สมัชชาคนจน อ่านแถลงการณ์วันหยุด ’เขื่อน’ โลก ชี้ค้านเขื่อน ไม่ได้ค้านการพัฒนา

ในโอกาสวันหยุด ‘เขื่อน’ โลก สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล รวมตัวอ่านแถลงการณ์ร่วมร้อยคน ชี้ค้านการสร้างเขื่อน ไม่ได้ค้านการพัฒนา เพราะการสร้างเขื่อนเป็นสิ่งที่ล้มเหลวอย่างชัดเจน

14 มี.ค. 2558 เมื่อเวลา 10.00 กลุ่มสมัชชาคนจน กรณีเขือนปากมูล ได้รวมตัวกันบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำมูน อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เพื่อทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ อ่านคำประกาศเนื่องในวันหยุดเขื่อนโลก พร้อมทำพิธีสืบชะตาแม่น้ำ โดยมีชาวบ้านกลุ่มสมัชชาคนจนร่วมกิจกรรมครั้งนี้ราว 100 คน

 

ทั้งนี้บนสะพานได้มีการเขียนป้ายผ้าระบุข้อความว่า “เปิดเขื่อนปากมูลถาวร” “No Don Sahong Dam” และ “Rivers for Life Not for Death”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวานนี้ได้มีการจัดเวทีเสวนาในเชิงวิชาการ โดยได้รวมอยู่ในงาน ‘2 ทศวรรษปากมูน’ ครั้งที่ 2 บนเส้นทาง การต่อสู้ของคนหาปลา เพื่อสานต่อ “ปณิธานหิ่งห้อย” ในโอกาสวันหยุดเขื่อนโลก’ ที่ ศูนย์ประชุมสาธารณสุขอำเภอโขงเจียม จ.อุบลราชธานี โดยภายหลังจากกิจกรรมเสร็จสิ้น ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารจากมณฑลทหารบกที่ 22 โทรมาสอบถามกับทาง ไพจิตร ศิลารักษ์ หนึ่งในผู้จัดกิจกรรมว่า เหตุใดถึงยังจัดงานอีก ทั้งที่ไม่ได้รับอนุญาต ภายในงานเสวนาได้มีการกล่าวโจมตี คสช. หรือไม่ รวมทั้งสอบถามต่อไปถึงการจัดกิจกรรมในวันนี้ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร

โดยเจ้าหน้าที่ทหารได้ย้ำกับไพจิตว่า “ผมบอกคุณแล้ว ทำไมยังทำแบบนี้อีก ผมไม่อยากอาจจะให้มันต้องไปสู่ขั้นต่อไป” ทั้งนี้ไพจิต ได้เคยถูกเรียกไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ทหารแล้วหนึ่งครั้ง เพื่อทำความเข้าใจให้เคลื่อนไหวเรื่องปัญหาปากท้องเท่านั้น ไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมากนัก

ไพจิตให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ก่อนจะจัดงานครั้งนี้ก็ได้ถูกเรียกเข้าไปคุยกับเจ้าหน้าที่ทหาร เพื่อขอทราบข้อมูล และรายละเอียดขอการจัดงาน โดยไพจิตได้บอกว่าการจัดงานครั้งนี้เป็นงานที่จัดขึ้นทุกปี ทางเจ้าหน้าที่ทหารจึงขอให้เขียนใบขออนุญาตเข้ามา แต่ทางด้านผู้จัดได้กลับมาคุยกันแล้วเห็นตรงกันว่า จะไม่ขออนุญาต เพราะทุกปีเคยจัดงานนี้มาได้ตลอดไม่เคยต้องขออนุญาตใคร

คำประกาศปากมูน

ณ.งาน 2 ทศวรรษปากมูนครั้งที่ 2 เพื่อสานต่อปณิธานหิ่งห้อย ในโอกาสวันหยุดเขื่อนโลก 2558

พวก เราคนหาปลาแห่งปากมูน และเครือข่ายพันธมิตรจากหลายพื้นที่ในประเทศไทย ได้ร่วมประชุมกว่า 300 คน ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อน นักวิชาการ นักกิจกรรมการพัฒนาที่รณรงค์เพื่อสร้างความสมดุลย์และยั่งยืนในการจัดการน้ำ และพลังงานประชุมกันที่โขงเจียมประเทศไทย เราได้พบกัน ณ ดินแดนที่ล่ม สลายจากผลกระทบจากเขื่อนปากมูล อันเป็นความขมขื่นที่ถูกยัดเยียดให้ แต่พวกเรามิเคยจำนนต่อชะตากรรมนี้ พวกเรามุ่งมั่น ต่อสู้ ผลักดัน เรียกร้องความเป็นธรรมตลอดมา แม่น้ำเพื่อชีวิต มิใช่เพื่อความตาย ! คำประกาศในการประชุมผู้เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนนานาชาติครั้งแรกที่เมือง คูริทิบา ประเทศบราซิลเมื่อปี 2540 และคำประกาศการประชุมผู้เดือดร้อนจากเขื่อนนานาชาติ ครั้งที่สอง เมื่อปี 2546 ที่ราษีไศล ประเทศไทย และในวันนี้ 14 มีนาคม 2558 พวกเราขอประกาศ ดังนี้

1.) ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา สังคมสมัยใหม่ ซึ่งได้เจริญขึ้นมาจาก การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติไปจากสังคมชนบท ซึ่งมันได้พัฒนาเงื่อนไขการกดขี่ใหม่ในรูปแบบซึ่งพวกเราเรียกว่า การพัฒนากระแสหลักที่ไม่ตอบสนองความต้องการของคนจนคนชายขอบซึ่งเป็นคนส่วน ใหญ่ในสังคม ดังนั้นเพื่อหลุดพ้นจากสังคมแห่งการกดขี่ สู่การเป็นสังคมที่เท่าเทียมเป็นหนึ่งเดียว จึงจำเป็นที่ต้องดำเนินการจัดสรรทรัพยากร และการเข้าถึงการใช้ การจัดการทรัพยากรใหม่ให้เท่าเทียมและเป็นธรรม ในฐานะความเป็นหุ้นส่วนในสังคม ซึ่งจะบรรลุผลได้ก็แต่การลดเงื่อนไขสังคม ที่ในปัจจุบันถูกกุมสภาพอยู่โดยกลุ่มนายทุน พร้อมกับสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง ให้รุ่งเรืองทั่วทุกย่อมหญ้า

2.) มีการกล่าวอ้างตลอดมาว่าเขื่อนขนาดใหญ่นำมาซึ่งการพัฒนา ปัจจุบันนักสร้างเขื่อนยังกล่าวอ้างอีกว่า เขื่อนขนาดใหญ่มีความสำคัญต่อการบรรเทาปัญหาความยากจน คำกล่าวดังว่านั้นเป็นเพียงเรื่องหลอกลวงทั้งเพ ยุคสมัยของเขื่อนขนาดใหญ่ได้นำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำ ไม่เสมอภาคระหว่างคนชนบท คนในเมือง ระหว่างคนหาปลากับอุตสาหกรรม ที่นับวันจะขยายกว้างมากขึ้นทุกที เขื่อนคืออนุสาวรีย์แห่งการพัฒนาที่ล้มเหลว ซึ่งมีรูปธรรมความล้มเหลวที่ชัดเจนคือเขื่อนปากมูล

3.) แม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติ กำลังถูกคุกคามอย่างหนักด้วยการสร้างเขื่อน และแผนการสร้างเขื่อนจำนวนมาก การสร้างเขื่อนเหล่านี้จะทำให้เกิดผลกระทบอย่างมากมายต่อระบบนิเวศ และชุมชนที่อาศัยดำรงค์ชีวิตจากแม่น้ำโขง โดยเฉพาะคนหาปลา

4.) เราจำเป็นที่จะต้องปกป้องวิถีชีวิตของพวกเรา การคัดค้านเขื่อนในแม่น้ำโขง ไม่ใช่การคัดค้านการพัฒนา แต่การพัฒนาแบบเขื่อน มันล้มเหลวอย่างชัดเจนแล้ว จึงควรยุติการสร้างเขื่อน ในขณะเดียวกันเราขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจได้แก้ไขปัญหาที่เกิดจากการสร้าง เขื่อนเก่าให้ได้ก่อน เช่นปัญหาเขื่อนปากมูล และหาทางเลือกการพัฒนาที่จะมีความยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรม

การ ต่อสู้คัดค้านเขื่อนมหันตภัย และแบบแผนของการจัดการน้ำและพลังงานในปัจจุบัน ถือเป็นการคัดค้านโครงสร้างทางการเมืองและสังคมที่ถูกครอบงำโดยวิธีคิดที่ มุ่งหวังแต่ผลกำไรอย่างเต็มที่ และนี่คือการต่อสู้เพื่อสังคมที่อยู่บนฐานของความเสมอภาคและความสมานฉันท์ ของประชาชนทั้งมวล

แบบแผนใหม่ในการจัดการพลังงานและน้ำที่ดีกว่าเดิมย่อมเป็นไปได้ ! แม่น้ำเพื่อชีวิต มิใช่เพื่อความตาย !

ประกาศ ณ ปากมูน โขงเจียม ประเทศไทย
14 มีนาคม 2558

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท