Skip to main content
sharethis

ปลัดคลัง ประเมินผลกระทบ ‘บวก-ลบ’ เก็บภาษีที่ดินฯ-มรดก ลดกระจุกตัวความมั่งคั่ง เพิ่มประสิทธิภาพใช้ทรัพยากร เพิ่มรายได้รัฐ ด้านลบกระทบการออม การสะสมทุน การย้ายทรัพย์สินไปต่างประเทศ และต้นทุนการจัดเก็บ

เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 5 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดเสวนาวิชาการ เรื่อง “ร่างกฎหมายภาษีทรัพย์สิน: การเปลี่ยนแปลงและผลกระทบ” โดย รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ลวรณ แสงสนิท รองผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจการคลัง และศาสตราจารย์ ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นการอภิปรายถึง ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ รวมทั้งแนวคิดการจัดเก็บภาษีมรดก ซึ่งก่อนหน้านั้นมีการเสวนาในหัวข้อ “รู้จัก กฎหมายภาษีทรัพย์สิน: มุมมองทางด้านนิติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์” โดยมี ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ศ.ดร.สุเมธ ศิริคุณโชติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนแล้ว (อ่านรายงานเสวนา)

ลวรณ แสงสนิท รองผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจการคลัง

ลวรณ รองผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจการคลัง กล่าวถึงความสำคัญของภาษีทรัพย์สินว่า เนื่องจากรัฐบาลนี้กล่าวถึงภาษีตัวนี้ในการแถลงของรัฐสภา ที่จะมีการจัดเก็บภาษี 2 ตัวเพิ่มเติมคือภาษีมรดกที่ขณะนี้ไปอยู่ในขั้นตอนของสภากับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นภาษีที่เก็บบนฐานของทรัพย์สินที่สะสมความมั่งคั่งไว้

วันนี้เราเก็บภาษีได้ประมาณ 18-19% ต่อ GDP ถ้าเทียบกับประเทศที่พัฒนาต่ำกว่าไทยก็ดูมาก แต่ค่าเฉลี่ยของอาเซียนอยู่ที่ 21% ต่อ GDP ถ้าเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วกลุ่ม OECD หรือประเทศในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา จะเก็บประมาณ 35% ต่อ GDP ดังนั้นเราถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์เพื่อนบ้าน และต่ำกว่าประเทศกลุ่มยุโรป

โครงสร้างรายได้จากภาษีของเราหลักๆ อยู่บนภาษี 3 ตัว คือภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม การเก็บได้อยู่ที่ประมาณ 5 แสนล้านบาท บวกลบไปเรื่อยๆ ของแต่ละตัว ถ้าดูว่าภาษีทรัพย์สินเก็บได้ประมาณ 1% เท่านั้นจาก 100% ของการเก็บภาษีทั้งหมด ภาษีทรัพย์สินปัจจุบันเก็บอยู่

รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง

ป้องกันการเรียกรับผลประโยชน์จากดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่

รังสรรค์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เดิมเราเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งอาศัยการประเมินของเจ้าหน้าที่ ดังนั้นอะไรที่ให้คนตัดสินใจมันก็มีการเรียกร้องผลประโยชน์ส่วนตัว จึงถึงเวลาที่จะต้องจัดการ เพราะแต่เดิมบางบริษัทอาจต้องการเสียภาษีให้ถูกต้อง แต่เจ้าหน้าที่ท้องที่ต่างๆ กลับให้เสียตามแบบที่เขาเหล่านั้นอยากจะให้เสีย ดังนั้นต่อไปเราจะให้เสียภาษีจากราคาประเมิน โดยจะให้กรมธนารักษ์ประเมิน คาดว่าภายใน 1 ปีจะเสร็จ จึงคิดว่าตรงนี้น่าจะดีกว่า รัฐได้ประโยชน์มากกว่า นี่คือหลักการที่จะเปลี่ยนมาเก็บในรูปแบบของภาษีทรัพย์สิน

ศาสตราจารย์ ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

ความซ้ำซ้อนของการเสียภาษี

สกนธ์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จริงๆ แล้วเรามีภาษีทรัพย์สินในรูปของภาษีและค่าธรรมเนียมอยู่แล้ว ในรูปของภาษีหลักๆคือภาษีโรงเรือนและที่ดิน และเรื่องของค่าธรรมเนียมการโอนนิติกรรมที่เก็บ 2% ซึ่งก็เป็นรูปแบบหนึ่งที่เป็นภาษีบทฐานของทรัพย์สิน คนที่มีทรัพย์สินเสียภาษีอยู่แล้ว เพียงแต่ปัญหาหลักๆ ของภาษีโรงเรือนและที่ดิน คือเรื่องของอัตราการจัดเก็บและฐานการเก็บของมันเป็นฐานของค่าเช่า เพราะทรัพย์สินลักษณะนี้บางส่วนมีการให้เช่าและบางส่วนไม่มีการให้เช่า  ที่ไม่มีค่าเช่าทำให้เราไม่รู้ว่าจะเก็บกันอย่างไร จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการประเมิน แต่เมื่อประเมิน จึงนำมาซึ่งความถูกต้อง จากช่องว่างการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่

ฐานของภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นฐานของค่าเช่า ผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินตรงนั้นได้รายได้จากค่าเช่าแล้ว ยังต้องไปเสียภาษีเงินได้อีก ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนของการเสียภาษีขึ้นมา แต่ตามหลักการเก็บภาษีที่ดีม่ควรให้มีความซ้ำซ้อน จึงเป็นประเด็นปัญหาของภาษีโรงเรือนและที่ดิน

ปัญหาของภาษีบำรุงท้องที่ ฐานที่ถูกดองมาตั้งแต่ปี 21

สกนธ์ กล่าวต่อว่า อีกตัวที่เกี่ยวข้องกับภาษีทรัพย์สิน คือภาษีบำรุงท้องที่ ปัญหาแรกคือมันมีหลายอัตรา มี 32 อัตรา ซึ่งอัตราที่ต่ำ และโครงสร้างเป็นแบบถดถอย ยิ่งมูลค่าแพงกลับเสียน้อย แต่หัวใจสำคัญของปัญหาภาษีบำรุงท้องที่คือฐานของภาษีบำรุงท้องที่คือเรามีการไปฟรีสให้เป็นฐานปี พ.ศ. 21-24 ที่เป็นช่วงที่มีวิกฤติเศรษฐกิจ และรัฐบาลขณะนั้นให้คงฐานไว้เพื่อแบ่งเบาภาระของประชาชนจากการจ่ายภาษี ซึ่งปัจจุบันราคาที่ดินมีมูลค่าเพิ่มขึ้นแล้ว ดังนั้นความเป็นแหล่งรายได้ที่ดีจึงทำยาก

ปัญหาสำคัญคือการยกเว้นลดหย่อน ของภาษีบำรุงท้องที่ในกรณีเป็นเจ้าของอยู่เองจะได้รับการยกเว้น คือไม่ต้องเสีย ถ้าไปทำเกษตรก็ลดลงอีก เช่น ปลูกไม้ล้มลุก ก็ได้ลดแล้ว เป็นต้น คิดว่ากระทรวงการคลังมาถูกทางแล้ว แทนที่จะดูทีละเปาะก็ทำมันทั้งระบบผ่านภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

เพื่อรายได้รัฐและการใช้ทรัพยากรของประเทศให้มีประสิทธิภาพ

ต่อคำถามที่ว่าทำไมต้องมีภาษีตรงนี้ สกนธ์ กล่าวว่า ภาษีทรัพย์สินเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการใหญ่ที่ประเทศต้องทำ คือการปฏิรูปโครงสร้างภาษีของประเทศ ที่ภาษีปัจจุบันมันกระจุดตัวอยู่ไม่กี่ตัว ซึ่งเป้นภาษีที่มาจากฐานรายได้และการบริโภค  ทำให้เกิดช่องโหว่ของการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลและการใช้ทรัพยากรของประเทศโดยเฉพาะเรื่องของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จึทำให้ความจำเป็นของการจัดเก็บบนฐานของทรัพย์สินจึงมีความจำเป็นมากขึ้น

เพื่อความเป็นธรรม

สกนธ์ กล่าวว่า ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การออกแบบภาษีตรงนี้เป็นเรื่องของความเป็นธรรมด้วย เพราะเป็นการเก็บบนฐานของการประเมินมูลค่าของตลาดของทรัพย์สินจริงๆ ในบทเรียกของต่างประเทศนั้นเรื่องของฐานนั้นมีหลายประเภท บางประเทศใช้บนฐานค่าเช่า แต่เกิดปัญหาเรื่องความซ้ำซ้อนของรายได้ รวมทั้งฐานอีกอันที่มีระดับการพัฒนาน้อย จะใช้ฐานของขนาดพื้นที่ ซึ่งดีในแง่การง่ายในการจัดเก็บ แต่ไม่สะท้อนมูลค่า ดังนั้นการเก็บบนฐานของมูลค่ามันสะท้อนความจริง ดังนั้นสิ่งที่เขียนในร่าง กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตัวนี้ระบุว่าเป็นการประเมินจากมูลค่าของทรัพย์สอนจึงถือว่าเป็นการมองไปข้างหน้าของฐานการจัดเก็บภาษีตัวนี้

รายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ลวรณ  กล่าวว่า เครื่องมือที่องค์กรปกครองส่วนท้อถิ่นใช้อาจจะไม่มีประสิทธิภาพ เหมาะสมเพียงยุคสมัยหนึ่ง แต่วันนี้เรามอง่าท้องถิ่นมีเครื่องมือให้การหารายได้ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ความไม่มีประสิทธิภาพตรงนี้จะส่งผลอย่างหนึ่งคือสามารถจัดเก็บรายได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น จะไม่สอดคล้องกับที่เรามีนโยบายกระจายอำนาจ ท้องถิ่นตราบเท่าที่ยังไม่สามารถหารายได้ด้วยตัวเอง ยังต้องพึ่งรัฐบาลกลาง พึ่งเงินอุดหนุน แต่วันนี้เราจะกระจายอำนาจแต่เงินอุดหนุนที่รัฐบาลกลางจ่ายให้ท้องถิ่นกลับมากขึ้นทุก

รังสรรค์ กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีตัวนี้วัตถุประสงค์หนึ่งคือมุ่งสร้างรายได้ของ อปท. ซึ่งแต่เดิมรายได้ค่อนข้างต่ำ รายได้รวมของ อปท. ทั้งหมดปีหนึ่ง โดยในปี 56 อยู่ที่ประมาณ 5.7 แสนล้าน และปี 57 นี้ ประมาณ 6.2 แสนล้านบาท เป็นรายได้ที่ท้องถิ่นเก็บเองเพียง 5 หมื่นล้านเท่านั้น หรือประมาณ 8-9% เท่านั้น นอกนั้นเป็นรายได้ภาษีที่รัฐบาลเก็บและแบ่งให้ ปี 56 ตัวเลขที่รัฐบาลจัดสรรให้

จะเห็นว่ารายได้ของรัฐบาลปีหนึ่ง 2.1 ล้านล้าน ให้ อปท. 5.7 แสนล้านแล้ว แต่ท้องถิ่นมีความสามารถในการจัดเก็บเอง 5 หมื่นล้าน ซึ่งเห็นว่ามันต่ำมาก เพราะฉะนั้นสัดส่วนรายได้ของ อปท.ต่อรัฐบาล 27% ที่รัฐบาลห้กับท้องถิ่นไป

ที่คิดว่าภาษีที่ดินเดิมนั้น นอกจากปัญหาเรื่องการประเมินของเจ้าหน้าทีที่ประเมินราคาต่ำแล้ว เพื่อเรียกร้องผลประโยชน์อะไรแล้ว มันยังเป็นการลงโทษคนที่ทำประโยชน์จากที่ดินกลับต้องเสียภาษีเยอะ แต่คนที่ทิ้งที่ดินเปล่ากลับเสียภาษีน้อย ทำให้เกิดการกักตุนที่ดิน และทำให้คนจนคนรายได้น้อยไม่สามารถครอบครองที่ดินได้ เพราะถูกนายทุนแย่งซื้อหมด

การเก็บจากราคาตลาดทำให้ท้องถิ่นใส่บริการสาธารณะเข้าไป

สกนธ์ กล่าวว่า รายได้จากท้องถิ่นใน 5 หมื่นล้านนั้น เกินครึ่งเก็บจาก กทม.แห่งเดียว เท่ากับท้องถิ่น 7,800 กว่าแห่ง เก็บได้เพี่ยงเล็กน้อย สะท้อนปัญหาว่าถ้าการกระจายอำนาจเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ การจัดเก็บภาษีจึงเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นถ้าโครงสร้างภาษียังเป็นแบบเดิมจึงเป็นปัญหาในการสร้างความเข้มแข็งทำให้ท้องถิ่น จึงคิดว่าการจัดเก็บภาษีแบบใหม่จะเป็นส่วนช่วยในการสร้างความเข้มแข็งของท้องถิ่น

ไม่อยากให้มองภาษีตรงนี้เป็นการหารายได้ของรัฐบาลเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการจัดเก็บตามราคาตลาด แล้วราคาตลาดจะสูงหรือต่ำมันจะสูงหรือไม่ มันก็อยู่ที่การบริการสาธารณะของท้องถิ่นที่ใส่เข้าไปในท้องที่ ดังนั้นการทำให้มูลค่าเพิ่มของทรัพย์สินเพิ่ม ก็เป็นการบังคับทางอ้อมที่ให้ท้องถิ่นใส่บริการสาธารณะเข้าไป เช่น การตัดถนน น้ำปะปา ไฟฟ้า ฯลฯ หัวใจของการจัดเก็บภาษีตรงนี้มันสะท้อนบทบาทขอท้องถิ่นในการการพัฒนา

ภาษีในฐานกลไปสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนกับท้องถิ่น

สกนธ์ กล่าวด้วยว่า ผู้เสียภาษีนั้นหากต้องการให้ท้องถิ่นมีการพัฒนาก็ต้องจ่ายตรงนั้นด้วย เมื่อเห็นภาพเหล่านี้ กลไกเรื่องของภาษีนี้จึงนำไปสู่การมีส่วนร่วมจของภาคประชาชน เป็นตัวช่วยเริ่มต้นให้ภาคประชาชนสนใจเข้าไปมีส่วนร่วม เข้าไปกำกับ ตรวจสอบการบริหารท้องถิ่นด้วย

การใช้ที่ดินให้มีประสิทธิภาพ

ลวรณ กล่าวว่า ภาษีของเดิมมันล้าสมัย ของเดิมมันไม่ดี อยากให้ท้องถิ่นมีรายได้ที่เหมาะสม และจะส่งผลต่อเรื่องคนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนรร่วม และสิ่งที่เป็นผลพลอยได้อีกอย่างคือ การใช้ที่ดินให้มีประสิทธิภาพ อย่างน้อยที่สุดหากมีภาระต้องเสียภาษีทุกปีการใช้ประโยชน์จากที่ดินตรงนั้นก็ต้องมีการคิดความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ที่ต้องมากกว่าการเสียภาษีทุกปี

ฐานการเก็บภาษี ใครเสีย ใครเก็บ ทรัพย์สินอะไร และอะไรยกเว้น

รังสรรค์ กล่าวว่า ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นเราเริ่มทำมาตั้งแต่รัฐบาลก่อนหน้าตั้งแต่ปี 53 คนที่ต้องเสีย คือเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นผู้เสียภาษี หรือผู้ที่ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ

ใครเป็นผู้มีหน้าที่จัดเก็บ คือ ให้ท้องถิ่นเป็นผู้จัดเก็บ ทรัพย์สินอะไรบ้างที่จะต้องเสียภาษี เช่น ที่ดิน ห้องชุด คอนโด ฯลฯ ส่วนที่จะได้รับการยกเว้น เช่น ทรัพย์สินที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่ไม่ได้หาผลประโยชน์ แต่ถ้าหาผลประโยชน์ก็ต้องเสียภาษี ทรัพย์สินของรัฐและหน่วยงานของรัฐ ทรัพย์สินที่เป็นธรรมการของยูเอ็น ขององค์กรระหว่างประเทศที่มีข้อผูกพันการยกเว้นภาษีที่เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ ทรัพย์สินของสถานทูต ของสภากาชาด ฯลฯ

ฐานเกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ใช้มูลค่าทั้งหมดของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ราคาทุนประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน ขนาดที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างก็ใช้ขนาดของโรงเรือนและขนาดของพื้นที่ ให้หักค่าเสื่อมราคาได้ แต่ที่ดินไม่หักค่าเสื่อมราคาเพราะราคามันจะสูงขึนเรื่อยๆ ในกรณีที่เป็นอาคารเราสามรถหักต่าเสื่อมราคาได้  

อัตราเพดาลภาษียังไม่นิ่ง

รังสรรค์ กล่าวถึง อัตราภาษี ตอนนี้ยังไม่นิ่ง เรารับฟังจากผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสียอยู่ ว่าจะเท่าไหร่ แต่ปัจจุบัน ถ้าเป็นที่ดินที่ใช้ในการเกษตรกรรมจะเก็บไม่เกินร้อยละ 0.25 เดิมเราเคยบอกว่าร้อยละ 0.5 และที่อยู่อาศัยเดิมตอนที่ร่างกฏหมายครั้งแรกเราจะเก็บร้อยละ 1  ปรับลดมาครึ่งหนึ่งอยู่ที่ 0.5 กรณีพาณิชย์ใช้ในการค้าขายเก็บไม่เกินร้อยละ 2 เดิมเราบอกว่าเพดาล 4% ถ้าทิ้งไว้ว่างเปล่าไม่ทำประโยชน์ตามควรของสภาพที่ดินนั้นร้อยละ 0.5 ของอัตราภาษี จะเพิ่ม 1 เท่าทุก 3 ปี แต่จะไม่เกินร้อยละ 2  ของฐานภาษี

ความโปร่งใสที่กำหนดจากส่วนกลางเก็บโดยท้องถิ่น

ลวรณ กล่าวว่า ความโปร่งใส่นั้นจะง่าย เพราะท้องถิ่นเป็นคนไปเก็บ โดยหากเป็นราคาที่ดินกรมธนารักษ์ประเมินให้อยู่แล้ว ทุกๆ 4 ปี มีการปรับข้อมูลให้ทันสมัย ข้อมูลนี้จะเป้นระบบเชื่อมโยงด้วยฐานข้อมูลอันเดียว เพราะฉะนั้นก็นำราคาต่อตารางวาไปคูณกับพื้นที่ที่ครอบครอง ท้องถิ่นที่จัดเก็บจึงเปลี่ยนแปลงราคาไม่ได้เพราะถูกกำหนดจากส่วนกลาง ดังนั้นราคาที่ดินแต่ละแปรงในประเทศจึงมีความชัดเจน

ส่วนกรณีสิ่งปลูกสร้าง กรมธนารักษ์มีการกำหนดแบบมาทุกแบบ 69 แบบ และแต่ละแบบมีค่าเสื่อม ความเป็นค่าเสื่อม เช่น ตึก ที่เป็นปูน ลดตั้งแต่ปีแรกลดลงไปเรื่อยๆ จนถึงปีที่ 43 ตึกยังอยู่ หลังจากนั้นจะหักค่าเสื่อมได้ 76% และอัตรานี้จะนิ่งไปตลอด ถ้าอาคารที่เป็นครึ่งตึกครึ่งไม้ ถึงปีที่ 22 จะใช้ค่าเสื่อมที่ 85% เท่ากับอาคารนี้จะเหลือ 15%  สิ่งที่เนความโปรงใส่คือการประเมินฐานภาษีมีความชัดเจนดิ้นไปไหนไม่ได้

รวมทั้งจะเก็บใครก็จะไปติดประกาศไว้ก่อนว่าบ้านหลังนั้นนี้ อปท. นั้นนี้จะเก็บเท่าไหร่อย่างไร ซึ่งจะทำให้เพื่อนบ้านเห็นและเปรียบเทียบได้ ทำให้ระบบทางสังคมสามารถตรวจสวบความโปรงใส่ของอัตราที่เก็บได้อีก

สกลธ์ กล่าวว่า เรื่องมูลค่าเพิ่ม จากการที่ทรัพย์สินนั้นเปลี่ยนรูปแบบการใช้ เช่น จากห้องแถว เปลี่ยนเป็นร้าน 7 มีการใช้ประโยชน์ที่ต่างออกไป เหล่านี้จะคิดหรือไม่ รวมทั้งเรื่องของการจัดเก็บ เป้นสิ่งที่ดีที่เป็นอำนาจของท้องถิ่นในการจัดเก็บ แต่คำถามคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องช่วยในการพัฒนาบุคลากรมในท้องถิ่นในการจัดเก็บให้รัดกุมให้รอบคอบ และกรณีชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดเก็บจะอุทธรณ์ที่ไหนได้บ้าง

ลวรณ ตอบคำถามว่า กรณีตึกที่เปลี่ยนรูปร่าง อันหนึ่งที่ต้องเปลี่ยนไป แม้ฐานภาษีที่เป็นตึกเดิม แต่อัตราภาษีที่เปลี่ยนไปแล้ว เพราะเปลี่ยนไปใช้ในอัตราพาณิชย์ ที่ไม่ใช่ฐานของอัตราที่อยู่อาศัย

มาตรการลดผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อย

รังสรรค์ กล่าวถึงผลกระทบของการจัดเก็บภาษีนี้ว่า เราจะดูแลคนที่มีรายได้น้อยอย่างไรนั้น ตัวเลขยังไม่ตกผลึก การยกเว้นภาษีของเรา ทรัพย์สินไม่ถึง 1 ล้านบ้านอาจจะยกเว้นไม่จัดเก็บเลย หรือเกินล้านไม่ถึง 3 ล้านอาจจะเสียครึ่งหนึ่ง ถ้าเกิน 3 ล้านจึงเสียเต็ม เป็นต้น

รังสรรค์ ยืนยันด้วยว่าขณะนี้มีความพร้อมในการจัดเก็บภาษีหมดแล้ว

ลวรณ กล่าวเสริมถึงการยกเว้นด้วยว่า เรามีบทเรียนจากภาษีเดิม ที่ลดหย่อนมากจนจัดเก็บแทบไม่ได้เลย ดังนั้นควรมีตัวเลขหนึ่งที่จะลดหย่อนหรือยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี แต่ตัวเลขขณะนี้ยังไม่นิ่ง วันนี้ตุ๊กตารูบแบบในการจัดเก็บภาษีเยอะ

ภาษีทรัพย์สินฯ หัวใจอยู่ที่การประเมินมูลค่าและการยกเว้นลดหย่อน

สกนธ์ กล่าวว่า เรื่องภาษีทรัพย์สินฯ หัวใจสำคัญอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือการประเมินมูลค่า ต้องประเมินตามเป้าหมาย ตามฐานที่แท้จริง แต่อีกตัวคือการยกเว้นลดหย่อน ต้องออกแบบที่ดี ทำอย่างไรให้การลดหย่อนไม่เป็นช่องโหว่ในการหลบเลี่ยงในอนาคต ไม่ควรเหวี่ยงแห

คลังกำลังขายความคิดให้กับสังคมและประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น แต่ประเด็นสำคัญคือ เพื่อให้เกิดความยอมรับถ้าภาษีนี้ใช้จริงเป็นได้ไหม ภาษีนี้เป็นรายจ่ายที่ต้องจ่ายไป ภาษีนี้ไปลดหย่อนภาษีตัวอื่น หรือค่าทำเนียมการโอนจะปรับไหม

ชี้ขึ้น VAT กระบทความรู้สึกมากกว่า

รังสรรค์ กล่าวว่า หากขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 1% คิดว่าคนจนแทบไม่กระทบเท่าไหร่ เพราะอาหารในชีวิตประจำวันแทบจะไม่มี VAT อยู่แล้ว อาจจะมีเสื้อผ้านิดหน่อย แต่มันกระทบความรู้สึกมากกว่า ภาษีเงินได้ก็ขึ้นไม่ได้มีแต่จะละ นิติบุคคล สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ก็ส่งเสริม 8 ปี ไม่ต้องเสียภาษี เราไปหวังว่าจะได้ให้แรงงานมีงานทำ แต่ปรากฏว่าตอนนี้แรงงานตามโรงงานแทบไม่ใช่คนไทยอาจเป็นคนประเทศรอบบ้านเรา หรือเราบอกว่าต้องการให้คนมาลงทุนต้องการเทคโนโลยีใหม่ๆจากประเทศที่เจริญแล้วเข้ามา แต่ BOI ก็อนุญาตให้เอาเครื่องจักรเก่ามาลงทุนได้ ตนก็ไปค้านในบอร์ด BOI ตลอด ก็เท่ากับประเทศเราเป็นที่ระบายเครื่องจักรเก่าประสิทธิภาพในการผลิตก็ต่ำกว่าเครื่องจักรใหม่

จึงต้องมาหาภาษีตัวอื่นอย่างภาษีทรัพย์สินที่จะเก็บเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างรายได้ห้กับรัฐบาลและท้องถิ่น เราก็คิดเรื่องภาษีมรดกที่ตอนนี้เข้าไปใน สนช. ในขั้นกรรมาธิการที่จะต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 90 วัน คิดว่าประมาณสิ้นเดืนมี.ค.นี้ก็ต้องออกมาแล้ว  หากเราไม่คิดหาภาษีอะไรมาประเทศก็ไม่มีเงินไปใช้จ่ายการพัฒนา

ลวรณ ตอบประเด็นเรื่องการสร้างแรงจูงใจในการเสียภาษีด้วยการนำเอาไปใช้เป็นสิทธิลดหย่อนภาษีตัวอื่นว่า หากถ้าเอาภาษีที่ดินไปลดหย่อยภาษีเงินได้ มันจะข้ามภาษีกัน มันคนละฐานภาษีกัน การข้ามไปมา อาจกลายเป็นอัฐยายซื้อขนมยาย ภาษีตัวนี้ตั้งใจให้มีการงดเว้นลดหย่อนให้น้อยที่สุด ที่ของรัฐของราชการถ้าเอาไปใช้เชิงพาณิชย์เมื่อไหร่ก็ต้องเสียภาษี ที่ของของ สนง.ทรัพย์สินฯ ถ้าไปใช้ในเชิงพาณิชย์ต้องเสียภาษี

ภาษีมรดก เก็บจากการรับมรดก

ลวรณ กล่าวถึง ภาษีมรดกที่กำลังอยู่ในชั้นกรรมาธิการว่า หน้าตามันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างไร ไม่รู้ แต่หลักใหญ่คือเก็บที่การรับมรดก ทั้งนี้ภาษีมรดกของไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในแง่ของวิชาการ มีตัวเลขตัวหนึ่งถ้าดูสัมประสิทธิ์จีนี (Gini coefficient) ถ้าถอยไปดู 25 ปี วิ่งอยู่ 0.48 มันบอกว่าประเทศเราพัฒนาแต่การกระจุกตัวของรายได้เรามีปัญหา

สกนธ์ กล่าวเสริมว่าการเก็บภาษีมรดกนั้นช่วยในแง่การกระจายรายได้ แต่ช่วยมากไหมอีกเรื่อง เพราะภาษีมรดกเป็นการดูที่ปลายทาง ช่วยให้คนที่มีมรดกแบ่งให้รัฐ เหมือนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพราะหัวใจของประเด็นนี้คือการยกเว้นลดหย่อน ที่จะเริ่มต้นที่เท่าไหร่ ภาษีมรดกจะทำให้ความเหลื่อมล้ำลดไหม นั้นต้องดูเรื่องอื่นด้วย ต้องดูโครงสร้างการปฏิรูปภาษีของทั้งประเทศ

เสนอยกเว้นต่ำกว่า 50 ล้าน ไม่เก็ยภาษีมรดก

ลวรณ ตอบว่าตอนที่คือต่ำกว่า 50 ล้าน จะได้รับการยกเว้นการเก็บ แต่ตัวเลขนี้ก็ยังไม่นิ่ง โดย รังสรรค์ กล่าวถึงความคาดหวังของคลังในการจัดเก็บภาษีมรดก โดยกองมรดกหากมีรายได้ก็ต้องเสียภาษี ในส่วนของภาษีมรดก จำได้เป็นนโยบายของ คสช. ว่าอย่างไรก็ต้องเก็บภาษีมรดก ที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำ เพราะคนที่รับมรดกนั้นยังไม่ได้ทำอะไรก็มีรายได้แล้ว ดังนั้นก็ควรแบ่งใหสังคมบ้าง จะเห็นว่า คนเกิดการได้เปรียยบเสียเปรียบกันในสังคม

เป็นการลดความเหลื่อมล้ำ มาตราการเหล่านี้เป็นการเฉลี่ยความสุขกัน

ลวรณ กล่าวเสริมว่า อัตราการเก็บภาษีมรดกในต่างประเทศที่ยังเก็บอยู่นั้นเก็บเป็นขั้นบันได ส่วนการเริ่มต้นที่ 50 ล้านนั้น เรามองถึงตัวเลขของขนาดของ SMEs ที่มีมูลค่าประมาณ 50 ล้านบาท ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านจากรุ่นหนึ่งก็ไม่ควรกระทบ แต่อัตราก็ยังไม่นึ่งในขั้นกรรมาธิการ

ปลัดคลังสรุปผลกระทบจากภาษี ด้าน บวก-ลบ

รังสรรค์ กล่าวสรุปถึงผลกระทบด้านลบและบวกของการเก็บภาษี ภาษีมรดก ภาษีการให้ ภาษีทรัพย์สิน  ว่า ผลกระทบด้านบวก เป็นการลดการกระจุกตัวของความมั่งคั่ง ลดความเหลื่อล้ำในสังคม เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐ ส่วนผลกระทบด้านลบนั้น อาจจะกระทบต่อคนที่ต้องการออมให้ลูกหลาน การสะสมทุนจะลดลง  อาจจะเกิดการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินไปต่างประเทศ และอาจะมีต้นทุนในการจัดเก็บภาษี 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net