Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ในสังคมการเมืองโลก คำถามที่ว่า อิสลามกับประชาธิปไตยสามารถเข้ากันได้หรือไม่ ? เป็นข้อสงสัยที่มักมีผู้ตั้งเป็นคำถามอยู่เสมอ โดยเฉพาะในกรณีความล้มเหลวของการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในบรรดาประเทศมุสลิมจำนวนมากซึ่งมักจะนำไปสู่การตั้งสมมุติฐานว่า อิสลามเป็นศาสนาที่เป็นอุปสรรคขวางกั้นต่อการสร้างและการเติบโตของระบอบประชาธิปไตย

จากการศึกษาพบว่ามีแนวทางการอธิบายที่หลากหลายจากฝ่ายของปัญญาชนมุสลิมโลก โดยทั่วไปอาจแบ่งออกได้เป็น 2 แนวทางหลักคือ แนวคิดประชาธิปไตยเสรีนิยม (รวมถึงแนวคิดสิทธิมนุษยชน) เป็นปฏิปักษ์ต่อหลักการของศาสนาอิสลาม เพราะแนวคิดประชาธิปไตยเป็นแนวคิดโลกวิสัยล้วนๆ ซึ่งสนับสนุนให้มีการแยกอาณาจักรออกจากศาสนจักรโดยสิ้นเชิง ปัญญาชนมุสลิมสากลบางส่วนมักจะหยิบยกมาเป็นแนวทางการตอบคำถามดังกล่าวข้างต้นว่า ความล้มเหลวของการปกครองระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมในประเทศมุสลิมเกิดมาจากปัญหาแหล่งกำเนิดของแนวคิดประชาธิปไตย (รวมทั้งแนวคิดว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน) ซึ่งทำให้แนวคิดเหล่านี้สามารถอ้างอิงได้เฉพาะในบางวัฒนธรรม

กล่าวคือ การที่แนวคิดเรื่อง การปกครองประชาธิปไตยเป็นแนวความคิด ของสังคมตะวันตก ทำให้แนวคิดดังกล่าวไม่สามารถนำมาใช้ในโลกมุสลิม ได้อย่างลงตัว คำอธิบายเช่นนี้ถูกนำมาใช้โดยฝ่ายปัญญาชนชาวมุสลิมเองและฝ่ายที่ไม่ใช่มุสลิมซึ่งมักอธิบายว่าศาสนาอิสลามมีรากฐาน หลักการคำสอนซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

อีกแนวทางหนึ่ง อธิบายว่า โดยเนื้อแท้ของศาสนาอิสลามไม่ได้เป็นปฏิปักษ์ต่อแนวคิดประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เพราะมีรากฐานความคิดว่าด้วยสิทธิ เสรีภาพ ภราดรภาพ สำหรับข้าพเจ้าแล้วแนวทางนี้ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นและเหมาะกับสภาพสังคมปัจจุบันมากที่สุด คงต้องกล่าวว่า นี้คือบทสะท้อนถึงคุณค่าของศาสนาอิสลามที่เราต้องเผชิญอยู่ในโลกสมัยใหม่

สำหรับความเป็นจริงทางสังคมแล้ว มุสลิมจำเป็นอย่างจริงที่จะต้องมีการปฎิบัติการร่วมกับคนในสังคม เพื่อจะพิทักษ์รักษาเกียรติของเพื่อนมนุษย์ หากเราปล่อยให้เพื่อนร่วมสังคมต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเลือดเย็น แต่เรากลับเรียกร้องแต่สิทธิของเรา เพราะต่อให้เราได้สิทธิอันสมบูรณ์ในศาสนาแต่เราก็จะขาดเพื่อนร่วมสังคมที่มีชีวิตกับเรา เราก็จะอยู่แต่พวกเราเอง มุสลิมอาจจะ"ต้องร่วมทุกข์ร่วมสุข" กับเพื่อนต่างศาสนิกในสังคมเราให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เหตุเพราะ "ปลายทางของศาสนาคือการช่วยกันประคับประคองและยืนหยัดรักษาความเป็นธรรมทางสังคม"

Allah Knows Best "Wallahualam"

# ฉันก้าวเดิน ฉันจึง ยังคงอยู่

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: เฟซบุ๊ก Ekkarin Tuansiri

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net