Skip to main content
sharethis

โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำระนองปิดตัว ทำแรงงานพม่าตกงาน 200 คน

(12 มี.ค.) ที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดระนอง น.ส.บุศรา ศุภศรี ประกันสังคมจังหวัดระนอง กล่าวว่า จากกรณีที่มีแรงงานชาวพม่า จำนวน 200 กว่าคน ได้มายื่นเอกสารเพื่อขอรับความช่วยเหลือเรื่องเงินประกันสังคมในช่วงที่ถูกปลดออกจากงาน และต้องไปหางานใหม่ เพื่อจะได้นำเงินที่ได้รับจากประกันสังคมในอัตราครึ่งของเงินเดือนที่ได้รับจากโรงงาน หรือบริษัทเป็นเวลา 6 เดือนนั้น ในส่วนของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดระนอง ได้เข้ามาช่วยเหลือลูกจ้างกลุ่มนี้ในเรื่องของสิทธิที่จะได้รับ หลังจากให้ถูกออกจากงาน

โดยให้แรงงานชาวพม่านำเอกสารที่ราชการกำหนดไว้มายื่น เพื่อขอรับเงินทดแทนในช่วงที่ตกงาน หรือกำลังหางานใหม่ทำ โดยทางสำนักงานประกันสังคมจังหวัดระนอง ได้ดำเนินการตรวจสอบเอกสาร และโอนเงินเข้าบัญชีลูกจ้างเหล่านี้ในอัตราครึ่งหนึ่งของเงินเดือน เป็นระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งลูกจ้างจะต้องมารายงานตัวทุกเดือน หากลูกจ้างได้งานใหม่แล้วทางประกันสังคมก็จะตัดสิทธินี้ทันที

ด้านนางเด่ เด้ แรงงานต่างด้าวชาวพม่า กล่าวว่า โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำที่ตนทำงานอยู่ เริ่มประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทำให้มีการลดกำลังการผลิตแต่ไม่ได้มีการปลดคนงาน ต่อมา เมื่อโรงงานไม่สามารถหาแหล่งวัตถุดิบเข้ามาป้อนโรงงานได้

ทางโรงงานได้แจ้งประกาศปิดโรงงานชั่วคราว และแจ้งยกเลิกการจ้างงานคนงานทั้งหมด จึงเข้ามาขอรับเงินชดเชยเพราะต้องการเงินทุนเป็นค่าใช้จ่ายในช่วงที่ว่างงาน หากโรงงานเดิมไม่เรียกกลับไปทำงานในกรณีที่ยังไม่สามารถหาวัตถุดิบได้ และไม่สามารถหาโรงงานใหม่เพื่อเข้าทำงานได้

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 12-3-2558)

จันท์-ตราดขอจ้างแรงงานต่างด้าวเป็นกรณีพิเศษรับช่วงผลไม้ออกสู่ตลาด

(13 มี.ค.) นายไวกูณฑ์ ทองอร่าม รองประธานกรรมาธิการปฏิรูปการแรงงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ พร้อมคณะกรรมาธิการ ได้ลงพื้นที่รับทราบปัญหา อุปสรรคความต้องการแรงงานต่างด้าวของจังหวัดจันทบุรี และตราด ที่ห้องประชุม 4 ศาลากลางจังหวัดจันทบุรี โดยมีนายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นายณรงค์ ธีระจันทรางกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด และส่วนราชการ พร้อมหน่วยงานเอกชน ร่วมประชุม และสรุปปัญหา อุปสรรค ความต้องการ
       
ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการเสนอขอให้จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด เป็นพื้นที่พิเศษที่สามารถนำแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาที่มีพื้นที่ชายแดนติดกับ 2 จังหวัด มาใช้งานภาคการเกษตรตามฤดูกาลเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากผลไม้จะออกเป็นช่วงเวลา หากไม่มีแรงงานต่างด้าวช่วยเก็บผลผลิตก็จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกมากกว่าปีละหลายหมื่นล้านบาท
       
ส่วนปัญหาเรื่องแรงงานประมง แรงงานก่อสร้าง และแรงงานภาคธุรกิจบริการ ขออนุโลมในการทำบัตรอย่างถูกต้อง โดยขอให้ส่วนที่เกี่ยวข้องพิจารณาขยายเวลาการจดทะเบียน และพิสูจน์สัญชาติจาก 31 มีนาคมออกไปอีก เพื่อให้ผู้ประกอบการนำแรงงานมาทำบัตรได้ทันเวลา
       
ขณะที่ปัญหาอุปสรรคความต้องการดังกล่าว กรรมาธิการการปฏิรูปแรงงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติจะได้รวบรวมเพื่อนำเสนอผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้ง คสช. คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ รวมทั้งกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาต่อไป

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 13-3-2558)

ขรก.เฮ! สนช.เห็นชอบกม.ปรับเงินเดือน แต่ยังแขวนร่างกม.เงินเดือนทหาร-ตำรวจ

เมื่อเวลา 15.45 น.วันที่ 12 มีนาคม ที่รัฐสภา ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยเป็นการพิจารณาเรื่องด่วน ร่าง พ.ร.บ.บัญชีเงินเดือนและอัตราเงินเดือน จำนวน 5 ฉบับ ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน ฉบับที่... พ.ศ…  ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร ฉบับที่… พ.ศ…  ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับที่… พ.ศ… ร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยาฐานะ และเงินประจำตำแหน่ง ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ฉบับที่… พ.ศ… และร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการรัฐสภา ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญเสร็จแล้ว

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงข้อสังเกตของกรรมาธิการว่า หลักการสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 5 ฉบับ เป็นเรื่องของบัญชีเงินเดือน การปรับอัตราเงินเดือนให้เหมาะสมเป็นธรรมและได้มาตรฐาน โดยคำนึงถึงค่าครองชีพที่เปลี่ยนไป เพื่อแก้ไขปัญหาบางประเด็นอย่างเร่งด่วน โดยไม่เกี่ยวกับระยะยาวที่อาจต้องปรับทั้งระบบ ซึ่งในส่วนของรัฐบาลได้มีมติให้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาบัญชีเงินเดือนเจ้า หน้าที่รัฐทุกประเภททั้งระบบต่อไป เพราะในเวลาที่ผ่านมาเป็นการแยกกันปรับทำให้เกิดความลักลั่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่มีสมาชิกคนใดอภิปราย ประธานในที่ประชุมจึงขอมติ ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบด้วยคะแนน 183 ต่อ 0 งดออกเสียง 4 ไม่ลงคะแนน 1 จากนั้นเป็นพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร ฉบับที่… พ.ศ… ซึ่งสมาชิกติดใจในส่วนของมาตรา 4 ที่ระบุ ให้ยกเลิกบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการทหาร ทหารกองประจำการ และนักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหมท้าย พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. 2521 นายพรเพชร จึงสั่งพักการประชุมเป็นเวลา 30 นาที และเมื่อกลับสู่การประชุมประธานฯ ได้แจ้งกับสมาชิกว่า เนื่องจากการประชุมอยู่ในขั้นตอนการอภิปรายเรียงตามมาตราในวาระ  2 โดยมีประเด็นที่โต้เถียงกันระหว่างผู้สงวนคำแปรญัตติกับคณะกรรมาธิการ อีกทั้งยังเกี่ยวโยง ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ซึ่งจะมีการแปรญัตติในทำนองเดียวกัน เพื่อความรอบคอบคณะกรรมาธิการฯ รับจะไปหารือกับทางรัฐบาลก่อนว่า จะดำเนินการอย่างไรให้เหมาะสม จากนั้นประธานจึงสั่งปิดการประชุมในเวลา 18.20 น.

(มติชนออนไลน์, 13-3-2558)

ส.อ.ท.ยันตลาดรถยนต์ไทยยังดี ขาดแคลนแรงงานอื้อ

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กรณีบริษัท เจเนอรัล มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือจีเอ็ม มีการปรับโครงสร้างบริษัท โดยเน้นผลิตรถยนต์ที่มียอดจำหน่ายดี ในประเทศไทยว่า เป็นเรื่องปกติที่บริษัทรถยนต์จะมีการปรับโครงสร้างเพื่อความแข็งแกร่งในระยะยาว สร้างกำไร โดยกรณีของจีเอ็มไม่ใช่รายแรกในไทยที่ดำเนินการเช่นนี้ ซึ่งภาพรวมของบริษัทในตลาดโลกนั้นมองว่าไม่น่ามีปัญหามาก เพราะยอดขายในตลาดสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปเติบโตเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ในตลาดจีนก็เติบโตมีส่วนแบ่งตลาดที่ดีจากยอดขายรถยนต์ในจีนที่ปี 2557 อยู่ที่ 23 ล้านคัน

"ยอดขายรถยนต์ในไทยปี 2557 อยู่ที่ 8 แสนคัน สัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับจีน ดังนั้นการที่จีเอ็มปรับโครงสร้างบริษัทก็ไม่น่าจะเกี่ยวกับสถานการณ์ผลิตรถยนต์ของไทยที่ปัจจุบันยังขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก แต่ต้องการปรับโครงสร้างภายในเพื่อสร้างกำไรเพิ่มขึ้น"

นายสุรพงษ์กล่าวว่า สำหรับตลาดรถยนต์ในไทยปีนี้มีสัญญาณชัดเจนว่าจะเติบโตมากกว่า 10% หรือผลิตประมาณ 2.15 ล้านคัน แบ่งเป็น ยอดขายในประเทศ 9.3 แสนคัน นำเข้าเพื่อขายในประเทศ 2 หมื่นคัน และส่งออก 1.2 ล้านคัน ขณะที่เดือนมกราคม 2558 เติบโตเช่นกัน โดยกำลังผลิตรวมเพิ่มขึ้น 2.2% โดยการส่งออกเพิ่มขึ้น 14%

(มติชนออนไลน์, 14-3-2558)

ห่วงตั้ง กก.แรงงานสัมพันธ์ ได้คนเดิมเวียนนั่งตำแหน่งซ้ำ ชี้ไม่ช่วยการแก้ปัญหาแรงงานดีขึ้น
       
(15 มี.ค.) นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) ส่วนหนึ่งได้หมดวาระลงเนื่องจากดำรงตำแหน่งครบวาระ 2 ปี โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ได้นัดประชุมในวันที่ 16 มี.ค. นี้ เพื่อพิจารณาคัดเลือกกรรมการ ครส. บางส่วนมาทดแทน แต่กลับมีกระแสข่าวว่าอาจจะมีการเสนอรายชื่อกรรมการครส.ที่เพิ่งหมดวาระเข้ามาดำรงตำแหน่งอีกรอบ
       
นายชาลี กล่าวอีกว่า ตนไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้เพราะการคัดเลือกกรรมการ ครส. ควรให้ได้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถและเข้าใจปัญหาของแรงงานอย่างแท้จริง เป็นหน้าใหม่ๆ หมุนเวียนเข้ามาเป็นกรรมการไม่ใช่คัดเลือกแต่บุคคลหน้าเดิมเข้ามาเป็นกรรมการแบบซ้ำๆ แม้เกณฑ์การคัดเลือกจะเปิดช่องให้ทำได้ก็ตาม ทั้งนี้ อยากขอไปยัง พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และผู้บริหาร กสร.ว่า อย่าให้เป็นแบบนี้ เพราะจะไม่เป็นประโยชน์ต่อแรงงาน เนื่องจากการช่วยเหลือและแก้ปัญหาแรงงานต้องการแนวคิดใหม่ๆ สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันและเข้าใจปัญหาของแรงงาน จึงจะแก้ปัญหาแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 15-3-2558)

วอนมหา'ลัยถก ร.ร.แพทย์ จัดระบบสิทธิรักษา “พนักงาน ม.” ลดเหลื่อมล้ำ

อาจารย์ร้อง 80 มหาวิทยาลัยไทยหารือ 19 โรงเรียนแพทย์ ร่วมมือจัดระบบช่วยเหลือสิทธิรักษาพยาบาลพนักงานมหาวิทยาลัย ลดความเหลื่อมล้ำ ด้านคณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น เห็นด้วย แต่ขึ้นอยู่กับ ศธ. และผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา
       
รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ ม.เกษตรศาสตร์ ในฐานะเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (CHES) กล่าวถึงความคืบหน้าการเรียกร้องสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลแก่พนักงานมหาวิทยาลัย ว่า บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ 80 มหาวิทยาลัยมีจำนวนทั้งสิ้น 134,299 คน เหลือข้าราชการในระบบ 27,933 คน ที่ไม่ใช่ข้าราชการจำนวน 106,366 คน โดยกลุ่มนี้ใช้ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลจากประกันสังคม เข้ารักษาพยาบาลได้เพียง 1 โรงพยาบาลในพื้นที่ การย้ายเขตทำได้ลำบาก ทำให้อาจารย์มหาวิทยาลัยที่อยู่พื้นที่ห่างไกลและทำงานในมหาวิทยาลัยที่ไม่มีโรงเรียนแพทย์ ไม่มีโอกาสได้เข้ามาใช้ระบบรักษาพยาบาลที่มีศักยภาพสูงจากมหาวิทยาลัยที่มีโรงเรียนแพทย์ 07' อยากให้ผู้ที่มีอำนาจในเรื่องนี้ ทั้งระดับมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งโรงเรียนแพทย์ มาร่วมกันหารือและจัดทำข้อตกลงความร่วมมือของ 80 มหาวิทยาลัยและโรงเรียนแพทย์ของรัฐ 19 แห่ง ในเรื่องสิทธิรักษาพยาบาล เนื่องจากปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านสิทธิรักษาพยาบาลของชาวอุดมศึกษาเป็นปัญหาเรื้อรังมานานกว่า 16 ปี
       
“ศูนย์ประสานงานฯ เคยเสนอโมเดลการจัดสวัสดิการด้านสุขภาพของพนักงานมหาวิทยาลัยทั่วประเทศต่อทุกรัฐบาล โดยขอให้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดำเนินการช่วยจัดตั้งกองทุนใหม่ระบบจ่ายตรงที่เทียบเคียงระบบราชการเก่าให้ภายใต้ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 รูปแบบเหมือนที่ สปสช. เคยทำให้พนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และมีประสิทธิภาพที่ดีมาก แต่ยังติดขัดในเรื่องการสื่อสารภายในกระทรวงศึกษาธิการเองและติดเรื่องข้อกฎหมาย” รศ.วีรชัย กล่าว
       
นพ.ฐิติ จันทร์เมฆา อาจารย์แพทย์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น กล่าวว่า เป็นแนวคิดที่ดีที่จะให้ โรงเรียนแพทย์ของรัฐ 19 แห่ง ได้มีบทบาทในการช่วยเหลือด้านสิทธิรักษาพยาบาลให้กับพี่น้องอุดมศึกษาทั่วประเทศ ทั้งนี้ ต้องขึ้นกับผู้บริหารทั้ง 80 มหาวิทยาลัย และรัฐมนตรีศึกษาธิการต้องพูดคุยถึงความเป็นไปได้หรือไม่ในทางปฏิบัติ แต่โดยส่วนตัวเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะอาจารย์แพทย์รุ่นใหม่ที่บีจุหลังปี 2542 ทั่วประเทศ ก็มีสถานะเดียวกันหมดคือเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ข้าราชการ ดังนั้น ก็ต้องใช้ระบบประกันสังคมเช่นกัน แต่สามารถใช้โรงพยาบาลของเรียนเรียนแพทย์ที่ตนเองสอนอยู่ได้ ซึ่งต่างจากพี่น้องอาจารย์ที่อยู่พื้นที่ห่างไกล ก็อยากให้เพื่อนร่วมอาชีพได้รับโอกาสนี้เช่นกัน

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 16-3-2558)

ประกาศแล้ว! กม.ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพลูกจ้างไม่เกิน 2.4 หมื่น

(16 มี.ค.) มีรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่กฎกระทรวงกําหนดการจ่ายค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. 2558 อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 6 วรรคหนึ่ง และมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
       
       “ข้อ ๑ ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๓๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗
       
       ข้อ ๒ ให้คณะกรรมการการแพทย์หรือคณะอนุกรรมการซึ่งคณะกรรมการการแพทย์มอบหมายเป็นผู้มีอํานาจพิจารณาความจําเป็นในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานของลูกจ้าง
       
       ข้อ ๓ ให้ลูกจ้างที่ประสงค์จะขอรับค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานภายหลังประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ยื่นคําขอตามแบบที่เลขาธิการกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาพร้อมด้วยหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบดังกล่าว ณ สํานักงานประกันสังคม สํานักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่สํานักงานประกันสังคมจังหวัด หรือสํานักงานประกันสังคมจังหวัดสาขา แล้วแต่กรณี
       
       ข้อ ๔ ให้นายจ้างจ่ายค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานของลูกจ้างเท่าที่จ่ายจริงตามความจําเป็น ตามหลักเกณฑ์และอัตรา ดังต่อไปนี้
       
       (๑) ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานด้านอาชีพ ให้จ่ายได้เฉพาะที่เป็นการฝึกตามหลักสูตรที่หน่วยงานของสํานักงานประกันสังคมเป็นผู้ดําเนินการ “ไม่เกินสองหมื่นสี่พันบาท”
       
       (๒) ค่าใช้จ่ายในกระบวนการเวชศาสตร์ฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานด้านการแพทย์ โดยเป็นค่าใช้จ่ายทางกายภาพบําบัด ไม่เกินวันละสองร้อยบาท และค่าใช้จ่ายทางกิจกรรมบําบัด ไม่เกินวันละหนึ่งร้อยบาท แต่รวมแล้ว “ไม่เกินสองหมื่นสี่พันบาท”
       
       (๓) ค่าใช้จ่ายในกระบวนการบําบัดรักษาและการผ่าตัดเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางาน “ไม่เกินสี่หมื่นบาท”
       
       (๔) ค่าวัสดุและอุปกรณ์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู หน่วยละไม่เกินอัตราตามที่กระทรวงการคลังกําหนดแต่รวมแล้ว “ไม่เกินหนึ่งแสนหกหมื่นบาท”
       
       ข้อ ๕ ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานด้านอาชีพตามข้อ ๔ (๑) ให้จ่ายได้ตามหลักสูตรและอัตรา ดังต่อไปนี้
       
       (๑) หลักสูตรฝึกเตรียมเข้าทํางาน ให้จ่ายได้เฉพาะงานใดงานหนึ่งและไม่เกินอัตรา ดังต่อไปนี้
       
       (ก) งานเครื่องมือกล หกพันหกร้อยบาท
       (ข) งานสํานักงาน สามพันห้าร้อยบาท
       (ค) งานไม้ เจ็ดพันบาท
       (ง) งานพิมพ์ ห้าพันบาท
       (จ) งานไฟฟ้าเบื้องต้น สี่พันบาท
       (ฉ) งานสิ่งประดิษฐ์ สี่พันบาท
       (ช) งานเกษตร ห้าพันบาท
       
       (๒) หลักสูตรฝึกอาชีพ ให้จ่ายได้เฉพาะงานใดงานหนึ่งและไม่เกินอัตรา ดังต่อไปนี้
       
       (ก) งานเครื่องมือกล เจ็ดพันบาท
       (ข) งานช่างโลหะ หนึ่งหมื่นเจ็ดพันบาท
       (ค) งานช่างไม้ หนึ่งหมื่นหกพันบาท
       (ง) งานเครื่องยนต์เล็ก หกพันบาท
       (จ) งานสํานักงาน สี่พันบาท
       (ฉ) งานพิมพ์ ห้าพันบาท
       (ช) งานช่างไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ หนึ่งหมื่นบาท
       (ซ) งานเครื่องทําความเย็นและปรับอากาศ หกพันบาท
       (ฌ) งานตัดเย็บเสื้อผ้า หกพันบาท
       
       ข้อ ๖ ค่าใช้จ่ายในกระบวนการบําบัดรักษาและการผ่าตัดเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางาน หากเกินกว่าอัตราที่กําหนดไว้ในข้อ ๔ (๓) ให้นายจ้างจ่ายค่าใช้จ่ายเท่าที่จ่ายจริงตามความจําเป็นเพิ่มอีกไม่เกินหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นบาท โดยให้คณะกรรมการการแพทย์หรือคณะอนุกรรมการซึ่งคณะกรรมการการแพทย์มอบหมายเป็นผู้มีอํานาจพิจารณาโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
       
       ข้อ ๗ ค่าวัสดุและอุปกรณ์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูตามข้อ ๔ (๔) หากหน่วยใดกระทรวงการคลังไม่ได้กําหนดอัตราไว้ ให้คณะกรรมการการแพทย์หรือคณะอนุกรรมการซึ่งคณะกรรมการการแพทย์มอบหมายเป็นผู้มีอํานาจพิจารณาตามความจําเป็น เป็นรายกรณีในกรณีที่ลูกจ้างมีความจําเป็นต้องซ่อมแซมหรือเปลี่ยนวัสดุและอุปกรณ์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูให้คณะกรรมการการแพทย์หรือคณะอนุกรรมการซึ่งคณะกรรมการการแพทย์มอบหมายเป็นผู้มีอํานาจพิจารณาความจําเป็นดังกล่าว
       
       ข้อ ๘ กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับรวมถึงลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยซึ่งอยู่ระหว่างเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานอยู่ในวันก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ โดยให้ใช้อัตราค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานตามกฎกระทรวงนี้นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับเป็นต้นไป
       
       ข้อ ๙ คําขอรับค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานที่ได้ยื่นไว้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓
       (พ.ศ. ๒๕๓๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ ให้ถือเป็นคําขอตามกฎกระทรวงนี้
       
       ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘
       พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์
       รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน”

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 16-3-2558)

อดีตลูกจ้างบุก ก.แรงงาน ร้องขอเงินชดเชย

(16 มี.ค.) ที่กระทรวงแรงงาน อดีตลูกจ้างบริษัท ไทยวูดเท็ค จำกัด ซึ่งผลิต กรอบรูป ตั้งอยู่ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร จำนวน 27 คน ได้เดินทางไปที่กระทรวงแรงงาน เพื่อขอให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) นำเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างมาช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน เนื่องจากบริษัทประสบปัญหาขาดทุนและปิดกิจการ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 โดยจ่ายเพียงค่าจ้างแต่ไม่ได้จ่ายเงินชดเชยกรณีถูกเลิก
       
นางจินตนา สติปัญญา ตัวแทนกลุ่มแรงงาน กล่าวว่า ช่วงเดือนสิงหาคม 2557 มีอดีตลูกจ้าง 28 คน ไปยื่นคำร้องกับเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครอง แรงงานจังหวัดสมุทรสาคร ต่อมาบริษัทได้เจรจากับ ลูกจ้างโดยขอผ่อนผันการจ่ายเงินชดเชยเป็นเวลา 6 เดือน ในวงเงินทั้งหมดกว่า 2 ล้านบาท แต่เมื่อครบกำหนดนายจ้างกลับผิดนัดไม่ได้จ่ายตาม ที่ได้ตกลงกันไว้ ทำให้ช่วงเดือนกุมภาพันธ์มีอดีตลูกจ้าง 27 คน ไปฟ้องศาลแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร ทั้งนี้ ศาลนัดพิจารณาวันที่ 26 มีนาคม นี้
       
“พวกเรารู้สึกเหมือนถูกลอยแพ ทำงานกับบริษัทมานานกว่า 10 - 20 ปี แต่เมื่อถูกเลิกจ้างกลับ ไม่ได้รับเงินชดเชย ส่วนใหญ่อายุกว่า 40 - 50 ปี หางานใหม่ยาก จึงอยากได้เงินชดเชยการถูกเลิกจ้าง เพื่อไว้ใช้จ่าย” นางจินตนา กล่าว
       
ด้านนายปฐม เพชรมณี ผู้ตรวจราชการ กสร. กล่าวว่า ขอให้อดีตลูกจ้างทั้ง 28 คน เขียนคำร้องไว้ และ กสร. จะนำคำร้องนี้ไปยื่นต่อคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเพื่อให้พิจารณาจ่ายเงินกองทุนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนต่อไป โดยการพิจารณาจ่ายเงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือจะดูจากอายุงานและเงินเดือนของแต่ละคน แต่คงไม่ได้รับเงินเต็มอัตราของเงินชดเชยการถูกเลิกจ้างที่บริษัทต้องจ่าย และ กสร. จะไปติดตามทวงเงินก้อนนี้คืนจากนายจ้างในภายหลัง

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 16-3-2558)

แฉ! นักการเมือง-อดีต ขรก.ระดับสูงแรงงาน มีเอี่ยวในบริษัทจัดหางานสูงถึง 70%

 ศ.ดร.สุภางค์ จันทวานิช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นฐานแห่งเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่า ปัญหาการหลอกลวงแรงงานไทย ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและแรงงานไทยจะได้รับเงิน คืนจากนายหน้าหรือบริษัทจัดหางานเถื่อนเพียงร้อยละ 20 ของจำนวนเงินที่จ่ายไปทั้งหมด และยังมีปัญหาการทุจริตโดยพบว่าบริษัทจัดหางาน ทั้งหมดกว่า 200 แห่ง บางส่วนเกี่ยวข้องกับนักการเมือง หรืออดีตข้าราชการระดับสูงในกระทรวงแรงงานเกือบร้อยละ 70 ทำให้บริษัทจัดหางานเหล่านี้จัดหาแรงงานโดยใช้อิทธิพลทางการเมืองและระบบราชการ ทำให้เกิดจุดอ่อนในการดูแลและคุ้มครองแรงงานไทย นอกจากนี้ สัญญาจ้างงานก็เป็นปัญหามาก เนื่องจากกระทรวงแรงงานจัดกิจกรรมปฐมนิเทศ แรงงานสั้นๆ เพียงวันเดียว แม้จะทำสัญญาเป็นสองภาษา แต่แรงงานไทยกลับไม่ได้อ่าน และไม่รู้ว่าสัญญาเขียนไว้อย่างไร จึงเซ็นสัญญาไปโดยไม่รู้รายละเอียดและปัจจุบันในประเทศกลุ่มตะวันออกกลางไม่ยอมรับสัญญาจ้างที่แรงงานลงชื่อไปจากประเทศไทย จะต้องไปทำสัญญาฉบับที่สองที่ประเทศปลายทาง ทำให้แรงงานไทยตกเป็นเบี้ยล่าง
       
ศ.ดร.สุภางค์ กล่าวอีกว่า แม้กระทรวงแรงงานจัดส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศ โดยใช้วิธีจัดส่งแบบรัฐต่อรัฐมากขึ้น แต่ก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องสอดส่องบริษัทจัดหางานเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ไม่มีการทุจริตและเก็บค่าหัวคิวโดย ควรขยายการจัดปฐมนิเทศ โดยเครือข่ายนักวิชาการพร้อมเข้ามาช่วยเหลือทั้งในการจัดทำหลักสูตรและเป็นวิทยากรอบรม ทั้งนี้ ส่วนปัญหาแรงงานเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เช่น แรงงานที่ไปอิสราเอลบางรายแอบขนยาเสพติด จะต้องปลูกฝังทัศนคติที่ดี รวมทั้งเมื่อใช้ระบบแบบรัฐต่อรัฐ แรงงานไทยจะต้องผ่านด่านตรวจแรงงาน จึงสามารถตรวจสอบได้ตั้งแต่ยังอยู่ประเทศไทย นอกจากนี้ จะต้องสร้างระบบคุ้มครองแรงงานไทยในต่างประเทศให้เข้มแข็งโดยทูตแรงงาน และสถานทูตต้องร่วมมือกัน รวมทั้งกระทรวงแรงงาน ควรทำงานเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกับกระทรวงอื่นๆ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวง สาธารณสุข เพื่อสามารถแก้ปัญหาแรงงานได้อย่าง ครอบคลุม
       
ด้าน น.ส.สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผอ.โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย กล่าวว่า การหลอกลวงแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศยังคงมี ล่าสุด ในจังหวัดอุดรธานี มีนายหน้าเถื่อนไปติดประกาศรับสมัครไปทำงานสร้างถนนในประเทศจีน หากใครต้องการเป็นหัวหน้างานต้องจ่ายเงิน 1 แสนบาท และสามารถผ่อนจ่ายได้เดือนละ 1 - 3 พันบาท บางคนจ่ายไปแล้ว 1 แสนบาท แถมยังชักชวนเพื่อนๆ ด้วย โดยมีแรงงานตกเป็นเหยื่อทั้งหมด 22 คน ซึ่งมารู้ตัวกันว่าถูกหลอกเมื่อนายหน้าเถื่อนนัดเจอที่สถานีรถไฟหัวลำโพงแล้วไม่มาตามนัด จึงไปร้องเรียนต่อสำนักงานจัดหางานจังหวัดอุดรธานี ขณะนี้ตำรวจกำลังติดตามหาตัวนายหน้าเถื่อนมาดำเนินคดี

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 16-3-2558)

รมว.แรงงานยัน เปิดพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษต้องให้ค่าจ้างไม่ต่ำกว่า 300 บาท ใช้แรงงานต่างด้าวเท่าที่จำเป็นป้องกันแย่งงานคนไทย

พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการเตรียมความ พร้อมด้านแรงงานในการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ ว่าพื้นที่เศราฐกิจพิเศษให้ใช้แรงงานต่างด้าวแบบมาเช้าเย็นกลับ และตามฤดูกาล ซึ่งเป็นไปตามตามมาตรา 14 ของพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) การ ทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบ ซึ่งมองว่าควร จะกำหนดจำนวนการใช้แรงงานต่างด้าวตาม ความจำเป็น เพื่อไม่ให้เข้ามาแย่งงานคนไทยและรบกวนวิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่ ส่วนเรื่องของค่าจ้างนั้นควรกำหนดให้ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 300 บาท ซึ่ง เป็นเรื่องที่อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดจะหารือกับภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่และเสนอมายังคณะกรรมการค่าจ้าง(บอร์ดค่าจ้าง) เพื่อ ขอความเห็นชอบ เนื่องจากหากลดค่าจ้างลงองค์กรแรงงานระหว่างประเท ศ(ไอแอลโอ) และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่างชาติอาจมองว่าไทยเอาเปรียบแรงงานต่างด้าว
       
พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษควรเน้นการใช้เครื่องจักรที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต ลดการใช้แรงงานไร้ฝีมือ และพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีทักษะสูงขึ้น ให้สามารถทำงานร่วมกับเครื่องจักรสมัยใหม่ได้ อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งต้องส่งเสริมให้นักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยสูงสุด นอกจากนี้ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน(กพร.)ศึกษา ข้อมูลว่าในเขตเศรษฐกิจพิเศษแต่ละพื้นที่มี ความต้องการแรงงานในด้านใดบ้างเพื่อนำมาพัฒนาฝีมือแรงงานรองรับ

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 18-3-2558)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net