Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เมื่อกล่าวถึง Michel Foucault (1926-1984) หลายๆคนอาจจะนึกถึงในฐานะนักคิดสายหลังโครงสร้างนิยม (Post-Structuralism) ผู้เสนอหลักการเรื่อง “วาทกรรม” (Discourse)  และการสถาปนาอำนาจของความรู้ (Power - Knowledge) ที่โด่งดังในวงวิชาการสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ทั่วไป แต่จริงๆแล้วมีหลายแนวคิดของ Foucault สามารถที่จะนำเข้ามาปรับใช้ได้ในวงวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เนื่องจากโดยพื้นฐานแล้วตัวบทแนวคิดของ Foucault มีไว้เพื่อวิเคราะห์ สร้างคำอธิบายให้แก่สังคม ในระดับหน่วยการวิเคราะห์ระดับหนึ่งอยู่แล้ว เมื่อนำมาปรับใช้ในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ประกอบไปด้วย รัฐ สังคม และการติดต่อปฏิสัมพันธ์กันระหว่างประเทศ ที่มีลักษณาการและแบบแผนความเป็นอยู่ การปฏิบัติคล้ายกับมนุษย์
        
แนวคิดเรื่อง ‘อำนาจ’ (Power) ที่ Foucault เสนอได้กลายมาเป็นรูปแบบของอำนาจที่มีลักษณะเฉพาะตัวและฉีกออกไปจากแนวการนำเสนอแนวคิดเรื่องอำนาจในก่อนสมัยใหม่ และเป็นอำนาจที่มีกลไกการทำงานซับซ้อนกว่าอำนาจในมุมมองแบบดั้งเดิม ที่ยังคงติดอยู่กับประเด็นเรื่องของการบีบบังคับ (Coercion) การขู่เข็ญ การใช้กำลัง (Hard Power) หรือ แม้แต่การเจรจาต่อรอง จูงใจ ชักจูง หรือใช้เงินในการเป็นเครื่องมือต่อรอง (Soft Power) [1] แต่จะอำนาจจะทำงานในรูปแบบของการควบคุมโดยสร้างกลไกอะไรบางอย่างเพื่อใช้ผู้ถูกควบคุมอยู่นั้นมีลักษณะเหมือนกำลังควบคุม บริหารจัดการตนเอง ให้อยู่ภายใต้อำนาจ ซึ่ง Foucault เรียกอำนาจในลักษณะนี้ว่า “Biopower” อันเป็นอำนาจที่เข้ามาควบคุมกำกับเหนือชีวิต (Power over Life) ของประชากร ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านของเทคนิคของอำนาจที่ควบคุมชี้ขาดให้เกิดความตายในรูปแบบเก่า มาสู่อำนาจในรูปแบบของการบริหารจัดการร่างกายและกำกับชีวิต (Administration of Bodies and Management of Life) ของประชากร ตั้งแต่ด้านการเกิด ด้านการย้ายถิ่นฐาน ด้านการเรียน ไปจนถึงด้านความเป็นอยู่และสุขภาพ

อำนาจในรูปแบบดังกล่าวนี้จะเข้ามาควบคุมชีวิตในทางอ้อม ผ่านการปลูกฝังองค์ความรู้บางอย่าง (เช่น ความรู้เกี่ยวกับเชื้อโรค ความเจ็บป่วย โรคภัยไข้เจ็บ ที่จะทำให้คนเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องบีบบังคับ) ผ่านสถาบันทางสังคมรูปแบบต่างๆเพื่อสร้างให้ประชากรนั้นเกิดวินัยแล้วจัดการควบคุมตนเองผ่านวินัยที่ถูกสร้างขึ้น (Self-Disciplinary) และอำนาจดังกล่าว (Biopower) จะทำให้เกิดการตอกย้ำความสัมพันธ์แบบคู่ตรงข้ามระหว่างความปกติ และผิดปกติ ขึ้นมาหลังการสร้างวินัยและความรู้ที่ได้เข้าไปควบคุมกำกับชีวิตแล้ว สังคมจะกลายเป็นสังคมที่มุ่งหาแต่ความปกติ (ที่ถูกสร้างขึ้น) และจะมองความผิดปกติ (Abnormal) ในฐานะ ‘ความป่วย’ (Illness) ที่จำเป็นต้องถูกกำจัด ถูกบำบัด ให้กลับมามีสถานะเป็นความปกติให้ได้ (Normalization) ด้วยเหตุนี้สังคมจึงกลายเป็นสังคมแห่งการจ้องมอง สอดส่อง แอบดู (Surveillance) เหมือนกับหอสังเกตการณ์นักโทษที่อยู่กลางเรือนจำ (Panopticon) อันเป็นเทคนิคที่ใช้ในการสังเกตการณ์พฤติกรรมของนักโทษ โดยผู้คุมจะสามารถมองเห็นทุกกิจกรรมการเคลื่อนไหวของเหล่านักโทษ ทำให้นักโทษรู้สึกว่าตนถูกจ้องมองอยู่ และระแวงสงสัยที่จะกระทำการอันผิดแผกไปจากความปกติ
        
ซึ่งในปัจจุบันเราสามารถพบเห็นการใช้ Biopower ในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ง่ายๆ และชัดเจน เช่นในยุคหลังสงครามเย็น เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย อุดมการณ์ทุนนิยม และ เสรีนิยมประชาธิปไตยก็ได้กลายมาเป็นไอเดียและคอนเซปต์หลักของเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ทุกๆตัวแสดงมีความจำเป็นที่จะต้องใส่ใจ และให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าว และเพื่อเป็นกติกากลางในการ ติดต่อ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน พร้อมด้วยกลไกเชิงสถาบันที่จะช่วยในการควบคุมกำกับและสถาปนาระบบวินัยให้แก่ตัวแสดงต่างๆในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น ธนาคารโลก (IBRD) หรือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) อันเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดให้เกิดระบบวินัยที่ภักดีกับกติกาหลัก [อุดมการณ์เสรีทุนนิยม] มากยิ่งขึ้นที่ซึ่งแม้แต่จีนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นรัฐในรูปแบบที่เป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ก็ยังต้องมีการปรับตัวให้เข้าหากลไกและการไหลเวียนของทุนนิยมมากขึ้น

ในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศปัจจุบันนี้จะเห็นได้ว่า รัฐที่ไม่ได้ใช้ระบอบประชาธิปไตยหรือพยายามจะอยู่นอกวงโคจรของระบบทุนนิยมจะถูกจ้องมองและสอดส่องเป็นพิเศษ เนื่องจากมีลักษณะของความผิดแผก (Abnormality) ไปจากความเป็นกระแสหลักของสังคมระหว่างประเทศที่ให้คุณค่ากับรูปแบบการปกครองและวิถีแบบเสรีนิยมมากกว่า(และเป็นส่วนใหญ่) ตัวแสดงใด หรือรัฐใดที่มีความผิดแปลกไปจากคุณค่าดังกล่าว จะถูกเทคนิคของอำนาจเข้ามาพยายามบีบคั้น หรือ พยายามกำจัดความแปลกนั้น ให้หมดไป โดยที่อำนาจจะกล่าวอ้างถึงการเข้าไปสร้างสถานะของความปกติ เช่น สหรัฐอเมริกาและเวเนซูเอล่าในยุคของ Hugo Chavez ในฐานะผู้ต่อต้านอุดมการณ์เสรีนิยมและทุนนิยม ด้วยเหตุนี้เวเนซูเอล่าจึงเป็นรัฐหนึ่งที่ถูกมองว่าเป็นรัฐที่มีความผิดปกติ และไม่ได้อยู่ใต้ Biopower จึงมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการบำบัดให้กลับไปสู่ภาวะของความปกติ (Normalization) เพื่อควบรวมให้ทุกอย่างอยู่ภายใต้การทำงานของอำนาจ
        
โดยสรุปแล้วอิทธิพลทางความคิดของ Michel Foucault นั้นนอกจากจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในวงการประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา การศึกษาแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ในวงวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้อีกด้วย ด้วยแนวคิด Biopower ที่สามารถนำมาตีความต่อและประยุกต์ใช้ได้ในหลากหลายปรากฏการณ์ ซึ่งช่วยให้ผู้ศึกษาสามารถเหตุการณ์ทางสังคมระหว่างประเทศนำไปขยายในการสร้างคำอธิบายต่อปรากฏการณ์ต่างๆให้กว้างขวางยิ่งขึ้น



เชิงอรรถ
[1] สาเหตุของความแตกต่างที่ Biopower นั้นแตกต่างจาก Soft Power นั้นอยู่ตรงที่ว่าหัวใจสำคัญของ Soft Power คือ การชักจูง ให้เกิดความร่วมมือ คล้อยตาม ด้วยวิธีต่างๆนอกจากการใช้การข่มขู่จากกำลังทางการทหาร หรืออาจจะใช้ด้านการเงินการคลังมาเป็นเครื่องมือชักจูงก็ได้ (ซึ่งคู่สัมพันธ์อาจจะคล้อยตามหรือไม่คล้อยตามก็ได้) แต่ในขณะที่ Biopower จะทำงานในระดับภายใน คือ เข้าไปควบคุมที่ภายในของชีวิตและมีเทคนิคสำคัญอยู่ที่การผลิตสถานะของแปลกแยก (Alienated) .ให้แก่คู่สัมพันธ์ที่ไม่ยอมอยู่ภายใต้ Biopower (ให้เป็น Abnormal) และสร้างความรู้สึกว่าคู่สัมพันธ์ที่ไม่ยอมอยู่ใต้ Biopower นั้นกำลังถูกจ้องมองจากสังคมหรือสภาพแวดล้อมที่เป็นปกติหรืออยู่ใต้ Biopower กันหมด

อ้างอิง
Jenny Edkins and Nick Vaughan-Williams. (2009). Critical Theorists and International Relations. Oxon: Routledge.
Joseph Nye (2004). Soft Power: The Means to Success in World Politics. New York: PublicAffairs
Michel Foucault (1978). The History of Sexuality Volume I: An Introduction. New York: Pantheon.
Michel Foucault (1995). Discipline and Punish: The Birth of the Prison. New York: Vintage Books.
Michel Foucault (2004). Abnormal: Lectures at the College de France, 1974-1975. London: Verso.
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net