เสรีภาพสื่อ...กับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

จากบทความ "เสรีภาพสื่อ" ในมติชน วันก่อน ได้เปิดเผยดัชนีสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนและผู้สื่อข่าวทั่วโลก ประจำ พ.ศ.2558 จาก 180 ประเทศทั่วโลก โดยแบ่งเขตออกเป็นกลุ่มสี คือกลุ่ม "สีดำ" เป็นกลุ่มที่มีสิทธิเสรีภาพอยู่ในขั้นเลวร้ายแบบมืดมน อนธการ กลุ่ม "สีแดง" คือกลุ่มที่ไม่มีเสรีภาพแต่ยังไม่ถึงขั้นเลวร้ายสุดสุด กลุ่ม "สีเหลืองเข้ม" เป็นกลุ่มพอใช้ ตามด้วยกลุ่ม "สีเหลืองอ่อน" อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี และกลุ่ม "สีขาว" คือกลุ่มที่มีสิทธิเสรีภาพในระดับดีที่สุด

สำหรับกลุ่มสีขาว คือกลุ่มประเทศสิทธิเสรีภาพ สื่อมวลชนในขั้นเกณฑ์ "ดีมาก" เรียงตามนี้คือ ฟินแลนด์ นอร์เวย์ เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ สวีเดน นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย แคนาดา จาเมกา เอสโทเนีย ไอร์แลนด์ เยอรมนี สาธารณรัฐเช็ก สโลวาเกีย เบลเยียม คอสตาริกา นามิเบีย โปแลนด์ ลักเซมเบิร์ก และสวิตเซอร์แลนด์

ไทยแลนด์ในยุคปัจจุบันอยู่อันดับ 134 ติดกลุ่มแดง คือกลุ่มที่ไม่มีเสรีภาพ แต่ยังไม่ถึงขั้นเลวร้ายที่สุด

ทำให้หวนคิดถึงจดหมายประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องจำกัดสิทธิเสรีภาพ ในยุคจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเคยมีเหตุการณ์ทุบแท่นพิมพ์ และคำสั่งห้ามในหลายกรณี จนได้ชื่อว่าเป็นยุคเผด็จการที่สื่อถูกจำกัดสิทธิมากที่สุดในสมัยนั้น

นั่นคือ...หนังสือเรื่อง "ตำนานลึก (ไม่) ลับฉบับฅนทระนงหนังสือพิมพ์" ซึ่งเป็นหนังสือที่ใช้สำนวนกะทัดรัดแต่เปี่ยมด้วยเนื้อหาสาระโดยนักหนังสือพิมพ์อาวุโสที่ชื่อ "แถมสิน รัตนพันธุ์" ผู้เหยียบบาทก้าวแรกสู่แวดวงนักเขียนนักหนังสือพิมพ์อย่างมากด้วยความหลงใหลใฝ่ฝัน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2496 และที่สำคัญยิ่ง "อมตะ" รับใช้ชาติในตำแหน่ง สนช. อยู่ขณะนี้ด้วยวัยต้นๆ แห่งการชรา

ในงานเลี้ยงสังสรรค์ค่ำวันหนึ่ง "พี่แถม" ได้มอบหนังสือดังกล่าว พร้อมเขียนด้วยลายมืออันงดงามว่า... "มอบให้คุณพี่ไพรัช วรปาณิ ด้วยรักสนิท"

นับว่าเป็นหนังสือที่คุยเฟื่องเรื่องของคนทระนง ของวงการหนังสือพิมพ์ในอดีตแบบหมดเปลือก รวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับนักหนังสือพิมพ์หลายท่าน พร้อมกับวิถีชีวิตการต่อสู้ของบุคคลผู้น่ายกย่อง เช่น "ป๊ะ" กำพล วัชรพล และชีวประวัติของ อิศรา อมันตกุล เป็นอาทิ

Content ในเรื่องที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งคือ "อดีตกาลแห่งการแทรกสื่อ" ซึ่งเล่าถึงเรื่องราวของ "ท่านเจ้าคุณ" พระยาศราภัยพิพัฒน์ เขียนอำลาผ่าน น.ส.พ. "ปิยมิตร" แต่...ไปเสียดแทงใจของ จอมพลสฤษดิ์เข้า จนต้องเขียนจดหมายห้ามเลิก (เขียนบทความวิจารณ์การเมือง) ด้วยสำนวนกินใจ แสดงถึงความใจกว้าง ตรงไปตรงมา เยี่ยงชายชาติทหาร! อย่างน่าทึ่ง...

น.อ.พระยาศราภัยพิพัฒน์ (เคยต้องโทษการเมืองติดคุกมาก่อน) เขียนวิเคราะห์การเมืองให้ น.ส.พ.ปิยมิตร โดยใช้นามปากกา "ศราภัย" พาดพิงถึงเรือนจำลาดยาวว่า เป็นสถานที่ราชการที่ไม่มีวันเดือนปี กล่าวคือ มีผู้ต้องคุมขังในคดีการเมืองถูกจองจำอยู่อีกมาก โดยไม่มีวันล่วงรู้ว่าเมื่อใด วันเดือนปีไหนจะได้รับอิสรภาพ

วันต่อมาตำรวจสันติบาลได้เรียก บก. "ปิยมิตร" ไปไต่สวนปากคำเป็นเชิงจะเอาผิดในข้อความเหล่านั้น เพื่อมิให้เกิดความเดือดร้อนแก่คนหนังสือพิมพ์ "ปิยมิตร" และครอบครัว ท่านเจ้าคุณหรือศราภัยจึงเขียนคำอำลาขอหยุดคอลัมน์นี้ตั้งแต่ฉบับนั้นเป็นต้นไป

พลันก็มีจดหมายถึง "ท่านเจ้าคุณ" เป็นจดหมายประวัติศาสตร์จากจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีแห่งปี พ.ศ.2503 ที่นั่งควบเก้าอี้ผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารด้วย

คำอำลาของศราภัย (โดยย่อ) ดังนี้

"ข้าพเจ้าไม่ได้อาศัยการเขียนเป็นเครื่องมือเลี้ยงชีพโดยเฉพาะเพียงแต่เคยทำ น.ส.พ.มาเมื่อ 28 ปีมาแล้ว แต่การขีดเขียนเป็นงานอดิเรกที่รักมาตั้งแต่หนุ่มๆ กอปรด้วยความหวังดีที่อยากเห็นบ้านเมืองของตนเจริญวัฒนาสถาพร ทั้งรัฐบาลก็ได้มีใจกว้างขวางเปิดโอกาสวิจารณ์การเมืองใน "ปิยมิตร" ถ้าหากจะมีข้อตำหนิติเตียนบ้างก็เป็นการติเพื่อก่อ ที่เคยส่งเสริมสนับสนุนรัฐบาลและชมเชยตัวบุคคลในวงการรัฐบาลก็มีอยู่เสมอ ฯลฯ

ข้าฯ ได้เขียนบทวิจารณ์ ม.17 นั้นก็เพราะเห็นว่าท่านจอมพลสฤษดิ์ เผยทรรศนะว่า ม.17 จะทำให้ท่านเสียคนและมีความเมตตาปรานีแก่ผู้ต้องขังอยู่ที่ลาดยาว ฯลฯ

ตามทัณฑวิทยา นานาประเทศ ที่ทางการได้มองไว้ให้ ก็ปรากฏว่าผู้ที่ไม่มีความผิดต้องโทษเพราะการปรักปรำ ซัดทอด และพยานเท็จประมาณ 5% ด้วยเหตุนี้ จึงทราบจิตใจของผู้ต้องขังได้เป็นอย่างดี ถ้ามีคนเมตตาเข้าสักเล็กน้อย ก็รู้สึกชุ่มชื่น มิใช่แต่ตัวเขาเท่านั้น ลูกเมีย พ่อแม่ทราบเข้าก็พลอยชุ่มชื่นด้วย ข้าฯ เป็นนักโทษที่ไม่อัตคัดในเรื่องอาหารการรับประทาน พอได้ยินเสียงตะโกนว่า มีผู้นำแกงหรือข้าวเหนียวมะม่วง มาเลี้ยงนักโทษการเมือง น้ำตาก็ไหลพรูออกมาด้วยความปลาบปลื้ม ชุ่มชื่นใจ ที่คิดว่าในโลกนี้ก็ยังมีคนเมตตากรุณาทุคตะชนอันแสนเข็ญเหล่านี้อยู่บ้างเหมือนกัน

อย่างน้อยก็ทำให้ใจพวกนี้แช่มชื่น สยบความฟุ้งซ่าน กลับใจประพฤติตัวดี อันเป็นประโยชน์แก่ตัวเขาและชาติบ้านเมืองสืบไปเบื้องหน้า นับว่าเป็นจิตวิทยาของการปกครองผู้ต้องขังที่นิยมกันอยู่ทั่วไป"

 

จอมพลสฤษดิ์ได้ตอบ จ.ม. ขอร้องให้อย่าเลิกเขียน มีความตอนหนึ่งว่า

"...ผมเองขอเรียนด้วยความสัตย์จริงว่า มีความนิยมชมชอบในความเป็นผู้รอบรู้ คงแก่เรียนของท่านเจ้าคุณอยู่เป็นอันมากและเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นในห้วงความคิดของผมมานานแล้ว เว้นเสียแต่ว่าผมไม่สามารถที่จะกล่าวอะไรออกมาให้เป็นที่เข้าใจกันโดยเปิดเผยได้เท่านั้น เพราะรู้สึกว่าจะมิใช่หน้าที่ของผมที่จะโฆษณาความรู้สึกของผมให้ผู้ใดทราบ ฯลฯ

ฉะนั้น ผมก็จำต้องปล่อยให้เขาดำเนินการไปตามวิธีการหรือหลักการสอบสวนของเขา ขอท่านเจ้าคุณได้กรุณาเห็นใจผมในข้อนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม ผมใคร่ที่จะเรียนต่อท่านเจ้าคุณว่า ผมจะเป็นหลักประกันสำหรับความยุติธรรมแก่พลเมือง ทุกรูปทุกนาม ท่านเจ้าคุณก็คงทราบนิสัยใจคอของผมดีอยู่แล้วว่า ผมรักความยุติธรรมเพียงใด เป็นคนหูหนักเพียงใด ขอยืนยันว่าถ้าผมเป็นคนหูเบาเชื่อคนง่ายแล้ว ป่านนี้เมืองไทยจะอลเวงยุ่งยากมากทีเดียว

ฉะนั้น ผมจึงเชื่ออย่างยิ่งว่า ท่านเจ้าคุณคงทราบถึงเจตนาอันเป็นเบื้องลึกแห่งหัวใจผมในประการต่างๆ ได้เป็นอย่างดี "เรื่องบทความของท่านเจ้าคุณ ผมได้อ่านแล้วรู้สึกว่าท่านมีเจตนาดี ฉะนั้น ถึงแม้คนอื่นหมื่นแสนเขาจะเข้าใจผิด ผมก็ใคร่ขอเรียนว่า ยังมีผมอีกคนหนึ่งที่ยังเข้าใจเจตนาท่านเจ้าคุณอยู่เสมอ ฉะนั้น ขอให้ท่านเจ้าคุณได้คลายความกังวล จัดการว่ากล่าวและพิจารณาเรื่องนี้ด้วยตนเองต่อไป และขอได้โปรดนึกว่า เรื่องทำนองนี้เป็นเรื่องธรรมดาเสมือนลิ้นกับฟัน ซึ่งอาจจะมีการกระทบกระทั่งกันอยู่บ้างเป็นนิจศีล"

หมายเหตุ ท้ายจดหมายตอนหนึ่งว่า

"...ผมใคร่ขอร้องและยืนยันว่าเป็นเจตนาของผมโดยแท้จริง มิได้มีอะไรเคลือบแฝงเลยแม้แต่น้อย โปรดเขียนความเห็นของท่าน โดยบริสุทธิ์ใจเป็นการช่วยชาติต่อไปเถิด และหากว่าท่านจะบอกผู้ใดหรือประกาศไปว่าผมขอร้องให้เขียน ผมก็ไม่ขัดข้องแม้แต่จดหมายฉบับนี้ ผมก็ไม่ขัดข้องที่เจ้าคุณจะนำไปเปิดเผยได้ หากเป็นความปรารถนาของเจ้าคุณ ผมหวังเป็นอย่างมากว่าท่านเจ้าคุณคงมีเมตตาปรานีแก่ผม และผมหวังว่าท่านคงจะเป็นนักต่อสู้ต่อไปตามสายตาของผม ขอให้ท่านจงอย่าท้อถอย จงใช้ชีวิตของท่านเจ้าคุณตามใจรักด้วยการเขียน เพื่อช่วยกันสร้างชาติต่อไปเถิด โปรดระลึกเสมอว่า คงได้รับเกียรติยศอันนี้ด้วยความวางใจจากท่านเจ้าคุณ"

"แม้ชาติย่อยยับอับจน ทุกคนจะเป็นสุขได้อย่างไร"

 

รักและเคารพด้วยความจริงใจ

จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ 12 ก.ย. 03

 

จะเห็นได้ว่า จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตผู้นำที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ (ม.17) ในสมัยนั้น นอกจากมีจุดเด่นในการรู้จักใช้คน (เก่ง) และในขณะเดียวกันยังมีความเข้าอกเข้าใจต่อสื่อมวลชนที่เขียนบทวิจารณ์การเมืองด้วยความบริสุทธิ์ใจ อีกด้วย

มาในยุคนี้ สิทธิเสรีภาพของสื่อ แม้จะไม่สามารถติดอยู่ในกลุ่ม "สีขาว" หรือ "สีเหลืองอ่อน" แต่ก็หวังว่าจะได้รับการปรับปรุงให้อยู่ในระดับกลุ่ม "สีเหลือง" ....ย่อมเป็นคุณ

อย่างไรก็ตาม จากการให้สัมภาษณ์ของ "บิ๊กตู่" ผู้นำรัฐบาล (หน.คสช.) ในปัจจุบันยังส่อให้เห็นว่า ท่าน...มีเจตนาหวังดีที่จะกู้วิกฤตของชาติ...

จึงเป็นโอกาสที่จะใช้ "หลักเมตตาธรรม" โดยอาศัยอำนาจที่มีอยู่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย (ม.44) ปลดปล่อยเหล่าทุคตะชน (นักโทษการเมือง) ที่ถูกจองจำจากเหตุการณ์ 2553 และ พ.ศ.2556-2557 ซึ่งทนทุกข์ทรมานอยู่ในแดนทุคติยาภูมินั้นให้ออกจากความมืดมน ได้มาเห็นแสงแห่งตะวัน ซึ่งเป็นก้าวย่างสำคัญในการขจัดความขัดแย้ง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายแห่งการปรองดองของคนในชาติอย่างเป็นรูปธรรม

"อันอาจจะเป็นผลงานชิ้นโบแดงที่ได้รับการยกย่องทั่วสารทิศ!"

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชนรายวัน 5 มีนาคม 2558

ที่มา: มติชนออนไลน์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท