Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 25 ก.พ.2558 กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย องค์กรทำงานประเด็นผู้หญิง ผู้แทนจากหลากหลายสาขาอาชีพ และกลุ่มสตรีพิการ ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์เนื่องในวันสตรีสากล 8 มีนาคม “ผู้หญิงทำงาน สู้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนของทุกคน”

เรียกร้องให้บรรจุเรื่องสัดส่วนหญิงชายอย่างเท่าเทียมไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ, ห้ามเลิกจ้างคนท้องโดยเด็ดขาด, ส่งเสริมนโยบายให้เงินอุดหนุนดูแลเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า, ส่งเสริมหลักประกันในการเข้าถึงสิทธิสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์, รับรองอนุสัญญา องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 183 ว่าด้วยสิทธิการคุ้มครองความเป็นมารดา

 

รายละเอียดมีดังนี้

“8 มีนา” เป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ของแรงงานหญิงเพื่อความเสมอภาคระหว่างเพศ ซึ่งหมายรวมถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน ระบบสวัสดิการสังคมที่คำนึงถึงทุกคน ผู้หญิงเป็นกำลังครึ่งหนึ่งของโลก และเป็นคนทำงานที่สร้างสรรค์คุณค่าของทุกสังคม อุดมการณ์ของผู้หญิง จึงเป็นสิ่งดีงาม เพื่อทุกคนในสังคม และควรได้รับการสนับสนุนจากผู้ชาย และทุกภาคส่วน ในสังคม โดยเฉพาะนโยบาย กฎหมายของรัฐ

สังคมไทยแม้จะยอมรับว่า“ผู้หญิง” มีบทบาทสร้างสรรค์สังคม ในทุกระดับ แต่วันนี้ ในสังคมไทยที่เชิดชูคุณค่า ”แม่” ชีวิตจริงของผู้หญิงทำงานส่วนใหญ่ ยังไม่สามารถทำงานได้อย่างมั่นคง เพื่อมีคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนเพราะเหตุถูกเลิกจ้าง แม้กระทั่งคนท้อง ค่าตอบแทนการทำงาน ที่ไม่เป็นธรรม ไม่มีหลักประกันด้านสุขภาพ ความปลอดภัย และสวัสดิการสังคมขั้นพื้นฐานที่เพียงพอ ตั้งแต่เด็กจนถึงวัยชรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมบทบาทในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน ในการมีสิทธิตัดสินใจในทางการเมืองทุกระดับ การมีส่วนร่วมในกรรมการไตรภาคีด้านแรงงานทุกคณะ องค์กรบริหารรัฐวิสาหกิจ รวมถึงบทบาทการมีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย การกำหนดนโยบายและแผนงานใดๆของรัฐ และ สิทธิชุมชนในการ จัดการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

กระแสเศรษฐกิจโลกแบบทุนนิยมที่รัฐบาลทุกยุคสมัยเน้นให้ ความสำคัญต่อการพัฒนาทุน ทั้งในและจากต่างประเทศ แต่ใช้นโยบาย แรงงานราคาถูก และรูปแบบการจ้างงานหลากหลายที่ไร้หลักประกันเพียงพอ จึงมีผลคุกคามความเป็นมนุษย์ของเพศหญิง จนผู้หญิงต้องตกอยู่ในสถานภาพที่เสี่ยงต่อการถูกเอาเปรียบ กดขี่ขูดรีด ผู้หญิงทำงานทุกคนในการจ้างงานที่หลากหลายสร้างคุณค่า และเป็นพลังฐานเศรษฐกิจที่สร้างความมั่งคั่งแก่สังคมไทยตลอดมา ในขณะเดียวกันก็ยังคงทำหน้าที่ของแม่ ของลูกสาว และภรรยา เป็นผู้ดูแลความอยู่ดีมีสุขของ ทุกคนในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ป่วย นอกจากนี้ผู้หญิงจำนวนมากยังถูกกระทำจากความรุนแรง ตั้งแต่ในครอบครัว จนถึงการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน และในพื้นที่สาธารณะ ต้องประสบอันตราย และความเจ็บป่วยในการทำงานโดยไม่มีการ คุ้มครองและเยียวยาที่พอเพียง

ในโอกาสที่สังคมไทยจะต้องมีการปฏิรูป ต้องลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม จะต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อันเป็นกฎหมาย สูงสุดที่จำเป็นจะต้องมีหลักประกันของสิทธิประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และสิทธิความเสมอภาคระหว่างเพศ แต่ขณะนี้ยังละเลยไม่ได้ตระหนัก ถึงความสำคัญในปัญหาของแรงงาน และ ความเสมอภาคของผู้หญิง กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย องค์กรทำงานประเด็นผู้หญิง ผู้แทนจากหลากสาขาอาชีพ และกลุ่มสตรีพิการ

จึงขอร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล ๘ มีนาที่กำลังจะมาถึงในปีนี้ พร้อมกับขบวนผู้หญิงทั่วประเทศ เพื่อแสดงพลังการต่อสู้ของขบวนผู้หญิงที่ไม่เคยท้อถอยหรือหยุดนิ่ง และพร้อมจะเกาะติดผลักดันและตรวจสอบทั้งรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูป รวมทั้งนโยบายของรัฐ เพื่อสิทธิความเสมอภาคระหว่างเพศ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน

ข้อเสนอเพื่อการขับเคลื่อนร่วมกันต่อสังคมต่อคณะกรรมาธิการยกร่าง รัฐธรรมนูญ สภาปฏิรูปแห่งชาติและรัฐบาล ในโอกาสนี้ คือ “ผู้หญิงทำงาน ต้องการคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนเพื่อผู้หญิง และทุกคน”
 (1) ต้องบรรจุเรื่องสัดส่วนหญิงชายไว้ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายต่างๆ โดยผู้หญิงต้องมีส่วนร่วมใน

การตัดสินใจและวางแผน มีสัดส่วนหญิง ชาย ​​๕๐=๕๐ ทั้งในโครงสร้างทางการเมืองทุกระดับ กรรมการไตรภาคีด้านแรงงานทุกคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ การพิจารณาออกกฎหมาย และกรรมการองค์กรต่างๆ ของรัฐ ฯลฯ

(2) ต้องบรรจุในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้แรงงานทั้งหญิงชาย ที่มาทำงานต่างถิ่น ต้องได้

สิทธิเลือกตั้งผู้แทนทางการเมืองในพื้นที่ที่ทำงานอยู่

(3) ต้องมีมาตรการเด็ดขาดห้ามการเลิกจ้างคนท้อง และส่งเสริมนโยบายให้เงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า สนับสนุนให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพ ราคาถูก กระจายทั่วถึงในชุมชนโรงงาน หน่วยงานของรัฐและบริษัทเอกชน และจัดเสริมเจ้าหน้าที่บริการดูแลให้สอดคล้อง กับเวลาทำงานที่เป็นจริงของผู้หญิงทำงานอย่างจริงจัง

(4) รัฐต้องรับรองอนุสัญญา องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ..ILO ฉบับที่ 183 ว่าด้วยสิทธิการคุ้มครองความเป็นมารดาในการได้รับสวัสดิการค่าจ้างในช่วง ที่ไม่ได้ทำงานเพราะการคลอดบุตร การคุ้มครองสุขภาพแม่และเด็ก ตั้งแต่ช่วงเริ่มตั้งครรภ์ โดยให้พ่อมีสิทธิลางานดูแลลูกและแม่หลังคลอดบุตร

(5) ส่งเสริมหลักประกันในการเข้าถึงสิทธิสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะสำหรับผู้หญิง อย่างมีคุณภาพ เพราะวันนี้ยังคงมีผู้หญิงที่ เจ็บป่วยหรือเสียชีวิตเพราะมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูกในอัตราสูง ทั้งที่เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ ถ้ามีระบบการตรวจสุขภาพที่ครบถ้วน มีคุณภาพ บริการฟรีหรือราคาถูก และเข้าใจผู้หญิง รวมทั้งส่งเสริมการแพทย์ ที่ป้องกันความปลอดภัย และดูแลรักษาโรคภัยที่เกิดจากการทำงาน ในหลายรูปแบบ ให้ทั่วถึงและมีคุณภาพ เพื่อคุ้มครองดูแลโรคภัยทั้งจากงานอุตสาหกรรม งานบริการ รวมทั้งจากสารเคมีภาคเกษตร

(6) ผู้หญิงต้องมีความมั่นคงในการทำงาน ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน และมีมาตรการคุ้มครอง ฟื้นฟูและเยียวยา ผู้หญิงจากความรุนแรงในครอบครัว และความรุนแรงทางเพศในพื้นที่สาธารณะ

(7) คัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและพนักงาน โดยเฉพาะพนักงานหญิง สัญญาจ้างที่ไม่มั่นคงในการทำงาน

(8) คัดค้านการควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กับผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบทั้งรัฐและเอกชน ซึ่งหมายถึงการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อคนทำงานทั้งหญิงและชาย บนฐานการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงจำเป็นอย่างยิ่งต้องให้เป็น องค์กรอิสระต่อไป โดยเปลี่ยนแปลงการสรรหาให้ยึดโยงกับประชาชนและส่งเสริมให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net