Skip to main content
sharethis
เตรียมนำเงินกองทุนประกันสังคมมาปล่อยกู้ ช่วยเหลือกลุ่มแรงงานนอกระบบ
 
นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การประชุมหารือแนวทางการดำเนินงานด้านแรงงานนอกระบบ เพื่อพิจารณาการกำหนดแนวทางการดำเนินงานตามประเด็นการหารือของเครือข่ายแรงงานนอกระบบ โดยที่ประชุมได้รับข้อเสนอ อาทิ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการเข้ามามีส่วนร่วมในการยกร่างกฎหมายลูก ภายใต้พระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2558 , การช่วยเหลือในเรื่องเงินทุนให้แก่แรงงานนอกระบบที่มีรายได้น้อย จากทั้ง 5 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งจะประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าต่อไป ขณะเดียวกันยังมีแนวคิดจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการประกันสังคม ให้นำเงินบางส่วนของกองทุนประกันสังคมมาปล่อยกู้ผ่านธนาคารในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มแรงงานนอกระบบด้วย ทั้งนี้ แรงงานนอกระบบมีประมาณ 25 ล้านคน และเพื่อผลักดันงานตามภารกิจของกระทรวงแรงงานให้ประสบผลสำเร็จ จึงต้องมีอาสาสมัครแรงงาน เพื่อขับเคลื่อนงานด้านแรงงานนอกระบบให้มีประสิทธิภาพ ดังนั้นคุณสมบัติของอาสาสมัครแรงงานจึงเป็นเรื่องสำคัญต้องพิจารณาเลือกอย่างจริงจัง โดยเลือกบุคคลที่พร้อมจะทำงานเพื่อแรงงานนอกระบบ มีความเสียสละพร้อมทำงานเพื่อประชาชน
 
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ประสานงานและสนับสนุนเครือข่ายแรงงานนอกระบบจังหวัดขึ้น ณ สำนักงานแรงงานจังหวัด เพื่อทำหน้าที่เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานขยายความคุ้มครอง สร้างและพัฒนากลไกในการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรภาคประชาชนในพื้นที่
 
(สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย, 9/4/2558)
 
ก.แรงงานแจงไม่ขึ้นค่าแรง คงขั้นต่ำ 300 บาท
 
องค์การลูกจ้างเตรียมจัดงานวันแรงงานประจำปี 2558 พร้อมยื่นข้อเรียกร้อง 11 ข้อต่อรัฐบาล โดยผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากนายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทยในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติปี 2558 เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ว่า ปีนี้สภาองค์การลูกจ้าง 14 องค์กรร่วมกับองค์กรรัฐวิสาหกิจ เครือข่ายแรงงานนอกระบบรวม 16 องค์กร ร่วมกับกระทรวงแรงงานจัดงานวันแรงงานแห่งชาติในวันที่ 1 พ.ค.ที่สนามหลวง โดยได้รับงบสนับสนุนจากรัฐบาลกว่า 4 ล้านบาท และได้เชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน ซึ่งปีนี้จัดขึ้นภายใต้คำขวัญ “แรงงานไทยปรองดอง เฉลิมฉลองจักรีวงศ์ รณรงค์สู่อาเซียน” เน้นจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
 
นายมานิตย์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ สภาองค์การลูกจ้างยังมีข้อเรียกร้อง 11 ข้อ อาทิ ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญา องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง ให้เร่งนำร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมของผู้ใช้แรงงานเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้ตรากฎหมายตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้แก่ลูกจ้างในกรณีที่สถานประกอบการปิดกิจการเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ให้สนับสนุนและผลักดันกฎหมายพัฒนารัฐวิสาหกิจและยุตินโยบายการแปรรูปหรือแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจให้เป็นบริษัทเอกชน หรือยุบเลิกรัฐวิสาหกิจ ปฏิรูปสำนักงานประกันสังคมโดยยกสถานะเป็นองค์กรอิสระ รวมปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ฯลฯ
 
อย่างไรก็ดี วันเดียวกัน ที่กระทรวงแรงงาน นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง กล่าวหลังประชุมบอร์ดค่าจ้าง ว่า ที่ประชุมยืนยันคงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ วันละ 300 บาท ไปจนถึงสิ้นปี 2558 ส่วนการปรับค่าจ้างประจำปี 2559 ได้มีการเสนอรูปแบบที่หลากหลาย รวม 5 รูปแบบ คือ 1.ให้อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเสนอมาตามปกติ 2.ค่าจ้างลอยตัวซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาจะสรุปผลเสนอบอร์ดในเดือน มิ.ย. 3.ค่าจ้างตามการพัฒนาเศรษฐกิจ 18 กลุ่มจังหวัด 4. ค่าจ้างตามกลุ่มอุตสาหกรรม 5.ค่าจ้างในลักษณะผสมผสานหลายรูปแบบ ทั้งนี้ ที่ประชุมบอร์ดค่าจ้างจะพิจารณาอีกครั้งในเดือน พ.ค.เพื่อให้ได้ข้อสรุปรูปแบบที่จะใช้ปรับค่าจ้างและจะนำมาสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้องอีกครั้งในรูปแบบของการจัดเวทีประชาพิจารณ์
 
(ไทยรัฐ, 9/4/2558)
 
ปูพรมค้น รง.ชายแดนแม่สอด เจอใช้เด็ก-แรงงานเถื่อนเพียบ
 
วันที่ 9 เม.ย. 58 นายสมชัยฐ์ หทยะตันย์ติ ผวจ.ตาก พร้อมด้วยพันเอกอาสาฬหะ พูลสุวรรณ รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 4 นายปรีชา ใจเพชร นายอำเภอแม่สอด นำเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แม่สอด ตชด.ที่ 346 แม่สอด จัดหางานจังหวัดตากพัฒนาสังคมจังหวัดตาก ฝ่ายปกครองและ อส.อ.แม่สอด กว่า 50 นาย แบ่งกำลังเข้าตรวจสอบโรงงานในเขตพื้นที่อำเภอแม่สอด ซึ่งมีกว่า 200 โรงงาน
 
โดยมีการสุ่มตรวจโรงงานที่มีขนาดกลางและขนาดเล็ก ปรากฏว่า พบโรงงานหลายแห่งมีการใช้แรงงานชาวพม่าอายุต่ำกว่า 18 ปี และอีกหลายแห่งยังไม่มีใบอนุญาตทำงาน นอกจากนี้ โรงงานหลายแห่งยังมีสภาพที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการทำงาน เพราะไม่มีการระบายอากาศที่ดี บางแห่งยังขาดการเอาใจใส่จากผู้ประกอบการ คนงานอยู่กันอย่างแออัด จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมาย ไม่มีการละเว้น
 
นายสมชัยฐ์ กล่าวว่า เราเป็นเมืองชายแดน ห้วงนี้เป็นห้วงวันหยุดยาว สิ่งที่เป็นห่วงคือการทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าเรื่องยาเสพติด เรื่องการเดินทาง เรื่องความปลอดภัย และเรื่องสวัสดิการความเป็นอยู่ของแรงงาน
 
"วันนี้เราออกตรวจโรงงาน เพราะเมืองเรามีโรงงานจำนวนมาก เราอยากให้เจ้าของโรงงาน ให้สวัสดิการที่ดีแก่แรงงาน ดูแลคนงานให้ดี วันนี้มีการตรวจหลายสิ่งหลายอย่าง โดยเฉพาะแรงงานเด็ก เราตรวจพบทั้งแรงงานเด็ก แรงงานเถื่อน แรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งการตรวจครั้งนี้เป็นการเอาจริงกับผู้ประกอบการ หากผิดกฎหมาย เราก็ไม่ละเว้น เพราะเราอยากให้ผู้ประกอบการคิดว่า ทุกคนเป็นมนุษย์มีสิทธิเท่าเทียมกัน เมื่อเราจะส่งเสริมการท่องเที่ยว เราก็ต้องจัดระเบียบแรงงาน ดูแลบ้านเมืองให้เป็นระเบียบ ให้นักท่องเที่ยวมีความปลอดภัยในการเดินทางเข้ามาในพื้นที่" พ่อเมืองคนขยัน กล่าว
 
(ไทยรัฐ, 9/4/2558)
 
พนักงานมหา’ลัยร้องปธ.สนช. หนุนร่างพ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานอุดมศึกษา
 
วันที่ 9 เมษายน ที่รัฐสภา ครือข่ายพนักงานมหาวิทยาลัย ประมาณ 20 คน นำโดย นายสุมิตร  สุวรรณ อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) ในฐานะประธานเครือข่าย ยื่นหนังสือ ถึงพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เพื่อขอให้ช่วยผลักดันร่าพ.ร.บ.ระเบียบการบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษา
 
นายสุมิตร กล่าวว่า  ขอให้สนช.ช่วยผลักดันกฎหมายดังกล่าว เพราะถือเป็นหลักประกันที่ดูแลสวัสดิการและสวัสดิภาพขั้นต่ำของพนักงานมหาวิทยาลัยปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 100,000 กว่ารายในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ และขอให้มีผลบังคับใช้กับมหาวิทยาลัยทุกแห่ง รวมถึงจะดูแลครอบคลุมถึงเรื่องสิทธิการปรับเงินเดือน  หากข้าราชการได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือน รัฐบาลก็ควรจัดสรรงบประมาณเพิ่มให้ในอัตราที่เท่ากันด้วย 
 
นายพรเพชร กล่าวว่า กฎหมายนี้ต้องเสนอผ่านทาง ครม. มาถึงสนช. จึงจะสามารถพิจารณาได้ ดังนั้นตนขอแนะนำให้ทางเครือข่ายฯไปหารือปรับแก้รายละเอียดในมาตราต่าง ๆ ที่ยังเป็นความขัดแย้งให้เห็นตรงกัน  และขอความเห็นชอบจากครม. ตามขั้นตอนต่อไป 
 
(มติชน, 10/4/2558)
 
แนะสถานประกอบการตรวจสอบความเรียบร้อยโรงงาน หวั่นเกิดอัคคีภัยช่วงสงกรานต์
 
นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า ในวันหยุดติดต่อกันหลายวันช่วงเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 11-15 เมษายนนี้ ส่วนใหญ่สถานประกอบกิจการได้ประกาศให้เป็นวันหยุดตามประเพณี จึงขอเตือนให้ผู้ประกอบการได้วางแผน ซักซ้อม และกำหนดมาตรการอย่างจริงจัง ควรตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์ดับเพลิง สัญญาณแจ้งเหตุให้พร้อมสำหรับการใช้งาน เพื่อจะได้ช่วยลดความรุนแรง และความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาวันหยุดดังกล่าวได้ เนื่องจากพบข้อมูลว่าจำนวนการเกิดอัคคีภัยในโรงงาน 3 ปีย้อนหลังพบว่าในปี 2555 เกิดขึ้น 30 ราย ,ปี 2556 เกิดขึ้น 50 ราย และในปี 2557 เกิดอัคคีภัย 73 ราย ซึ่งสถิติปี 2557 เกิดอัคคีภัยในโรงงานสูงกว่าปี 2556 ถึงร้อยละ 46 สร้างมูลค่าความเสียหายให้กับผู้ประกอบกิจการอย่างมากมาย ส่วนแรงงานในงานขนส่งทางบก ได้แก่ พนักงานขับรถ พนักงานติดรถ พนักงานเก็บค่าโดยสาร และพนักงานบริการนั้น ตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ได้ให้นายจ้างกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดการทำงานปกติของลูกจ้างวันหนึ่งไม่เกิน 8 ชั่วโมง และห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้าง ซึ่งทำหน้าที่ขับขี่ยานพาหนะทำงานล่วงเวลา เว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากลูกจ้างและทำงานล่วงเวลาได้วันหนึ่งไม่เกิน 2 ชั่วโมง
 
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวด้วยว่า นายจ้างในภาคขนส่งต้องจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักผ่อนติดต่อกัน 1 ชั่วโมงต่อการทำงาน 4 ชั่วโมง และห้ามมิให้เริ่มต้นทำงานในวันถัดไปก่อนพักผ่อนครบ 10 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุโดยไม่คาดคิด
 
(สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย, 10/4/2558)
 
ปลัดกระทรวงแรงงานมอบหมายกรมการจัดหางาน สำรวจความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรม เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้
 
นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ได้มอบให้กรมการจัดหางาน (กกจ.) ไปศึกษาวิจัยว่า ในภาคธุรกิจและกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วประเทศ ขาดแคลนแรงงานจำนวนเท่าใด โดยศึกษาเป็นรายธุรกิจและอุตสาหกรรมเพื่อนำข้อมูลมาวางแผนแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน เบื้องต้น กระทรวงแรงงานต้องทำการเก็บข้อมูลอย่างคร่าวๆ ก่อนว่าสถานประกอบการต่างๆ ในแต่ละภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในแต่ละจังหวัดขาดแคลนแรงงานจำนวนเท่าใด ซึ่งได้สั่งการให้ กกจ.มอบหมายให้จัดหางานจังหวัดลงพื้นที่สำรวจข้อมูลดังกล่าวกับสถานประกอบการในพื้นที่โดยตรง โดยให้เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้
 
(สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย, 11/4/2558)
 
ทีดีอาร์ไอเป็นห่วง ส่งออกเดี้ยง กระทบแรงงานซับคอนแทรกต์ ประกันสังคมเผยเดือน ก.พ. ขอทดแทนว่างงานพุ่ง 10.92%
 
นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า หากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) มีอัตราการขยายตัวต่ำกว่า 4% น่าเป็นห่วงว่าจะเกิดปัญหาการว่างงาน เพราะระบบเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำกว่าเป้าไม่สามารถจะดูดซับเด็กที่จบปริญญา ตรีเพื่อออกสู่ระบบแรงงานใหม่ ซึ่งแต่ละปีจะจบประมาณ 3-4 แสนคน รวมทั้งยังมีปัญหาสะสมคนจบ ป.ตรีที่ยังหางานทำไม่ได้อยู่ประมาณ 1.2 แสนคน ยิ่งจะทำให้ปัญหาการว่างงานสะสมมากขึ้น
 
"ขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจซบเซา ภาวะการส่งออกติดลบซึ่งมีผลต่อกับการจ้างงานใหม่ แต่ยังคงไม่ถึงกับมีการปลดคนงานเก่าออก เหมือนในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 แต่จะเริ่มมีการลดชั่วโมงการทำงาน (โอดี) ในขณะเดียวกันบริษัทที่น่าเป็นห่วงคือ บริษัทรับเหมาช่วง (ซับคอนแทรกต์) ที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมผลิตเพื่อการส่งออกจะต้องได้รับผลกระทบก่อน" นายยงยุทธ กล่าว
 
ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ประกาศตัวเลขว่างงานเดือน มี.ค. 2558 มีจำนวน 3.78 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 1% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2556 มีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 3.7 หมื่นคน หรือ จาก 3.41 แสนคน เป็น 3.78  แสนคน และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือน ก.พ. 2557 จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 6.2 หมื่นคน หรือจาก 3.16 แสนคน เป็น 3.78 แสนคน
 
"ตัวเลขอัตราการว่างงานยังอยู่ที่ 1% ของประชากรวัยแรงงาน ยังไม่น่าเป็นห่วง แต่แรงงานใหม่ที่จบปริญญาตรีออกมาประมาณ 3-4 แสนราย ก็คงยังไม่มาทำงานทำทั้งหมด  บางกลุ่มอาจจะไปเรียนต่อระดับปริญญาโท บางกลุ่มอาจ จะไปประกอบอาชีพส่วนตัว หรือหันไปทำภาคการเกษตร และบางกลุ่ม อาจจะหันไปทำงานกับกลุ่มบริษัทเอสเอ็มอี และยอมที่จะได้รับ ผลตอบแทนที่ลดลงบ้าง แต่ปัญหาการว่างงานก็ยังไม่รุนแรงหมือนในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ และน่าจะมีการปรับตัวได้" นายยงยุทธ กล่าว
 
สำหรับการเรียกร้องขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ 360 บาทก็คงเป็นด้วยความยากลำบาก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา นายจ้างก็คงไม่สามารถที่จะจ่ายได้ และยิ่งจะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มขึ้น อาจเลิกจ้างงานเพิ่มขึ้นด้วย
 
ด้านสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ระบุว่าในเดือน ก.พ. 2558 มีผู้ประกันตนขอรับประโยชน์ทดแทนการว่างงาน 98,015 คน มีอัตราการขยายตัว 10.92% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. 2558 ที่มีจำนวน 95,909 คน ที่มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 2.20% โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้าง 6,279 คน เพิ่มขึ้น 8.5% ขณะที่มีผู้ประกันตนทั้งหมด 10.05 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.8%
 
(โพสต์ทูเดย์, 12/4/2558)
 
คนไทยตกงานเพิ่มทะลุ 3.78 แสนคน เฉพาะ มี.ค.เพิ่มอีก 3.7 หมื่นราย
 
สำนักงานสถิติแห่งชาติเผย อัตราว่างงาน มี.ค.เพิ่มเป็น 1% ของแรงงานรวม ส่งผลคนไม่มีงานทำเป็น 3.78 แสนคน ภาคกลางมากสุด 1.44 แสนราย ส.อ.ท.ชี้ภาคอุตสาหกรรมยังคงอัตราจ้างงาน แม้การส่งออกโตต่ำแค่ 1% และยังต้องการแรงงานต่างด้าวเพิ่ม
 
 
รายงานจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดเผยว่า ภาวะการมีงานทำของประชากรเดือนมีนาคม 2558 พบว่า ผู้มีงานทำรวม 37.62 ล้านคน จากจำนวนผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานทั้งสิ้น 38.37 ล้านคน เป็นแรงงานที่รอฤดูกาลจำนวน 3.69 แสนคน หรือ 1% ของประชากรที่อยู่ในกำลังแรงงาน ส่วนจำนวนผู้ว่างงานนั้นอยู่ที่ 3.78 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1% ของประชากรที่อยู่ในวัยแรงงาน เพิ่มขึ้นจาก 3.16 แสนคน หรือ 0.8% ในเดือนกุมภาพันธ์ หรือเป็นการว่างงานที่เพิ่มขึ้น 6.2 หมื่นคน เมื่อแยกพิจารณาเป็นรายภูมิภาคพบว่า ภาคกลางมีการว่างงานสูงสุด 1.44 แสนคน รองลงมาเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่างงาน 7.7 หมื่นคน กรุงเทพฯ 6 หมื่นคน ภาคเหนือ 4.9 หมื่นคน และภาคใต้ 4.8 หมื่นคน 
 
สสช.รายงานต่อว่า เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม 2557 ที่มีการว่างงานอยู่ที่ 3.41 แสนคน หรือเพิ่มขึ้น 0.9% ของประชากรที่อยู่ในกำลังแรงงาน หรือมีการว่างงานเพิ่มขึ้นจำนวน 3.7 หมื่นคน โดยกรุงเทพฯมีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 1.4 หมื่นคน ภาคกลางว่างงานเพิ่มขึ้น 3.9 หมื่นคน ภาคเหนือเพิ่มขึ้น 1.7 หมื่นคน ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือการว่างงานลดลง 1.7 หมื่นคน และภาคใต้ลดลง 1.6 หมื่นคน อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากลักษณะผู้ว่างงานตามประสบการณ์พบว่า ในสัดส่วนผู้ว่างงาน เป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยมีงานทำมาก่อน 1.83 แสนคน หรือ 48.4% ของผู้ว่างงานทั้งหมด และผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน 1.95 แสนคน หรือ 51.6% โดยเป็นผู้ว่างงานนอกภาคเกษตร 1.77 แสนคน 
 
นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การว่างงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นนี้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยเฉพาะผลจากภาวะการส่งออกที่ชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา โดยตลาดหลักหลายแห่งยังไม่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งยุโรป ญี่ปุ่น ทำให้ผู้ผลิตที่ผลิตเพื่อส่งออกไปตลาดดังกล่าวลดกำลังการผลิตลง ไม่มีการจ้างล่วงเวลาหรือโอที ทำให้แรงงานออกจากงานไปบ้าง อย่างไรก็ตาม มองว่าการเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1% เป็นอัตราที่ไม่น่ากังวล เมื่อเทียบกับหลายประเทศที่การว่างงานอยู่ในอัตราที่สูง และพบว่าผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมยังต้องพยายามรักษาแรงงานไว้ และยังมีความต้องการแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้น
 
นายวัลลภกล่าวว่า สำหรับผู้ประกอบการยังมองว่าภาวะเศรษฐกิจจะเริ่มดีขึ้นประมาณปลายไตรมาสที่ 2/2558 หรือประมาณเดือนมิถุนายน เพราะมีงบประมาณลงทุนของภาครัฐเริ่มเข้าสู่ระบบกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่วนสถานการณ์ในต่างประเทศ หากไม่มีปัจจัยแทรกซ้อนด้านสถานการณ์สู้รบและการก่อการร้าย จะขยายวงกว้างจนกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ โดย ส.อ.ท.ประมาณการการส่งออกปี 2558 ไว้ที่ 1%
 
(มติชน, 12/4/2558)
 
กพร.จ่อประกาศ 3 อาชีพอันตราย คุมเข้มต้องมีหนังสือรับรองทำงาน
 
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กล่าวว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) ปี 2557 มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2558 กฎหมายมีผลคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงาน โดยเบื้องต้นจะออกประกาศสาขาอาชีพควบคุมงานที่มีอันตรายต่อสาธารณะ หรืองานที่ต้องการคนที่มีคุณสมบัติเฉพาะใน 3 สาขาแรก คือ ไฟฟ้าในอาคาร ไฟฟ้านอกอาคาร และไฟฟ้าอุตสาหกรรม
 
โดยช่างที่ทำงานมีอันตรายต่อสาธารณะจะต้องมีหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ มีมาตรฐานสมรรถนะซึ่งจะทำให้ช่างมีคุณค่ามากขึ้น เป็นที่ต้องการตัวมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้กำลังเดินหน้าไปสู่กระบวนการประกาศ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ ขณะนี้ผ่านกระทรวงแล้ว กำลังเสนอ ครม. เห็นชอบ ก่อน รมว.แรงงาน จะออกประกาศ คาดว่าในเดือน เม.ย. ในระยะแรกจะเริ่มบังคับใช้ในงานที่เกี่ยวเนื่องกับราชการ และงานสาธารณะ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายกับคนหมู่มาก
 
ทั้งนี้เมื่อประกาศมีผลบังคับใช้นายจ้างต้องจ้างคนที่มีหนังสือรับรองเท่านั้น หากจ้างคนที่ไม่มีหนังสือรับรองทำงาน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท ส่วนคนที่ไม่มีหนังสือรับรองความรู้ความสามารถแล้วไปทำงานในสาขาควบคุม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท โดย กพร. ได้ร่วมมือกับองค์กรวิชาชีพ สมาคมประกอบวิชาชีพต่างๆ มีบทเฉพาะกาล 1 ปี จะพัฒนาช่างที่ยังไม่ได้ทดสอบเข้าสู่การทดสอบ เพื่อให้ได้หนังสือรับรองการประเมินความรู้ความสามารถ ตามกฎหมายใหม่ต่อไป
 
(แนวหน้า, 13/4/2558)
 
"บิ๊กต๊อก" สั่งราชทัณฑ์ส่งรายชื่ออดีตนักโทษ 38,000 คนเพื่อจัดระบบรองรับหลังปล่อยตัว เสนอไอเดียอุดหนุน เงิน30% ให้เอกชนรับเข้าทำงาน
 
เมื่อวันที่ 15 เม.ย. พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีมาตรการและแนวทางการรองรับผู้ต้องโทษหลังได้รับการปล่อยตัว ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงแรงงาน เพื่อจัดระบบรองรับการปล่อยผู้ต้องโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชอภัยโทษ จำนวน 38,000 คน
 
ทั้งนี้สังคมอาจมีข้อห่วงใยในการกลับมาใช้ชีวิตในสังคม ดังนั้นพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เลยมีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปประชุมหารือ ในการคิดระบบรองรับคนกลุ่มนี้ให้กลับคืนสู่สังคมอย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงและไม่หวนกลับมากระทำผิดซ้ำอีก กระทรวงยุติธรรมในฐานะเจ้าภาพจึงเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมหารือแนวทางปฏิบัติร่วมกัน
 
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการที่จะมารองรับระบบการปล่อยตัว จะมี 2 ระยะ ทั้งระยะยะสั้นและระยาว แต่ตอนนี้ต้องทำในระยะสั้น ระหว่างรอการปรับแก้กฎหมายราชทัณฑ์ฉบับใหม่ ที่ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีไปแล้ว แต่ตอนนี้มีกลุ่มบุคคลจำนวน 38,000 คนได้รับปล่อยตัวตามพ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ ทางกระทรวงยุติธรรมเห็นควรที่จะส่งรายชื่อทั้งหมด ให้กับกระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้กรมราชทัณฑ์ รับไปดำเนินการ
 
ทั้งนี้เพื่อติดตาม ชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มคนเหล่านี้ แต่ไม่ได้หมายถึงการติดตามตัวเหมือนผู้ที่ถูกคุมประพฤติ เพราะคนกลุ่มนี้ไม่ใช่ผู้ต้องขัง แต่เป็นคนทั่วไปปกติ แต่ภาครัฐต้องมีระบบเข้าไปช่วยในคนกลุ่มนี้มีสภาพชีวิต ที่ปกติมีงานทำ ใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยระบบชุมชน กำนันผู้ใหญ่ ในแต่ละหมู่บ้านเข้าไปดูแล เหมือนลูกหลานในครอบครัว
 
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า ส่วนมาตรการระยะยาว ต้องหารือร่วมกันเพื่อตกลงว่าจะ ยกร่างเป็นกฎกระทรวง หรือ รูปแบบ ความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน หรือ ต้องเขียนเพิ่มไปในกฎหมายราชทัณฑ์ เลนหรือไม่ ที่จะให้หน่วยงาน ทั้ง 3 หน่วย เข้ารองรับในระบบลักษณะการปล่อยตัวผู้ต้องขังเช่นนี้ อย่างน้อยเป็นการยืนยันได้ว่าในอนาคตภาครัฐต้องเข้าไปช่วยเหลอกลุ่มคนเหล่านี้อย่างจริง ถาวร เป็นรูปธรรมยั่งยืน
 
ทั้งนี้พล.อ.ไพบูลย์ ยังกล่าวว่า ไม่มีอะไรที่ทำให้สังคมเชื่อมั่นได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยการมีระบบรองรับ ดีกว่าไม่มีอะไรเลย การเดินไปหาที่บ้านถามสารทุกข์สุขดิบใส่ใจเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน ดูแลเรื่องอาชีพการงาน มันเป็นอีกรูปแบบที่รัฐเข้าไปช่วยจริงจัง หรือถ้าคนกลุ่มนี้ต้องการความช่วยเหลือก็จะสามารถเดินไปหาที่พึ่งได้ จะได้ไม่ต้องกลับไปทำผิดแบบเดิม
 
"มีแนวคิดจะนำระบบที่ภาครัฐอุดหนุนบริษัท ที่รับกลุ่มคนเหล่านี้เข้าทำงาน รัฐอาจสนับสนุน 30 เปอร์เซ็นต์ขอเงินเดือน ของกลุ่มคนเหล่านี้ คล้ายๆกับที่ประเทศญี่ปุ่นทำ ทั้งนี้เป็นสิ่งที่กำลังคิดว่าจะรูปแบบใด  และไม่อยากให้สังคนวิตกมากเกินไป ในการปล่อยตัวผู้ต้องขัง เพราะในความเป็นจริงแล้วอาชญากรรมที่เกิดขึ้นทุกวัน ก็ไม่ได้หมายความว่ามาจากคนกลุ่มนี้ คนธรรมดา ปกติ ที่ใช้ชีวิตอยู่เรือนจำ ก็ก่ออาชญากรรมได้ ตอนนี้รัฐกำลังหาระบบสอดส่องดูแล คนกลุ่มนี้และสิ่งสำคัญก็จะต้องไม่ไปกระทบสิทธิคนกลุ่มนี้ด้วย เพราะพวกเขาไม่ใช่นักโทษ ซึ่งระบบที่คิดขึ้นาต้องไม่สร้างความอึดอัด และการที่กระทรวงมหาดไทยจะเข้าไปช่วยดูแลคนกลุ่มนี้นับว่าเป็นสิ่งที่ดี อยากให้เชื่อมั่นระบบที่ภาครัฐกำลังคิด"พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว
 
(โพสต์ทูเดย์, 15/4/2558)
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net