บทความจาก FPIF: การสร้างสันติภาพในพม่า ไม่ใช่แค่เพียงให้ทรัพยากร

แม้ว่าสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ จะส่งสัญญาณไปในทางที่ดีขึ้น และต่างชาติโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เริ่มส่งทรัพยากรเข้าไปเพื่อ "สร้างสันติภาพ" อย่างไรก็ตาม "คิม จอลลิฟฟ์" ยังรู้สึกกังขาว่าวิธีการส่งทรัพยากรเข้าไปในพม่าโดยไม่มีการส่งเสริมเจตจำนงประชาธิปไตยจะสร้างสันติภาพได้จริงหรือ

อดีตทหารอาวุโส KNLA ร่วมงานวันปฏิวัติกะเหรี่ยงปีที่ 65 เมื่อ 31 ม.ค. 2557 ที่กองบัญชาการกองพลน้อยที่ 5 KNLA เมืองหมื่อตรอ รัฐกะเหรี่ยง (ที่มาของภาพประกอบ: ประชาไท)

 

13 เม.ย. 2558 - คิม จอลลิฟฟ์ เขียนบทความให้กับเว็บไซต์วิเคราะห์นโยบายการต่างประเทศ Foreign Policy In Focus (FPIF) ถึงประเด็นเรื่องการพยายามสร้างสันติภาพเพือยุติการสู้รบของทางการพม่ากับกลุ่มชาติพันธุ์ โดยระบุว่าวิธีการให้ความช่วยเหลือจากนานาชาติอาจจะยิ่งทำให้ปัญหาความขัดแย้งเลวร้ายลงกว่าเดิม ทั้งนี้ยังเสนอวิธีการเป็นไปได้จริงมากกว่าด้วย

สนธิสัญญาหยุดยิงที่เปราะบางระหว่างรัฐบาลพม่ากับกองกำลังกลุ่มกบฎชาติพันธุ์ดำเนินมาถึงปีที่ 3 แล้ว ความช่วยเหลือของนานาชาติโดยเฉพาะโดยเฉพาะจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ดูเหมือนจะเน้นไปในทาง "การสร้างสันติภาพ" แต่จอลลิฟฟ์ระบุว่า วิธีการให้ความช่วยเหลือเช่นนี้แม้ว่าจะส่งผลดีต่อผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในหลายๆ ด้าน อย่างไรก็ตามมันไม่น่าจะเป็นวิธีการที่จะสามารถสร้างสันติภาพได้จริง

หลังจากที่รัฐบาลพม่ากลายเป็นรัฐบาลกึ่งพลเรือนในปี 2554 ก็มีการปะทะกับกลุ่มติดอาวุธในพม่ามากขึ้นโโยเฉพาะในทางตอนเหนือของพม่าซึ่งมีกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธอยู่หลายกลุ่มในขณะเดียวกันก็มีทำสัญญาหยุดยิงกับกลุ่มติดอาวุธในที่อื่นๆ ของประเทศเป็นการเปิดทางให้มีการเจรจากับกลุ่มติดอาวุธรวมถึงกลุ่มที่ยังคงสู้รบกันอยู่ โดยเมื่อวันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายประกาศให้เริ่มการร่างสนธิสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ ซึ่งเบื้องต้นได้ตกลงกันในหลักการแล้ว กลุ่มแนวร่วมกองกำลังติดกลุ่มอาวุธชาติพันธุ์แสดงเจตจำนงในการเจรจากว่าพวกเขาต้องการจัดตั้งสหภาพพม่าให้เป็นสหพันธรัฐที่มีความเป็นประชาธิปไตยรวมถึงมีการปฏิรูปในภาคส่วนความมั่นคง

แต่หลังจากนั้นเพียงหนึ่งสัปดาห์ก็การเจรจาก็มีท่าทีว่าจะนำเรื่องสำคัญๆ เก็บไว้พูดทีหลัง ซึ่งในเรื่องนี้จอลลิฟฟ์ประเมินว่า เป็นเพราะรัฐบาลที่กุมอำนาจโดยกองทัพพม่ายังคงไม่ยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงตามที่แนวร่วมกลุ่มติดอาวุธเรียกร้องง่ายๆ และในตอนนี้ยังแทบจะบอกไม่ได้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง ในขณะเดียวกันประชาคมโลกก็เริ่มสนใจและบริจาคเงินจำนวนมากให้กับโครงการในเชิงเน้นสร้างสันติภาพในพม่า ซึ่งผู้เขียนบทความก็ชวนมองย้อนอดีตของความขัดแย้งกลับไปในประวัติศาสตร์

 

ประวัติศาสตร์การสู้รบระหว่างกองทัพพม่ากับกลุ่มชาติพันธุ์

จอลลิฟฟ์ระบุว่า การสู้รบระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์มีมานานตั้งแต่ปี 2491 ซึ่งเดิมทีแล้วเป็นการต่อสู้แย่งชิงบทบาทในการปกครองจากชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มแต่หลังจากที่กองทัพยึดอำนาจในปี 2505 ก็เป็นการปิดกั้นการเข้าถึงอำนาจรัฐมากขึ้นโดยอ้างเรื่องความมั่นคงแต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดปัญหาแบบงูกินหางพอกลุ่มหนึ่งต้องการปกป้องผลประโยชน์ของตนเองก็จะถูกอีกกลุ่มหนึ่งมองว่าเป็นการรุกราน

บางครั้งฝ่ายรัฐพม่าก็เป็นฝ่ายเสนอทำสัญญาลกตงร่วมกับกลุ่มกบฎในพื้นที่ซึ่งควบคุมได้ยากซึ่งมีการทำเช่นนี้นานมาแล้ว บางกลุ่มก็ถูกยกให้กลายเป็นเจ้าหน้าที่ใต้บังคับบัญชา มีการจัดตั้งคนเหล่านี้ให้เป็นกองกำลังเฝ้าระวังชายแดน บางส่วนก็เข้าร่วมกับพรรคการเมืองที่หนุนโดยทหารอย่าง พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party หรือ USDP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลอยู่ตอนนี้ แต่ก็มีกลุ่มกบฏอีกหลายกลุ่มที่ไม่ยอมเปลี่ยนมาเข้ากับกองทัพพม่าแต่ก็มีลักษณะความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกับฝ่ายรัฐ

จอลลิฟฟ์ระบุว่าแม้ความพยายามดังกล่าวของกองทัพพม่าจะลดความเป็นปฏิปักษ์แบบเปิดเผยและทำให้กองทัพยึดกุมอำนาจไว้ได้แต่ในเขตชนบทของรัฐแถบชายแดนก็ยังคงมีความเปราะบาง พื้นที่ดังกล่าวมีความขัดแย้งด้านการอ้างพื้นที่ครอบครอง มีทั้งกลุ่มติดอาวุธที่ยังคงสู้รบและกลุ่มที่หยุดยิงไปแล้ว มีบางกลุ่มที่สามารถควบคุมพื้นที่ไว้ได้มากในแถบชายแดนจีนและไทยซึ่งรัฐบาลพม่าไม่สามารถเข้าถึงได้

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความขัดแย้งภายในของกลุ่มติดอาวุธเองที่ทำให้เรื่องนี้มีความซับซ้อนทางการเมืองมากขึ้น ในขณะที่ฝ่ายรัฐก็มีการดำเนินสนธิสัญญาหยุดยิงแบบยื้ดเยื้อจนไม่สามารถเอาชนะกลุ่มกบฎได้เด็ดขาดหรือทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมมอบอำนาจให้ทั้งหมด ในเรื่องนี้จอลลิฟฟ์มองว่าเพราะกลุ่มกบฎระดับชั้นนำต่างก็ยังรู้สึกว่าพวกตนยังไม่มีอำนาจบริหารทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับชาติมากพอ อีกทั้งกลุ่มผู้มีอำนาจตัดสินใจหลักๆ ในความขัดแย้งยังได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมากจากสนธิสัญญาหยุดยิงจนทำให้พวกเขาทั้งไม่ยอมต่อต้านรัฐอย่างเปิดเผยขณะเดียวกันก็ไม่ยอมวางอาวุธ ส่วนกองกำลังที่ถูกซื้อตัวจากรัฐก็ไม่ยอมปล่อยอำนาจทางการเมืองที่ตัวเองได้รับ

บทความของจอลลิฟฟ์ระบุว่าสนธิสัญญาหยุดยิงฉบับใหม่ไม่มีข้อตกลงที่ชัดเจน มีการอนุญาตปฏิบัติการในบางพื้นที่ แต่การที่กองทัพพม่าหลีกเลี่ยงไม่อ้างสิทธิเหนือดินแดนที่มีขอบเขตชัดเจนและไม่ปฏิบัติตามกฎยุทธวินัยทำให้มีความไม่แน่นอนและความเปราะบางสูงมาก เช่นเดียวกับเมื่อหลายสิบปีที่แล้วภาวะความไม่มั่นคงที่ยังไม่ถูกแก้ไขทำให้กองทัพพม่าหาเรื่องเพิ่มงบประมาณตัวเองได้เรื่อยๆ เพื่อเอามาขึ้นเงินเดือนตัวเองรวมถึงเอามาซื้อยุทโธปกรณ์และตั้งฐานทัพใหม่ โดยในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมาพวกเขาประกาศงบประมาณกลาโหมมากที่สุดในประวัติศาสตร์คือราว 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐ จอลลิฟท์ตั้งข้อสังเกตอีกว่ากองทัพพม่ามีปฏิบัติการโจมตีทางอากาศใส่ฐานที่มั่นของกลุ่มกบฎในรัฐคะฉิ่นและรัฐฉานมากขึ้น

 

การสร้างสันติภาพในทางทฤษฎี

จอลลิฟฟ์ระบุว่าแนวคิดการสร้างสันติภาพด้วยวิธีการบริจาคให้หน่วยงานเอ็นจีโอและหน่วยงานระหว่างประเทศในการทำโครงการพัฒนาต่างๆ ซึ่งบางครั้งอาจจะมีทำร่วมกับรัฐบาลพม่าด้วย จออลลิฟฟ์วิจารณ์ว่าแนวทางแบบนี้คล้ายกับแนวคิด "การสร้างรัฐ" (Statebuilding) และ "การปันผลสันติภาพ" (Peace Dividend) อย่างแรกคือ "การสร้างรัฐ" เป็นแนวคิดการสร้างรัฐที่ทำงานได้โดยการเน้นที่อำนาจควบคุมของรัฐส่วนกลาง ส่วนอย่างหลังคือ "การปันผลสันติภาพ" เป็นวาทะของนักการเมืองจอร์จ บุช และมากาเร็ต แทชเชอร์ ในช่วงยุคต้น 90s ที่เสนอว่าถ้าหากมีการลดงบประมาณกลาโหมจะช่วยให้ส่งผลดีทางเศรษฐกิจ

จอลลิฟฟ์มองว่าในทางทฤษฎีแล้วการใช้วิธีการ "สร้างรัฐ" จะทำได้ถ้าหากมีการเจรจาระหว่างตัวแทนกลุ่มที่ขัดแย้งซึ่งจะทำให้การบริจาคช่วยเหลือสร้างอำนาจนำให้กับฝ่ายรัฐและทำให้ฝ่ายรัฐมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับสังคมโดยเฉพาะกับส่วนทีอยู่ชายขอบได้ และการบริจาคช่วยเหลือยังทำให้เกิดผลดีทางเศรษฐกิจต่อผู้ที่อยู่ในเขตที่มีความขัดแย้งวึ่งตรงกับแนวคิด "การปันผลสันติภาพ"

บทความของจอลลิฟฟ์ระบุอีกว่าวิธีการเช่นนี้เล็งเห็นว่าสงครามกลางเมืองที่มีฝ่ายได้เปรียบเสียเปรียบมักจะไม่สามารถแก้ไขเต็มที่ได้ผ่านการเจรจาเพราะฝ่ายรัฐซึ่งได้เปรียบมักจะไม่ยอมตามข้อตกลงฝ่ายที่มีกำลังน้อยกว่าง่ายๆ "กระบวนการทางสันติภาพ" เลยมีหน้าที่ทำให้เกิดความยื้ดเยื้อของสถานการณ์เพื่อเอื้อให้คู่ขัดแย้งยังคงยอมตั้งโต๊ะเจรจา ทำให้มีคนมองว่าการช่วยเหลือจากนานาชาติมีประโยชน์ในการจัดดครงสร้างสถาบันใหม่และทำให้เกิดการพัฒนาทางวัตถุโดยหวังว่ากระบวนการจะทำให้เกิดสันติภาพได้เร็วขึ้น

 

ความเสี่ยงในการปฏิบัติ

อย่างไรก็ตามจากการวิจัยของโครงการศึกษาความขัดแย้งเชิงประจักษ์ (Empirical Studies Conflict Project) ของมหาวิทยาลัยปรินซ์ตันระบุว่า "การส่งความช่วยเหลือเข้าไปในพื้นที่ขัดแย้งอาจจะทำให้ความรุนแรงเลวร้ายมากขึ้นในบางกรณี" จอลลิฟฟ์ยังระบุอีกว่าวิธีการ "สร้างสันติภาพ" เช่นนี้ยังไม่เคยปฏิบัติได้จริงและไม่มีหลักฐานว่าการให้ความช่วยเหลือสามารถควบคุมทิศทางของความขัดทางการเมืองได้ทำให้เกิดความเสี่ยงทีไม่อาจมองข้าม

จอลลิฟฟ์ระบุว่าจากความซับซ้อนทางการเมืองในพม่าทำให้ยากจะคาดเดาได้ว่าทรัพยากรใหม่จะส่งผลอย่างไรต่อพลวัติทางอำนาจในประเทศที่มีการครอบงำของทหารทางการแผ่ขยายไปทั่ว ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นคือกลุ่มชนชั้นนำจากทุกฝ่ายจะยึดกุมโครงการเพื่อสรางผลประโยชน์ให้ตนเองรวมถึงทำให้เกิดข้อขัดแย้งในระดับท้องถิ่นในเรื่องสิทธิการจัดการทรัพยากรระหว่างคนในพื้นที่กับฝ่ายรัฐบาล แม้ว่าจะมีโครงการนำร่องเล็กๆ ที่ประสบความสำเร็จในการระบุตัวคนจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นได้และทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างกลุ่มขัดแย้งหลายฝ่าย แต่การขยายโครงการนี้ในขนาดใหญ่ก็เป็นงานที่ยากกว่า

อันตรายอีกอย่างหนึ่งที่จอลลิฟฟ์ระบุในบทความคือนิสัยของรัฐบาลพม่าที่มักจะใช้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจซื้อกลุ่มกบฎ ก่อนหน้านี้รัฐบาลพม่าก็เคยใช้สนธิสัญญาหยุดยิงในการซื้อตัวกลุ่มติดอาวุธและทำการติดอาวุธให้บางกลุ่มหนักขึ้นขณะเดียวกันก็ข่มขู่กลุ่มเล็กๆ ให้วางอาวุธโดยไม่ได้สนใจจัดการเจรจาเลย เรื่องนี้ทำให้วิธีการแบบ "การปันผลสันติภาพ" ซึ่งเน้นเรื่องการพัฒนาทางวัตถุมากกว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยทั้งหมดทำให้เกิดข้อกังขา

"เรื่องนี้ทำให้มีการนิยมบรรยายความว่าสนธิสัญญาหยุดยิงส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยส่วนตัวของคนที่มีอาวุธ รวมถึงกองทัพพม่าด้วย" จอลลิฟฟ์ระบุในบทความ

จอลลิฟฟ์ระบุว่าทุกวันนี้ผู้คนมองสนธิสัญญาหยุดยิงเป้นวิธีการที่รัฐบาลจะลดความเป็นปฏิปักษ์เพื่อแผ่ขยายอำนาจทางการทหาร ยึดครองทรัพยากร และจัดการระบบการศึกษาแบบเน้นเชื้อชาติตนเองได้ ซึ่งในช่วงหลังๆ กลุ่มกบฎส่วนหนึ่งเริ่มมีคตวามกังขาต่อสนธิสัญญาหยุดยิงของทางการพม่าบ้างแล้วและในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาก้มีการสนับสนุนจากประชาชนในเรื่องสนธิสัญญาหยุดยิงลดลง และดูเหมือนจะมีคนสนับสนุน องค์การแห่งอิสรภาพคะฉิ่น (KIO) เพิ่มขึ้นเนื่องจากมองว่าพวกเขาเป็นกลุ่มเพื่อการปฏิวัติอย่างแท้จริง ไม่ใช่กองกำลังที่ทำเพื่อผลประโยชน์ตนเอง

จอลลิฟฟ์อธิบายเรื่องทั้งหมดนี้เพื่อจะแสดงให้เห็นว่าการส่งความช่วยเหลือโดยที่ทำให้กลุ่มกบฎเลิกคิดเรื่องอุดมการณ์ของตนเองทำให้เกิดความหวาดหวั่นว่ากองทัพพม่าจะไม่ได้ต้องการให้เกิดสันติภาพอย่างแท้จริง

บทความของจอลลิฟฟ์ยกตัวอย่างกรณีสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ที่มีจุดยืนในทำนองที่ว่าควรจะมีการเจรจากันให้สำเร็จลุล่วงก่อนถึงจะมีโครงการพัฒนา แม้ว่าส่วนหนึ่ง KNU จะหวังพึ่งการเจรจา แต่อีกส่วนหนึ่งก็ไม่เชื่อใจกระบวนการของฝ่ายรัฐที่ผลักดันโครงการพัฒนาที่มีการสนับสนุนจากต่างชาติในขณะเดียวกันที่มีท่าทีในเชิงรุกรานด้วยกำลังทหาร

ในเรื่องความเสี่ยงจากวิธีการ "สร้างรัฐ" จอลลิฟฟ์ระบุว่าจะยิ่งเสี่ยงต่อการทำให้ฝ่ายกองทัพพม่ามีอำนาจมากชึ้น จากอำนาจในการกำหนดแนวทางพัฒนาและการรวมศูนย์ ซึ่งเป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งนี้ตั้งแต่แรก แนวทางนี้จะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าไม่มีรากฐานทางการเมืองที่เหมาะสมรองรับ การพยายามแผ่ขยายอำนาจส่วนกลางเข้าไปในพื้นที่ๆ ครอบครองโดยกลุ่มกบฎที่จัดตั้งระบบบริหารในรูปแบบของตนเองอยู่แล้วในชุมชนจะทำให้คนในพื้นที่กลุ่มกบฎรู้สึกถูกแทรกแซงระบบสังคมที่มีมานาน

ทั้งหมดนี้ทำให้จอลลิฟฟ์มองว่าผู้ให้ความช่วยเหลือจากนานาชาติไม่ควรตั้งความหวังมากถ้าหากยังเน้นการให้ทรัพยากรพัฒนา

 

วิธีสร้างสันติภาพที่จะได้ผลจริง

พม่าในช่วงที่ผ่านมามีอะไรหลายอย่างเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนน้อยลง ขณะที่สิทธิพลเมืองดีขึ้น ผู้คนมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น ผู้คนเริ่มเห็นความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างกลุ่มที่เคยสู้รบกัน การเลือกตั้งในปี 2558 อาจจะยิ่งทำให้พม่าพัฒนาทางการเมืองดีขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองส่วนหนึ่งหรืออย่างน้อยก็ลดความเผด็จการลง แต่แม้จะดูเหมือนดำเนินไปในทางดีจอลลิฟฟ์ก็มองว่าทิศทางในอนาคตของพม่ายังไม่แน่นอน

จอลลิฟฟ์เสนอว่าถ้าอยากจะให้มีการเปลี่ยนแปลงจริงๆ ควรเน้นที่การเปลี่ยนแปลงในทางการเมือง มิเช่นนั้นจะเป็นแบบเดียวกับสนธิสัญญาหยุดยิงในปี 2537 กับกลุ่ม KIO ที่แม้ว่าจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาทางวัตถุในพื้นที่ แต่ในปี 2554 ความขัดแย้งก็ปะทุขึ้นอีกครั้ง จอลลิฟฟ์แนะนำว่าผู้ให้ความช่วยเหลือที่เข้าไปในพม่าควรรอให้ฝุ่นควันจางลงแล้วปฏิสัมพันธ์อย่างจริงใจกับคนในท้องถิ่นแต่ต้องระวังในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งและในเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็ควรทำอย่างระมัดระวังเช่นกันเพราะน้อยคนที่จะเข้าใจพื้นที่ตามที่อ้างจริง

จอลลิฟฟ์เสนอว่าการจะทำให้พม่ามีเสถียรภาพได้ขึ้นอยู่กับการสร้างข้อตกลงทางการเมืองระหว่างผู้นำต่างๆ ที่จะช่วยสร้างรัฐที่ทำงานและบริหารงานได้จริงซึ่งจะช่วยต่อต้านพวกที่ได้ผลประโยชน์จากความรุนแรงและความไม่มั่นคง จากมุมมองของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลพม่าและผู้สังเกตการณ์จากต่างชาติระบบที่จะเป็นรากฐานในการสร้างรัฐแบบนี้ได้ดีที่สุดคือระบบสหพันธรัฐ และในขณะเดียวกันต้องระวังไม่ให้กระทำการที่จะเป็นการเพิ่มอำนาจแก่รัฐพม่า

ถึงแม้จอลลิฟฟ์ยอมรับว่าผู้คนที่อาศัยอยู่ในเขตหยุดยิงจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเพื่อที่จะช่วยทำให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้น โครงการบางอย่างเช่นการทำให้คนพลัดถิ่นได้กลับบ้าน การแก้ปัญหาความยากจนและสุขภาวะก็มีความจำเป็นจริง ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้ได้รับการสนับสนุนจากสังคมและส่งเสริมความเชื่อมั่นในสนธิสัญญา แต่เขาก็เตือนว่าต้องระวังในการช่วยเหลือภาคพื้นที่ยังคาดเดาสถานการณ์ยากไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป รวมถึงต้องระวังเรื่องการแทรกแซงที่จะเป็นการเปลี่ยนบทบาทของภาครัฐในบางพื้นที่เฉพาะซึ่งต้องเป็นไปตามข้อตกลงที่เจรจากันไว้

จอลลิฟฟ์เสนอว่าสิ่งที่จะช่วยสร้างสันติภาพได้มากกว่าคือการดำเนินการทางการทูตที่ส่งเสริมให้รัฐบาลมีเจตจำนงไปในทางประชาธิปไตย มีการปฏิรูปการบริหารและภาคส่วนความมั่นคง ทำให้มีกฎหมายและสถาบันที่ปกป้องสิทธิของประชาชนและทำให้รัฐเปิดกว้างสามารถเข้าถึงได้จะเป็นประโยชน์ในการสร้างรากฐานของสันติภาพได้มากกว่าแม้ว่าจะเป็นไปอย่างช้าๆ

"การพยายามให้ทรัพยากรและกำลังการผลิตไปจนสุดโดยไม่มีเจตจำนงของรัฐบาลที่แน่นอนมีโอกาสสูงที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ทั้งดีและร้ายปะปนกันและส่งกระทบทางการเมืองในรูปแบบที่ไม่ได้คาดคิดไว้ ดังนั้นรัฐบาลต่างชาติควรจะใช้วิธีการที่เป็นไปได้จริงและเป็นไปอย่างช้าๆ ในการดำเนินการในพื้นที่ๆ มีความขัดแย้ง และควรระมัดระวังเวลาที่เล่นกับสันติภาพ" จอลลิฟฟ์กล่าว

 

เรียบเรียงจาก

Playing with Peace in Myanmar, FPIF, 03-04-2015 http://fpif.org/playing-with-peace-in-myanmar/

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

http://en.wikipedia.org/wiki/Peace_dividend

http://en.wikipedia.org/wiki/State-building

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท