Skip to main content
sharethis

ในการหารือสาธารณะสร้างเขื่อนเมืองโต๋น เพื่อผลิตไฟฟ้าจากแม่น้ำสาละวิน ล่าสุดมีการหารือที่เมืองโต๋น ในพื้นที่ใกล้จุดสร้างเขื่อน โดยชาวบ้านได้ประท้วงคัดค้านการสร้างเขื่อนเนื่องจากกังวลว่าบ้านเรือน ไร่นา และวัดที่มีความสำคัญจะจมอยู่ใต้น้ำ รวมทั้งสถานการณ์ในพื้นที่ยังไม่สงบ เพราะการเจรจาหยุดยิงระหว่างรัฐบาลกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์เพิ่งเริ่มต้น

ชาวบ้านรัฐฉาน ประท้วงการสร้างเขื่อนเมืองโต๋น ในการจัดประชุมหารือสาธารณะที่เมืองโต๋น เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2558 (ที่มาของภาพ: SHRF)

7 เม.ย. 2558 - ในการประชุมหารือสาธารณะโครงการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าแม่น้ำสาละวินตอนบน (เขื่อนเมืองโต๋น) หรือเขื่อนท่าซางเดิม จัดโดย SMEC บริษัทจากออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 6 เมษายน ที่เมืองโต๋น ห่างจากชายแดนไทย-พม่า ด้าน จ.เชียงใหม่ 80 กม. และโดยห่างจากที่ตั้งเขื่อนที่บ้านศาลา 19 กม. นั้น มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนรัฐฉาน (SHRF) รายงานว่า ชาวบ้านจากเมืองโต๋น ได้เข้าร่วมการหารือสาธารณะดังกล่าวและแสดงความเห็นคัดค้านการสร้างเขื่อน

โดยในแถลงการณ์ของชาวบ้านในเมืองโต๋น ลงวันที่ 6 เม.ย. ระบุว่า "พวกเราเห็นว่า กรอบเวลาในการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (EIA/SIA) กรณีศึกษาเขื่อนผลิตไฟฟ้าแม่น้ำสาละวินตอนบน (เขื่อนเมืองโต๋น) ที่จะต้องทำให้แล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคมนั้น สั้นเกินไป และเป็นไปไม่ได้ที่จะศึกษาผลกระทบอย่างเต็มที่ในช่วงเวลานี้"

"หากเขื่อนดังกล่าวถูกสร้าง หลายตำบล หลายหมู่บ้าน และพระเจดีย์ในพื้นที่แม่น้ำสาละวินตอนบนจะถูกน้ำท่วม นอกจากนี้การลงนามสัญญาหยุดยิงเพิ่งเริ่มต้นขึ้น และในพื้นที่ยังไม่เกิดสันติภาพ มีความจำเป็นที่สุดที่จะต้องเฝ้ารอและพิจารณาอีก 2 หรือ 3 ปีว่าจะเกิดสันติภาพหรือไม่ ก่อนที่จะดำเนินการในสิ่งใด"

"เพราะได้รับผลกระทบจากสงครามมาเป็นเวลาหลายปี ชาวบ้านท้องถิ่นในรัฐฉานมีความยินดีที่ได้ทราบข่าวการลงนามหยุดยิง แต่ในเวลาเดียวกัน พวกเราก็กังวลว่าตำบลและหมู่บ้านจะต้องจมอยู่ใต้น้ำ เนื่องจากโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าแม่น้ำสาละวินตอนบน (เขื่อนเมืองโต๋น)"

"ระดับน้ำท่วมดังกล่าวจะเกิดผลกระทบโดยเฉพาะกับเมืองกุ๋นฮิง ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำสาละวิน หลายหมู่บ้าน ทุ่งนา และวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์จะถูกทำลาย"

"ดังนั้น ชาวบ้านเมืองโต๋นจึงต่อต้านโครงการก่อสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งมีที่ตั้งห่างจากบ้านศาลา 19 กม. ซึ่งเขื่อนนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำสาละวินตอนบน (เมืองโต๋น)"

ทั้งนี้มีการเผยแพร่ภาพชาวบ้านที่เข้าร่วมการหารือสาธารณะโครงการก่อสร้างเขื่อนเมืองโต๋น โดยภายนอกสถานที่หารือ ได้มีการชูป้ายเพื่อประท้วงการสร้างเขื่อนด้วย

นอกจากนี้ ภายหลังการหารือสาธารณะ ซึ่งผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และกลุ่มสนับสนุนรัฐบาล รวมทั้ง อส.ท้องถิ่น ด้วยนั้น ต่อมาชาวบ้านกลุ่มที่คัดค้านการสร้างเขื่อนได้เดินทางไปวัดปิตะกั๊ดหงธรรมะ และได้ร่วมกันสวดมนต์เพื่อปกป้องแม่น้ำสาละวินด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การจัดหารือสาธารณะ เริ่มขึ้นครั้งแรกที่เมืองตองจี เมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) โดยเป็นการจัดหารือสาธารณะเกิดขึ้นนับตั้งแต่รัฐบาลพม่าแจ้งต่อรัฐสภาเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2557 ว่าจะก่อสร้างโครงการดังกล่าว ขณะที่โครงการดังกล่าวสมัยที่ยังใช้ชื่อว่าโครงการเขื่อนท่าซาง ทำพิธีเปิดการก่อสร้างตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2550 และจากรายงานของกลุ่ม "สาละวินวอทช์" ระบุว่าในการสำรวจของนักสิ่งแวดล้อมรัฐฉาน เมื่อเดือนมีนาคมปี 2556 พบว่า มีวิศวกรและแรงงาน ทั้งชาวจีนและชาวพม่าเริ่มทำงานในพื้นที่สร้างเขื่อน

จากข้อมูลจากเอกสารการนำเสนอของบริษัท SMEC ผู้จัดประชุมหารือสาธารณะ ซึ่งเป็นบริษัทจากออสเตรเลีย ระบุว่าเขื่อนเมืองโต๋นดังกล่าว หากผ่านการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (EIA/SIA) จะใช้เวลาประมาณ 14 ปีในการก่อสร้าง จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 7,000 เมกะวัตต์ โดยไฟฟ้า 90% จะถูกส่งให้ไทยและจีน และอีก 10% จะใช้ในประเทศ

โดยผู้ก่อสร้างเขื่อนได้แก่ บริษัทไชน่าทรีจอร์จคอร์เปอเรชั่น, ไชน่าเซาท์เทิร์น พาวเวอร์ กริด แอนด์ พาวอร์ คอนสตรัคชัน ออฟ ไชน่า รวมทั้ง บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล และ เมียนมา อินเตอร์เนชั่นแนลกรุ๊ป ออฟ เอนเทรอเพรอเนอ (IGE)

ทั้งนี้ในเอกสารนำเสนอของ SMEC ระบุว่าจะมีการโยกย้ายประชาชน 12,000 คนหากมีการสร้างเขื่อน โดยจำนวนที่แน่นอนจะระบุอีกครั้งหลังทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (EIA/SIA)

สำหรับจุดสร้างเขื่อนเมืองโต๋น อยู่ที่บ้านท่าศาลา เมืองโต๋น โดยอยู่ห่างจากจุดสร้างเขื่อนท่าซางเดิมประมาณ 19 กม. โดยเขื่อนแห่งใหม่นี้จะกักเก็บน้ำจากแม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำป๋าง ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาสายใหญ่ที่ไหลลงสู่แม่น้ำสาละวินและเป็นแหล่งจับปลาสำคัญของรัฐฉาน

และหากเขื่อนดังกล่าวเกิดขึ้นจะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำป๋างเพิ่มสูงขึ้น จนท่วมสองฝั่งของเมืองกุ๋นฮิง ชุมชนสำคัญแห่งหนึ่งของรัฐฉานที่อยู่ระหว่างเส้นทาง ตองจี - กุ๋นฮิง - เชียงตุง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net