Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา บริษัท ป่าสาละ จำกัด ดำเนินการภายใต้ทุนวิจัยจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ขอเชิญท่านร่วมงานสัมมนา “การธนาคารที่ยั่งยืนในประเทศไทย” (Sustainable Banking Thailand) ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมฮิลตัน ซอยสุขุมวิท 24  โดยมี สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด กล่าวถึงผลสรุปงานวิจัย“เหตุผลทางธุรกิจของการธนาคารที่ยั่งยืนในประเทศไทย”

งานวิจัยดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความตระหนักในระดับผู้ดำเนินนโยบาย นักการเงิน ธุรกิจการธนาคาร และผู้มีส่วนได้เสียฝ่ายอื่นๆ ในสังคมไทย ถึงความสำคัญของวิถีการธนาคารที่ยั่งยืน จัดตั้ง “เครือข่ายการธนาคารที่ยั่งยืนแห่งประเทศไทย” ที่ประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้องจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ ที่สนใจในวิถีการธนาคารที่ยั่งยืน และพร้อมจะทำตัวเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรที่ตนสังกัด และเพื่อรณรงค์ส่งเสริมธรรมเนียมปฏิบัติของการธนาคารที่ยั่งยืน ตลอดจนมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง อาทิ Equator Principles

สฤณี กล่าวถึงรูปธรรมของธนาคารที่ยั่งยืนในไทย ซึ่งการธนาคารที่ยั่งยืนในภาคปฏิบัติวันนี้จะต้องพิสูจน์ผ่านการดำเนินธุรกิจสองด้านหลักด้วยกัน คือ ด้านการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ ทั้งสินเชื่อสำหรับลูกค้า ธุรกิจและสินเชื่อสำหรับลูกค้ารายย่อย และ ด้านการเสริมสร้างการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชากรที่ยังเข้าไม่ถึง

สำหรับรูปธรรมของธนาคารที่ยั่งยืนในไทยนั้น คณะวิจัยพบว่าวงการธานคารพานิชย์ไทยโดยรวมยังค่อนข้างล้าหลังทั้ง 2 ด้าน แต่ธนาคารพาณิชย์ที่นำวิถีปฏิบัติของธนาคารที่ยั่งยืนไปประยุกต์ใช้น่าจะมีโอกาสทางธุรกิจหลายประการโดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงความสนใจของธนาคารหลายแห่งที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำในระดับภูมิภาค ภายหลังการเปิดตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการบุกตลาดผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะการเติบโตอย่างก้าวกระโดของการใช่สมาร์ทโฟนและเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (อ่านรายงานวิจัยเพิ่มเติม)

สฤณี อาชวานันทกุล

สฤณี ได้ยกองค์ประกอบของการธนาคารที่ยั่งยืน ตามในรายงาน “Banking for Sustainability ของ IFC หรือ International Finance Corporation ซึ่งต้องทำ 4 เรื่อง ดังนี้

1 ธนาคารต้องมีความมั่นคงทางการเงินของสถาบันการเงินและลูกค้า จะได้สามารถมีส่วนร่วมในระยะยาวกับการพัฒนาประเทศ

2 ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของโครงการและบริษัทต่างๆ ที่สถาบันการเงินออกทุนให้

3 ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมผ่านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

4 ความยั่งยืนทางสังคมผ่านสวัสดิการของชุมชน

หากธนาคารให้ความสำคัญเรื่องนี้ คนจะให้ความเชื่อมั่นมากขึ้น ตัวนักลงทุนเองก็เรียกร้องให้สนใจความยั่งยืน  และลุกค้าของธนาคารเองก็มีการเรียกร้องให้ธนาคารใส่ใจเรื่องของสินเชื่อที่ปล่อยไปแล้วไม่ก่อให้เกิดรายได้ ด้วย

นอกจากนี้ สฤณี ยังได้นเสนอระดับของธนาคารที่ยั่งยืน ตั้งแต่

1.     ระดับ ที่เน้นการประชาสัมพันธ์ ทำกิจกรรมซีเอสอาร์ การกุศล ไม่เกี่ยวใดๆ กับการดำเนินธุรกิจหลักของธนาคาร

2.     ระดับ ที่มีโครงการ กิจกรรมหรือผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน เช่น สินเชื่อเขียว มาเสริมผลิตภัณฑ์หลัก

ซึ่งธนาคารของไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับ 1 กับ 2

3.     ระดับที่มีหลักการและธรรมเนียมปฏิบัติเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นรากฐานของผลิตภัณฑ์และกระบวนการต่างๆ ของธนาคาร

4.     ระดับ ที่มีการจับมืเป็นแนวร่วมกับธนาคารอื่นและสื่อสารกับสาธารณะ สนับสนุนนักลงทุนที่รับผิดชอบ แก้ไขกฏเกณฑ์กำกับดูแลภาคธนาคารให้มุ่งสู่ความยั่งยืน

5.     ระดับ ที่มีเป้าหมายไม่ใช่หลีกเลี่ยงสถานการณ์เชิงลบ อีกต่อไป แต่เน้นการสร้างนวัตกรรมเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ตัวอย่างความร่วมมือของธนาคาร ที่สร้างเครือข่ายและให้รางวัล เช่น GABV ที่มีสมาชิก 25 แห่ง UNEP FI ที่มีสถาบันการเงินลงนามกว่า 200 แห่งทั่งโลก โดยมีธนาคารทิสโก้และ บ.กรุงเทพประกันภัย เข้าร่วมด้วย เป็นต้น

สฤณี กล่าวถึง แนวโน้มโลกที่ทำให้วิถีธนาคารที่ยั่งยืนมีประโยชน์ทางธุรกิจสูงขึ้น ประกอบด้วย วิถีธุรกิจที่ไม่ยั่งยืน มีความชัดเจนมากขึ้น ต้นทุนที่เคยตกอยู่กับสังคม สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ธุรกิจที่เป็นลุกค้าของธานคารต้องแบกรับมากขึ้น ข้อตกลงระหว่างประเทศ กฏหมายและแรงจูใจจากภาครัฐ อาทิ ภาษีคาร์บอน สิทธิประโยชน์ทางภาษี ฯลฯ กำลังเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจให้กับธุรกิจที่ยั่งยืน อาทิ พลังงานหมุนเวียน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เกษตรอินทรีย์ ฯลฯ รวมทั้ง เอ็นจีโอ หันมาให้ความสนใจ ธนาคารมากขึ้นในฐานะผู้มีบทบาท มีมาตั้งคำถามกับ ธนาคารมากขึ้น

ตัวอย่างกรณีความเสี่ยงทางการเงินของโครการเขื่อนไชยะบุรี ที่ไม่มีสถาบันการเงินรายใดในไทยลงนามรับหลัก Equator ไทยยังมีแต่บริษัทรับเหมาก่อสร้าง ไม่มีบริษัทผู้เชี่ยวชาญไฟฟ้าพลังน้ำ ต้นทุนเพิ่มจากประมาณการเดิมแล้วกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มาตราการดักตะกอนสุ่มเสี่ยงที่จะลดรายได้และเพิ่มค่าใช้จ่าย ไม่เคยได้รับความเห็นชอบจากกัมพูชาและเวียดนาม ประเทศท้ายน้ำที่จะได้รับผลกระทบสูงสุด กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าตามข้อตกลงไม่เคยแล้วเสร็จ ความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับเงินกู้คืน จากความเสี่ยงทางกฏหมาย

ระบบคุ้มครองผู้บริโภคการเงิน โดยเฉพาะหลังวิกฤติทางการเงิน เรียก World Bank Good Practices ของ ธนาคารโลก ประกอบด้วย อำนาจการกำกับดูแลไม่ควรกระจายอยู่ในหลายหน่วยงาน การเปิดเผยข้อมูลที่รับผิดชอบ ข้อมูลทั้งหมดต้องเปิดเผยในภาษาที่เข้าใจง่าย เพียงพอ ให้ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ ใช้วิธีขายที่เป็นธรรมและเหมาะสม ไม่ยัดเยียด ให้เวลาเปลี่ยนใจ คุ้มครองความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค มีกลไกเยียวยา รับเรื่อร้องเรียน และส่งเสริมการให้ความรู้ทางการเงินและความตระหนักรู้เรื่องการเงิน

สำหรับประสิทธิผลของโครงการให้ความรู้ทางการเงิน เช่น จัดอบรม สิ่งที่มีประสิทธิผลจริงที่สามารถเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน คือต้องทำที่จุดขายหรือให้บริการ เพราะเป็นจุดที่คนต้องตัดสินใจ

สฤณี ระบุถึงนัยจากพฤติกรรมทางการเงินของคนไทย ค่าใช้จ่ายก่อนใหญ่ที่เป็นปัญหา คือประเภทที่เกิดกะทันหัน และอาศัยทุนทางสังคมไม่ได้ และคนไทยโดยรวมยังไม่ออมเงินระยะยาว ต้องบูรณาการให้ความรู้ทางการเงินในการออกแบบผลิตภัณฑ์เงินออมระยะยาว

หนี้ที่สร้างปัญหาจริงๆ คือหนี้ที่กำหนดยอดชำระสูงและเงินต้นไม่ลดลงระหว่างทางและคนจำนวนมากกลัวการเป็นหนี้ ต้องปรับปรุงมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลสินเชื่อและให้ความรู้เรื่องวิธีจัดการหนี้ คนไทยโดยรวมรู้สึกเครียดกับการทำบัญชีรายรับ-จ่าย ลำพังการแจกแบบฟอร์มบัญชี สอบบัญชีและสร้างเครื่องมือให้ความรู้ทางการเงินไม่เพียงพอ ต้องฝังการให้คำแนะนำอย่างสร้างสรรค์และให้กำลังใจด้วยเพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนใช้เครื่องมือจริงๆ 

เครือข่ายการธนาคารที่ยั่งยืนแห่งประเทศไทย

“เครือข่ายการธนาคารที่ยั่งยืนแห่งประเทศไทย” เป็นการรวมตัวกันของนักการเงิน นักการธนาคาร และบุคลากรในภาคการเงิน รวมถึงนักวิชาการด้านการเงินการธนาคาร ผู้มีความสนใจร่วมกันที่จะขับเคลื่อนภาคธนาคารกระแสหลักในไทย ให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ “การธนาคารที่ยั่งยืน” (sustainable banking) ได้อย่างเป็นรูปธรรม”

วัตถุประสงค์ของเครือข่ายฯ

1.     เป็นแหล่งเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการธนาคารที่ยั่งยืนของสมาชิก และระหว่างสมาชิกกับบุคคลภายนอก ผ่านการจัดประชุม ประชุมเชิงปฏิบัติการ และ/หรืองานสัมมนารายไตรมาส

2.     เป็นเวทีกลางในการค้นคว้าวิจัยในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการธนาคารที่ยั่งยืน

3.     เป็นสถาบันกลางในการติดต่อประสานงานกับองค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการธนาคารที่ยั่งยืน อาทิ BSRGlobal Alliance of Banking on Values (GABV)Equator PrinciplesInternational Finance Corporation

คุณสมบัติของผู้ประสงค์เป็นสมาชิก

1.     ประกอบอาชีพเกี่ยวข้องกับภาคการเงินการธนาคารในประเทศไทย อาทิ นายธนาคาร นักวิเคราะห์ เจ้าหน้าที่องค์กรกำกับดูแล กรรมการกลุ่มองค์กรการเงินชุมชน นักวิชาการด้านการเงิน

2.     มีความสนใจในแนวคิด วิถีปฏิบัติ และเหตุผลทางธุรกิจของ “การธนาคารที่ยั่งยืน”

3.     สามารถสละเวลามาร่วมกิจกรรมของเครือข่ายฯ ได้ไม่น้อยกว่าปีละ 2 ครั้ง

สิทธิประโยชน์ของสมาชิก

1.     ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ และไม่มีข้อผูกมัดใดๆ ทั้งสิ้น

2.     รับข้อมูลข่าวสารของเครือข่ายฯ ผ่านทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์

3.     รับรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ “Business Case for Sustainable Banking in Thailand” โดย บริษัท ป่าสาละ จำกัด และงานวิจัยทุกฉบับโดยเครือข่ายฯ ผ่านทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์

4.     หนังสือ “การเงินปฏิวัติ”  โดย สฤณี อาชวานันทกุล ฟรี! เมื่อสมัครเป็นสมาชิก (เฉพาะ 40 ท่านแรกเท่านั้น)

ท่านใดปรารถนาอยากยกระดับวงการธนาคารไทยไปพร้อมกับเรา เชิญสมัครได้แล้ววันนี้ โดยคลิกที่นี่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net