Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


ในช่วงแรก รัฐบาลทหารปฏิเสธว่า เศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในสภาวะตกต่ำ หากแต่กำลังฟื้นตัวอย่างแข็งแรงเนื่องจากรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ได้นำความสงบมั่นคงทางการเมืองกลับคืนมา ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ แจกเงินอุดหนุนชาวนาและชาวสวนยางตามขนาดของที่ดิน เพิ่มเงินกองทุนหมู่บ้าน ตลอดจนเร่งดำเนินโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟ เป็นต้น

รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจถึงกับรับรองอย่างมั่นใจว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 จะเติบโตถึงร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเศรษฐกิจไทยปี 2557 จะเติบโตร้อยละ 1 แต่การณ์กลับเป็นว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ เติบโตเพียงร้อยละ 2.3 ขณะที่ตลอดทั้งปี 2557 เติบโตเพียงร้อยละ 0.7 เท่านั้น

การใช้จ่ายบริโภคโดยครัวเรือนไทยและการลงทุนโดยภาคธุรกิจได้ตกต่ำลงโดยตลอดปี 2577 ยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ลดลงร้อยละ 30.6 การนำเข้าสินค้าลดลงร้อยละ 8.5 ขณะที่การนำเข้าเครื่องจักรลดลงร้อยละ 5.5 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงร้อยละ 6.7 คือมีจำนวนลดลงราวสองล้านคนเมื่อเทียบกับปี 2556 โดยเป็นการลดลงมากที่สุดในช่วงไตรมาสที่สองและที่สามของปี อันเป็นผลจากการที่รัฐบาลประเทศตะวันตกประกาศเตือนตั้งแต่ปลายปี 2556 ต้นปี 2557 มิให้พลเมืองของตนเดินทางมายังประเทศไทย แล้วถูกซ้ำเติมด้วยรัฐประหารและกฎอัยการศึก ที่ทำให้บริษัทประกันภัยไม่รับประกันผู้ที่เดินทางมาประเทศไทยอีกด้วย

ภาวะเศรษฐกิจยังถูกซ้ำเติมจากภาวะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำเกือบทุกรายการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าว ยางพารา ปาล์ม เป็นผลให้รายได้ภาคเกษตรลดลงร้อยละ 5.0 ในไตรมาสที่สามและร้อยละ 13.7 ในไตรมาสที่สี่ การส่งออกของไทยตลอดปี 2557 ก็มีมูลค่าลดลงร้อยละ 0.3 ขณะที่มีเงินทุนไหลออกสุทธิกว่า 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ภาวะเศรษฐกิจซบเซาอย่างหนักเป็นผลให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2557 ลดลงร้อยละ 4.2 ดุลเงินสดติดลบกว่า 3 แสนล้านบาท จนรัฐบาลต้องกู้เงินมาชดเชยจำนวนกว่า 2 แสนล้านบาท

ที่น่าสังเกตคือ แม้การลดลงของตัวเลขทางเศรษฐกิจข้างต้นจะเริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2556 จากวิกฤตการเมืองรอบใหม่เมื่อพรรคเพื่อไทยผลักดันพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม (ฉบับเหมาเข่ง) ในปลายเดือนตุลาคม 2556 แล้วขยายตัวเป็นการประท้วงใหญ่และก่อจลาจลโดยกลุ่มกปปส. แต่การตกต่ำลงของตัวเลขเศรษฐกิจกลับเห็นชัดเจนหนักหน่วงตั้งแต่กลางปี 2557 เป็นต้นมา ซึ่งก็คือ หลังจากรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า รัฐประหารและการปกครองโดยใช้คำสั่ง คสช. กฎอัยการศึก และศาลทหาร แม้จะได้รับการสนับสนุนจากคนชั้นกลางในเมืองจำนวนมากที่เกลียดชังรัฐบาลพรรคเพื่อไทย แต่ไม่ได้เพิ่มความมั่นใจให้กับประชาชนและนักธุรกิจทั่วไปซึ่งได้ชะลอการใช้จ่ายบริโภคและลงทุนมาตั้งแต่ปลายปี 2556 แล้ว แต่หลังรัฐประหาร พวกเขากลับยิ่งไม่มั่นใจในอนาคตของระบอบรัฐประหารและไม่แน่ใจว่า จะได้การกลับคืนสู่การเมืองในระบบรัฐสภาอีกเมื่อใด ทำให้พวกเขาชะลอการใช้จ่ายต่อไปอีกเรื่อย ๆ จนเกิดเป็นวงจรย้อนกลับคือ การตัดลดการใช้จ่าย ทำให้ผู้ประกอบการขาดรายได้ ซึ่งมีผลสะท้อนกลับให้ต้องตัดลดการใช้จ่ายอีก เป็น “กับดักเศรษฐกิจซบเซา” ที่ยากจะฟื้นตัวในเวลาอันสั้น

แม้ว่ารองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจจะยืนยันอย่างแข็งขันว่า ในปี 2558 เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างแข็งแรง ในไตรมาสแรกจะเติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4 และตลอดทั้งปีจะเติบโตร้อยละ 4.5 โดยอ้างปัจจัยการฟื้นตัวจากการเร่งรัดใช้จ่ายงบประมาณและการเร่งลงทุนก่อสร้างในโครงการภาครัฐ

แต่ปรากฏว่า ไตรมาสแรกของปี 2558 นอกจากจะไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวแล้ว ยังกลับมีแนวโน้มเลวลงอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ยังคงลดลงต่อเนื่องร้อยละ 13.3 ในเดือนมกราคมและร้อยละ 10.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ การนำเข้ารวมสองเดือนลดลงร้อยละ 8.5 การนำเข้าเครื่องจักรลดลงร้อยละ 6.7 ในเดือนมกราค (แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 ในเดือนกุมภาพันธ์) ขณะที่มีเงินทุนไหลออกสุทธิสองเดือนแรกรวมห้าพันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ยิ่งกว่านั้นคือ ราคาสินค้าเกษตรก็ยังคงตกต่ำลงต่อเนื่อง ทำให้รายได้ภาคเกษตรลดลงอีกร้อยละ 10.1 ในเดือนมกราคมและลดลงร้อยละ 6.2 ในเดือนกุมภาพันธ์

ที่เป็นข่าวร้ายสำหรับประเทศที่พึ่งพาการส่งออกดังเช่นประเทศไทยก็คือ ในไตรมาสแรกของปี 2558 การส่งออกไทยลดลงร้อยละ 2.6 ในเดือนมกราคม ร้อยละ 6.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ และร้อยละ 3.0 ในเดือนมีนาคม ทำให้ไตรมาสแรก การส่งออกไทยโดยรวมลดลงร้อยละ 5.0 เป็นผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ร้อยละ 1.6 การตกต่ำลงของการส่งออกไทยนั้น นอกจากเป็นเพราะสภาวะเศรษฐกิจคู่ค้าของไทยและการที่สินค้าส่งออกของไทยหลายร้อยรายการถูกสหภาพยุโรปตัดสิทธิพิเศษทางการค้าแล้ว ก็ยังมีสาเหตุขั้นรากฐานคือ การสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยโดยรวมที่ยังคงล้าหลัง ไม่มีการยกระดับผลิตภาพและการเพิ่มห่วงโซ่มูลค่า ยังคงใช้แรงงานราคาถูกและทักษะต่ำ เน้นแข่งขันด้วยราคา ขณะที่ประเทศคู่แข่งกำลังไล่ตามมาด้วยแรงงานที่ราคาถูกกว่า แต่เทคโนโลยีและผลิตภาพใกล้เคียง แล้วยังได้สิทธิพิเศษทางการค้ามากกว่าอีกด้วย

ต้นปี 2558 เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณบวกเพียงตัวเดียวคือ จำนวนนักท่องเที่ยวในสองเดือนแรกเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งหมดนี้ เป็นผลให้การจัดเก็บรายได้ภาครัฐลดลงร้อยละ 5.5 ในเดือนมกราคมและร้อยละ 10.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนดุลเงินสดมียอดติดลบสูงถึงหนึ่งแสนล้านบาทในเดือนมกราคมเพียงเดือนเดียว

เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 2558 จึงยังอยู่ในสภาวะซบเซาอย่างหนัก และคงไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างแข็งแรงในครึ่งหลังของปี เพราะเศรษฐกิจสหภาพยุโรปจะยังคงอ่อนแอ ขณะที่ธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะทำให้เงินทุนในเอเซียและประเทศไทยไหลกลับไปตลาดสหรัฐฯ เป็นแรงกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่สามารถลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อีก ในขณะที่ค่าเงินตราประเทศในเอเซียจะอ่อนตัวลงจากการไหลออกของเงินทุน ผลก็คือ เงินบาทไทยจะแข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง ทั้งหมดนี้ จะทำให้การใช้จ่ายภายในประเทศซบเซาต่อไปและการส่งออกของไทยไม่ฟื้นตัว ทั้งหมดนี้ ทำให้เป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2558 ที่ร้อยละ 4.0-4.5 ไม่อาจเป็นจริงได้อย่างแน่นอน

ที่น่าตกใจคือ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปซึ่งเป็นบวกที่ร้อยละ 1.89 ในปี 2557 กลับกลายเป็นติดลบ (คือ ราคาสินค้าลดต่ำลง) ร้อยละ 0.41 ในเดือนมกราคม ร้อยละ 0.52 ในเดือนกุมภาพันธ์ และร้อยละ 0.57 ในเดือนมีนาคม อัตราเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องตลอดไตรมาสแรกแม้จะมีสาเหตุส่วนหนึ่งจากการลดลงของราคาน้ำมัน แต่ก็เป็นการส่งสัญญาณว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซามาตั้งแต่ปี 2557 อาจจะเลวร้ายลงอีก ถลำลึกเป็น “ภาวะเงินฝืด หรือ deflation” ซึ่งจากประสบการณ์ในหลายประเทศ จะมาพร้อมกับระบบเศรษฐกิจที่ไม่เติบโตหรือกระทั่งหดตัว กลายเป็นสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำยืดเยื้อ ติดอยู่ในหลุมกับดักเงินฝืดที่หากตกลงไปแล้ว จะต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะฟื้นตัวขึ้นมาจากหลุมได้


 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน “โลกวันนี้วันสุข” ฉบับวันศุกร์ที่ 10 เมษายน 2558
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net