Skip to main content
sharethis

25 มี.ค.2558 กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ ได้ดำเนินการสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ  29  แห่ง จำนวน 65 คน เรื่อง  “ความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ต่อภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 13 – 20 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา พบว่า

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ร้อยละ 58.5 เห็นด้วยกับกฎหมาย  “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” โดยให้เหตุผลว่าเป็นเครื่องมือที่พอจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้บ้าง รวมถึงช่วยเพิ่มรายได้ให้กับรัฐในการใช้พัฒนาประเทศ  พัฒนาท้องถิ่น  ขณะที่ร้อยละ 20.0  ไม่เห็นด้วย  โดยให้เหตุผลว่าควรเน้นเก็บภาษีเฉพาะกับผู้ที่มีที่ดินมาก  มีที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ มีบ้านราคาแพงๆ รวมถึงเศรษฐกิจช่วงนี้ไม่ดีจึงเป็นภาระกับผู้มีรายได้น้อย  ส่วนผู้มีรายได้สูงย่อมไม่กระทบ

เมื่อถามว่า “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ที่กำหนดให้ยกเว้นการเสียภาษีให้กับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท  เหมาะสมหรือไม่  ส่วนใหญ่ร้อยละ 55.4  เห็นว่า  ไม่เหมาะสมโดยเห็นว่าควรยกเว้นในระดับที่สูงกว่านี้ที่ไม่เกิน 3.0 ล้านบาท  ขณะที่ร้อยละ 33.8  เห็นว่าเหมาะสมแล้ว  สำหรับอัตราภาษีที่อยู่อาศัยที่เก็บ 0.1% ของราคาประเมิน นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 55.4  เห็นว่าเหมาะสมแล้ว ขณะที่ร้อยละ 10.8  เห็นว่าไม่เหมาะสม  และร้อยละ 17.0 เห็นว่าควรใช้อัตราก้าวหน้าในการจัดเก็บ    

ด้านการจัดเก็บภาษีที่ดินเกษตรกรรม 0.05% ของราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน  นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 41.5  ไม่เห็นด้วย  เพราะ เป็นอัตราที่สูงเกินไป  อีกทั้งเกษตรกรมีรายได้ไม่แน่นอนและค่อนข้างต่ำจากราคาพืชผลทางการเกษตรที่ลดลง  สร้างต้นทุนและภาระให้กับเกษตรกร  ดังนั้นจึงควรเว้นภาษีสำหรับเกษตรกรเพื่อส่งเสริมการเกษตร  แต่ควรมีมาตรการกับนายทุนหรือผู้ที่ไม่ใช่เกษตรกรตัวจริง  ขณะที่ร้อยละ 32.3  เห็นด้วย

สำหรับแนวคิดการนำรายได้ส่วนหนึ่งจาก “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” มาสนับสนุนการจัดตั้งธนาคารที่ดิน เพื่อช่วยประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกิน พบว่าร้อยละ 50.8  เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว  ขณะที่ร้อยละ  33.8  ไม่เห็นด้วย    

นอกจากนี้  นักเศรษฐศาสตร์ยังมีความเห็นต่อ “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ต่อประเด็นต่างๆ ดังนี้ ร้อยละ 56.9  เห็นว่า  “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง”  ไม่ช่วยลดการซื้อขายที่ดินเพื่อเก็งกำไร ร้อยละ 46.2  เห็นว่า   “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง”  ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เก็บจากคนในท้องถิ่นเพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาท้องถิ่น ไม่ช่วยให้คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการใช้เงินงบประมาณ  และตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณมากขึ้น  ร้อยละ 32.3 เห็นว่า   “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง”ที่คนในท้องถิ่นจ่ายเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นไม่มีส่วนทำให้การเมืองท้องถิ่นมีการพัฒนาดีขึ้นกว่าเดิม ร้อยละ 50.8 เห็นว่า  “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ไม่ช่วยสร้างความเป็นธรรม หรือลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ได้อย่างมีนัยสำคัญ

ร้อยละ 43.1  เห็นว่า  “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” จะช่วยให้มีการใช้ประโยชน์จากที่ดิน  ลดที่ดิน    รกร้างว่างเปล่า  ได้อย่างมีนัยสำคัญ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net