Skip to main content
sharethis

สื่อของบริษัทหลักทรัพย์เครดิต สวิส รายงานเปรียบเทียบประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีแนวโน้มประสบปัญหาภาวะประชากรสูงวัย แต่ในขณะที่ประเทศอื่นๆ มีอัตราการเติบโตและการขยายตัวของวัยทำงานเพิ่มเพื่อชดเชย ประเทศไทยดูเหมือนจะไม่สามารถชดเชยในเรื่องนี้ได้ อีกทั้งมีปัญหารุมเร้าทางเศรษฐกิจจากการรัฐประหารช่วงที่ผ่านมาด้วย


รายงานจากสื่อเดอะไฟแนนเชียลลิสต์ของ บริษัทหลักทรัพย์เครดิต สวิส ระบุถึงประเด็นเรื่องแนวโน้มประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะกลายเป็นประเทศที่มีประชากรผู้สูงวัยอยู่มาก ซึ่งในขณะที่ประเทศอื่นๆ มีอัตราประชากรวัยทำงานขยายตัวมากขึ้น มีการเติบโตของผลผลิตแรงงานและผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งสามารถชดเชยปัยหาดังกล่าวได้ แต่ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่อัตราการเติบโตประชากรเยาวชนค่อนข้างต่ำ และการเติบโตของ GDP ก็อาจจะลดลงในช่วงไม่กี่ปีนี้

อัมลาน รอย หัวหน้าทีมวิจัยสถิติประชากรของเครดิต สวิส กล่าวว่าประเทศไทยไม่เพียงต้องเผชิญปัญหาประชากรผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ยังยังต้องเผชิญปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคและกลุ่มคนทำงานด้วย

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ และเวียดนาม ประเทศเหล่านี้มีประชากรเติบโตอย่างน้อยร้อยละ 1 ในช่วงปี 2553-2558 เทียบกับไทยที่มีการเติบโตเพียงร้อยละ 0.3 นอกจากนี้ยังมีอัตราการเติบโตของประชากรแรงงานน้อยที่สุดในกลุ่มตัวอย่าง 6 ประเทศคือร้อยละ 0.8 เทียบกับฟิลิปปินส์ที่มีอยู่ร้อยละ 2.4 นอกจากนี้ในขณะที่ประเทศอื่นๆ มีประชากรผู้อพยพเข้าประเทศเป็นส่วนช่วยในการอุดช่องว่างแรงงาน แต่ในไทยดูเหมือนว่าจะมีจำนวนผู้อพยพเข้าเมืองต่ำลงและมีผู้อพยพออกเพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

เครดิต สวิส ยังเผยแพร่กราฟปิรามิดประชากรไทยปี 2523 เทียบกับปี 2558 ซึ่งกราฟปี 2523 แสดงให้เห็นว่ามีประชากรเยาวชนอยู่จำนวนมากเมื่อเทียบกับกลุ่มประชากรอื่นๆ ทำให้ปิรามิดกราฟมีฐานกว้างและหัวลีบ ขณะที่กราฟประชากรปี 2558 กราฟจะกว้างที่สุดในช่วงอายุ 40-60 ปี ในขณะที่ประชากรต่ำกว่า 30 ปี มีจำนวนน้อยกว่าและดูเหมือนจะลดลงเรื่อยๆ แสดงให้เห็นแนวโน้มประชากรผู้สูงวัยจำนวนมากขึ้น

เดอะไฟแนนเชียลลิสต์ระบุว่าประเทศไทยมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน อัตราการลงทุนต่ำ และขาดผู้มีทักษะอาชีพระดับสูงอยู่แล้ว แนวโน้มประชากรไทยจะยิ่งทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจมากขึ้น สันติธาร เสถียรไทย นักวิเคราะห์จากเครดิต สวิส ประเมินว่าไทยอาจจะมีอัตราการเติบโตของ GDP ลดลงร้อยละ 3.5 ในช่วง 10 ปีข้างหน้า

จากการวิจัยของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า GDP ของไทยเติบโตขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 0.8 ทุกปี ตั้งแต่ปี 2533-2555 เนื่องจากมีการขยายตัวของกลุ่มประชากรวัยแรงงาน แต่มีการประเมินว่าในปี 2556-2575 อัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยจะเท่ากับ 0 นอกจากนี้การเติบโตของ GDP จากการสำรวจจริงยังอยู่ในระดับต่ำกว่ามาเลเซียและสิงคโปร์

เดอะไฟแนนเชียลลิสต์เสนอว่าไทยควรแก้ปัญหาประชากรโดยการแก้ไขปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และความไร้ประสิทธิภาพทางการเมืองที่ส่งผลต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย รอยเสนอว่าควรมีการแก้ไขปัญหาประชากรโดยด่วนในเชิงองค์รวม ทั้งด้านการศึกษา ตลาดแรงงาน ภาคเทคโนโลยี ระบบสวัสดิการ ประกันสังคมและสุขภาพ โดยรอยเสนอว่าควรมีการสนับสนุนให้ประชากรไทยมีระดับการศึกษาที่สูงขึ้นเพื่อตอบรับภาคการผลิตและการบริการ

เดอะไฟแนนเชียลลิสต์ระบุอีกว่าประเทศไทยยังประสบปัญหาจากการทุจริตคอร์รัปชั่นรวมถึงการขาดเสถียรภาพทางการเมืองเนื่องจากมีการรัฐประหารทั้งในปี 2549 และปี 2557 ถ้าหากไม่มีการปฏิรูปตรงจุดนี้จะส่งผลทางลบต่อกลุ่มประชากรผู้สูงวัย อีกทั้งการขาดแคลนตลาดแรงงานจะส่งผลกระทบต่อการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติด้วย


เรียบเรียงจาก

The Curious Case of Thailand, The Financialist, 24-02-2015
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net