ภรณ์ทิพย์: กลุ่มละครกับความฝัน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

112 the series

 

เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายหมายอาญามาตรา 112 หรือ กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในมุมมองที่สังคมยังไม่ค่อยรู้จัก และสื่อมวลชนมักนำเสนอแต่เรื่องราวของคดีความจนละเลยข้อเท็จจริงส่วนนี้ไป 

งานชุดนี้ เป็นการร้อยเรียงเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของผู้ถูกดำเนินคดีนี้ เพื่อที่จะสะท้อนมุมมองที่หลากหลายต่อผู้ถูกดำเนินคดีในฐานะที่เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง และให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบของการถูกดำเนินคดีที่มีต่อชีวิตพวกเขาที่มากไปกว่าการสูญเสียอิสรภาพในเรือนจำ โดยไม่มุ่งหาคำตอบว่าพวกเขาเหล่านั้นกระทำความผิดต่อกฎหมายจริงหรือไม่ 

งานชุดนี้ เขียนขึ้นโดยทีมงานและอาสาสมัครของ iLaw ที่ทำหน้าที่สังเกตการณ์การพิจารณาคดี และให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมต่อผู้ถูกดำเนินคดีจากการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น 

สำหรับชื่อของเจ้าของเรื่องเล่าจะเปิดเผยเฉพาะผู้ที่เต็มใจให้สังคมรับรู้เท่านั้น ผู้ที่ขอสงวนชื่อจริง เราจะตั้งชื่อของเขาใหม่ในเครื่องหมาย "...."

 

"เราคิดเรื่องกฎหมายกันก่อนแสดง และพูดกันหลังเวทีก่อนขึ้นแสดงด้วยซ้ำ เราคิดว่ามันเหมือนกับละครจักรๆ วงศ์ๆ ที่ฉายกันตอนเช้าทางโทรทัศน์ ซึ่งมีเรื่องเจ้าอยู่ด้วย แล้วเราก็คิดว่ามันไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะมาดำเนินคดีกับละคร ซึ่งเป็นเรื่องไร้สาระมาก"

ทีมงานละคร "เจ้าสาวหมาป่า" คนหนึ่งเล่าให้ฟัง หลังจากที่กอล์ฟ-ภรณ์ทิพย์ และแบงค์-ปติวัฒน์ ถูกจับกุมและดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ในฐานะผู้กำกับละครและนักแสดงตามลำดับ ทั้งสองคนไม่ได้รับสิทธิประกันตัวระหว่างการสอบสวนและพิจารณาคดี ก่อนถูกศาลพิพากษาให้จำคุก 2 ปี 6 เดือน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 

อ่านรายละเอียดคดี "ละครเวทีเจ้าสาวหมาป่า" ได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/case/558#detail

."ที่มาของละคร คือ ตอนนั้นเป็นช่วงใกล้ 14 ตุลาฯ เราเลยร่วมโครงการในงาน 40 ปี 14 ตุลา เขียนโครงการไปมีจุดประสงค์จะพัฒนาศักยภาพละคร เพราะคนที่ทำงานด้านละครมีไม่เยอะ ทางกลุ่มประกายไฟการละครจึงทำโครงการนี้เพื่อชวนเยาวชนและนักเคลื่อนไหวจากหลากหลายกลุ่มเข้ามาลองทำกิจกรรมการสื่อสารผ่านละคร กลุ่มประกายไฟเหมือนเป็นผู้ประสานงาน มีคนอายุตั้งแต่ 10-40 เข้ามาร่วมกันทำ workshop และคิดร่วมกันว่าในละครเรื่องนี้จะสื่อสารประเด็นอะไรบ้าง" 

"ชื่อ "เจ้าสาวหมาป่า" นั้นกอล์ฟเป็นคนคิด แต่คิดขึ้นมาเร็วๆ เพราะทางมูลนิธิ 14 ตุลาฯ ต้องการเร่งประชาสัมพันธ์กิจกรรมไปก่อน แต่ตอนหลังพอหลายๆ คนมาช่วยกันเขียนเรื่อง เนื้อหาก็เปลี่ยนไปเป็นคนละเรื่องกับที่ตอนแรกกอล์ฟคิดไว้เลย" 

"เราตั้งใจจะสื่อสารเรื่องชนชั้น ช่วงนั้นเรื่องสีเสื้อเป็นประเด็นร้อนแรง ตอนสุดท้ายของเรื่องมีเด็กออกมาเอาหมอนฟาดกันแล้วขนไก่ฟุ้งไปหมด เป็นสัญลักษณ์แทนว่าการสาดสีใส่กัน แล้วนำไปสู่การฆ่ากันไม่ใช่ทางออก เราจะต้องไปให้ถึงปัญหาในเชิงโครงสร้าง"

"นักแสดงไม่มีค่าตัวนะ คนทำงานละครเรื่องนี้ทุกคนไม่มีค่าตัวเลย ขอทุนมาทำอุปกรณ์ ทำฉาก ค่าเดินทางไปซื้อของก็เกือบจะไม่พออยู่แล้ว" 

ทีมงานคนหนึ่งอธิบายให้ฟังเกี่ยวกับละครอันเป็นที่มาของการดำเนินคดี ในขณะที่เพื่อนของเธอสองคนต้องติดคุก และเพื่อนอีกหลายคนยังต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ เพราะไม่มั่นใจว่าถูกออกหมายจับหรือไม่ และไม่มั่นใจว่าภายใต้กฎอัยการศึก ทหารและตำรวจจะบุกเข้ามาค้นบ้านเมื่อไร

."กลุ่มประกายไฟการละครรวมตัวกันมาตั้งแต่ประมาณปี 52 กิจกรรมหลักของกลุ่มเราจะไปสอนละครให้เด็กในพื้นที่ต่างจังหวัด กอล์ฟเป็นคนมีความฝันว่า อยากให้เด็กต่างจังหวัดสามารถเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในบ้านของเขาผ่านละคร เล่าผ่านศิลปะ อยากให้เด็กมีวิธีสื่อสารมากกว่าการพูดตรงๆ หรือการออกมาถือป้าย ซึ่งทำกันมาหลายปีแต่ไม่สำเร็จ"

"กอล์ฟจะเป็นคนทำงานต่อเนื่องกับเด็กๆ เช่น เวลามีงานอะไรในกรุงเทพฯ ก็จะชวนเด็กๆ ที่เคยไปสอน ให้มาบอกเล่าเรื่องราว หรือให้ขึ้นไปแจมตามเวทีต่างๆ"

"ช่วงหลังการสลายการชุมนุมปี 53 เราเล่นละครตามข้างถนน เกี่ยวกับเรื่องคนที่เสียชีวิต ตอนแรกเล่นละครแบบไม่มีเงินก่อน เสื้อผ้าที่ใช้ก็เป็นเสื้อผ้าบริจาคเอามาเย็บเอง เครื่องแต่งหน้าก็ขอบริจาคมาจากคนที่ไม่ใช้แล้ว พอตอนหลังคนเริ่มสนใจก็เลยเปิดกล่องรับบริจาคเอาเงินมาทำอุปกรณ์ เวลาไปแสดงแต่ละครั้งนักแสดงไม่เคยได้เงินจากกองกลางเลยเพราะต้องเก็บเงินไว้เป็นค่าทำละครเรื่องต่อไป"

สมาชิกคนหนึ่งของ "ประกายไฟการละคร" เล่าถึงกลุ่มกิจกรรมเล็กๆ ที่ทำงานอย่างอิสระด้วยใจรัก แต่ตอนหลังต้องแยกย้ายกันไปเพราะสถานการณ์บ้านเมืองและเพื่อความปลอดภัย

."เวลาทำกิจกรรมกอล์ฟจะเป็นคนขี้โมโห แต่ใจดีกับเพื่อนและน้องๆ กอล์ฟเป็นคนมีระเบียบวินัยในตัวเองสูงมากในการทำงาน ทำให้เพื่อนเคารพและให้เกียรติมันจะเป็นคนครีเอทดี และควบคุมคนได้ เลยมีพาวเวอร์ในการออกคำสั่งว่าฉากนี้ต้องเป็นแบบนี้นะ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะแย้งไม่ได้ กอล์ฟก็รับฟัง" 

"กอล์ฟเป็นเด็กที่จบมัธยมจากพิษณุโลก ทำกิจกรรมมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมแล้ว พอมาเรียนต่อรามคำแห่งก็ทำกิจกรรมต่อ ก่อนมาทำเรื่องการเมืองกอล์ฟทำกิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพเยาวชน กอล์ฟชอบไปสอนหนังสือให้เด็กต่างจังหวัดในหมู่บ้านที่ยากจน ไม่มีโอกาสไปเรียนพิเศษ สอนวาดภาพบ้าง สอนภาษาอังกฤษบ้าง เช่น ที่จังหวัดมุกดาหาร ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และในชุมชนคลองเตย บางครั้งก็ไปช่วยงานกิจกรรมของเครือข่าย บางครั้งก็ไปเปิดพื้นที่ใหม่เอง แต่กอล์ฟมาดังในภาพที่ทำงานประเด็นการเมือง"

"กอล์ฟเป็นคนมีพรสวรรค์เรื่องศิลปะ เป็นคนชอบวาดรูปมาก ตอนอยู่มัธยมเป็นแชมป์สีน้ำ กอล์ฟฝันอยากเป็นครูสอนศิลปะให้กับเด็กบนดอย ฝันอยากทำโรงเรียนให้กับเด็ก เป็นโรงเรียนในจินตนาการที่สอนเด็กจากธรรมชาติที่อยู่รอบตัว สอนโดยไม่เลือกว่าเด็กต้องนับถือศาสนาอะไร แต่แม่ก็ไม่เห็นด้วยเพราะเชื่อว่าถ้าเป็นครูอาจจะไส้แห้ง" 

"หลังจากมาทำละครกับมูลนิธิ 14 ตุลาฯ ครั้งนี้ กอล์ฟได้เจอคนหลากหลายรวมทั้งเด็กๆ กอล์ฟมีความฝันที่สวยงามและเชื่อว่าเด็กๆ สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้" 

เพื่อนนักกิจกรรมที่รู้จักกอล์ฟมาหลายปี เล่าถึง "ความเป็นกอล์ฟ" และความฝันอันสวยงามที่ยังไม่มีโอกาสจะมาถึงในเวลาอีกอย่างน้อยสองปีครึ่ง 

ถึงแม้คนตัวเล็กๆ ที่มีความตั้งใจจะไม่อาจมีเสรีภาพได้ภายใต้บรรยากาศทางการเมืองที่เข้มงวด 
ถึงแม้กลุ่มละครกลุ่มเล็กๆ ที่มีความทรงจำจะไม่อาจมีชีวิตต่อไปได้ภายใต้การปราบปรามอย่างรุนแรง 
แต่ความฝันเล็กๆ ที่มีรอยยิ้มนี้ คงไม่อาจถูกลดทอนไปได้ด้วยกฎอัยการศึก กรงขัง หรือกระบวนการยุติธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท