ม.อ.ปัตตานีเตรียมเปิด “Peace Comm.” ขยายงานสื่อสารสันติภาพ ชี้มากกว่า peace journalism

 “Peace Comm.” มากกว่า “peace journalism”

ผศ.ดร.วลักษณ์กมล จ่างกมล คณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร (วสส.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เปิดเผยว่า ในงานวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี 2015 "สันติ (ที่มองเห็น) ภาพ" [Visible/Visionary Peace] ในวันเสาร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2558 ที่คณะวิทยาการสื่อสาร ตนจะกล่าวเปิดเสวนาวิสัยทัศน์ เรื่อง ‘Peace Comm.’: การศึกษาและพัฒนาสื่อเพื่อสันติภาพด้วย

ผศ.ดร.วลักษณ์กมล เปิดเผยต่อไปว่า “Peace Comm.” เป็นคำที่กว้างและควรใช้มานานแล้ว แต่ส่วนใหญ่คนมักจะรู้จักแต่คำว่า “peace journalism” ซึ่งในความเป็นจริง peace journalism เป็นส่วนหนึ่งของ Peace Comm.ซึ่งชื่อเต็มก็คือ peace communication ที่เป็นเสมือนพฤติกรรมการสื่อสารของมนุษย์

“เราคาดหวังว่า Peace Comm.จะเป็นร่มใหญ่ในประเด็นการสื่อสารเพื่อสันติภาพของมนุษย์หรือปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง ที่มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดสันติภาพหรือมีเป้าหมายเพื่อสันติสุขของสังคม” ผศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าว

ผศ.ดร.วลักษณ์กมล เปิดเผยต่ออีกว่า หน้าที่คร่าวๆ ใน Peace Comm. ประกอบด้วย 1.peace journalism ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้สื่อข่าวที่ทำงานในเชิงการสื่อสารเพื่อสันติภาพ 2.peace media ที่อาจจะดูว่าทับซ้อนกับ peace journalism อยู่บ้าง แต่จะเน้นที่ตัวสื่อที่ผลิตออกมาแล้วเป็นหลัก และสิ่งที่ผลิตออกมาจะมีเป้าหมายเพื่อสันติภาพ

เปิดกว้างให้ทุกคนสามารถสื่อความคิดได้

“Peace Comm. จะรวมเอาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมขององค์กรภาคประชาสังคมหรือแม้แต่กิจกรรมของประชาชนที่ทำอยู่เป็นประจำ เช่น การฝึกอบรบ การณรงค์ต่างๆ เป็นต้น ตัวอย่างเช่น โครงการเดินสันติชายแดนใต้ถือเป็นหนึ่งใน Peace Comm. เพราะการเดินก็คือการสื่องสารในตัวมันเอง เพราะทุกพฤติกรรมของมนุษย์ที่ต้องการจะสื่อความหมายนั้นถือว่าเป็นการสื่อสารทั้งหมด” ผศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าว

 “หากใช้คำว่า peace communication จะเป็นการเปิดกว้างในการทำงาน เพราะการสื่อสารจะไม่ใช่แค่หน้าที่ของสื่อ นักวิชาการ หรือนักผลิตรายการ แต่เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนในการที่จะสื่อความคิดของเขาออกไป” ผศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าว

เชื่อมงานวิจัยกับการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม

ผศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าวด้วยว่า ถ้าให้ความรู้เรื่อง peace communication ได้ จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนทุกระดับ ให้เขาเห็นว่าเขาเองก็มีบทบาทในการสร้างสันติภาพได้โดยผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่จำเป็นต้องผลิตเป็นตัวสื่อก็ได้ เพราะเรามองว่ากิจกรรมต่างๆ ในชุมชนอย่างการทำประมงพื้นบ้าน ถ้าทำให้สังคมสงบหรืออยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ นั่นก็คือ peace communication เช่นกัน

ผศ.ดร.วลักษณ์กมล เปิดเผยว่า คณะวิทยาการสื่อสารเห็นว่าการจะรณรงค์ในเรื่อง peace communication จะต้องใช้ความรู้จากการทำวิจัยและต้องเชื่อมโยงทั้งกับเครือข่ายภาคประชาสังคมและภาคประชาชน และที่สำคัญการบริการวิชาการจะต้องสัมพันธ์กับงานวิจัยและการเชื่อมโยงเครือข่าย เพราะจะทำให้ peace communication สามารถขับเคลื่อนไปได้

เล็งตั้ง peace communication center

ผศ.ดร.วลักษณ์กมล เปิดเผยด้วยว่า คณะวิทยาการสื่อสารตั้งใจว่าในอนาคตจะจัดตั้งศูนย์การศึกษาและพัฒนาการสื่อสารเพื่อสันติภาพขึ้นมาเป็น peace communication center ทำหน้าที่ขับเคลื่อนและส่งเสริมศักยภาพของผู้คนในชุมชนให้เข้าใจถึงการสื่อสารเพื่อสันติภาพ เพราะในความเป็นจริงเมื่อเราพูดถึงการสื่อสารเพื่อสันติภาพจะมีคนบางกลุ่มคิดว่า ตัวเขานั้นไม่เกี่ยวข้องเพราะไม่ได้เป็นสื่อ ซึ่งถือเป็นความเข้าใจผิด

ผศ.ดร.วลักษณ์กมล คาดว่า จะเริ่มงาน Peace Comm.ได้ในเดือนตุลาคม 2558 นี้ โดยจะชูขึ้นมาเป็นพันธกิจของคณะวิทยาการสื่อสาร กิจกรรมหลักๆ ที่จะดำเนินการก็คือ การฝึกอบรมหลักการเกี่ยวกับการสื่อสารเพื่อสันติภาพ การอบรมนักข่าวพลเมืองร่วมกับ ThaiPBS การทำสื่อชุมชน จัดหาอุปกรณ์เคลื่อนที่ไว้ใช้ในการถ่ายทอดสด เป็นต้น

เตรียมเปิดสอนแห่งแรกในไทย

ผศ.ดร.วลักษณ์กมล เปิดเผยว่า คาดว่า Peace Comm. center จะเป็นหน่วยงานอิสระที่อยู่ในคณะวิทยาการสื่อสารเหมือนหน่วยวิจัยแต่ไม่ได้ทำงานวิจัยอย่างเดียว เพราะจะมีงานบริการวิชาการและเชื่อมโยงกับเครือข่ายอื่นๆ ด้วย และสามารถใช้สอนนักศึกษาด้วย เพราะนักศึกษาอาศัยอยู่ในพื้นที่ปัญหาจริง จึงควรให้นักศึกษาเข้าใจ peace communication ด้วย ที่สำคัญยังไม่มีมหาวิทยาลัยไหนในประเทศไทยที่เปิดสอนเรื่องนี้โดยตรง

 “เราจึงคิดว่าควรสร้างนักศึกษาของเราให้มีจุดเด่นและสามารถเชื่อมโยงกับสถานการณ์ในพื้นที่ได้ นอกจากนั้นยังให้บริการความรู้แก่ภาคประชาสังคมหรือส่งเสริมการทำกิจกรรมเกี่ยวกับการสื่อสารต่างๆ ที่เรามีเครือข่ายเดิมอยู่แล้ว อย่าง ThaiPBS หรือ Deep South Watch ที่ทำเรื่อง Peace Comm.อยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้เรียก  Peace Comm. เท่านั้นเอง” ผศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าว

หนุนเสริม safety net

 “เราพยายามไม่ไปทับซ้อนงานขององค์กรเครือข่าย แต่เราจะส่งเสริมหรือหนุนเสริมให้เข้มแข็งมากขึ้น อย่างเครือข่ายภาคประชาสังคมจะมีตาข่ายนิรภัย (safety net) เราก็จะเป็นตัวผยุงความเข้มแข็งของตาข่ายนิรภัยให้เพิ่มมากขึ้น จะเป็นตัวเชื่อมโยงตาข่ายนิรภัยกับชาวบ้าน”ผศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าว

“เรามุ่งที่จะทำให้คนในพื้นที่สามารถสื่อสารเองได้ ทำให้เขาเห็นว่าสิ่งที่เขากำลังทำอยู่นั้นคือ Peace Comm. หรือให้เขาตระหนักว่าสิ่งที่เขาทำอยู่จะนำไปสู่สันติภาพหรือไม่? และที่สำคัญไม่ต้องมีความรู้เรื่องการสื่อสารก็ทำได้เพราะการสื่อสารเป็นธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้ว” ผศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท