นักวิเคราะห์เผยมายาคติวิกฤตหนี้สินยุโรป ชี้รัดเข็มขัด อุ้มคนรวย

คอลัมนิสต์ของ FPIF แก้ความเข้าใจผิดเรื่องหนี้สินยุโรปว่าไม่ได้มาจากการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยในโครงการสาธารณะ แต่มาจากการนำไปอุ้มคนรวยจำนวนน้อยและเอื้อประโยชน์แก่นักลงทุนเก็งกำไร ทำให้ 'มาตรการรัดเข็มขัด' เป็นแค่ข้ออ้างบีบคั้นชนชั้นอื่นเพื่อเอาไปเลี้ยงพวกคนรวย

10 มี.ค. 2558 คอนน์ แฮลลินัน คอลัมนิสต์ของเว็บไซต์วิเคราะห์นโยบายต่างประเทศ Foreign Policy In Focus (FPIF) เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องที่คนมักเข้าใจผิดในกรณีวิกฤตภาระหนี้สินของประเทศในยุโรป ซึ่งแฮลลินันระบุว่าวิกฤติไม่ได้เกิดจากการจัดสรรงบประมาณผิดพลาดแบบที่เข้าใจกัน แต่เป็นผลมาจากระบอบทุนนิยมแบบเล่นพรรคเล่นพวก

บทความจาก FPIF ระบุว่ามายาคติหรือความเข้าใจผิดเป็นเรื่องอันตรายเพราะมันคือการใช้ความจำที่มาจากการปลูกสร้างทางวัฒนธรรมและอคติมากกว่าจะใช้ข้อเท็จจริง โดยในกรณีเรื่องหนี้สินยุโรปมักจะมีมายาคติว่ากลุ่มประเทศในยุโรปส่วนหนึ่งมีความขยันขันแข็ง มีวินัยและจริยธรรม เช่น เยอรมนี, อังกฤษ, เนเธอร์แลนด์ และฟินแลนด์ แต่ประเทศอีกส่วนหนึ่งขี้เกียจ ใช้จ่ายมากและทุจริต เช่น กรีซ, สเปน, โปรตุเกส และไอร์แลนด์ โดยทั้งหมดนี้ถือเป็นเรื่องเข้าใจผิดทั้งสิ้น และเป็นความเข้าใจที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับรากฐานของปัญหาจริงๆ แต่เป็นการสร้างเรื่องเพื่อป้ายความผิดให้กับประเทศบางประเทศเท่านั้น

แฮลลิสันระบุว่าวิกฤตหนี้สินของยุโรปในปัจจุบันต้องย้อนสาเหตุไปถึงช่วงคริสตทศวรรษที่ 90 เมื่อธนาคารพากันปล่อยเงินกู้ด้านอสังหาริมทรัพย์จนเกิดภาวะฟองสบู่โดยเฉพาะในประเทศสเปนและไอร์แลนด์ ในกรณีไอร์แลนด์มีการปล่อยกู้เพื่อตั้งแต่ปี 2532-2550 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1,730 ซึ่งมากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเกินครึ่ง ส่งผลให้ราคาบ้านสูงขึ้นร้อยละ 500 ซึ่งนักวิเคราะห์เคยระบุไว้ว่าส่วนที่ควบคุมไม่ได้ไม่ใช่ส่วนของภาครัฐแต่เป็นส่วนของภาคเอกชน ในกรณีของสเปนซึ่งทำแบบเดียวกับไอร์แลนด์ก็ส่งผลให้ราคาบ้านเพิ่มขึ้นร้อยละ 500 เช่นกัน โดยก่อนหน้านี้สเปนยังมีงบประมาณเหลือใช้และมีอัตราหนี้สินต่ำ

ทั้งสเปนและไอร์แลนด์ยังมีปัญหาจากการทุจริตคอร์รัปชั่นโดยการไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมายการแบ่งโซน เลี่ยงการตรวจสอบผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและตัดลดภาษีให้เจ้าของโครงการจนทำให้เกิดโครงการบ้านจำนวนมากที่ไม่มีคนอยู่อาศัย และหลังจากเกิดวิกฤติการธนาคารในสหรัฐฯ ปี 2551 ฝ่ายที่คิดว่าตัวเองเป็น 'มดงานขยัน' ก็ประสบปัญหา จนต้องแก้ปัญหาแบบวางเดิมพันที่ไม่รู้จะได้ผลหรือไม่แต่ให้คนที่พวกเขามองว่าเป็น 'ตั๊กแตนขี้เกียจ' เป็นผู้จ่ายเดิมพัน

ในหนังสือของฟินแทน โอทูล ระบุไว้ว่าไอร์แลนด์ต้องหาเงินมาอุ้มธนาคารของตนเองโดยเรียกเอาจากประชาชนไอร์แลนด์ผู้ต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นรวม 30 ล้านยูโร แบบไม่เต็มใจ ธนาคารกลางของยุโรปเองก็บีบให้ไอร์แลนด์ต้องใช้มาตรการรัดเข็มขัด ซึ่งเป็นมาตรการปรับลดงบประมาณของรัฐจนส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้คนว่างงานเพิ่มขึ้น 2 เท่า ทำให้ภาษีผู้บริโภคสูงขึ้น บีบให้คนหนุ่มสาวในประเทศต้องอพยพออก เกือบครึ่งหนึ่งของภาษีรายได้ของไอร์แลนด์ก็ต้องเอาไปจ่ายดอกเบี้ยหนี้สินเท่านั้น

แฮลลิสันระบุถึงกรณีของโปรตุเกสซึ่งมีเศรษฐกิจมั่นคงและมีอัตราหนี้ต่ำว่า นักเก็งกำไรทำให้อัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมเพิ่มสูงขึ้นในระดับที่รัฐบาลแบกรับไม่ได้และธนาคารกลางของยุโรปก็ไม่ยอมแทรกแซง ทำให้ภาครัฐของไอร์แลนด์ถูกบีบให้อุ้มภาคธุรกิจด้วยมาตรการรัดเข็มขัดจนส่งผลต่อเศรษฐกิจ

ในกรณีของกรีซ แฮลลิสันก็มองว่าเรื่องของการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเป็นเรื่องเข้าใจผิดเช่นกัน แต่วิกฤติของกรีซมาจากการที่คนร่ำรวยหลบเลี่ยงภาษี ประเทศยุโรปหลายประเทศใช้จ่ายด้านสวัสดิการมากกว่ากรีซด้วยซ้ำ และกรีซก็ไม่ได้เป็น 'ตั๊กแตนขี้เกียจ' แบบที่ถูกกล่าวหา ชาวกรีกทำงานรวม 600 ชม. ต่อปีมากกว่าชาวเยอรมัน

มาร์ค บลายธ์ นักเศรษฐศาสตร์ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับมาตรการรัดเข็มขัดระบุว่าการใช้จ่ายงบประมาณของกรีซเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล ทำให้เกิดการสร้างงานมากขึ้น การกล่าวหาว่ารัฐบาลกรีซใช้จ่ายฟุ่มเฟือยจึงเป็นเรื่องที่ไร้สาระมากและเป็นแค่การกล่าวหาที่มีวาระทางการเมืองในการปกป้องกลุ่มคนร่ำรวยที่สูงสุดในสังคมยุโรปโดยทำให้คนยากจนต้องแบกรับภาระแทน

แฮลลิสันชี้ว่าในกรณีของวิกฤติของกรีซมาจากแผนการของนักการเมือง ธนาคารกรีซ และบรรษัทการเงินโกลด์แมนแซคส์จากสหรัฐฯ จากการที่กรีซถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าร่วมสมาชิกภาพของอียูในปี 2532 เนื่องจากมีงบขาดดุลที่เกี่ยวข้องกับจีดีพีมากกว่าร้อยละ 3 แต่โกลด์แมนแซคส์ก็ยื่นมือเข้าช่วยแก้ไขบัญชีให้กรีซด้วยค่าธรรมเนียมที่ลือกันว่ามากถึง 200 ล้านดอลลาร์ (บางแห่งก็ระบุว่ามากกว่าจำนวนนี้ 3 เท่า) ฝ่ายการเมืองและเศรษฐกิจของกรีซซ่อนเรื่องนี้ไว้จนกระทั่งถึงปี 2551 ที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจจนทำให้ภาพลวงตามลายไป

แฮลลิสันสรุปว่าสิ่งที่ทำให้เกิดวิกฤติหนี้สินไม่ใช่การใช้จ่ายฟุ่มเฟือยของประเทศที่ถูกมองเป็น 'ตั๊กแตน' แต่เป็นพวก 'มดงาน' คือนักลงทุนเอกชนที่ทำตัวเสี่ยงแบบเล่นพนันในบ่อนและได้รับการสนับสนุนจากธนาคาร ดูจากภาวะราคาบ้านเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 500 แต่ก็ยังคงกู้ยืมธนาคารต่อได้ และเมื่อฟองสบู่แตกยุโรปก็เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็ยังมีการบังคับให้กรีซต้องจ่ายเงินภาครัฐเพื่อช่วยอุ้มภาคธุรกิจที่ล้มเหลวส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงร้อลยะ 24 การว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 27 ซึ่งมากกว่าร้อยละ 50 เป็นคนหนุ่มสาว อีกทั้งมาตรการรัดเข็มขัดยังเป็นการตัดค่าแรง เงินบำนาญ และสวัสดิการต่างๆ จนทำให้ประชากรร้อยละ 44 ตกอยู่ในภาวะความยากจน

บทความของแฮลลิสันระบุอีกว่าเงินอุ้มภาคธุรกิจร้อยละ 89 ไปอยู่ที่ธนาคารซึ่งเคยให้กู้ยืมเพื่อนำไป "เล่นพนัน" ในส่วนของอสังหาริมทรัพย์ ทั้งหมดนี้ทำให้ประเทศอย่างกรีซ สเปน โปรตุเกส และไอร์แลนด์ ประสบปัญหาวิกฤติดังกล่าว ขณะที่ประเทศอื่นๆ อย่างอิตาลีและฝรั่งเศสแม้จะยังไม่เลวร้ายถึงขั้นเดียวกับประเทศที่เดือดร้อนทั้ง 4 แต่ก็ถูกกดดันให้ลดอัตราหนี้สินของพวกเขาลงให้ได้

แต่ก็มีการตั้งคำถามว่าหนี้สินเหล่านี้มาจากไหน คณะกรรมการตรวจสอบบัญชีหนี้สินสาธารณะฝ่านพลเรือนของฝรั่งเศสระบุว่าหนี้สาธารณะร้อยละ 60 ในฝรั่งเศสเป็น "หนี้นอกกฎหมาย" ประเทศอื่นๆ อีก 18 ประเทศก็ทำการตรวจสอบบัญชีพบว่าการใช้จ่ายงบประมาณสาธารณะไม่ได้ทำให้เกิดการขาดดุล

แฮลลิสันระบุว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤติหนี้สินในยุโรปคือการลดภาษีอย่างมากให้กับบรรษัทและคนรวย ซึ่งราซมิก คูเชยัน นักสังคมวิทยากล่าวว่า "มนตราแบบเสรีนิยมใหม่" เช่นนี้แทนที่จะเพิ่มการจ้างงานและการลงทุนดังที่กล่าวอ้าง กลับส่งผลตรงกันข้าม

แฮลลิสันระบุว่าสาเหตุสำคัญอย่างที่สองมาจากการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยซึ่งให้ประโยชน์แก่เจ้าหนี้และผู้เก็งกำไร ถ้าอัตราดอกเบี้ยคงตัวในช่วงราว 20-30 ปีก่อนหน้านี้ ภาระหนี้สินจะน้อยลงอย่างมาก

คูเชยันกล่าวว่าทั้งการลดภาษีคนรวยและการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเป็น "การตัดสินใจทางการเมือง" ทั้งสิ้น และต่างก็ทำให้ภาวะขาดดุลของงบประมาณสาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างไม่เป็นธรรมชาติตามการดำเนินชีวิตในสังคมทั่วไป แต่เป็นสิ่งที่ชนชั้นนำจงใจทำให้เกิดขึ้นกับสังคมเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับนโยบายรัดเข้มขัดซึ่งเป็นการถ่ายโอนคุณค่าจากชนชั้นแรงงานไปสู่กลุ่มคนรวย

เมื่อไม่นานนี้องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ 'ไอแอลโอ' ระบุว่าอัตราค่าจ้างในกลุ่มประเทศสมาชิกอียูลดลงหรือคงตัวนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

มีขบวนการเคลื่อนไหวการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินเรียกร้องให้ปฏิเสธหนี้สินที่มาจากการช่วยเหลือผลประโยชน์ภาคเอกชนแทนที่จะเป็นหนี้สินที่เป็นไปเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน เช่นในประเทศเอกวาดอร์ที่เคยสั่งยกเลิกหนี้ร้อยละ 70 ที่ถือเป็น "หนี้นอกกฎหมาย"

ในกรีซเพิ่งมีการเลือกตั้งซึ่งรัฐบาลพรรคฝ่ายซ้ายซีริซาได้รับชัยชนะ ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลพรรคนี้จะยังไม่เรียกร้องยกเลิกหนี้สินแต่ก็อาจจะกำลังวางแผนทำอยู่ พวกเขาให้เวลาเพื่อปล่อยให้เศรษฐกิจโตขึ้น ถึงอย่างนั้นก็ตามพวกประเทศ 'มดงาน' ก็ยังคงเรียกร้องให้ซีริซามีนโยบายรัดเข้มขัด

"สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือประเทศเยอรมนีและพันธมิตรของพวกเขากำลังพยายามบีบให้พรรคซีริซายอมรับเงื่อนไขที่จะทำให้การสนับสนุนพรรคพวกเขาลดลงในกรีซ และทำลายขวัญกำลังใจขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดในประเทศอื่นๆ" แฮลลิสันระบุในบทความ

แฮลลิสันเสนออีกว่าสหรัฐฯ ควรช่วยกดดันในเรื่องนี้ผ่านทางอิทธิพลในที่ประชุมกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ 'ไอเอ็มเอฟ' โดยก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีโอบามาเคยเรียกร้องให้ลดมาตรการรัดเข็มขัดลงแล้ว นอกจากนี้ยังควรกดดันกลุ่มอื่นๆ อย่างธนาคารกลางของยุโรปและสหภาพยุโรปด้วยวิธีการเปิดโปงมายาคติเกี่ยวกับหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้มีการต่อต้านในระดับประชาชนเกิดขึ้นแล้ว

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ประท้วงจากกรีซ, สเปน, อิตาลี, เยอรมนี, โปรตุเกส, อังกฤษ, เบลเยียม และออสเตรเลีย พากันชุมนุมบนท้องถนนเพื่อแสดงการสนับสนุนพรรคซีริซาในการต่อต้านมาตรการจัดการเศรษฐกิจที่ออกโดยธนาคารกลางของยุโรปและไอเอ็มเอฟ

ไมเต โมลา รองประธานองค์กรฝ่ายซ้ายยุโรปและ ส.ส.สภายุโรปกล่าวว่า ฝ่ายซ้ายต้องร่วมมือกันเพื่อกำจัดทุนนิยมในเชิงปล้นชิงจากคนอื่น

เรียบเรียงจาก

Turning the European Debt Myth Upside-Down, FPIF, 27-02-2015
http://fpif.org/turning-european-debt-myth-upside/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท