Skip to main content
sharethis

คปก.จี้ สนช.ชะลอร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ และ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ยันต้องรับฟังความเห็นประชาชน ชี้ร่างทั้งสองยังไม่ครอบคลุมแรงงานหลายกลุ่ม แนะเร่งรับรอง ILO 87 98


25 ก.พ. 2558 คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) โดย คณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้ส่งบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่อง “ร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ (ฉบับที่...) พ.ศ.... และร่างพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ฉบับที่...) พ.ศ....” เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ โดย คปก.ขอให้ชะลอการเสนอร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับไว้ก่อนเพื่อทบทวนหลักการและสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. เพื่อปรับปรุงร่างกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ โดยกระทรวงแรงงานจะต้องดำเนินกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างเปิดเผยและทั่วถึง เพื่อให้ระบบแรงงานสัมพันธ์เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพและนำไปสู่การพัฒนาประเทศทั้งในภาคส่วนอุตสาหกรรมและระบบเศรษฐกิจโดยรวมได้ในที่สุด เนื่องจากร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ทั้งสองฉบับมีความสำคัญและจะส่งผลกระทบต่อแรงงานในประเทศไทยเป็นอย่างมาก

คปก.มีความเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ (ฉบับที่...) พ.ศ.... และร่างพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ยังขาดการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน และไม่มีการหยิบยกเอาเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.... ฉบับบูรณาการแรงงานของภาคประชาชนมาพิจารณาประกอบการจัดทำร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ นอกจากนี้ ขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายทั้งสองฉบับยังไม่ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ ข้าราชการ ลูกจ้างของส่วนราชการ รวมถึงผู้ทำงานในหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการและไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ เช่น องค์กรมหาชน หน่วยงานนิติบุคคลของรัฐ องค์กรอิสระของรัฐ เป็นต้น ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ

ยิ่งไปกว่านั้น คปก.เห็นว่าหลักการและสาระสำคัญของร่างกฎหมายทั้งสองฉบับไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรองและไม่สอดคล้องพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี อย่างไรก็ตาม คปก.เสนอว่าในระหว่างที่ยังมิได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาดังกล่าวกระทรวงแรงงานและรัฐบาลควรนำหลักการของอนุสัญญาดังกล่าวมาปรับใช้ในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา คปก.ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นเรื่อง “ทิศทางการพัฒนากฎหมายแรงงานสัมพันธ์ของประเทศไทย” โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุม เช่น กรรมาธิการแรงงานจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ ผู้แทนกระทรวงแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภานายจ้าง องค์กรแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย (ILO) องค์กรภาคประชาสังคม เป็นต้น ซึ่งผู้เข้าร่วมการประชุมต่างเห็นพ้องกันว่าควรมีการแก้ไขร่างกฎหมายทั้งสองฉบับให้คุ้มครองครอบคลุมไปถึงลูกจ้างที่อยู่ในภาคธุรกิจหรือกิจการขนาดเล็กด้วย นอกจากนี้ การร่างกฎหมายดังกล่าวจะต้องนำเอาหลักการในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 มาบัญญัติไว้ให้ชัดเจน ผู้แทนแรงงานทั้งภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจเรียกร้องให้ถอนร่างทั้งสองฉบับมาปรับปรุงให้ดีก่อน เพื่อให้แก้ปัญหาได้ถูกจุดและส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ให้สามารถแก้ไขความขัดแย้งได้อย่างแท้จริง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net