สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินเสนอใส่หลักสูตรปฐมพยาบาลเบื้องต้นในทุกชั้นเรียน

26 มี.ค.58 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา ได้มีพิธีปิดการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติประจำปี พ.ศ. 2558 ครั้งที่9 ภายใต้หัวข้อเชื่อมห่วงโซ่คุณภาพการแพทย์ฉุกเฉินไทยเป็นวันสุดท้าย โดยในงานงานได้มีการเสวนาในห้วข้อ “ทำอย่างไรให้ทุกชีวิตปลอดภัยในรถพยาบาล”  และมีการยื่นข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการแพทย์ฉุกเฉินไทยต่อกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ  

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าวในการเสวนาว่า จากผลสำรวจการเสียชีวิตของคนไทยบนท้องถนนในช่วงปี พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมาพบคนไทยเสียชีวิตประมาณ 2 หมื่นรายต่อปี ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในประเทศแถบเอเชียและสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก ซึ่งสาเหตุการตายนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการเชื่อมโยงต่อเจ้าหน้าที่ทำงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่มาจากทุกบนท้องถนนของคนไทย ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่กู้ชีพบางรายต้องประสบอุบัติเหตุทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งปีที่ผ่านมามีรถพยาบาลฉุกเฉินเกิดอุบัติเหตุมากถึง 61 ครั้งและมีคนบาดเจ็บจากอุบัติเหตุครั้งนี้ 130 ราย และตายอีก 19 ราย โดยเฉพาะในช่วงใกล้เทศกาลจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้บ่อยครั้งโดยภาคอีสานจะเกิดเหตุบ่อยที่สุด โดยจังหวัดขอนแก่นเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือจังหวัดระยอง เชียงใหม่ นครศรีธรรมราชและจังหวัดเพรชบูรณ์

เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าวจะพบว่าปัญหาสำคัญอยู่ที่พนักงานขับรถพยาบาลฉุกเฉินไม่เคยผ่านการอบรมการขับขี่รถพยาบาลที่ถูกต้องเลย ซึ่งแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อไปจะต้องมีการเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่องโดยสพฉ.ได้จัดโครงการอบรมพนักงานขับรถพยาบาลฉุกเฉินหรือสุภาพบุรุษนักขับขึ้นเพื่อให้พนักงานขับรถได้เรียนรู้หลักและแนวทางในการขับรถพยาบาลที่ปลอดภัย นอกจากนี้แล้วยังมีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการออกหลักสูตรการขับรถพยาบาลให้ผู้ที่จะเข้ามาทำงานในตำแหน่งนี้ได้เรียนรู้และต้องผ่านมาตรฐานหลักเกณฑ์ที่เป็นระบบนี้ด้วย

นพ.ณรงค์ ธาดาเดช ตัวแทนผู้อำนวยการสำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นซึ่งเราจะได้ให้ความสำคัญกับพนักงานขับรถโดยจะมีการเข้มงวดให้มีการตรวจวัดแอลกอฮอล์ซึ่งขณะนี้ทุกโรงพยาบาลได้มีมาตรการนี้แล้ว ขณะเดียวกันก็ต้องมีการสำรวจความพร้อมของรถว่ามีความปลอดภัยตามมาตรฐานแค่ไหน ขณะที่ศูนย์รับเรื่องเพื่อที่จะส่งต่อผู้ป่วยเราได้เน้นย้ำให้มีการคัดกรองว่าผู้ป่วยรายไหนมีความสำคัญในการส่งต่อไปยังพื้นที่ก็จะให้เร่งดำเนิน แต่ถ้าผู้ป่วยที่ยังไม่มีความจำเป็นในการส่งต่อก็ให้รักษาในพื้นที่เพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ซึ่งมาตรการในการแก้ไขระยะยาวเราจะแยกการสอบใบขับขี่พนักงานขับรถพยาบาลฉุกเฉินออกมาต่างหากโดยจะจัดให้มีใบขับขี่เฉพาะรถพยาบาลโดยจะมีการควบคุมความเร็วพร้อมทั้งติดตั้งระบบ GPS เพื่อติดตามคนขับให้ขับรถพยาบาลอย่างปลอดภัยด้วย

ศราวุธ  เลิศพลังสันติ นักวิจัยประจำเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) กล่าวว่าปัจจุบันพบว่ารถพยาบาลฉุกเฉินและรถกู้ชีพของประเทศไทยเรายังไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากลทั้งในส่วนโครงสร้างของตัวรถรวมไปถึงค่านิยมความปลอดภัยของคนไทยมักไม่คาดเข็มขัดนิรถภัยซึ่งอาจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุของเจ้าหน้าที่เอง ซึ่งเรื่องนี้จะต้องมีการดำเนินการแก้ไขและเปลี่ยนทัศนคติกันต่อไป แต่สิ่งที่สามารถเปลี่ยนได้เลยคือสีและแสงของรถพยาบาลฉุกเฉินและรถกู้ชีพ ที่ควรจะทำให้เห็นได้ทั้งกลางวันและกลางคืน โดยเฉพาะคนตาบอดสีก็จะต้องทำให้เห็นได้โดยเปลี่ยนเป็นสีเขียวและสีเหลืองมะนาว ซึ่งในต่างประเทศได้มีการเริ่มดำเนินการเปลี่ยนแล้ว ขณะที่การจัดวางเก้าอี้ภายในรถพยาบาลฉุกเฉินและรถกู้ชีพควรจะมีเฉพาะผู้ป่วยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นไม่ควรให้ญาติผู้ป่วยเข้ามาอยู่ด้านไหน

ณัฐกานต์ ไวยเนตร ผู้เชี่ยวชาญด้านการสอบสวนการเกิดอุบัติเหตุทางถนน สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข กล่าว่า จากประสบการณ์การทำงานและผลสำรวจการเกิดอุบัติเหตุของพนักงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่ออกปฏิบัติหน้าที่พบว่า 95 เปอร์เซ็นต์เกิดจากความบกพร่องของคนขับซึ่งหากสังเกตให้ดีจะพบว่าเกือบทุกโรงพยาบาลโดยเฉพาะในต่างจังหวัดจะมีการนำรถจ้างเหมามาวิ่งให้บริการ ซึ่งกรณีนี้เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าคนขับมาจากไหนมีประวัติอย่างไรและคนเหล่านี้เคยผ่านการฝึกอบรมมาหรือไม่ จึงทำให้แพทย์และพยาบาลที่อยู่ในรถอยู่บนความเสี่ยง หากคนขับรถมีการขับเร็วเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่ปฏิบัติหน้าที่ก็ไม่กล้าตักเตือนหรือหากตักเตือนไปคนขับรถก็จะโกรธและขับรถด้วยความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งนี้เคยมีกรณีที่เราตรวจระดับแอลกอฮอล์คนขับรถพยาบาลฉุกเฉินพบว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์ที่สูงมากในช่วงกลางวันถือเป็นเรื่องที่แย่มาก ซ้ำร้ายยังมีการปิดบังข้อมูลในส่วนนี้จากเจ้าหน้าที่ตำรวจนี้ นอกจากนี้อีกวิกฤตหนึ่งที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบุติเหตุก็คือคนขับรถพยาบาลฉุกเฉินมักคิดว่าตนเองสามารถฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรได้ ถือเป็นความเชื่อที่ผิดเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายอย่างยิ่ง ขณะที่พรบ.ประกันสุขภาพการเกิดอุบัติเหตุเกี่ยวกับแพทย์พยาบาลตนอยากให้ปรับค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่เหล่านี้ให้มากขึ้นเพราะจากเดิมที่ให้อยู่ที่ 4 แสนบาทนับว่าไม่เพียงพอ  นอกจากนี้ความเร็วในการขับรถก็ควรมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนขับรถว่าไม่ควรใช้ความเร็วเกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และตนอยากเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงเบอร์ 1669 เพราะเลข1669 เป็นเลขหลายตัวจำยาก และภายในรถพยาบาลควรจะมีเก้าอี้เจ้าหน้าที่การแพทย์และผู้ป่วยเท่านั้นไม่ควรมีเก้าอี้ของญาติ และในส่วนของอุปกรณ์ความปลอดภัยในรถพยาบาลควรมีการปรับปรุงให้ใช้ได้สะดวกสำหรับเจ้าหน้าที่การแพทย์เช่นเข็มขัดนิรภัยควรนำมาวางให้เห็นอย่างเด่นชัดเพื่อใช้ได้สะดวก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังจากเวทีเสวนาเสร็จสิ้นลงตัวแทนเจ้าหน้าที่จากทีมสหสาขาวิชาชีพด้านการแพทย์ฉุกเฉินได้ร่วมกันยื่นข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการแพทย์ฉุกเฉินไทยต่อกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติโดยมีรายละเอียดในข้อเสนอดังนี้ 1. ข้อเสนอเพื่อคุ้มครองประชาชนในภาวะฉุกเฉิน เสนอกำหนดให้การดูแลตนเองเมื่อเกิดภัย การปฐมพยาบาล การช่วยฟื้นคืนชีพ และการใช้เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตตาโนมัติ(AED)อยู่หลักสูตรการเรียนทุกระดับ และอยู่ในโรงงาน สถานประกอบการ และกลุ่มอาชีพที่ดูแลความปลอดภัย  และให้มีเครื่องมือปฐมพยาบาลและเครื่อง AED ได้รับการติดตั้งเตรียมพร้อมในที่สาธารณะที่มีความเสี่ยงตามมาตรฐาน   2. ข้อเสนอเพื่อความคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินและผู้ปฏิบัติการ  เสนอให้มีกฎหมายกำหนดให้พนักงานขับรถการแพทย์ฉุกเฉินต้องผ่านมาตรฐานการขับขี่เฉพาะ  รวมทั้งกำหนดมาตรการความปลอดภัยของรถการแพทย์ฉุกเฉินและการประกันภัยเป็นนโยบายเร่งด่วน  3. ข้อเสนอเพื่อการพัฒนาบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินอย่างยั่งยืน เสนอให้มีระเบียบเปิดช่องทางการศึกษาอย่างต่อเนื่องจากระดับประกาศนียบัตรสู่ระดับปริญญาตรีของหลักสูตรการแพทย์ฉุกเฉินพร้อมเปิดช่องทางให้ผู้สำเร็จการศึกษาทุกระดับมีโครงสร้างและมาตรฐานกำหนดตำแหน่งทั้งในภารรัฐและท้องถิ่น  4. ข้อเสนอเพื่อพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน  เสนอให้ท้องถิ่นเร่งดำเนินงานการแพทย์ฉุกเฉินโดยมีงบประมาณสนับสนุนชัดเจนและกำหนดนโยบายเร่งพัฒนาการับแจ้งเหตุหมายเลขเดียวและการสั่งการที่มีประสิทธิภาพแม่นยำและทันเหตุการณ์

พล.อ.ชูศิลป์ คุณาไทย ประธานกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข สภาปฏิรูป (สปช.)กล่าวว่า ในนามของสภาปฏิรูปแห่งชาติจะรับเรื่องนี้ไว้ เนื่องจากมีประเด็นหลายอย่างที่เรากำลังศึกษาอยู่อาทิเรื่องการปฏิรูประบบสื่อสารแห่งชาติที่ต้องปฏิรูปในเรื่องข้อมูลสุขภาพที่จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชนที่จะทำให้เกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉินและยืนยันว่าต้องมี สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเข้ามาร่วมทำงานให้เกิดเป็นรูปธรรมด้วย โดยจะยกให้สพฉ.เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการทั้งหมด  นอกจากนี้แล้วในกรณีเรื่องเบอร์ฉุกเฉินที่หลายฝ่ายได้มีข้อเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อการจดจำง่ายและให้เป็นเบอร์เดียวที่สามารถรับเรื่องได้ทุกเรื่องคือหมาย 112 ซึ่งเรื่องนี้ได้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสปช.เพื่อเตรียมประกาศใช้ต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท