Skip to main content
sharethis

สนช.มีมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ด้วยคะแนนเสียง 182 ต่อ 0 งดออกเสียง 4 เสียง สมคิด เลิคไพฑูรย์ เสนอ อำนาจดูแลเรื่องการชุมนุมควรเป็นอำนาจของศาลปกครอง ไม่ใช่ศาลยุติธรรม


แฟ้มภาพ

26 ก.พ. 2558 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ที่รัฐบาลเสนอให้พิจารณา ด้วยคะแนนเสียง 182 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 22 คน กำหนดแปรญัตติภายใน 7 วัน ระยะเวลาในการดำเนินการ 30 วัน

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์รายงานว่า ในการประชุม สนช. ซึ่งมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ....ในวาระแรก ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีสาระสำคัญ คือ การชุมนุมสาธารณะต้องเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งการใช้สิทธิและเสรีภาพของผู้ชุมนุมในระหว่างการชุมนุมสาธารณะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ การชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วังของพระรัชทายาทหรือของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป พระราชนิเวศน์ พระตำหนัก หรือจากที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาทฯ หรือสถานที่พำนักของพระราชคันตุกะ จะกระทำมิได้ นอกจากนี้การจัดการชุมนุมสาธารณะภายในพื้นที่ของรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาลและศาลจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีการจัดให้มีสถานที่เพื่อใช้ในการชุมนุมสาธารณะในพื้นที่นั้น โดยให้อำนาจผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายในการประกาศห้ามชุมนุมในรัศมีไม่เกิน 50 เมตรรอบสถานที่ดังกล่าวได้

ส่วนผู้ใดประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะให้แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ซึ่งต้องระบุวัตถุประสงค์ วัน ระยะเวลา และสถานที่ด้วย ในกรณีที่ผู้ชุมนุมกระทำการใดๆ ที่มีลักษณะรุนแรงและอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นจนเกิดการวุ่นวายในบ้านเมือง ให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะร้องขอต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งเลิกการชุมนุม และในระหว่างการรอคำสั่งศาลให้เจ้าพนักงานมีอำนาจสั่งให้ผู้ชุมนุมยุติการกระทำนั้น หากมีการฝ่าฝืนให้ประกาศพื้นที่นั้นเป็นพื้นควบคุมและให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ภายในระยะเวลาที่กำหนด สำหรับบทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนได้กำหนดโทษไว้ 9 กรณี ซึ่งมีทั้งจำและปรับ โดยมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 10 ปี

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ชี้แจงหลักการและเหตุผลของร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ว่า เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การใช้สิทธิชุมนุมสาธารณะให้ชัดเจน โดยสอดคล้องกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคี ทั้งนี้เพื่อให้การชุมนุมสาธารณะเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีตลอดจนสุขอนามัยของประชาชน หรือความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ และไม่กระทบกระเทือนสิทธิและเสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น

สมคิด เลิศไพฑูรย์ สนช. อภิปรายสนับสนุนว่า เป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลพยายามทำกฎหมายขึ้น หลังจากที่มีปัญหาเรื่องการชุมนุมในที่สาธารณะในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา แต่มีข้อสังเกต คือ คำนิยามในมาตรา 4 ที่สาธารณะ ให้รวมทางหลวงและทางสาธารณะไว้ด้วย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเคยมีร่างพ.ร.บ.ทางหลวงเสนอเข้ารัฐสภาและศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2549 การที่ให้ประชาชนต้องขออนุญาตเพื่อชุมนุมบนทางหลวง เป็นการขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญปี 50 และรัฐธรรมนูญปี 2540 จึงไม่แน่ใจว่าแนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินไว้เมื่อปี 2549 จะมีผลกระทบต่อกฎหมายฉบับนี้มากน้อยแค่ไหน

สมคิดกล่าวด้วยว่า ส่วนคนที่ทำหน้าที่ควบคุมการชุมนุม โดยเฉพาะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีอำนาจกำหนดระยะรัศมีการชุมนุมไม่เกิน 50 เมตร รอบสถานที่สำคัญทั้งรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ศาล ซึ่งไม่อนุญาตให้ทำได้บางกรณี ดังนั้นการชุมนุมหน้ารัฐสภาจะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมใหญ่หรือการชุมนุมเล็กๆ ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะฉะนั้นอาจจะต้องพิจารณาให้รอบคอบว่า เป็นการใช้ดุลพินิจที่มากเกินไปหรือไม่ นอกจากนี้เรื่องอำนาจของศาลในการดูแลเรื่องการชุมนุมไม่ควรให้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม แต่ควรเป็นอำนาจของศาลปกครอง
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net