปไปวางไว้ หรือนางแบบมันขึ้นไปนั่งบนพระเพลาของพระพุทธ โกรธแทบจะประกาศสังครามกับมันน่ะ ซึ่งจริงๆ ถ้าเอาตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าจริงๆ คุณปล่อยวางสิ ไม่เห็นเกี่ยวกับเลย ไม่รู้สึกอะไรเลยใช่ไหม คุณกลับคิดว่าไม่ใช่ เราต้องโกรธเพราะมันกระทบตัวเรา อัตลักษณ์ก็คือลักษณะของตัวเรา มันเหยียดหยามเรา เรายึดมั่นถือมั่นมากเลยทีเดียว

และอันสุดท้ายที่น่ากลัวที่สุด พ.ร.บ.ปกป้องพระพุทธศาสนาที่เขากำลังจะเอาเข้า สนช. อยู่นี่คือ คุณกำลังจะเอาอำนาจรัฐมาเผยแผร่ศาสนาคือ ใครดูถูกพระศาสนารู้สึกจะมีโทษจำคุกสองปี ปรับกี่หมื่นก็ไม่รู้ผมจำไม่ได้ คือมันเป็นความตายสนิทของพระพุทธศาสนาในประเทศไทยจริงๆ ไม่เหลืออะไรเลย คุณต้องใช้อำนาจรัฐซึ่งมันสอดคล้องกับอีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งน่าอัศจรรย์มาก คือมีข่าวคนนุ่งเหลืองห่มเหลืองจะไปบิณฑบาตรต้องให้ตำรวจไปคุ้มกัน ผมตกใจมากเวลาเจอข่าวนี้ แล้วตำรวจก็ไปคุ้มครองซึ่งตำรวจก็ไม่ผิดนะครับ พระท่านก็เป็นพลเมืองไทย เมื่อท่านของให้คุ้มครอง มีเหตุอันพึ่งคุ้มครองก็ไปคุ้มครองให้ท่าน ไม่ได้ผิดอะไร ตำรวจทำหน้าที่ที่ถูกต้องของเขา

แต่ขอโทษนะครับผ้าเหลืองมันแปลว่าอะไร พระพุทธเจ้าท่านถือว่าผ้าเหลืองคือ สัญลักษณะต่อการไม่เป็นภัยต่อใครทั้งสิ้น คุณเห็นผ้าเหลืองคุณรู้เลยว่า ไอ้หมอนี่ไม่วันจะมาด่ากู ไม่มีวันจะมาเตะกู ผ้าเหลืองคือสิ่งนี้ เมื่อคุณไม่เป็นภัยต่อใครคุณจึงไม่ได้รับภัยจากใครไง “ภัย” ภาษาบาลีแปลว่ากลัว ถ้าเขาไม่กลัวคุณเขาก็จะไม่รู้ว่าจะกระทืบคุณไปทำไม ไม่รู้จะเอาคุณไปปรับทัศนะคติทำไม ดังนั้นเมื่อไหร่ที่คนนุ่งเหลืองห่มเหลืองแล้วขอความคุ้มครอง เท่ากับว่าคุณไม่เชื่อในผ้าเหลืองแล้ว ไม่เชื่อในความไร้นิรภัยของคุณเอง ว่าคุณคือผู้ที่ไมเป็นภัยต่อใครทั้งสิ้น

อันนี้มันเท่ากันกับ พ.ร.บ. ปกป้องพุทธศาสนา คือปกป้องตนเองไม่ได้ต้องเอาอำนาจรัฐมาปกป้อง คำตอบแบบเห็นชัดๆ พูดอย่างไม่ต้องเกรงใจกันเลยก็คือ พุทธศาสนาในประเทศไทยตายแล้ว

เมื่อมันเป็นเช่นนี้ พุทธศาสนาจึงกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองได้ง่ายขึ้น แต่น่าเสียดายที่เป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ไร้ประสิทธิภาพ ก็ในเมื่อคนส่วนใหญ่ไม่ได้มีพฤติกรรมไม่ได้มีความคิดอะไรตรงตามหลักธรรมคำสอน ผมจะพูดตามหลักธรรมคำสอนว่า ผมไม่ยึดมั่นถือมั่น ถ้าผมเป็นนักการเมืองคุณจะมาลงคะแนนให้ผมไหม ถ้าผมจะยึดอำนาจคุณจะมาช่วยผมยึดไหม ไม่สักอย่างว่ะ ไอ้ไม่ยึดมั่นถือมั่นนี่ไม่สักอย่างไร แต่ถ้าผมพูดในเชิงอัตลักษณ์ว่า เฮ้ยเราชาวพุทธ มีคนคนมาย่ำยีเราทีนี้แหละคุณฮือมากับผมด้วย

และด้วยเหตุดังนั้นมันจึงเป็นเครื่องมือที่ไม่มีประสิทธิภาพ ครั้งสุดท้ายที่คุณใช้หลักธรรมคำสอนอย่างเบี้ยวๆ หรือไม่ผมไม่แน่ใจอันนี้เถียงกันได้ ในการเป็นประโยชน์ต่อการเมืองคือ เมื่อตอนที่คุณจำลอง ศรีเมือง ต่อต้านการทำแท้ง สมัยรัฐบาลนายกเปรม อย่างไรก็ตามแต่หลังจากที่คุณต่อต้านการทำแท้ง ด้วยการอ้างหลักธรรมคำสอน มันก็ทำให้คุณเป็นนักการเมืองเด่นขึ้นมาทันที มีชื่อเสียงขึ้นมา และผมคิดว่าครั้งนั้นเป็นครั้งสุดท้าย และด้วยเหตุที่ศาสนาพุทธมันไร้ประสิทธิภาพลงไป จึงทำให้กลายเป็นเครื่องของกลุ่มบุคคล ไม่ใช่ของรัฐนะ เวลานี้ถามว่าศาสนาพุทธเป็นเครื่องมือทางการเมืองของคนอยู่ไหม คำตอบคือเป็น แต่เป็นของคนบางกลุ่มไม่เหมือนสมัยรัชกาลที่ 6 เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองศาสนา ถามว่าคนไทยที่อ้างว่าถือพุทธทั้งหลาย ผมคิดว่าอาจจะครึ่งๆ แต่การที่คุณไปเสนอสิ่งนี้มันจะถูกใจคนที่รู้สึกว่า ความปลอดภัยความมั่นคงในพุทธศาสนามันน้อยถอยลด เลยต้องดึงอำนาจของรัฐเข้ามาปกป้องคุ้มครองศาสนามากขึ้น เพราะฉะนั้นก็พอใจกับกลุ่มคนที่เสนอ พ.ร.บ.คุ้มครองศาสนา และถ้า พ.ร.บ. ฉบับนี้ผ่านไปได้ คุณจะพบว่ามันจะมี “112 ทางศาสนา” ว่ะ ซึ่งน่ากลัวมากๆ

ผมคิดถึงพุทธประวัติ แล้วก็คิดถึงพระพุทธเจ้าท่านประกาศศาสนาโดยการไปหาพระเจ้าพิมพิสาร แบบว่าให้ช่วยประกาศบอกชาวบ้านทั้งประเทศให้หน่อย ห้ามถือศาสนาอื่นให้ถือศาสนาพุทธเท่านั้น คุณคิดว่าศาสนาพุทธจะเหลือมาถึงเราไหม มันก็คงจะหมดสิ้นไปตอนที่สิ้นพระเจ้าพิมพิสารนั่นแหละ หมดรัชกาลพระเจ้าพิมพิสาร ศาสนามันก็หมดไป แต่ปัจจุบันเรากำลังจะคุ้มครองศาสนาด้วยอำนาจรัฐ

ขณะเดียวกันผมอยากให้สังเกตุว่า เรายอมรับเสรีภาพทางศาสนา แต่เราไม่ยอมรับความเสมอภาคทางศาสนา แต่ปัจจุบันเราจะพบว่าศาสนาอื่นๆ ปรากฎตัวเองในพื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อนแยะมาก ซึ่งเป็นสัญญานที่น่ายินดี เป็นแต่เพียงว่าเมื่อปรากฎตัวขึ้นมันจะถูกดูดกลืนเข้าไปอยู่ในพระพุทธศาสนา เวลาที่วัดแขกแถวสีลม เวลาเขามีงานนวราตรี คนที่ไปงานส่วนใหญ่คือ คนพุทธทั้งนั้นเรื่องไม่มีใครเป็นฮินดูจริงๆ เพราะว่าศาสนาฮินดูมันถูกกลืนเข้ามาในศาสนาพุทธแล้ว วาเลนไทน์ยิ่งสนุกเข้าไปอีก

ทั้งหมดเหล่านี้มันบอกอะไรเรา ผมคิดว่าน่าสนใจ คุณเชื่อไหมศาสนาสมัยโบราณมันขาดสิ่งหนึ่งคือ มันไม่มีเส้นเขตแดน ศาสนามันก้ำๆ กึ่งๆ กันมาตลอด ศาสนาเพื่อมีเขตแดนครั้งแรกในยุโรป เริ่มต้นประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 9-10 ที่มีการเริ่มล่าแม่มด แต่ที่เริ่มทีเส้นเขตแดนที่ชัดเจนคือ ช่วง reformation ช่วงที่ทะเลาะเรื่องศาสนา เกิดลัทธิโปรเตสแตนต์ขึ้นมา ต้องขีดเส้นให้ชัดว่า มึงเป็นโปรเตสแตนต์ หรือมึงเป็นคาทอลิก ต้องขีดเส้นให้ชัด ไอ้นี่เป็นศาสนาสมัยใหม่ สมัยโบราณไม่มีนะครับ ทีนี้ในการปฏิรูปศาสนาของเอเชีย รวมทั้งในประเทศไทยด้วย เราไปรับความคิดจากมิชชันนารีมา แล้วก็เริ่มขีดเส้นพระพุทธศาสนา อาจจะขีดด้วยวิทยาศาสตร์ หรืออะไรก็ตามแต่ เริ่มมีเส้นที่ชัดเจนขึ้นมา ในบรรดาศาสนาทั้งหมดเหล่านี้ผมอย่างจะตั้งข้อสังเกตุไว้อย่างหนึ่งว่า เวลาที่ขีดเส้นโดยไม่รับจากฝรั่งมีอยู่ศาสนาเดียวในโลกนี้คือ ศาสนาอิสลาม เขาขีดเส้นของเขามาก่อนที่เขาจะมาเจอกับฝรั่งด้วยซ้ำไป เหตุดังนั้นคุณจะพบอย่างหนึ่งว่า ถึงแม้ศาสนาต่างปรากฎตัวในพื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้นในสังคมไทยทุกวันนี้ แต่มีศาสนาเดียวที่ไม่ถูกพุทธศาสนากลืนเอาไปคือ อิสลาม เพราะเขามีเส้นที่ชัดเจน คุณล้วงละเมิดเขาไปในเส้นนะไม่ได้

ทีนี้ถามว่าทั้งหมดเหล่านี้คือเมื่อก่อนมันเดินข้ามไปข้ามมากได้ กระทั่งในภาคใต้สมัยก่อนคุณจะเห็นลายลักษณ์อักษรเต็มไปหมดเลย ไอ้หมอนั่นมันเข้าแขก คุณเดินจากพุทธศาสนา เพราะไปแต่งงานกับมุสลิม ไอ้หมอนั่นมันเปลี่ยนจากมุสลิม เพราะมาแต่งงานกับคนไทยพุทธ คือแขกเข้าพุทธไทยสมัยก่อนมันเป็นเรื่องธรรมดา แต่พอมาในสมัยนี้มันไม่ง่ายเหมือนเมื่อก่อน

จากปรากฎการณ์อย่างนี้ผมว่ามันมองได้สองอย่าง ถามว่าในอนาคตมันจะปะปนกันมากขึ้นไหม ยกเว้นศาสนาอิสลามนะครับ มคิดว่ามันจะปะปนกันมากขึ้นเยอะแยะเลย และสะพานที่จะทำให้มันปะปนกันมากขึ้นคือ พิธีกรรม เพราะพิธีกรรมในทุกศาสนามันถูกทำให้เป็นฆารวาสหมด คิดว่าเวลานี้ใครนึกถึงพระเยซูบ้างวะ ผมคิดว่าไม่ใครนึกถึงสักคนหรอก ยิ่งวาเลนไทน์ไม่มีใครนึกถึงเรื่องคำสอนของพระเยซูเลย ทีนี้ทั้งหมดเหล่านี้ผมให้สังเกตุว่า ความไร้พลังของพุทธศาสนาในประเทศไทย เราไม่ได้ secularize (การทำให้เป็นเรื่องทางโลก) แปลว่ามันก็ยากมากเลยที่ชาวคริสต์จะเข้ามาฉลองวิสาขบูชากับเรา แต่ว่าทุกวันนี้เราฉลองวันสำคัญแบบคริสต์เป็นปกติโดยไม่ได้รู้สึกอะไรเลย ควรทำให้ไม่ อาจจะไม่ควรทำ แต่ผมต้องการจะบอกว่านี่คือความไร้พลังของพทธศาสนาของเรา

ประเด็นที่สองที่น่าคิดก็คือ เป็นไปได้ไหมที่คุณจะสร้างเส้นเขตแดนอันใหม่ของคำสอนแบบใหม่ เช่น พุทธทาส แทนที่ท่านจะอิงอยู่กับองค์กรคณะสงฆ์ไทย ท่านสร้างเขตแดนแบบพุทธศาสนาใหม่ เป็นศาสนาพุทธแบบพุทธทาส ไม่ใช่ศาสนาพุทธแบบไทย ตรงมันเป็นไปได้ไหม ผมเองก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน ถ้าผมจะนับถือธรรมกายโดยผมไม่เชื่อเรื่องดวงแก้วที่อยู่ตรงพุง ผมเชื่อว่าดวงแก้วมันอยู่ตรงหัว อะไรอย่างนี้อย่างนี้ได้ไหม เมื่อไหร่ที่มันเริ่มชัดว่าไม่ได้ เมื่อนั้นคุณเริ่มขีดเส้นแล้ว อันนี้น่าสนใจ

ผมมีเพียงเท่านี้ขอบคุณมากครับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท