Skip to main content
sharethis

เมื่อต้องกลายเป็นเหยื่อข่าว ถูกชี้นำ พิพากษา ไม่ตรวจสอบข้อมูล แบ่งฝ่าย เหยียดเพศ ใช้ Hate Speech สร้างความเกลียดชังแตกแยก เสรีภาพสื่อ? เหยื่อข่าว? ความ(ใคร)รับผิดชอบ?

เป็นคำโปรยที่มาของงานสัมมนา “ข่าวบอกว่าฉันผิด” ที่จัดโดย นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยมีวิทยากรนักวิชาการจากสายปรัชญาอย่าง รศ.ดร.โสรัจจ์ หงส์ลดารมภ์ อาจารย์จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมด้วยวิทยากรด้านจริยธรรมสื่ออย่าง บรรยงค์ สุวรรณผ่อง บรรณาธิการที่ปรึกษาหนังสือพิมพ์อีคอนนิวส์และประธานกรรมการควบคุมจริยธรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสื่อสารมวลชน คือ ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการบริหารเว็บไซต์ประชาไท และหนึ่งในพิธีกรรายการ Wake Up Thailand ทาง Voice TV

 

วิกฤติสื่อมวลชน จากการไม่สามารถแยกระหว่างข้อเท็จจริง-ความคิดเห็น

วงเสวนาเริ่มด้วยเปิดมุมมองความน่ากลัวของการสื่อสารว่าไม่ได้อยู่ที่สื่อกระแสหลักอีกต่อไปและสังคมที่แยกไม่ออกระหว่าง ข่าวข้อเท็จจริงและข่าวความคิดเห็น โดย ชูวัส กล่าวว่า สื่อไม่ได้หมายถึงแค่สื่อมวลชนหรือสื่อกระแสหลักอีกต่อไปในโลกสมัยใหม่ ความน่ากลัวไม่ได้หมายถึงสื่ออย่างเดียว แต่ความน่ากลัวคือการที่คุณส่งต่อให้คนอื่น คนที่ส่งต่อข้อมูลต่างหากที่มีส่วนสำคัญที่เป็นปัญหาด้วย เพราะว่าในข่าวแต่ละข่าวมีการประทับรับรองโดยคนใกล้ตัวหรือสถาบันทางสังคมสิ่งนี้มีความน่าเชื่อถือในตัว ยกตัวอย่าง ฟอร์เวิร์ดข้อความข่าวในไลน์ ล้วนแต่เป็นเท็จ บิดเบือน ไม่ถูกต้อง ในฐานะคนทำงานสื่ออาจเข้าใจได้ว่าข่าวไหนลวงหรือจริง แต่คนอื่นๆเขาเชื่อข่าวสารนั้นเพราะเรื่องนั้นผ่านจากปากพ่อแม่ ญาติ ครู ของเขา ระบบการสื่อสารนั้นเปลี่ยนแปลงไปมาก จึงมีทั้งข่าวที่เป็นปัญหาและตัวสื่อที่เป็นปัญหาด้วย

ชูวัสกล่าวเสริมอีกว่า ข่าวคือข้อเท็จจริง แต่ข่าวที่ไหลเวียนอยู่ในสื่อกระแสหลักหรือสื่อทั่วไป สื่อบุคคล สื่อโซเชียลมีเดีย ณ บัดนี้ข่าวถูกแยกเป็นสองอย่างคือ ข่าวที่หมายถึงข้อเท็จจริง และ ข่าวที่หมายถึงความคิดเห็น ข้อเท็จจริงก็ไม่ได้แปลว่าความจริง แต่แปลว่าเขาพูดโกหกก็ได้ หมายถึงเขาพูดเป็นข้อเท็จจริง เขาพูดสิ่งนั้นที่เป็นสิ่งโกหก อันนั้นก็เป็นข้อเท็จจริง แต่ข้อเท็จจริงไม่ใช่ความจริง ต้องแยกกันให้ออก ส่วนที่เป็นความเห็น ประเด็นคือ ตอนนี้มันปะปนกันไปหมด วิกฤติของสื่อมวลชนที่เผชิญกันอยู่ทุกวันนี้และก่อให้เกิดวิกฤติทางการเมือง ทางสังคม ล้วนมาจากการไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรคือข้อเท็จจริงและอะไรคือความคิดเห็น คนทำวิชาชีพสื่อก็เจอปัญหานี้เหมือนกัน จนกระทั่งก้าวข้ามสิ่งนี้ไปและไม่สนใจแล้วว่าอะไรเป็นข้อเท็จจริงอะไรเป็นความคิดเห็น เมื่อตัวข่าวมีเนื้อหาที่หาความชัดเจนไม่เจอ เมื่อผ่านสื่อที่รับรองจากผู้คนใกล้ชิดของเรา จึงทำให้มันน่าเชื่อถือมากขึ้น เพราะฉะนั้นไม่แปลกที่ข่าวถูกบิดเบือน ถูกใส่ร้ายป้ายสี ข่าวที่ไม่เป็นความจริง มันจึงได้รับความน่าเชื่อถือเพราะมันออกมาจากปากคนที่น่าเชื่อถือ มันจึงทำให้สิ่งถูกกลายเป็นสิ่งผิด สิ่งผิดกลายเป็นสิ่งถูก

 

ยิ่งสำนักข่าวที่บอกว่าตัวเองเชื่อถือได้ ยิ่งอย่าไปเชื่อ

ในด้านเสรีภาพสื่อ บนความรับผิดชอบ ผู้ดำเนินรายการได้ตั้งคำถามว่าการถามหาความรับผิดชอบกับสื่ออย่างเดียวเท่ากับมองที่ปลายเหตุหรือไม่ ถ้ามองย้อนตัวนายทุนเองและตัวผู้บริโภคสื่อ ต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบด้วยหรือไม่ เพราะนักข่าวทำข่าวตอบสนองนายทุน นายทุนตอบสนองผู้บริโภค

ชูวัส แสดงความคิดเห็นว่า ปัญหาเรื่องนายทุนต้องรับผิดชอบด้วยหรือไม่ มันเป็นปัญหาคลาสสิคมาก โดยส่วนตัวเชื่อว่าเสรีภาพสื่อไม่มีจริง เพราะปกติแล้วสื่อเกือบทุกสำนักแยกกองบรรณาธิการออกจากฝ่ายธุรกิจ  แต่ในทางปฏิบัติแล้วทำยากมากเพราะมันเป็นเรื่องปากท้องจริงๆ ถ้าขายข่าวไม่ได้ ฝ่ายตลาดก็จะไล่บี้คุณ โดยส่วนตัวเชื่อว่าสื่อในระบบธุรกิจอยากให้มองเป็นสื่อแบบนึง หรือสื่อแบบไหนก็ตามต่อให้เทวดาลงมาก็เป็นสื่อแบบนึง อย่าไปคิดว่าสำนักข่าวเป็นศักสิทธิ์ เพราะสิ่งที่สื่อนำเสนอ ไม่ใช่คำสอน สัจจะ คือจะหลอกประชาชนก็ได้ ยิ่งสำนักข่าวที่บอกว่าตัวเองเชื่อถือได้ ยิ่งอย่าไปเชื่อ อยากเสนอให้ลดความศักสิทธิ์ของสถาบันสื่อลง เริ่มการตั้งคำถามเพิ่มมุมมอง เป็นภูมิคุ้มกันสื่อ

ทั้งนี้เรื่องของการกำกับดูแลสื่อชูวัสเสริมว่า การดูแลสื่อโดยไม่ให้รัฐเข้ามาแทรกแซงเป็นหลักการที่ทั่วโลกยอมรับ แต่หลักประกันของสิทธิเสรีภาพสื่อปัญหาคือทำได้จริงหรือไม่ นี่เป็นปัญหาของสภาการหนังสือพิมพ์และสังคมไทยไม่ควรไปคาดหวังกับสภาการหนังสือพิมพ์ เพราะสภาการหนังสือพิมพ์ไม่สามารถออกมาตรการอะไรได้ เป็นองค์กรที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ปัญหาคือจะกำกับกันเองอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ

“ประชาชนจะตัดสินเองหากคุณทำผิด เวลาสื่อมวลชนสู้กับรัฐมักจะบอกว่า อย่ามายุ่งกับสิทธิเสรีภาพ เพราะประชาชนผู้อ่านเป็นคนตัดสินเราเอง สังคมไทยไม่ควรไปคาดหวังกับสภาการหนังสือพิมพ์ เพราะเขาไม่มีอำนาจอะไร จึงอยากเสนอให้องค์กรที่กำกับดูแลด้านสื่อควรเน้นในการสร้างกลไกบางประการ เช่น ส่งเสริมให้ผู้บริโภค ฟ้อง ทำกลไกแบบนี้ให้มันเกิด การควบคุมจริยธรรม จรรยาบรรณ มันจึงจะเป็นจริงได้” ชูวัสกล่าว

 

เสรีภาพสื่อที่ลื่นไหลเกินขอบเขตของจนกลายเป็นเฮทสปีช

โสรัจจ์ ได้กล่าวเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกว่า เสรีภาพในการพูดการแสดงออกมีบทบาทสำคัญคือ ไม่สามารถแยกออกจากสังคมประชาธิปไตย หากต้องการเป็นประชาธิปไตย สิ่งนี้ไม่มีทางที่จะปิดกั้นหรือตัดเสรีภาพในการพูดการแสดงออกไปจากประชาชนได้ จอน สจ๊วดมิล นักปรัชญา ได้เสนอว่า เหตุผลที่เสรีภาพในการพูดการแสดงออกมีความสำคัญเพราะ หากมีการปิดกั้นไม่ให้มีการแสดงออก ผู้มีอำนาจที่ใช้อำนาจสั่งปิดกั้นจะมีเสรีภาพเต็มที่ในการเสนอภาพความจริง แต่ไม่ใช่ความจริง หมาความว่าเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจในการปกครองเสนอให้แก่ประชาชนและบอกว่านี่คือความจริง เพราะว่าประชาชนไม่มีสิทธิพูด ไม่มีเสรีภาพในการพูดและแสดงความคิดเห็น ทำให้ไม่มีโอกาสที่จะมีการเสนอข้อมูลจากฝ่ายอื่นที่ไม่ใช่ฝ่ายผู้มีอำนาจ ตรงนี้ต้องย้ำกันตลอดเพราะทุกคนต้องเข้าใจเหตุผลพื้นฐานว่าทำไมเสรีภาพในการแสดงออกนั้นสำคัญ

ส่วนเรื่องเฮทสปีช โสรัจ อธิบายว่า เฮทสปีดมาจากการใช้เสรีภาพในการพูดและการแสดงออกที่ถูกปกป้องโดยรัฐธรรมนูญในทางที่ผิด โดยรวมเป็นการใช้ประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง ยกตัวอย่างในยุโรป มีการเดินขบวนต่อต้านเกย์(เป็นส่วนหนึ่งของเสรีภาพในการแสดงออกของการเสนอความคิดเห็น) และมีการชูป้ายข้อความที่ดูหมิ่นเหยียดหยาม อย่างนี้เข้าข่ายเฮดสปีชแบบดั้งเดิม มีที่มาจากบริบทของยุโรป มาจากการใช้เสรีภาพ ฉะนั้นจึงเกิดการตีกันระหว่างการอ้างเสรีภาพกับการใช้เสรีภาพนั้นในทางที่ผิด แต่จะรู้ว่าผิด ก็ต่อเมื่อเป็นการใช้เสรีภาพเพื่อทำร้ายผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นกรณีแบบไหน หากมีการทำร้ายกัน ถือว่ามีโอกาสสูงมากที่จะเข้าข่ายเฮทสปีชและการทำร้ายกันไม่ใช่แค่ทางกายภาพเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการใช้ถ้อยคำที่รุนแรง นี่คือที่มาของเฮทสปีชทั้งหมด

“นักวิชาการเองก็มีความเห็นต่างกัน บางคนมองว่าการใช้ถ้อยคำรุนแรงที่เจาะจงคนเพียงคนเดียวนั้นไม่เข้าข่ายเป็นเฮทสปีช แต่เมื่อใดที่ใช้คำที่ที่สร้างเกลียดชังระบุถึงคนทั้งกลุ่ม นั่นถึงเข้าข่ายเป็นเฮทสปีช ด้านบรรทัดฐาน เส้นแบ่ง ของเฮทสปีช นักวิชาการก็ยังถกเถียงกันอยู่ แต่เมื่อใดที่ข้อความ ถ้อยคำ เหล่านั้นทำให้เกิดการทำร้ายกันนั่นคือเฮทสปีช” โสรัจจ์ กล่าว

 

เสรีภาพสื่อ บนความรับผิดชอบ และกระบวนการบังคับใช้กฎหมายแข็งแรง

จากนั้นนักจริยธรรมสื่อ บรรยงค์ กล่าวเสริมเรื่องการใช้คำสร้างความเกลียดชังในสื่อ หรือกรณีสื่อใช้เฮทสปีชว่า วิธีการใช้เฮทสปีชได้อย่างแนบเนียน คือการนำข้อเท็จจริงมาประกอบให้น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น โดยเขาได้วิจารณ์คอลัมน์ ยกนิ้วให้ ของหนังสือพิมพ์มติชน หน้า 3 ว่าเป็นตัวอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ตามเขากล่าวว่าหากพิจารณาในอีกแง่ ก็ไม่อาจกล่าวได้ว่ามติชนมีความบกพร่องในการรายงานข่าวเพราะเนื้อหาในหน้า 3 นั้นไม่ใช่ข่าว แต่เมื่ออ่านแล้วจะเกิดความรู้สึกไม่ชอบรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ทันที

บรรยงค์ ยังกล่าวถึงการใช้เฮทสปีชของสื่อในด้านเพศและศาสนา เช่น การประเด็นศาสนาอิสลามในฝรั่งเศส(กรณีตีพิมพ์ภาพการ์ตูนล้อเลียนหมิ่นศาสนาอิสลามของนิตสารชาลี เอ็บโด) ซึ่งเขาเห็นว่าหน้าปกหนังสือมีความรุนแรงมาก แต่สื่ออ้างfreedom of the press ในขณะที่ ต่อมา มีกรณีที่ศาลฝรั่งเศส สั่งฟ้องหมิ่นประมาท โดยผู้ถูกฟ้องหมิ่นประมาทเมียประธานาธิบดี ซึ่งในกฎหมายฝรั่งเศสนั้นอ้างว่าคุ้มครองเฉพาะ “คนเป็น” แบบนี้เท่ากับว่าใช้เฮทสปีชใส่ พระพุทธเจ้าได้หรือไม่ หมิ่นประมาทพระเยซูได้หรือไม่ และหากรวมตัวกันใช้เฮทสปีชใส่พ่อแม่คนฝรั่งเศสที่ตายไปแล้วเท่ากับศาลไม่สั่งฟ้องหมิ่นใช่หรือไม่

ขณะที่ประเด็นในประเทศไทยมีการรณรงค์ เสรีภาพสื่อ บนความรับผิดชอบ ตรงข้ามกับต่างประเทศที่รณรงค์เน้นเรื่อง เสรีภาพสื่อ สะท้อนอะไรต่อวงการสื่อไทยหรือไม่นั้น บรรยงค์ กล่าวว่า ต่างประเทศไม่ได้ดีกว่าประเทศไทย สาเหตุที่เมืองนอกไม่พูดถึงความรับผิดชอบเพราะว่ากระบวนการบังคับใช้กฎหมายแข็งแรง และในต่างประเทศประชาชนเข้มแข็ง ดังนั้นสื่อในต่างประเทศจะกลัวเรื่องถูกฟ้อง และการฟ้องแพ่งฟ้องครั้งหนึ่งค่าเสียหายสูงมาก และยังเสริมอีกว่าในเรื่องการทำให้ marketing กับ content มันเท่าเทียมกันกับวิชาชีพจรรยาบรรณสื่อนั้น ไม่ใช่ว่าสื่อไม่สามารถทำได้ สื่อสามารถทำได้ แต่จะทำกำไรหรือไม่นั้นอยากให้ช่วยกันลองพิจารณาดู

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net