เสวนาสตรีสากล(กระแสรอง)ว่าด้วยสิทธิพลเมือง หลากรส-หลายมุม

8 มี.ค.2558 กลุ่มเมล็ดพริกจัดเสวนา ‘ผู้หญิง..เสรีภาพและการแสดงออก’ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว

เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติวิธีศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มต้นหยิบยกคำพูดของปติวัฒน์ หรือแบงก์ นศ.ปี4 ที่ถูกพิพากษาจำคุก 2 ปี 6 เดือนจากคดีมาตรา 112 ที่กล่าวถึงแม่ของเขา

"ฝากถึงแม่ อยากบอกแม่ว่าต้องเข้มแข็งไม่ต้องห่วงมาก ต่อไปนี้แม่จะไม่ใช่แม่ของแบงค์คนเดียวอีกแล้ว แม่จะเป็นแม่ของทุกคนที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมนี้ ต่อสู้กับความอยุติธรรม ไม่อยากให้แม่แสดงถึงความยอมจำนนว่าลูกของแม่คือคนผิด แม่ต้องเข้มแข็งถึงแม้จะเจ็บปวด ก็ต้องฝืนทนไปให้ได้” ที่มา http://www.thaiscd.com/?p=1069

จากนั้นเบญจรัตน์อธิบายประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิเลือกตั้งอันเป็นรากฐานหนึ่งของความเท่าเทียมกันของมนุษย์และสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของผู้หญิง โดยระบุว่า ประเทศประชาธิปไตยทุกวันนี้ส่วนใหญ่ผู้หญิงได้รับสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งช้ากว่าผู้ชายเป็นอย่างมาก และในช่วงแรกก็ยอมรับเฉพาะสิทธิของผู้หญิงที่มีทรัพย์สินหรือมีเงินเสียภาษีเท่านั้น

- ฟินแลนด์ซึ่งเป็นประเทศต้นๆ ที่ให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งได้ในปี 2406 ผู้หญิงที่เสียภาษีได้รับอนุญาตให้เลือกตั้งในระดับเทศบาลในชนบทได้และขยายมาสู่การเลือกตั้งในเมืองในปี 2415 จนกระทั่งปี 2449 ที่ทั้งชายและหญิงได้รับอนุญาตให้เลือกตั้งและสมัครรับเลือกตั้งได้

- นิวซีแลนด์มีเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก 2396 แต่ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งในปี 2436 หรือ 40 ปีหลังจากนั้น

- ออสเตรเลียผู้หญิงเริ่มมีสิทธิเลือกตั้งในบางรัฐในปี 2445 จนได้ครบทุกรัฐในปี 2451 ส่วนชนพื้นเมืองดั้งเดิมของออสเตรเลียนั้นได้สิทธินี้ช้ายิ่งกว่าผู้หญิง จนกระทั่งกำหนดให้ทุกคนมีสิทธิเลือกตั้งในปี 2527

- ในอังกฤษ ช่วงแรกๆ ให้สิทธิเฉพาะผู้ชายที่เป็นเจ้าที่ดินเท่านั้น จนเมื่อปี 2362 ได้มีการประท้วงขนานใหญ่เรียกร้องให้ผู้ชายทุกคนมีสิทธิเลือกตั้ง จากนั้นจึงขยายไปสู่คนทีละกลุ่ม เป็นชนชั้นกลางในเมือง ชนชั้นแรงงานในมือง ชนชั้นแรงงานในชนบท และทั้งชายหญิงได้รับสิทธิเลือกตั้งในปี 2471

- ในอเมริกาการเคลื่อนไหวช่วงแรกๆ เป็นของผู้หญิงชนชั้นสูงเคลื่อนเรื่องสิทธิในการถือครองทรัพย์สิน สิทธิในการดูแลลูก การเซ็นสัญญา การได้รับการศึกษาที่เท่าเทียม ผู้หญิงอเมริกันได้สิทธิเลือกตั้งปี 2463  ส่วนคนแอฟริกัน-อเมริกันหรือคนผิวดำ ได้สิทธิความเป็นคนที่เท่าเทียมช้าไปกว่านั้นอีก

- ฝรั่งเศสให้สิทธิเลือกตั้งแก่ผู้หญิงหลังจากที่เป็นอิสระจากการปกครองของนาซีในปี 2487

- ไทยมีการเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งแรกในปี 2476 หนึ่งปีหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และทั้งชายหญิงต่างมีสิทธิในการเลือกตั้งเท่าเทียมกัน

เบญจรัตน์กล่าวว่า เทียบดูแล้วพัฒนาการของไทยดูเหมือนจะดีมาก แต่ก็เป็นที่น่าเศร้าว่าการเมืองไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมากลับสวนทางกับประวัติศาสตร์โลกในช่วง 150 ปี การเลือกตั้งถูกตราว่าเป็นสิ่งที่นำนักการเมืองเลวๆ ที่คอร์รัปชั่นมา บริหารประเทศ สิทธิในการเลือกตั้งที่ประชาชนในหลายประเทศทั่วโลกได้ต่อสู้กันมาอย่างยากลำบากกลับเป็นสิ่งที่คนส่วนหนึ่งในประเทศไทยรังเกียจ

“ทำไมเราถึงต้องยืนยันเรื่องการเลือกตั้ง หากเราจะยืนยันเรื่องสิทธิเสรีภาพ และความเท่าเทียมกันของมนุษย์ให้เป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนและระหว่างประชาชนกับประชาชนแล้ว คงปฏิเสธไม่ได้ว่าระบอบการปกครองที่เอื้อต่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่สุดก็คือระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบไทยๆ หรือแบบ “สมบูรณ์” ตามที่กลายเป็นคำที่ใช้กันในปัจจุบัน แต่เป็นประชาธิปไตยที่มีระบบตรวจสอบผู้ที่อยู่ในอำนาจรัฐ ถ่วงดุลย์อำนาจ เสียงประชาชนเป็นใหญ่ ซึ่งกลไกหนึ่งที่ทำให้ระบบตรวจสอบและเสียงของประชาชนเป็นตัวกำกับการปกครองได้จริงก็คือ กลไกการเลือกตั้งที่เสรีเป็นธรรมและจัดขึ้นอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ” เบญจรัตน์กล่าว

ท้ายที่สุดเธอกล่าวถึงนักพัฒนาเอกชนและนักเคลื่อนไหวทางสังคมจำนวนหนึ่งว่า สิ่งหนึ่งที่น่าเศร้ามากหลังรัฐประหารคือ การที่คนมองไม่เห็นหัวคนด้วยกัน โดยเฉพาะในหมู่คนที่ทำงานกับชาวบ้าน ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส คนเหล่านี้หลายคนเรียกร้องให้ทหารออกมา หลังจากนั้นคนเหล่านี้ทำราวกับว่าสังคมสงบเรียบร้อยดี ไม่มีการละเมิดสิทธิใดๆ

ศรีไพร นนทรีย์ ตัวแทนกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง กล่าวถึงการเคลื่อนไหวเรียกร้องของกลุ่มสิทธิสตรีในเรื่องการให้อัตราส่วนผู้หญิงในพื้นที่การเมือง 50:50 ว่าไม่ใช่ประเด็นใหญ่ในมุมมองเธอ

"หากอยากให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคม เราแรงงานหญิงไม่ได้มองว่ามันจะเกิดขึ้นจากการแค่เปลี่ยนสัดส่วนผู้หญิงในการเมืองเป็น 50:50 เพราะคนที่เข้าไปก็เป็นคนชั้นสูง พวกเราคงไม่มีโอกาส คนชั้นสูงไม่ว่าหญิงหรือชายก็ไม่เคยพูดถึงเรื่องแรงงานหรือคนชั้นล่างจริงๆ"

ศรีไพร ยังกล่าวถึงสภาพการณ์ของแรงงานหลังรัฐประหารว่า รัฐบาลทหารยังคงส่งเสริม BOI ดึงดูดนักลงทุนโดยไม่สนใจแรงงานที่ถูกกดขี่ ความปลอดภัยในการทำงานของคนงานก็มีน้อยลงเรื่อยๆ ยกตัวอย่างแรงงานหญิงในโรงงานอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากมีสารตะกั่วในเลือดสูง แท้งลูก หรือมีลูกเป็นดาวซินโดรมจำนวนมาก ขณะที่ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทก็ถือว่าน้อย ตามดัชนีค่าครองชีพ ปี 2558 ค่าแรงควรจะเป็น 460 บาท/วัน และเอาเข้าจริงแรงงานรายวันก็ได้ไม่ถึงแม้แต่เดือนละ 9,000/เดือน  ที่สำคัญรัฐบาลทหารยังประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษอีก 6 จังหวัด ซึ่งกฎหมายแรงงานใช้ไม่ได้ การตั้งสหภาพแรงงานเพื่อต่อรองการกดขี่คนงานเกิดขึ้นไม่ได้ ยิ่งกว่านั้นยังมีการออกพ.ร.บ.การชุมนุม ที่แม้ระบุว่าไม่เกี่ยวกับแรงงานและเอกชน แต่อยากบอกว่าทุกเรื่องล้วนเป็นการเมือง การจะเรียกร้องนโยบายต่างๆ ก็ต้องเรียกร้องจากรัฐบาล กฎหมายนี้จึงกระทบกับสิทธิของขบวนการแรงงานและขบวนการอื่นอย่างมาก

พะเยาว์ อัคฮาด แม่ของกมนเกดพยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมปี 2553 กล่าวเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกองทัพ อีกทั้งทหารรุ่นใหม่ควรมีวิจารณาญาณในการปฏิบัติตามคำสั่งเพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยปี 53 ที่ประชาชนไม่มีอาวุธถูกเจ้าหน้าที่ยิงเสียชีวิตจำนวนมาก นอกจากนี้ยังเรียกร้อง ป.ป.ช.อย่าละเลยหน้าที่ในการฟ้อง อีก 3 ราย คนเหล่านั้นไม่ใช่พยาน แต่เป็นผู้ร่วมออกคำสั่งกับอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสุเทพ เทือกสุบรรณ ด้วย

“สังคมไทยไม่ค่อยจดจำสิ่งที่เกิดขึ้น มีแต่บอกให้เราลืมและให้อภัย โดยไม่เปลี่ยนหรือพยายามทำอะไรเลย กระบวนการยุติธรรมที่ไต่สวนไปบ้างแล้วก็หมกเข้าใต้พรม ดิฉันบอกตรงนี้ว่าดิฉันไม่มีทางยอม ใครถูกใครผิดไปสู้กันในศาล ใครผิดก็ว่าไป อนาคตจะยกโทษให้หรือไม่ก็ว่ากันไป แต่สังคมต้องรับรู้ก่อนว่าใครที่ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น” พะเยาว์กล่าว

เธอยังกล่าวถึงเรื่องการเยียวยาด้วยว่า เธอเคยผลักดันเรื่องการเยียวยาตั้งแต่สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์เนื่องจากเห็นว่ามีปัญหา ที่คนเสื้อแดงจำนวนมากไม่ได้รับค่าชดเชยจากการบาดเจ็บ เพราะไม่มีเอกสารสำคัญสองอย่างคือ ใบแจ้งความ และใบรับรองแพทย์ เนื่องจากทหารเข้าคุมทุกสน.ในช่วงเวลานั้นทำให้คนไม่กล้าไปแจ้งความ กับโรงพยาบาลเองคนเสื้อแดงก็เกรงจะไม่ได้รับการรักษาที่ดีจากบุคลากรทางการแพทย์หากบอกว่าโดนอะไร จากเหตุการณ์ไหน จึงไม่ได้แจ้งอย่างตรงไปตรงมา ที่พบว่าได้รับผลกระทบมากคือผู้สูงอายุที่ป่วยจากการโดนแก๊สน้ำตาอย่างหนักโดยเฉพาะในวันที่ 10 เมษายน อย่างไรก็ตาม การผลักดันไม่ประสบผล จนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ถูกรัฐประหาร เมื่อมีรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ก็ผลักดันเรื่องนี้ต่อเพื่อให้ครอบคลุมยิ่งขึ้นซึ่งรัฐบาลก็รับลูกจะผลักดันต่อ แต่แล้วป.ป.ช.ก็กำลังจะฟ้องยิ่งลักษณ์กรณีจ่ายเงินเยียวยาที่ผ่านมา

“ดิฉันเสนอให้เยียวยาครบทุกกลุ่มทุกฝ่าย ตั้งแต่ปี 2548 แต่ป.ป.ช.กำลังจะฟ้องยิ่งลักษณ์เรื่องนี้อีก ดิฉันฝากถึงรัฐบาล ถ้าไม่ตบกะบาล ป.ป.ช. ให้หุบปาก คุณจะทำอะไรไม่ได้ ถ้าให้โวยวายเรื่องนี้ก็จ่ายเงินเยียวยาไม่ได้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบปี 56-57 ที่รออยู่ก็จะไม่ได้ด้วย” พะเยาว์กล่าว

สุกัญญา พฤกษาเกษมสุข ภรรยาของสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องขังคดี 112 กล่าวว่า ไม่เชี่ยวชาญประเด็นสิทธิสตรีมากนัก แต่อยากนำเสนอข้อมูลให้เห็นความรุนแรงของปัญหานักโทษการเมือง หากดูเฉพาะเรื่องปริมาณ อาจเห็นว่าไทยไม่รุนแรงเท่าพม่าหรือประเทศอื่น เพราะมีผู้ต้องขังด้วยคดีการเมืองแค่เฉียดร้อย แต่ภายใต้จำนวนนั้นกลับพบปัญหาการซ้อมทรมาน โดยเฉพาะคดีอาวุธสงคราม เรื่องนี้มีรายงานชัดเจนจากสหประชาชาติ อีกทั้งการซ้อมทรมานเพื่อให้ผู้ต้องหาซัดทอดก็เกิดมานานแล้วก่อนหน้านี้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ประเด็นการใส่โซ่ตรวน กรณีของสมยศ เครือข่ายในต่างประเทศสะเทือนใจมากที่ต้องเห็นเขาถูกตรวนและสวมกุญแจมือขึ้นศาล ทั้งที่แทบไม่มีประเทศไหนปฏิบัติกับผู้ต้องขังแบบนี้แล้ว

ประเด็นการนำนักโทษการเมืองไปคุมขังรวมกับนักโทษที่ก่ออาชญากรรมอื่นๆ เช่น ปล้น ฆ่า เป็นสิ่งไม่สมควร

ประเด็นการตัดสินอย่างรุนแรงเป็นเรื่องต้องเร่งพิจารณาแก้ไข รวมทั้งเรื่องสิทธิในการประกันตัว อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรให้กับผู้ต้องหาทุกคน ยกเว้นศาลพิสูจน์ทราบได้แน่ชัดว่าเขามีประวัติการหลบหนีมาก่อน มิเช่นนั้นก็จะอ้างเรื่องกลัวหลบหนีโดยไม่สมเหตุสมผล

ประเด็นเรือนจำจำกัดโควตาผู้เข้าเยี่ยม 10 คน หรือบางแห่งน้อยกว่านั้นและต้องเป็นเครือญาติที่ชัดเจน หากนักโทษคนไหนญาติไม่สะดวกมาเยี่ยม ก็จะทำให้คนนั้นไม่ได้พบเจอใคร เป็นนักโทษไร้ญาติขาดมิตร

สุกัญญากล่าวถึงสิ่งที่ต้องการให้ช่วยเหลือว่า 1.ขอให้ทำความเข้าใจว่านักโทษการเมืองไม่ใช่คนทำผิดคดีอาญาร้ายแรง พวกเขาไม่มีมูลฐานจิตใจที่หยาบช้า สังคมไม่ควรประณามซ้ำเติม 2.ด้วยกฎระเบียบของเรือนจำดังที่กล่าวไป หากใครสะดวกอาจช่วยสนับสนุนค่าเดินทางสำหรับญาติผู้ต้องขังที่ยากจนเพื่อให้สามารถเดินทางไปเยี่ยมผู้ต้องขังได้เป็นประจำ  3.การประกันตัว เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานและเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด

เสาวลักษณ์ โพธิ์งาม ทนายความและสมาชิกกลุ่มเมล็ดพริก กล่าวว่า ทุกความเท่าเทียมที่มีอยู่ทุกวันนี้ ไม่ได้มาจากการร้องขอ หรือมีใครใจดีมอบให้ แต่ล้วนมาจากการต่อสู้ และผู้หญิงก็เป็นส่วนสำคัญในนั้น ชนชั้นนำพยายามลดทอนความสำคัญของวันสตรีสากลด้วยคำพูดประเภท “ผู้ชายข้าวเปลือก ผู้หญิงข้าวสาร” ซึ่งสะท้อนแนวคิดชายเป็นใหญ่ ทั้งที่วันที่ 8 มีนาคมวันสตรีสากล มีกำเนิดมาจากกนักสังคมนิยมที่ต่อสู้เพื่อแรงงานสตรี

เสาวลักษณ์กล่าวอีกว่า การเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิสตรีทุกวันนี้ บรรดาเอ็นจีโอหรือคนทำงานด้านนี้ต่างก็บิดเบือนการต่อสู้ของแรงงานไป และไม่ต่อสู้เพื่อคนชั้นล่าง นักสิทธิสตรีของไทยแทบทั้งหมดต่างร่วมมือกับเผด็จการทหาร อ้างแต่ว่าทำเพื่อคนยากไร้ คนจน แต่เขากลับไม่เคยพูดถึงการถูกละเมิดสิทธิของประชาชน ไม่พูดถึงปัญหามาตรา 112 คนเหล่านี้จึงไม่มีสิทธิจะพูดถึงการปฏิรูป เพราะพวกเขาไม่นึกถึงแม้แต่สิทธิขั้นพื้นฐาน เช่นเดียวกับคณะกรรมการสิทธิฯ ที่สร้างความผิดหวังอย่างยิ่ง ที่ผ่านมาเข้าไปคุยกับนักโทษการเมือง แต่ก็มองพวกเขาเป็นวัตถุในการเก็บข้อมูลเพื่อผลงานโดยไม่เคยทำอะไรจริงจัง และให้ผู้ต้องขังรอคอยอย่างไร้หวัง อย่างไรก็ดี การเรียกร้องสิทธิต่างๆ รวมถึงสิทธิสตรี ไม่สามารถทำได้โดดๆ โดยผู้หญิง แต่เหล่าคนจนต้องรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องอำนาจกลับคืนมา และมีเพียงการเลือกตั้งที่จะเป็นเครื่องมือให้คนชั้นล่างสามารถต่อรองกับคนชั้นสูงหรือผู้ปกครองได้

เสาวลักษณ์ยังกล่าวถึงขบวนการเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตย อย่างกลุ่มคนเสื้อแดงว่า ไม่สามารถพึ่งพรรคเพื่อไทย หรือ นปช.ในการนำได้อีกต่อไป เนื่องจากทั้งสองส่วนต่างเกียะเซี๊ยะกับทหาร และเอาแต่เฝ้ารอ ประชาชนต้องลุกขึ้นมาสร้างการเคลื่อนไหวของตนเอง แต่กระนั้นก็อาจเป็นไปอย่างกระจัดกระจายไร้ทิศทาง หากมีการเลือกตั้งปัญหาก็จะยังวนอยู่ในอ่างเช่นนี้ จึงเสนอว่าควรมีการตั้งพรรคการเมืองของคนจนเสื้อแดงและแนวร่วมขึ้นมา

“ถึงเวลาที่ต้องสร้างพรรคการเมืองของตัวเองเพื่อต่อรองการจัดสรรทรัพยากร ไม่เช่นนั้นเราก็จะจนลงต่อไป ต่อให้เรามีสิทธิเลือกตั้ง ถ้าเราไม่รวมตัวกันเอง เราก็จะวนเวียนมาอยู่จุดเดิม เราต้องมีข้อเรียกร้องที่ชัดเจนไม่มีแอบแฝง เป็นข้อเรียกร้องที่หากเราไปถึงได้ จะเป็นการปลดปล่อย ทำให้พวกเรามีอิสระที่แท้จริง” เสาวลักษณ์กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท