Skip to main content
sharethis

สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยยื่นตรวจสอบ สปช. เสนอหรือแต่งตั้งเครือญาติเข้ามาดำรงตำแหน่งว่าผิดกฎหมายหรือขัดหรือแย้งต่อจริยธรรมหรือไม่ ด้านสภาพัฒนาการเมือง จี้ สนช.ตั้งลูก-เมีย รับผิดชอบ "ขอโทษ-คืนเงิน"

6 มี.ค. 2558 นายศรีสุวรรณ จรรยา อุปนายกและเลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นเรื่องต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อขอให้ตรวจสอบและสั่งการไม่ให้ สปช. และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กระทำการในทางที่มิชอบด้วยกฎหมาย หรือขัดหรือแย้งต่อจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในการเสนอหรือแต่งตั้งบุคคลที่เป็นบุตร หรือภรรยา และเครือญาติเข้ามาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการและผู้ช่วยดำเนินการประจำตัว เนื่องจากการกระทำดังกล่าว ถือว่าเข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือเอื้อประโยชน์ ดังนั้น สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงขอให้ สปช. อย่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และขอให้ดำเนินการตรวจสอบ สั่งการภายในระยะเวลา 7 วัน นับตั้งแต่ที่ได้รับหนังสือร้องเรียนนี้

สภาพัฒนาการเมืองจี้ สนช.ตั้งลูก-เมีย รับผิดชอบ"ขอโทษ-คืนเงิน"

ด้านนายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง (สพม.) พร้อมสมาชิก สพม.ร่วมกันแถลงกรณีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่งตั้งคู่สมรส บุตร และเครือญาติเป็นผู้ปฏิบัติงานให้สมาชิก สนช.โดยได้รับเงินเดือนว่า ถือเป็นเรื่องไม่ควรกระทำ สนช.ควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม โดยต้องมีมาตรฐานจริยธรรมที่สูงกว่าเจ้าหน้าที่รัฐทั่วไปและประชาชน อีกทั้งยังเป็นการกระทำที่เข้าข่ายไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีประกาศ สนช. เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 เรื่องการแต่งตั้งบุคคลเพื่อปฏิบัติงานให้แก่ สนช.ได้กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบทั้งคุณสมบัติของผู้ที่ถูกแต่งตั้ง เพราะก่อนที่จะแต่งตั้งตำแหน่งดังกล่าว ทาง สนช.จะต้องตรวจสอบความสามารถและคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่ออย่างรอบคอบและโปร่งใส แต่หากตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีความสามารถ ไม่มีคุณสมบัติ หรือไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่จริง ต้องดำเนินการตามกฎหมาย จึงควรมีการปรับปรุงเพื่อสร้างมาตรฐานและบรรทัดฐานทางการเมือง และการบริหารที่มีธรรมาภิบาลสำหรับหน่วยงานของรัฐในการแต่งตั้ง ทั้งนี้ สภาพัฒนาการเมืองจะส่งเรื่องการแถลงการณ์ในวันนี้ไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อดำเนินคดีต่อไป
       
“การกระทำดังกล่าวถือว่าไม่เหมาะสม สนช.ที่แต่งตั้งเครือญาติของตนเองต้องออกมาแถลงการณ์ขอโทษต่อสาธารณชน และต้องคืนเงินงบประมาณแผ่นดินที่จ่ายเป็นค่าตอบแทนคืนมาทั้งหมด เพราะหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องการปฏิรูปประเทศก็ควรจะต้องมีการปฏิบัติที่ดีต่อสังคม เนื่องจากสังคมมีความหวังว่าจะปฏิรูปประเทศให้ดีขึ้น ไม่ใช่อ้างเรื่องเดิมๆ แล้วทำแบบเดิมๆ เพราะเรื่องดังกล่าวไม่ควรเอามาเป็นแบบอย่าง ซึ่งผมว่าเราไม่ต้องพูดหรอกว่าอะไรผิดอะไรถูก แต่ที่ผมเห็นคนทั้งประเทศตำหนิเรื่องนี้ ใครที่ออกมาปกป้องว่าทำได้ไม่ผิด ก็ถูกคนทั้งประเทศตำหนิอีกเหมือนกัน ไม่เห็นมีคนชมเลย จึงอยากให้เล็งเห็นถึงธรรมาภิบาล ไม่ใช่ปากพูดถึงการปฏิรูปประเทศ แต่การกระทำย้อนหลังไปนับ 10 ปี”
       
ทั้งนี้ นายธีรภัทร์ยังกล่าวถึงข้อเสนอของนายเจษฎ์ โทณวณิก กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะให้กำหนดในร่างรับธรรมนูญให้แม่น้ำ 5 สายเว้นวรรคทางการเมืองเป็นเวลา 2 ปี ว่า ส่วนตัวเห็นว่าบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งดังกล่าวคงไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการกระทบต่อสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้รับ อีกทั้งการเว้นวรรคทางการเมือง 2 ปี ได้ระบุในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพียงแค่บุคคลในฐานะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น จึงมองว่าเป็นไปไม่ได้ที่หน่วยงานต่างๆ จะยอมรับในแนวคิดนี้ ตนเห็นว่าเป็นเรื่องยาก



ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, ASTV ผู้จัดการออนไลน์


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net