Skip to main content
sharethis

ผลสำรวจความเห็นของประชาชนต่อการร่าง รธน.ฉบับใหม่ โดย สนง.สถิติแห่งชาติ ชี้ประชาชนต้องการนายกผ่านการเลือกตั้ง สส.และ สว.มาจากการเลือกตั้ง องค์กรอิสระต้องเปิดบัญชีทรัพย์สิน การซื้อขายเสียงมีโทษอาญา ให้สิทธิชุมชนในการัดการทรัพยากรธรรมชาติ สร้างหนี้ประเทศต้องผ่านสภา เห็นด้วยนิรโทษกรรมทางการเมือง เพียง18%ที่เห็นด้วยให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต

ผลสำรวจดังกล่าวเป็นไปตามโครงการของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนญ (กมธ.ยกร่างฯ) ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า โดยได้ประสานให้สำนักงานสถิติแห่งชาติดำเนินการ เน้นเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของประชาชนโดยตรงที่ประชาชนต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย เพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชน

ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติได้เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 5,800 คนทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 5 ถึง 11 ม.ค.58 ก่อนจะนำมาวิเคราะห์และสรุปเป็นรายงานเสนอ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ


หนุน กก.องค์กรอิสระเปิดบัญชีทรัพย์สิน

ผลสำรวจแบ่งเป็นประเด็นๆ ตามคะแนนที่ประชาชนเห็นด้วยกับเรื่องนั้นๆ เริ่มจาก ประเด็นที่ประชาชนเห็นด้วยมากกว่าร้อยละ 90 ที่สำคัญได้แก่ ควรมีกฎหมายเกี่ยวกับกองทุนยุติธรรม เพื่อเป็นเครื่องมือในการดูแลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากกระบวนการยุติธรรม (ร้อยละ 97.1) ควรให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเข้าชื่อกันเสนอให้ถอดถอดสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นได้ (ร้อยละ 96)

กำหนดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับชุมชนในการจัดสรรที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นธรรม (ร้อยละ 95.6) ประชาชนควรมีสิทธิออกเสียงประชามติในเรื่องที่จะผลกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติและประชาชน (ร้อยละ 95.2)

กรรมการองค์กรอิสระต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะทั้งก่อนและหลังเข้ารับตำแหน่ง (ร้อยละ94.3) ข้าราชการ / พนักงานของรัฐระดับสูง ระดับผู้อำนวยการกองหรือเทียบเท่า ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะทั้งก่อนและหลังเข้ารับตำแหน่ง (ร้อยละ94.0)

การสรรหากรรมการขององค์กรอิสระ ควรมีผู้แทนที่มาจากองค์กรวิชาชีพ องค์กรวิชาการ เอกชน สื่อมวลชน และภาคประชาชนร่วมด้วย (ร้อยละ 93.9)


สร้างหนี้ประเทศต้องผ่านสภา

ควรมีคณะกรรมการในการพิจารณาคัดเลือก แต่งตั้ง โยกย้าย ข้าราชการระดับสูง (ร้อยละ 92.6)

การสร้างหนี้ของประเทศต้องผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภา ร้อยละ 90.6

ควรทำการแยกแยะกำหนดโทษผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง เพื่อให้อภัยแก่ประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมโดยสงบ และมิได้กระทำผิดอาญาร้ายแรง (ร้อยละ 90.5)


แนะตรวจคุณสมบัติเครือญาติผู้สมัครส.ส.

ต่อมาเป็นประเด็นที่ประชาชนเห็นด้วยร้อยละ 80-90 ที่สำคัญ เช่น ประเทศไทยควรมีระบบ 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา (ร้อยละ 88.2) ควรกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 ม.ค.ของปีที่มีการเลือกตั้ง (ร้อยละ 88.2)

ควรกำหนดให้ทั้งการซื้อและขายเสียงเป็นความผิดที่มีโทษถึงจำคุก (ร้อยละ 87.6) ควรมีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง เครือญาติ คู่สมรส และบุตรย้อนหลัง 5 ปี (ร้อยละ 86.9)

ชุมชนต้องมีสิทธิในการอนุญาตหรือยกเลิกการให้เอกชนเข้ารับสัมปทานเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน (ร้อยละ 86.9) ควรมีการกำหนดให้จำนวน ส.ว.ในแต่ละจังหวัดขึ้นอยู่กับจำนวนของประชากรในแต่ละจังหวัด (ร้อยละ 86.3) และควรให้ กกต.มีอำนาจเฉพาะการบริหารจัดการและออกกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการเลือกตั้งเท่านั้น (ร้อยละ 85.6)


หนุนแยกหน่วยภารกิจรองออกจากตำรวจ

สำหรับประเด็นที่ประชาชนเห็นด้วยตั้งแต่ร้อยละ 60-79 ที่สำคัญ เช่น ควรมีการแยกหน่วยงานตำรวจที่ทำหน้าที่เฉพาะ เช่น ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจรถไฟ ตำรวจป่าไม้ ออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยให้ไปขึ้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ร้อยละ 76.6)

ควรกำหนดให้มีการถ่ายโอนภารกิจและงบประมาณให้แก่ท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการให้บริการสาธารณะและจัดสวัสดิการสังคม (ร้อยละ 71.4) 


เชียร์นายกฯต้องมาจากเลือกตั้ง

ควรมี ส.ส.สองประเภทเหมือนเดิม คือ ส.ส.แบบแบ่งเขต และระบบบัญชีรายชื่อ (ร้อยละ 71.3) นายกรัฐมนตรีต้องเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองและมาจากการเลือกตั้ง (ร้อยละ 70.1) การเลือกตั้ง ส.ส. ผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง (ร้อยละ 68.6) 

ควรกำหนดสัดส่วนผู้แทนที่เป็นผู้หญิงให้มีอย่างน้อยร้อยละ 30 เพื่อเปิดโอกาสให้มีผู้แทนที่เป็นผู้หญิงมากขึ้น (ร้อยละ 67.6) คดีทั่วไปสิ้นสุดที่ศาลอุทธรณ์ หากจะฎีกาต้องขอเป็นกรณีพิเศษ เพื่อลดจำวนคดีที่จะขึ้นสู่ศาล (ร้อยละ 65.1)

ควรกำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของประชาชน หากไม่ไปเลือกตั้งต้องถูกลงโทษ (ร้อยละ 64.6) ส.ว.ควรมีที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ร้อยละ 62.3


จำกัดวาระผู้นำแค่ 2 สมัย

ส่วนประเด็นที่ประชาชนเห็นด้วยตั้งแต่ร้อยละ 50-59 ที่สำคัญ เช่น นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส.ด้วย (ร้อยละ 58.9) นายกรัฐมนตรีควรมาจากความเห็นชอบของ ส.ส. (ร้อยละ 58.6) การเลือกตั้ง ส.ส.เขต ควรเป็นแบบ 1 เขต 1 คน (ร้อยละ 58)

การกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของ ส.ว.คราวละ 6 ปี ไม่เหมาะสม (ร้อยละ 55) ควรมีศาลเลือกตั้งเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดการเลือกตั้ง (ร้อยละ 54.9) ควรจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ไม่เกิน 2 สมัย (ร้อยละ 54.6)


แค่ส่วนน้อยชงห้าม ส.ส.นั่ง รมต.

ขณะที่ประเด็นที่ประชาชนเห็นด้วยต่ำกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ ฝ่ายการเมืองสามารถเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในระดับหัวหน้ากระทรวงได้ (ร้อยละ 43.4) ห้าม ส.ส.เป็นรัฐมนตรี (ร้อยละ 43.3)

ควรกำหนดจำนวนครั้งของการดำรงตำแหน่ง ส.ส. เพื่อไม่ให้อยู่ในการเมืองนานเกินไป (ร้อยละ 37.8) ควรให้บุคคลทุกสัญชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้รับสิทธิทุกประการเหมือนกับคนไทย (ร้อยละ 20.3) และยกเลิกโทษประหารชีวิต (ร้อยละ 18)

 

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net