Skip to main content
sharethis

สนช. ลงมติไม่ถอดถอน 38 อดีต ส.ว. กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมระบุข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. ยังไม่ชัดเจนในการเอาผิด

 

12 มี.ค. 2558 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในช่วงบ่ายเป็นการลงคะแนนลับถอดถอนหรือไม่ถอดถอนอดีต ส.ว. จำนวน 38 คน ออกจากตำแหน่ง ตามข้อบังคับการประชุม ข้อ 157 จากกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ประเด็นที่มาของ ส.ว.โดยมิชอบ ผลปรากฏว่า คะแนนเสียงถอดถอนไม่ถึง 3 ใน 5 หรือ 132 เสียงขอจำนวนของสมาชิกสนช. ที่มีอยู่จำนวน 220 คน  ดังนั้น จึงถือว่าที่ประชุมสนช. ลงมติไม่ถอดถอนบุคคลดังกล่าวออกจากตำแหน่ง

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ลงคะแนนถอดถอนเป็นรายบุคคล ที่ได้จำแนกความผิดออกเป็น 4 กลุ่ม ตามข้อกล่าวหา คือ กลุ่มแรก ผู้ที่ลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 จำนวน 2 คน / กลุ่ม 2 ผู้ที่ลงมติในวาระ 1 2 และ 3 จำนวน 22 คน / กลุ่ม 3 ผู้ที่ลงมติวาระ 1 และวาระ 3 จำนวน 13 คน และกลุ่ม 4 ลงมติในวาระ 1 และ 2  จำนวน 1 คน  โดยผลการลงคะแนนปรากฏว่า

กลุ่มแรก ภารดี จงสุขธนามณี ได้คะแนนเสียงถอดถอน 35 ไม่ถอดถอน 166 งดออกเสียง 7 พล.ท.พงศ์เอก อภิรักษ์โยธิน ได้คะแนนเสียงถอดถอน 35 ไม่ถอดถอน 164 งดออกเสียง 9   

กลุ่มที่ 2 ผู้ที่มีคะแนนถอดถอนมากที่สุดคือ ประสิทธิ์ โพธสุธน ได้คะแนนเสียงถอดถอน 77 ไม่ถอดถอน 123 งดออกเสียง 8 และผู้ที่มีคะแนนเสียงถอดถอนน้อยสุดของกลุ่มนี้มี 3 คน ได้แก่ สุรศักดิ์ ยนต์ตระกูล  สุรชัย ชัยตระกูลทอง  และจตุรงค์ ธีระกนก โดยทั้ง3คนได้คะแนนเสียง ถอดถอน 63  ไม่ถอดถอน 119 งดออกเสียง 26    

กลุ่มที่ 3 ผู้ที่มีคะแนนถอดถอนมากที่สุดคือ ประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธ์ ได้คะแนนเสียงถอดถอน 50 ไม่ถอดถอน 149 งดออกเสียง 8 ขณะที่ผู้ที่ได้คะแนนเสียงถอดถอนน้อยสุดคือ วรวิทย์ บารู ได้คะแนนเสียงถอดถอน 47 ไม่ถอดถอน 157 งดออกเสียง 9

กลุ่มที่4 วิทยา อินาลา ได้คะแนนเสียงถอดถอน 66  ไม่ถอดถอน 139 งดออกเสียง 3  

ทั้งนี้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะส่งมติดังกล่าวไปยัง ป.ป.ช. ผู้กล่าวหา และอดีต 38 ส.ว. ผู้ถูกกล่าวหา เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อรับทราบต่อไป

อย่างไรก็ตามจากการลงมติดังกล่าวสมาชิก สนช.ส่วนใหญ่เห็นไปในทางเดียวกันว่า ไม่สามารถเอาผิดถอดถอนอดีต ส.ว.ทั้ง 38 คนได้ เนื่องจากเห็นว่า ข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. ที่ระบุว่า อดีต ส.ว.ทั้ง 38 คน ลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญในสามวาระ ทั้งที่ทราบอยู่แล้วว่า เป็นร่างรัฐธรรมนูญคนละฉบับกับที่เข้าชื่อเสนอแก้ไขนั้น ยังไม่ชัดเจนในการเอาผิดได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 50 ได้สิ้นสภาพการบังคับใช้ไปแล้ว อีกทั้งขั้นตอนการพิจารณากฎหมายที่ผ่านมา ก็เคยมีการขอเปลี่ยนร่างกฎหมายใหม่ แทนฉบับเดิมก่อนที่จะมีการบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม ตลอดจนการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดโอกาสให้ ส.ว. ลงสมัคร ส.ว.ได้อีกสมัย โดยไม่ต้องเว้นวรรคนั้น ยังไม่สามารถพิสูจน์เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนได้อย่างชัดเจน เนื่องจากไม่รู้ว่า อดีต ส.ว.เหล่านี้จะลงสมัคร ส.ว.อีกรอบหรือไม่ และถ้าลงสมัครแล้วจะได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามาหรือไม่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net