การเดินกับการเมืองในยุคไร้เสรีภาพ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

“ณ ยามนี้ ลุกขึ้นยืนก็ยากแล้ว การเดินต้องใช้ความกล้าหาญยิ่ง” - สมบัติ บุญงามอนงค์
 

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2558 ขบวนการพลเมืองโต้กลับ (Resistant Citizen) ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อทวงคืนความยุติธรรมจากระบอบรัฐประหารของ คสช. ได้ปล่อยคลิปวีดิโอชื่อว่า “I walk, therefore I am” ลงบนยูทูบ ปัจจุบันมียอดผู้ชมจำนวน 45,723 คน และมีการแชร์กลอนบรรยายประกอบอย่างแพร่หลายในสังคมออนไลน์ หลังจากนั้น ได้เริ่มมีกิจกรรมเดินขบวนระหว่างวันที่ 14 - 16 มีนาคม 2558 โดยมีผู้เข้าร่วมจำนวนหนึ่งเพื่อเรียกร้องให้พลเรือนไม่ขึ้นศาลทหาร ปฏิกิริยาหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวหลัก ๆ แล้วแบ่งได้ออกเป็นสองแบบ ประกอบด้วย ความหวาดกลัวของระบอบเผด็จการ และการสนับสนุนการต่อต้านและการประชดเสียดสีเผด็จการจากหมู่ปัญญาชนและพลเมือง สำหรับความหวาดกลัวของเผด็จการนั้น สังเกตได้จากกลุ่มกระบอกเสียงของทหารและตำรวจในระบอบเผด็จการ เช่น พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด พันเอกวินธัย สุวารี และพลตำรวจเอกอำนวย นิ่มมะโน ได้ออกมาข่มขู่ผ่านสื่อว่า หากมีการจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นเพื่อสร้างความแตกแยก ทางการจำเป็นต้องดำเนินการตามกฎอัยการศึก ล่าสุด มีการจับกุมพลเมือง 4 คน และถูกดำเนินการตามกฎหมายภายใต้การพิจารณาคดีของศาลทหาร

อีกด้านหนึ่ง แม้มีผู้เข้าร่วมเดินจริงไม่มากนัก แต่กิจกรรมดังกล่าวก็ได้รับเสียงตอบรับจากนักกิจกรรม ปัญญาชน และประชาชนทั่วไปอย่างแพร่หลายในสื่อสังคมออนไลน์ สังเกตได้จากการแชร์ลิงค์วีดิโอและข้อความกลอนในเฟสบุ๊กว่า “เมื่อความยุติธรรมไม่มา ก็เดินหน้าไปหามัน”

ขณะเดียวกัน นักวิชาการด้านสันติวิธี เช่น จันจิรา สมบัติพูนศิริ ออกมากล่าววิวาทะในเฟสบุ๊กเช่นกันว่า “เราอยู่ในยุคที่ผู้มีอำนาจ 'กลัว' กระทั่ง 'การเดิน' ของประชาชน”  ประโยคดังกล่าวของจันจิราสามารถอ่านตีความได้สองแบบ ในทางหนึ่ง อาจอนุมานเอาได้ว่า การเดินของประชาชนเป็นสิ่งไร้อำนาจและสามัญธรรมดา  และดังนั้นจึงไม่ควรค่าแก่ความกลัวของเผด็จการแต่อย่างใดหากเผด็จการไม่เปราะบางเสียเอง

แต่หากลองอ่านในเชิงกลยุทธ์ว่า นักวิชาการสันติวิธีและประชาชนไม่ไร้เดียงสา และมองว่าประโยคดังกล่าวสถิตอยู่ในบริบทของการต่อสู้ทางการเมือง น่าสนใจว่า ถ้อยแถลงเช่นนี้กำลังพยายามหลบซ่อนเขี้ยวเล็บทางการเมืองของประชาชนเพื่อให้เผด็จการประเมินอำนาจของประชาชนผิดพลาดจนพ่ายแพ้ไปในที่สุดอยู่หรือไม่ ? กล่าวคือ หากอ่านประโยคดังกล่าวด้วยแว่นของการต่อต้านขัดขืน นั่นอาจหมายความว่า การเดินเป็นกิจกรรมที่มีอานุภาพทางการเมือง และเผด็จการควรหวาดกลัวต่ออานุภาพดังกล่าวไม่ว่าจะเปราะบางจริงหรือไม่ก็ตาม

แต่เหตุไฉนการเดินจึงเป็นเรื่องทางการเมือง ? แล้วเหตุใดเผด็จการถึงหวาดกลัวกิจกรรมที่แสนธรรมดาอย่างการเดิน ? นี่คงเป็นคำถามที่หลายคนฉงนใจอยู่ไม่มากก็น้อย สำหรับคนที่ติดตามงานวิชาการทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์อยู่เป็นระยะ คงพอทราบว่า มีงานวิชาการอยู่เป็นจำนวนไม่น้อยที่พินิจพิเคราะห์ “การเดิน” (walking) โดยใช้ทฤษฎีการเมืองและองค์ความรู้ทางปรัชญาในการพิจารณาประเด็นดังกล่าว

 

การเดินกับการเมือง

การเดินเป็นกิจกรรมสำคัญในชีวิตประจำวัน เนื่องจากการเดินของมนุษย์เกี่ยวพันกับกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตจำนวนมาก แต่ละคนเดินเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อบรรลุจุดประสงค์ต่าง ๆ ในชีวิตได้หลากหลาย เช่น บางคนเดินเพื่อซื้อของ บางคนเดินเพื่อออกกำลังกาย ขณะที่บางคนรุกเดินก้าวย่างเพื่อแสวงหาความยุติธรรมทั้งในทางด้านการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ เป็นต้น เพราะเหตุนี้ การศึกษาทำความเข้าใจการเดินจึงเป็นเรื่องซับซ้อนและจำกัดขอบเขตการศึกษาได้ยาก  

อย่างไรก็ตาม เพื่อทำศึกษาความเข้าใจการเดิน เราสามารถแบ่งการเดินออกเป็นประเภทได้หลายรูปแบบ เช่น  การเดินในพื้นที่สาธารณะ/การเดินในพื้นที่ส่วนตัว การเดินเป็นหมู่ขบวน/การเดินคนเดียว การเดินจัดแถวแบบรูปขบวนของทหาร/การเดินอย่างหละหลวมแต่มีกลยุทธ์กำกับของเหล่าพลเรือน เป็นต้น กล่าวโดยรวบรัด เราอาจกุมความเข้าใจเกี่ยวกับการเดินได้ด้วยการจำแนกการจัดประเภทแบบต่าง ๆ ผ่านคำถามที่ว่า ใครเป็นคนเดิน เดินอยู่ที่ไหน เดินอย่างไร และเดินเพื่ออะไร เมื่อคำตอบของแต่ละคำถามไม่เหมือนกัน นัยยะทางสังคมของการเดินแต่ละแบบจึงแตกต่างกันออกไป

เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเดินกับการเมือง คำถามที่ควรได้รับการพินิจพิเคราะห์อย่างจริงจัง คือ เราจะสามารถแยกการเดินทั่วไปออกจากการเดินในฐานะกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างไร ? เพื่อตอบคำถามนี้ เราต้องจัดระบบมโนทัศน์ โดยแบ่งเงื่อนไขพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ออกเป็นสามมิติเสียก่อน ได้แก่ มนุษย์ในฐานะสิ่งมีชีวิตทางชีววิทยา (human as biological being) มนุษย์ในฐานะสิ่งมีชีวิตซึ่งมีความสามารถในการคิด (human as thinking being) และมนุษย์ในฐานะสิ่งมีชีวิตผู้มีความสามารถในการปฏิบัติการทางการเมือง (human as action being)[1] เมื่อลองพิจารณาการเดินให้สัมพันธ์กับมโนทัศน์ทั้งสาม จะพบว่า การเดินของมนุษย์ในฐานะสิ่งมีชีวิตทางชีววิทยานั้น จัดเป็นการเดินสามัญธรรมดาในชีวิตประจำวันที่มีเป้าหมายเพื่อการดำรงรักษาเอกลักษณ์ทางชีววิทยาของมนุษย์ และเป็นไปเพื่อความอยู่รอดของชีวิตเท่านั้น เช่น การเดินเพื่อหาอาหารและค้นหาที่อยู่อาศัยของมนุษย์ตั้งแต่สมัยอดีตกาล หรือการเดินเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรเพื่อยังชีพ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ ถือเป็นการเดินเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตในทางชีววิทยา ซึ่งไม่ถือเป็นกิจกรรมทางการเมืองแต่อย่างใด

ในทางกลับกัน การเดินจะกลายเป็นกิจกรรมทางเมืองต่อเมื่อมันสัมพันธ์กับมิติทางการคิดและมิติด้านปฏิบัติการทางการเมืองของมนุษย์ หากมองแบบ Jacque Ranciere ว่า ความเป็นการเมือง (the political) คือการตั้งคำถามกับการรับรู้ที่ดำรงอยู่ และเป็นการนำเสนอการรับรู้รูปแบบใหม่ให้กับสังคมแล้ว  การเดินที่ถือเป็นกิจกรรมทางการเมืองนั้น จะต้องเป็นการเดินซึ่งให้ที่ทางแก่การคิดตั้งคำถาม หรือเป็นการเดินที่มุ่งสร้างวาระทางการเมืองและเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ การเดินทางการเมืองเช่นนี้ อาจเป็นการเดินคนเดียวที่เอื้อให้เกิดการครุ่นคิด หรืออาจเป็นการเดินรณรงค์แบบรูปขบวนซึ่งทำงานผ่านแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อกระตุ้นต่อมความคิดและชักจูงสาธารณชน ให้ตระหนักถึงปัญหาทางการเมืองที่ดำรงอยู่ และเรียกร้องให้คนมามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาดังกล่าว ในแง่นี้ การเดินที่สัมพันธ์กับมิติด้านการคิด (thinking being) และการปฏิบัติการทางการเมืองของมนุษย์ (action being) จึงถือเป็นกิจกรรมทางอำนาจ ซึ่งมีอานุภาพทางการเมืองและเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การต่อต้านขัดขืนมาอย่างยาวนาน

 

การเดินกับการต่อต้าน           

การเดินในฐานะกิจกรรมทางการเมืองเป็นกิจกรรมที่พบเห็นได้จากเหตุการณ์จำนวนมากในประวัติศาสตร์ อาทิ การเดินขบวนหลายครั้ง นำโดย Dr. Bhim Rao Ambedkar เพื่อเรียกร้องสิทธิทางสังคมของชนชั้นจัณฑาล ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 1927 การเดินประท้วงของมหาตมะคานธีและชาวอินเดียเพื่อต่อต้านกฎหมายภาษีเกลือของจักรวรรดิอังกฤษเมื่อปี 1930 การเดินต่อต้านสงครามเวียดนามของขบวนการฮิปปี้ในอเมริกาเมื่อช่วงทศวรรษที่ 1970 การเดินของขบวนการชุดสูทในอเมริกา และขบวนการภาคประชาชนในยุโรปเพื่อต่อต้านการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ในช่วงทศวรรษ 1980  การเดิน “ดอกทอง” (Slutwalk) ของขบวนการนานาชาติเพื่อต่อต้านวัฒนธรรมการข่มขืน และกระตุ้นส่งเสริมให้สังคมเลิกโยงเรื่องการข่มขืนเข้ากับการแต่งกายของผู้หญิงในหลายประเทศ เช่น แคนาดา เกาหลีใต้ อินเดีย สิงคโปร์ และประเทศในลาตินอเมริกา ซึ่งเริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2011 รวมไปถึง การเดินของขบวนการสิ่งแวดล้อมเพื่อต่อต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์นำโดยนายศศิน เฉลิมลาภในกรุงเทพ เมื่อปี 2013 เป็นต้น จากเหตุการณ์ที่ยกมา คงเห็นได้ว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา การเดินมิได้ห่างหายไปจากอาณาบริเวณทางการเมืองเลยแม้แต่น้อย

แม้บางเหตุการณ์ขบวนการเคลื่อนไหวอาจล้มเหลว แต่ก็มีหลายเหตุการณ์ที่การเดินนำพาขบวนการต่อต้านขัดขืนไปสู่ความสำเร็จเช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว คำถามที่น่าสนใจคือ เหตุใดการเดินทางการเมืองจึงมีอานุภาพในการสร้างวาระทางการเมืองและเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ?  

เพื่อตอบคำถามนี้ ขอเริ่มด้วยการพิจารณางานของ Frédéric Gros ซึ่งเป็นนักปรัชญาชาวปารีสผู้มีความเชี่ยวชาญด้านปรัชญาของ Foucault ในงานเรื่อง Philosophy of Walking ซึ่งพินิจพิเคราะห์การเดินของนักปรัชญาจำนวนหนึ่ง เขาเสนอว่าคุณสมบัติที่ลึกซึ้งอย่างยิ่งของการเดินคือความช้า ความช้าเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการต่อต้านขัดขืนวัฒนธรรมความเป็นสมัยใหม่และยุคข้อมูลข่าวสารที่ทุกอย่างรวดเร็วและน่าสับสน เมื่อคุณเดิน ความช้าของการเดินจะทำให้ “คุณไม่มีตัวตน คุณไม่มีประวัติศาสตร์ คุณไม่มีอัตลักษณ์ คุณไม่มีอดีต คุณไม่มีอนาคต คุณเป็นเพียงแค่ร่างกายที่กำลังเดิน” กล่าวคือ ความช้าทำให้เราเป็นอิสระต่อระบบระเบียบทางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม รวมไปถึงบริบททางประวัติศาสตร์ที่รายล้อมเราอยู่ ด้วยเหตุนี้ การเดินจึงเป็นการต่อต้านขัดขืนอย่างดื้อดึงเพื่อเปิดพื้นที่ให้กับความเป็นไปได้ใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกครั้งที่ย่างก้าว

Gros ยกตัวอย่างนักปรัชญาผู้ทรงอิทธิพลต่อชุมชนการเมืองจำนวนหนึ่ง อาทิ Immanuel Kant, Jean-Jacques Rousseau, Friedrich Wilhelm Nietzsche, Arthur Rimbaud และ Henry Thoreau เป็นต้น เพื่อชี้ให้เห็นว่าการเดินเป็นเงื่อนไขจำเป็นอย่างยิ่งต่อการคิดของนักปรัชญาเหล่านี้ทั้งสิ้น Rousseau นักปรัชญาสัญญาประชาคมคนสำคัญ อ้างว่า “ตนไม่สามารถคิดหรือทำงานเรื่องสภาวะธรรมชาติ (state of nature) ได้ หากไม่ได้เดิน” ขณะเดียวกัน Kant ก็มีชื่อเสียงว่าเป็นคนที่เดินอยู่ในเมือง Königsberg เป็นประจำและตรงเวลามาก เพื่อป้องกันความเบื่อหน่ายจากการคิด

ประเด็นที่น่าสนใจคือ Gros เสนอต่อไปอีกว่า การเดินซึ่งเป็นการต่อต้านขัดขืนที่แท้จริง ต้องเป็นการเดินที่อยู่ในทุ่งหญ้าธรรมชาติเท่านั้น !? เขาเสนอเช่นนี้เพราะเชื่อว่าการเดินในทุ่งหญ้าเป็นการบอกลาอย่างถาวรต่ออารยธรรมความเป็นสมัยใหม่ซึ่งกำหนดกฎเกณฑ์และครอบงำชีวิตของเราอยู่ทุกกระเบียดนิ้ว เพื่อให้หลุดจากโครงสร้างอำนาจที่ดำรงอยู่ พร้อมทั้งนำมนุษย์กลับไปสู่ธรรมชาติและอิสรภาพได้ การเดินในพื้นที่เขตเมืองอาจยังไม่มีอานุภาพมากพอเป็นการต่อต้านที่สมบูรณ์ เพราะเส้นทางการเดินในเมืองเป็นเพียงที่ว่างระหว่างตึกราบ้านช่องซึ่งได้รับการวางแปลนผังเมืองไว้แล้วโดยสิ่งที่เรียกว่า “การครอบงำของอำนาจ” ดังนั้น การเดินที่ต่อต้านขัดขืนต่ออำนาจได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย จึงต้องเป็นการเดินในทุ่งหญ้าธรรมชาติเท่านั้น ถึงจะทำให้มนุษย์กลับคืนสู่ธรรมชาติและอิสรภาพได้

งานสืบสวนทางปรัชญาของ Gros ชิ้นนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายแง่หลายมุม เช่น Gros ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเดินของนักปรัชญาหญิงเลย และไม่ได้ให้ความสำคัญกับนักปรัชญาจากชาติพันธุ์อื่นนอกเหนือจากคนผิวขาวมากนัก นอกจากนี้ ยังมีข้อกังขาด้วยว่า ทุ่งหญ้าธรรมชาติอันแสนบริสุทธิ์ที่ Gros พูดถึงนั้นมีอยู่เพียงในโลกมายาคติหรือไม่ เนื่องจากพื้นที่ทางธรรมชาติล้วนแต่โดนแปดเปื้อนหรือได้รับผลกระทบจากอารยธรรมของมนุษย์ไปแล้วทั้งสิ้น มิพักต้องกล่าวว่า การเดินของ Gros ซึ่งอ้างว่าทำเพื่อต่อต้านอำนาจครอบงำของอารยธรรมนั้น จัดเป็นการหลีกเลี่ยงการเมืองอยู่หรือไม่ เพราะนอกจาก Gros จะไม่เห็นศักยภาพทางการเมืองของการเดินขบวนบนท้องถนนในชุมชนเมืองแล้ว ข้อวิเคราะห์ของ Gros ยังสลัดอัตลักษณ์ การเมือง และประวัติศาสตร์ของผู้เดินออกไป ทั้งที่ข้อเสนอดังกล่าวขัดกับธรรมชาติของการเดินในประวัติศาสตร์การต่อต้านขัดขืนอย่างยิ่ง

แน่นอนว่างานของ Gros มีคุณูปการต่อการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเดินไม่มากก็น้อย และเป็นจริงที่ว่าคุณสมบัติของการเดินคือความช้า อย่างไรก็ตาม นัยยะทางการเมืองของความช้าอาจไม่ได้นำไปสู่การสลัดอัตลักษณ์หรือประวัติศาสตร์ของผู้คนเพื่อนำมนุษย์กลับไปสู่ธรรมชาติ แต่เป็นโอกาสในการปูทางไปสู่การต่อต้านขัดขืนทางความคิด กล่าวคือ ความช้าของการเดินอาจทำให้เราพบเห็นปัญหาต่าง ๆ ที่ดำรงอยู่สังคมการเมือง ซึ่งเคยถูกปิดกั้นไว้ด้วยความเร็วของการส่งถ่ายข้อมูลข่าวสาร นัยนี้ ความช้าของการเดินอาจทำให้เราได้มีโอกาสสำรวจและตั้งคำถามต่อสังคมและโครงสร้างอำนาจที่ดำรงอยู่ ผู้เดินแต่ละคนซึ่งมีประสบการณ์ต่างกัน แต่ล้วนมีความสามารถทางความคิดเหมือนกัน (thinking being) อาจพบปัญหาและทางออกของสังคมแตกต่างกัน จนนำไปสู่การสร้างวาระทางการเมืองได้หลากหลาย อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้แก่การสร้างอัตลักษณ์ และประวัติศาสตร์ทางการเมืองแบบใหม่ ดังที่นักปรัชญาที่ยกมาข้างต้นได้ทำให้เห็นแล้ว

ยิ่งกว่านั้น เมื่อมองจากมิติด้านปฏิบัติการทางการเมืองของมนุษย์ (action being) แล้ว การเดินไม่ได้เพียง “เปิดโอกาสทางความคิด” เท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่มนุษย์ใช้ผลักดันเรียกร้องและต่อต้านขัดขืนด้วย เพราะคุณสมบัติของการเดินมิใช่เพียงแค่ความช้า แต่รวมถึงการย้ำทำ (Repetition) นัยนี้ การก้าวย่างซ้ำไปซ้ำมาไม่เพียงแต่ทำให้ผู้ต่อต้านขัดขืนสามารถสลัดความกลัวออกจากห้วงคิด แต่ยังตอกย้ำอัตลักษณ์ของผู้เดิน และนำเสนอและยืนกรานความหมายเชิงสัญลักษณ์ต่อสาธารณชน เมื่อสองขาขยับเบียดขับร่างกายของเราให้ “เคลื่อนไหว (movement) ” ไปข้างหน้า ประวัติศาสตร์ก็ถูกผลักดันขับเคลื่อนไปพร้อมกัน !

ด้วยเหตุนี้ การเดินจึงไม่ได้เป็นไปเพื่อการสลัดประวัติศาสตร์ การเมือง และอัตลักษณ์ของผู้เดินอย่างที่ Gros เสนอ แต่เป็นประตูสู่การคิดต่อต้านขัดขืนด้วยการขับเน้นตัวตนและข้อเรียกร้องทางการเมืองภายใต้บริบทสถานที่และเวลา และยังเป็นวิธีทางการเมืองที่มนุษย์ใช้ปะทะจัดการ (engage) กับปัญหาทางการเมืองเพื่อนำไปสู่การปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจให้ดียิ่งขึ้นด้วย    

น่าสนใจว่า การเดินนั้นถือเป็นปฏิบัติการไร้ความรุนแรงอย่างหนึ่ง ที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในประวัติศาสตร์ดังตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นแล้ว เหตุการณ์จำนวนมากในประวัติศาสตร์เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าการเดินเป็นอาวุธที่ทุกคนมี และเข้าถึงได้ง่ายกว่าความรุนแรง แม้ว่าการเดินไม่ได้มีศักยภาพในการฆ่าหรือทำร้ายผู้อื่นเช่นความรุนแรง แต่การเดินก็มีคุณลักษณะร่วมกับความรุนแรงอยู่ประการหนึ่ง นั่นก็คือ การเพิ่มความกล้าให้แก่ผู้ใช้   ขณะที่การฆ่าและการทำร้ายทำให้ผู้ปลดแอกเชื่อว่าตนไม่จำเป็นต้องหวาดกลัวผู้ปกครองที่กดขี่อีกต่อไป การเดินก็ทำให้เกิดความกล้าขึ้นเช่นกัน เพราะผู้เดินต้องเชื่อมั่นในสองเท้าของตัวเอง และการย่างเท้าซ้ำไปซ้ำมาก็ทำให้ผู้เดินสามารถสลัดความกลัวออกไปได้และเกิดความฮึกเหิมมั่นใจมากขึ้นตามลำดับ นั่นหมายความว่า การเดินมีคุณสมบัติบางประการที่สามารถใช้ทดแทนความรุนแรงได้ หรืออาจมีประสิทธิภาพมากกว่าความรุนแรงในหลายกรณี

นอกจากนี้ การเดินทางการเมืองยังสามารถเป็นอาวุธของสันติวิธีรูปแบบหนึ่งที่ประชาชนใช้เพื่อถอนความยินยอม (consent) จากผู้ปกครองที่ไม่ชอบธรรม หากเชื่ออย่างที่ Gene Sharp เสนอว่า ความยินยอมของประชาชนไม่ได้เป็นเพียงเจตจำนงอิสระ แต่ยังเป็นแหล่งที่มาของทรัพยากรอำนาจในมือประชาชน ที่ผู้ปกครองต้องใช้เพื่อให้ตนยังอยู่รอดต่อเป็นผู้ปกครองต่อไป เช่น สิทธิอำนาจ (authority) ทรัพยากรมนุษย์ (human resources) ทักษะและความรู้ (skills and knowledge) ปัจจัยทางอุดมการณ์และจิตวิทยาซึ่งจับต้องไม่ได้ (intangible factors) ปัจจัยด้านวัตถุ (material resources) และการคว่ำบาตรลงโทษ (Sanctions) ย่อมหมายความว่า การถอนความยินยอมของประชาชนด้วยวิธีการต่าง ๆ สามารถทำให้ผู้ปกครองขาดแคลนทรัพยากรทางอำนาจในการปกครองจนอันตรธานไปได้ในที่สุด เมื่อการเดินรณรงค์ในเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสื่อสารให้เห็นถึงความไม่ยุติธรรมที่ปรากฎในสังคม ถือเป็นหนึ่งในกลวิธีที่ประชาชนสามารถใช้ในการโน้มน้าวความเห็นของมหาชน (public opinion) ให้ถอนความยินยอมออกจากผู้ปกครอง การเดินทางการเมืองจึงเป็นการต่อต้านขัดขืนด้วยสันติวิธีรูปแบบหนึ่งของประชาชนที่ทรงอานุภาพทางการเมืองอยู่ไม่มากก็น้อย  

การเดินกับไวยากรณ์ทางสังคม

นักปรัชญาสตรีนิยมชาวอเมริกันอย่าง Judith Butler เคยเล่าเหตุการณ์จริงเรื่องหนึ่งว่า มีเด็กชายคนหนึ่งอาศัยอยู่ในรัฐเมน อายุประมาณ 18 ปี เด็กผู้ชายคนดังกล่าวมีท่าทางการเดินที่ “ผิดแผก” อย่างมาก เพราะเขาเดินแล้วสะโพกส่ายไปส่ายมา และท่าเดินมีลักษณะ “ตุ้งติ้ง” แบบเดียวกับผู้หญิง อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่เขากำลังเดินไปโรงเรียน เขาโดนรุมทำร้ายโดยเพื่อนร่วมชั้นสามคน และถูกโยนลงจากสะพานจนเสียชีวิต

หลังจากเล่าเรื่องจบ Butler กล่าวว่า คำถามที่ประชาคมและสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้องต้องตอบคือ เป็นไปได้อย่างไรที่ท่าทางในการเดินหรือลักษณะของการเดินของคน ๆ หนึ่ง ทำให้เกิดความปรารถนาในการฆ่าผู้เดินคนดังกล่าว ? การเดินสามารถกลายเป็นเรื่องอันตรายไปได้อย่างไร ?

ตัวอย่างดังกล่าวสะท้อนให้เราเห็นว่า แม้แต่การเดิน ก็มีสิ่งที่เรียกว่าไวยากรณ์ทางสังคมคอยกำกับควบคุมอยู่เสมอ การเดินบางแบบซึ่งสอดคล้องกับไวยากรณ์ทางสังคมจะถูกนับว่าเป็นเรื่องปกติที่ยอมรับได้หรือควรค่าแก่การสรรเสริญเยินยอ ในขณะที่การเดินบางแบบซึ่งขัดกับไวยากรณ์ทางสังคมจะถือเป็นการเดินที่ไม่ปกติ ไม่สามารถยอมรับได้ หรือกระทั่งควรค่าแก่การถูกประณามและลงโทษ การเดินซึ่งรบกวนระบบระเบียบทางสังคมที่ดำรงอยู่อาจสร้างความไม่พอใจต่อผู้คนที่รู้สึกมั่นคงหรือได้ประโยชน์จากระบบระเบียบดังกล่าว จนอาจนำไปสู่การประหัตประหารกันได้ จากกรณีที่ Butler ยกมาข้างต้น อาจกล่าวได้ว่า เด็กผู้ชายคนดังกล่าวมีท่าทางการเดินขัดกับไวยากรณ์หลักของสังคม และสั่นคลอนบรรทัดฐานแบบรักต่างเพศ (heteronormativity) ซึ่งแบ่งแยกเพศสภาพออกเป็นคู่ขั้วตรงข้ามอย่างชัดเจนระหว่างชายกับหญิง ด้วยบรรทัดฐานเช่นนี้ ผู้ชายจึงต้องเดินให้อกผายไหล่ผึ่งสอดคล้องกับความเป็นชาย (masculinity) ส่วนผู้หญิงก็ต้องมีท่าเดินแช่มช้อยให้สอดรับกับความเป็นหญิง (femininity) ทั้งนี้ ก็เพื่อจัดตนเองให้เข้ากับรูปแบบเพศสภาพที่บรรทัดฐานทางสังคมสถาปนาเอาไว้ แม้การเดินของเด็กชายคนดังกล่าวมิได้ดูหมิ่นหรือทำร้ายใคร แต่ลักษณะท่าทางที่ผิดแผกไปจากบรรทัดฐานก็นำภัยคุกคามให้คืบคลานมาสู่ตนได้อย่างไม่ทันตั้งตัว

ดังนั้น จึงไม่แปลกแต่อย่างใด หากเราเห็นปรากฏการณ์การเดินทางการเมืองบางแบบถูกนับว่าเป็นปัญหาและต้องถูกจัดการ เพราะมันไปรบกวนระเบียบทางการเมืองที่ดำรงอยู่ ในขณะที่การเดินบางแบบซึ่งสอดคล้องกับไวยากรณ์หลักของสังคม นอกจากจะไม่ถูกนับว่าเป็นปัญหาแล้ว ยังอาจได้รับการสนับสนุนจากผู้มีอำนาจหรือผู้คนในสังคมด้วยซ้ำ ขณะที่การเดินของบางกลุ่มเป็นเรื่องที่อนุญาตให้เกิดขึ้นได้  การเดินของคนบางกลุ่มกลับเป็นเรื่องต้องห้าม

หากนำความเข้าใจเช่นนี้มาปรับใช้กับกรณีของการเมืองไทยหลังการรัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา จะพบว่า กลุ่มพลังทางการเมืองหลักทั้งสองฝั่งในการเมืองเสื้อสี มักใช้การเดินเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมือง แม้จะใช้การเดินเป็นเครื่องมือทางการเมืองเหมือนกัน แต่การเดินของแต่ละกลุ่มเป็นการเดินที่สะท้อนการให้คุณค่าและเป้าหมายทางการเมืองที่ต่างกัน ขณะที่ฝ่ายหนึ่งเดินรณรงค์เพื่อพยายามรักษาไวยากรณ์หรือระบบระเบียบทางสังคมเดิมไว้ หรือกระทั่งทำให้ไวยากรณ์การเมืองอนุรักษ์นิยมเข้มข้นสุดขั้วยิ่งกว่าเก่า  อีกฝ่ายหนึ่งเดินรณรงค์เพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงไวยากรณ์ทางสังคม “บางอย่าง”[2] ที่มีอยู่เดิม แล้วแทนด้วยชุดคุณค่าและปทัสถานแบบใหม่ น่าสนใจว่า หากมองแบบ Ranciere การเดินเพื่อรักษาระเบียบทางการเมืองที่ดำรงอยู่ในแบบแรก ไม่ถูกนับว่าเป็นการเดินที่มีความเป็นการเมือง เนื่องจากไม่ได้เปิดพื้นที่การรับรู้ใหม่ให้แก่สังคมแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี อาจกล่าวได้ว่า ทั้งสองฝ่ายในการเมืองเสื้อสีล้วนแต่ต่อว่าการเดินของอีกฝ่าย และสนับสนุนการเดินของตัวเอง เนื่องจากทั้งสองฝ่ายต้องการส่งเสริมและบังคับใช้กติกาทางการเมืองและสังคมคนละแบบ

การเดินกับ (ความกลัวของ) เผด็จการ

เพื่อตอบคำถามว่า เหตุใดการเดินจึงรบกวนอารมณ์ความรู้สึกของเผด็จการ เราอาจเสนอได้ว่า เป็นเพราะการเดินเป็นสิ่งขัดขวางและอยู่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เผด็จการปรารถนา

สิ่งที่เผด็จการพยายามทำ คือ การรักษาระบอบอำนาจของตนไว้ให้นานที่สุด ด้วยการยับยั้งความเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงการปิดกั้นพื้นที่ในการแสดงออก  เพื่อไม่ให้ประชาชนมีที่ทางในการปรากฎตัวเพื่อแสดงออกเจตจำนงทางการเมืองของตน อาจกล่าวได้ว่า เผด็จการต้องการสลายความเป็นการเมืองในภาคประชาชน  (depoliticization)  เพื่อทำให้สังคมแช่แข็งและหยุดนิ่ง  

ตรงกันข้าม การเดินทางการเมืองกลับเป็นการกิจกรรม “เคลื่อนไหว” (movement)  และมีจุดประสงค์เพื่อเปิดพื้นที่ทางการเมือง (politicization)  สร้างวาระทางการเมือง และก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อสังคม สิ่งเหล่านี้ นับว่าขัดกับความปรารถนาและธรรมชาติการดำรงอยู่ของเผด็จการโดยสิ้นเชิง  หากเปรียบเปรยเผด็จการเป็นตู้เย็น การเดินคงเป็นเหมือนดั่งของร้อน และหากมีของร้อนอยู่ในตู้เย็นมาก ๆ เข้า ตู้เย็นจะทำงานหนักขึ้นจนอาจชำรุดพังได้

ยิ่งกว่านั้น การเดินด้วยสองเท้าของตัวเอง ยังเป็นการแสดงเจตจำนงของปัจเจกบุคคลเพื่อต่อต้านขัดขืนกับความไม่เป็นธรรมในสังคม ซึ่งถือเป็นสิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามกับวัฒนธรรมแบบเชื่อฟังทำตามคำสั่งในแบบที่ระบอบอำนาจนิยมคุ้นชินด้วย ในแง่นี้ การเดินทางการเมืองจึงเป็นกิจกรรมที่มาพร้อมกับคุณค่าและไวยากรณ์ทางสังคมชุดหนึ่ง ซึ่งขัดกับคุณค่าและระเบียบกติกาทางการเมืองที่ระบอบเผด็จการทหารต้องการส่งเสริมและบังคับใช้  คุณค่าทางการเมืองที่มาพร้อมกับการเดิน นับว่าขัดกับสิ่งที่เผด็จการอำนาจนิยมให้คุณค่าและส่งเสริมในหลายประเด็น เช่น ผู้เดินมองว่าความขัดแย้งคือความสร้างสรรค์และเป็นเงื่อนไขสำคัญในการพัฒนาสังคมให้ดียิ่งขึ้น แต่ผู้ปกครองในระบอบเผด็จการกลับมองว่าความขัดแย้งเป็นภัยต่อความสามัคคีกลมเกลียวในสังคม กล่าวโดยรวบรัด การเดินเป็นความพยายามในการส่งเสริมความหลากหลาย (diversity) และความเป็นแนวระนาบ (horizontality) ขณะที่เผด็จการต้องการส่งเสริมความเป็นหนึ่งเดียว (unity) และความลดหลั่น (hierarchy)

ด้วยเหตุนี้ จึงอาจสรุปได้ว่า การเดินเป็นปัญหารบกวนจิตใจของเผด็จการ เพราะธรรมชาติของการเดินทางการเมืองเป็นสิ่งขัดกับธรรมชาติของเผด็จการเป็นส่วนใหญ่[3] บ่อยครั้งการเดินทางการเมืองมักโดนกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับความรุนแรงและความไม่สงบ คงเป็นเพราะการเดินทางการเมืองเป็นกิจกรรมที่มีอำนาจในการตั้งคำถามกับความชอบธรรมและบ่อนทำลายสิ่งที่ระบอบเผด็จการต้องการสร้างและรักษา ทำให้ระบอบเผด็จการร้อนรนไม่อาจสงบจิตสงบใจ จนต้องใช้ความรุนแรงกับผู้เดินเคลื่อนไหวไม่โดยทางตรง (เช่น ข่มขู่ ซ้อมทรมาน ลอบสังหาร) ก็โดยทางอ้อม (ด้วยการจับกุมและดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม) ที่จริงแล้ว แม้การเดินไม่ได้เป็นสิ่งการันตีว่าความรุนแรงจะไม่เกิดขึ้น แต่การเดินก็ไม่ได้เป็นความรุนแรงด้วยตัวมันเอง ดังนั้น เราจึงไม่ควรติดกับดักสำนวนโวหารของผู้ปกครอง แต่ควรตระหนักอย่างจริงจังว่า การเดินเป็นเพียงเครื่องมือทางการเมืองแบบสันติวิธีของประชาชนที่มีอานุภาพในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นได้ และไม่ก่อให้เกิดความรุนแรงได้มากเท่ากับความโหดร้ายทารุณของผู้ปกครองเองที่พยายามดิ้นรนทำทุกทางเพื่อรักษาอำนาจของตนไว้.

 



[1] แน่นอนว่าการแบ่งแบบนี้ได้รับอิทธิพลจากการแบ่งประเภทของกิจกรรมที่เป็นพื้นฐานของเงื่อนไขความเป็นมนุษย์ ของ Hannah Arendt ในหนังสือ The Human Conditions คือ labor, work และ action แต่ในบทความนี้เลือกที่ดัดแปลงการแบ่งประเภทให้ต่างออกไปเล็กน้อย เพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหาที่พยายามนำเสนอ

[2] เหตุที่กล่าวว่า “บางอย่าง” เป็นเพราะในหลายกรณี ฝ่ายที่เรียกตนเองว่า “หัวก้าวหน้า” หรือ “ฝ่ายประชาธิปไตย” มิได้ก้าวพ้นจากค่านิยมของสังคมที่มีอยู่เดิมเลย เช่น การบูชาตัวบุคคล การเป็นตำรวจศีลธรรม และการเหยียดเพศ เพื่อต่อว่าฝ่ายตรงข้าม เป็นต้น ในแง่นี้ หากมองแบบของ Ranciere การเดินเพื่อสนับสนุนค่านิยมเดิมอย่างไม่ระลึกรู้ตัวเช่นนี้ ก็ไม่ถือว่าเป็นการเดินที่มีความเป็นการเมืองเช่นกัน

[3] เหตุที่บอกว่า “เป็นส่วนใหญ่” นั้น เป็นเพราะในบางกรณี การเดินทางการเมืองสามารถจัดขึ้นเพื่อสร้างเงื่อนไขไปสู่การสถาปนาระบอบเผด็จการ หรือส่งเสริมผลประโยชน์ทางการเมืองของฝ่ายเผด็จการได้ เช่น กรณีการเดินขบวนของ กปปส. ในช่วงปี 2556 และการเดินต่อต้านประท้วงญี่ปุ่นของชาวจีนชาตินิยม เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการที่ญี่ปุ่นขอเข้าเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เมื่อปี 2005

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท