Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


          

ความที่จะกล่าวต่อไปเป็นการนำเสนอภาพความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยโดยจะชี้ให้เห็นถึงระลอกของการก่อตัวของชนชั้นกลางในแต่ละช่วงเวลาเพื่อจะนำมาสู่ประเด็นของความเปลี่ยนแปลงสังคมไทยในปัจจุบันที่เป็นการขยายตัวระลอกสุดท้ายของชนชั้นกลางในสังคมไทย  ซึ่งมีผลทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงนานัปการเลยทีเดียว

แม้ว่าจะตั้งใจอธิบายการขยายตัวระลอกสุดท้ายของสังคมไทยที่มีผลต่อความเปลี่ยนแปลงทุกมิติในสังคมไทย แต่ก็เกรงว่าจะไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะทำให้สังคม ( ผู้อ่าน) ได้มองเห็นปฏิบัติการทางสังคมของชนชั้นกลาง จึงตัดสินใจที่จะอธิบายประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของชนชั้นกลางที่ผานมาเพื่อที่จะเสริมความหนักแน่นในการคิดหาทางเลือกได้มากขึ้น 

หากเราเริ่มต้นด้วยการมองว่าอะไรเป็นสาเหตุทำให้โลกเราพัฒนามาถึงวันนี้

ไม่ว่าเราจะมองจากสาเหตปัจจัยอะไร    ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญๆที่เกิดขึ้นในโลกนี้ล้วนแล้วแต่ต้องมีความสัมพันธ์กับการเกิดขึ้นและขยายตัวของคนกลุ่มใหม่ในสังคมทั้งสิ้น ส่วนความเปลี่ยนแปลงนำไปสู่อะไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมแบบเดิมว่าจะรองรับ/ปรับเปลี่ยน/ดูดกลืนชนกลุ่มใหม่ได้หรือไม่ หากไม่สามารถทำอะไรเช่นการดูดกลืนให้เข้ากับคนกลุ่มใหม่ได้ ก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมที่แปรรูปไปจากเดิม

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างทางสังคมเดิมกับคนกลุ่มใหม่ที่เกิดขึ้นจึงส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไม่เหมือนกันในแต่ละพื้นที่ในโลกใบนี้    การทำความเข้าใจความแตกต่างในแต่ละพื้นที่จำเป็นที่จะต้องมองในสองด้าน ด้านหนึ่งได้แก่ รัฐ ซึ่งเป็นองค์กรทรงอำนาจอย่างมาก และในอีกด้านหนึ่ง ได้แก่ ลักษณะเฉพาะของสังคมหนึ่งๆ

การศึกษาของโจเอล เอส. มิกดัล (Joel S. Migdal) เรื่อง State in Society: Studying How the States and Society Transform and Constitute One Another  ได้วิพากษ์วิจารณ์กรอบการศึกษาที่เน้นบทบาทของรัฐในฐานะพลังหลักในการกำหนดความเปลี่ยนแปลงของสังคมว่าทำให้ไม่สามารถเข้าใจส่วนที่สำคัญที่ส่งผลให้เกิดการก่อรูปรัฐขึ้นมาได้  โดยเขาได้เน้นถึงความสัมพันธ์เชิงแปรรูปและก่อรูป (transform and constitute) ซึ่งกันและกันระหว่างรัฐกับสังคม ที่ทำให้เกิดการประกอบสร้างกันขึ้นมาเป็นรูปรัฐและสังคมดังที่ปรากฏได้  แม้ว่ารัฐจะเป็นพลังสำคัญ แต่รัฐก็ไม่ได้ขยายตัวเข้าไปในพื้นที่สุญญากาศ หากแต่มีการก่อรูปของสังคมแบบใหม่ในระดับหนึ่งอยู่แล้ว  และรัฐก็ต้องปรับตัวรับกับลักษณะการจัดตั้งทางสังคมในท้องถิ่น ขณะที่ผู้คนในสังคมท้องถิ่นที่มีการจัดตั้งอยู่แล้วก็ได้ปรับตัวรับกับการขยายตัวของรัฐแตกต่างกันออกไปตามลักษณะเฉพาะของการจัดตั้งทางสังคมของท้องถิ่นนั้นๆ

แม้ว่าในท้ายที่สุดแล้ว มิกดัล พยายามยกระดับกรอบคิดการศึกษาการแปรรูปกลืนกลายระหว่างรัฐกับสังคมที่มีปฏิสัมพันธ์กัน ให้เป็นทฤษฏีที่เน้นการพิจารณาคุณลักษณะของรัฐและสังคมว่าแต่ละฝ่ายมีความเข้มแข็งหรืออ่อนแออย่างไร    และเมื่อมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐและสังคมที่มีความเข้มแข็ง/อ่อนแอแตกต่างกันแล้วจะก่อให้เกิดรูปลักษณะการปกครองที่ไม่เหมือนกันอย่างไรบ้าง เช่น ถ้ารัฐเข้มแข็งแต่สังคมอ่อนแอก็จะเกิดรัฐเผด็จการอำนาจนิยม เป็นต้น  ซึ่งการยกระดับให้เป็นทฤษฏีเช่นนี้อาจจะไม่มีประโยชน์มากนักสำหรับการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์  แต่กรอบคิดที่เน้นให้พิจารณาปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมก็มีคุณค่าอย่างมาก เพราะทำให้เกิดมุมมองใหม่ที่ไม่เน้นบทบาทรัฐเป็นปัจจัยหลักในการก่อรูปลักษณะของสังคมหนึ่งๆ ซึ่งกรอบการคิดของ มิกดัล ทำให้มองเห็นปัญหาของการศึกษาความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่มีมาในอดีตได้ชัดเจนขึ้น

การศึกษาของมิกดัลในเรื่องการมองปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับการจัดตั้งทางสังคมของท้องถิ่นนี้มีประโยชน์อย่างมากในการหยิบยืมมาเป็นกรอบกว้างๆในการอธิบายสังคมไทย  เพราะวงวิชาการและคนทั้วไปในสังคมไทยมักจะมองหรือให้ความสำคัญแก่ผู้นำหรือรัฐว่าเป็นปัจจัยหลักในการกำหนดความเปลี่ยนแปลง 

ตัวอย่างการมองเฉพาะบทบาทชนช้นนำหรือรัฐเป็นปัจจัยหลังในการกำหนดความเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญ ได้แก่ การศึกษาการเปลี่ยนแปลงการปกครองในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือ และการศึกษาความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยกรอบคิดการพัฒนาการทางการเมือง (Political Development)ที่ขยายตัวและได้รับความนิยมอย่างมากในยุคอิทธิพลอเมริกา  ซึ่งล้วนแล้วแต่มองข้ามความเปลี่ยนแปลงในเชิงตอบรับ/เปลี่ยนแปลง/ปรับตัวของผู้คนในสังคม

กลุ่มคนที่เรียกโดยรวมว่า “ชนชั้นกลาง” ได้ก่อให้ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาหลายครั้งแล้ว แม้ว่าเราจะใช้คำว่า “ ชนชั้นกลาง” เหมือนกัน แต่ในแต่ละระลอกของความเปลี่ยนแปลง  คุณลักษณะและบทบาทในการเปลี่ยนแปลงของ “ ชนชั้นกลาง” ก็ไม่ได้เหมือนกันไปหมดทุกเรื่อง แม้ว่าในเรื่องหรือแกนหลักของคนกลุ่มนี้จะคล้ายคลึงกันก็ตาม

ภายหลังจากการทำสนธิสัญญาการค้าเสรีในปี พ.ศ. 2398  การเปลี่ยนรูปรัฐโดยเริ่มต้นจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทำให้เกิดการขยายตัวของระบบราชการและดึงเอาสามัญชนจำนวนหนึ่งเข้าสู่ระบบราชการ  พร้อมๆกับการขยายตัวของการผลิตเพื่อขายได้ที่เกิดขึ้นหลังการเปิดประเทศเพื่อการค้าเสรีทำให้เกิดกลุ่มคนที่ทำงานในระบบการแบ่งงานกันทำมากขึ้น  ได้แก่ กลุ่มพ่อค้า กลุ่มนักหนังสือพิมพ์ เป็นต้น

กลุ่มที่ทำงานเลี้ยงชีพตนเอาด้วยความสามารถ/ศักยภาพส่วนตัวที่มีการจัดตั้งทางสังคมเข้มแข็งที่สุด ได้แก่ กลุ่มสามัญชนที่เป็นข้าราชการ  เพราะช่วงแรกของการขยายตัวของระบบราชการจำเป็นต้องสร้างการสื่อสารภายในกระทรวงทบวงกรมทำให้คนกลุ่มนี้สามารถที่จะสื่อสารกันได้ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการพบปะกัน หรือผ่านวารสารของหน่วยราชการนั้น   ในชณะที่กลุ่มพ่อค้าจำเป็นที่จะต้องพึ่งพิงรัฐเพื่อความอยู่รอดของตนเองมากกว่า ส่วนกลุ่มหนังสือพิมพ์ที่ถือว่ามีบทบาทไม่น้อยก็ไม่ได้มีความมั่นคงในชีวิตการทำงานนัก เพราะอำนาจรัฐควบคุมการนำเสนอความคิดเห็นอย่างเข้มข้น

แม้ว่ากลุ่มข้าราชการที่มีที่มาจากสามัญชนจะได้รับพระมหากรุณาธิคุณในการชุบเลี้ยงให้เติบโตในระบบราชการ  แต่พื้นฐานของความเป็นสามัญชนก็ได้กำหนดอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของพวกเขาให้มองเห็นว่าในอีกด้านหนึ่งของความสำเร็จทางราชการของตนนั้นเกิดขึ้นจากความสามารถ/ศักยภาพส่วนตัว  แรงปะทะ/ยื้อฉุดกันระหว่างความรู้สึกนึกคิดในสองทางนี้ดำรงอยู่มาเป็นเวลานานแม้กระทั่งหลังจากที่ชนชั้นนำของคนกลุ่มนี้ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วในปี พ.ศ. 2475

แม้ว่ารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่สามารถรักษาระบอบการเมืองของตนไว้ได้ยาวนาน  เพราะมีชีวิตเพียงประมาณห้าสิบปี  แต่ผลของการเปลี่ยนรูปและการขยายตัวของรัฐเข้าสู่สังคมชาวนาธรรมดา  และดึงเอาลูกหลานชาวนาที่หากว่าไม่เข้ามาสัมพันธ์กับรัฐ/ไม่เข้ามาสู่ระบบราชการก็ไม่มีทางที่จะมีชีวิตที่มีความหมายอีกแบบหนึ่งได้  ทำให้รากฐานของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ได้ถูกหักล้างลบทิ้งโดยสิ้นเชิง

เมื่อกลุ่มก้อนของข้าราชการที่มาจากสามัญชนที่มีความเข้มแข็งและสื่อสารกันทางความคิดเห็นได้อย่างกว้างขวางจนเห็นว่าหากปล่อยให้รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ดำรงอยู่ต่อไปก็อาจจะเกิดปัญหาแก่ “บ้านเมือง” มากขึ้น  เพราะการกำหนดชาติกำเนิดไว้สูงกว่าศักยภาพและความสามารถส่วนบุคคลได้กลายเป็นปัจจัยเหนี่ยวรั้งความก้าวหน้าของชาติ  จึงได้รวมกลุ่มกับเปลี่ยนแปลงการปกครองในนามของคณะราษฎร 

การสร้างรัฐใหม่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองของกลุ่มคนที่ใช้ความสามารถ/ศักยภาพส่วนตัวในการดำรงชีวิตแต่เป็นการดำรงชีวิตในระบบราชการ    จึงทำให้ด้านหนึ่งนั้นหลุดไม่พ้นจากการคิดคำนึงถึงการใช้กลไกอำนาจรัฐราชการในการเปลี่ยนแปลงสังคมเศรษฐกิจ  การขยายตัวของการผลิตแบบทุนนิยมโดยใช้กลไกรัฐเป็นเครื่องมือจึงขยายออกอย่างรวดเร็วหลังจากพวกเขาสามารถมีอำนาจเต็มหลัง พ.ศ 2480  ในอีกด้านหนึ่ง  พวกเขาก็ดึงเอาบรรดาพ่อค้าที่ทั้งเป็นคนจีนสยามและคนไทยเข้ามาอยู้ภายใต้ระบบทุนนิยมราชการนี้  การก่อรูปรัฐระบบราชการจึงเกิดขึ้นและดำเนินมาจนถึงจังหวะความเปลี่ยนแปลงอีกระลอกหนึ่งหลังการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง พ่อค้าจีนระดับต่างๆได้ค่อยๆตัดสินใจที่จะอยู่เมืองไทยอย่างถาวร  เพราะไม่สามารถที่จะกลับประเทศจีนได้  การลงทุนในการค้าระดับต่างๆได้ทวีสูงมากขึ้น    สถิติของการเปิดร้านค้าพาณิชย์เพิ่มสูงขึ้นในทุกพื้นที่โดยเฉพาะในเขตเมืองของทุกจังหวัด เพราะ  การออกไปในถิ่นฐานที่มีลู่ทางทางการค้าใหม่ๆเป็นทางเลือกของชีวิตที่ดีกว่าที่จะจ่อมจมอยู่ในกรุงเทพฯแบบเดิม ( เดิมหวังว่าทำงานเก็บเงินแล้วจะเดินทางกลับบ้านเกิดที่ประเทศจีน )

การค้าที่ขยายตัวออกไปทุกพื้นที่ของประเทศได้เชื่อมต่อเส้นทางการค้าระหว่างกรุงเทพฯกับหัวเมืองให้แน่นกระชับมากขึ้น  แต่ระบบการค้าประสบปัญหาจากกลไกระบบราชการที่พยายามเป็นผู้ผลิต ผู้จำหน่ายจ่ายแจกแบบระบบทุนนิยม  จึงทำให้เกิดแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปรัฐจากรัฐระบบราชการทางเศรษฐกิจ ( ทุนนิยมโดยรัฐ) มาสู่รัฐที่ปล่อยให้เอกชนดำเนินการค้าโดยเสรีมากขึ้น

กลุ่มชนชั้นกลางรุ่นที่สองที่เป็นคนจีนและลูกจีนรุ่นแรกๆต้องการอิงกับอำนาจรัฐแต่ต้องเป็นอำนาจรัฐอีกลักษณะหนึ่งที่ต้องเปิดโอกาสและเอื้ออำนวยให้ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของตน   (พรรคคอมมิวนิสต์ที่พยายามจะใช้ฐานความเป็นคนจีนในการขยายฐานก็ไม่ประสบผลสำเร็จ )  การเคลื่อนไหวทั้งหมดจึงทำให้เกิดการเปลี่ยนรูปรัฐจากรัฐระบบราชการให้กลายเป๋นรัฐระบบราชการแห่งการพัฒนาขึ้นมา

การรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์และการดำเนินงานการเมืองต่อเนื่องของจอมพลถนอมและเครือข่ายจึงเป็นการผสมผสานระหว่างระบบราชการเดิมให้มีอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองต่อไป แต่ขณะเดียวกันก็ลดบทบาททางเศรษฐกิจลงเพื่อเปิดโอกาสให้แก่กลุ่มพ่อค้าได้ขยายตัวมากขึ้น  พร้อมกับได้ตอบสนองแก่กลุ่มพ่อค้าในภุมิภาคด้วยการสร้างโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะถนนแทนรถไฟเพื่อทำให้แต่ละพื้นที่สามารถที่จะติดต่อค้าขายกันได้สะดวกยิ่งขึ้น

การขยายตัวของชนชั้นกลางทั้งสองระลอกนี้กินพื้นที่ทางสังคมไม่มากนัก  ช่วงแรกเป็นกลุ่มข้าราชการที่เป็นเพียงส่วนยอดๆของคนในแต่ละพื้นที่  ช่วงที่สอง ก็เป็นกลุ่มพ่อค้าจีนที่เริ่มออกทำการค้าหัวเมือง  จึงทำให้ทั้งสองกลุ่มล้วนแต่ต้องให้กลไกอำนาจรํฐเป็นเครื่องมือในการปรับเปลี่ยนตนเอง ไม่สามารถที่จะมีและใช้อำนาจของกลุ่มตนในการเปลี่ยนแปลงรูปรัฐ จึงทำให้รัฐไทยจึงมีส่วนผสมผสานของรากฐานเดิมตลอดมา

ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของสังคมไทยอันเป็นผลมาจากการขยายตัวและบทบาทชนชั้นกลางได้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งหลังจาการดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติในทศวรรษ 2500  เพราะการเน้นพัฒนาเศรษฐกิจไปสุ่อุตสาหกรรมทำให้ต้องขยายการศึกษาเพื่อสร้างแรงงานเฉพาะด้านขึ้นมาพร้อมไปกับการขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง ไฟฟ้า น้ำปะปา ฯลฯ

การสร้างโครงสร้างพื้นฐานออกไปอย่างกว้างขวางได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ความสัมพันธ์ทางสังคมอย่างใหญ่หลวงและลึกซึ้ง  เพราะคนในหัวเมืองทั้งหลายได้ถูกดึงเข้ามามีส่วนร่วมใน “ยุคสมัยแห่งการพัฒนา”  ในทุกมิตินอกจากภาพพื้นที่หัวเมืองที่เริ่มเป็น “ น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี “ แล้วอีกคำหนึ่งที่คนจดจำกันได้ได้แก่ “ มีงานทำ”   ลูกหลานของผู้คนเหล่านี้จึงได้เริ่มถูกผลักดันจากพ่อแม่ให้ “เรียนอย่างเดียวนะลูก พ่อแม่ไม่มีอะไรจะทิ้งไว้ให้เป็นมรดกนอกจากการเรียน” ( วลีทองที่คนรุ่นนั้นนิยมบอกกล่าวกับลูกหลาน)   การแข่งขันกันสอบเข้ามหาวิทยาลัย วิทยาลัยครู โรงเรียนอาชีวะ เพื่อที่จะใช้เป็นบันไดในการหางานทำเริ่มเข้มข้นมากขึ้น

การขยายตัวของการจ้างงานไม่ว่าในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชน ได้ทำให้เกิดพลังแห่งความหวังให้แก่คนจำนวนไม่น้อยว่าตนเองและครอบครัวจะสามารถขยับฐานะและสถานะได้ในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง  หนังสือแจกงานศพของผู้ที่มีชีวิตในช่วงนี้มักจะการบรรยายความสำเร็จของชีวิตตนเองด้วยการเน้นถึงความสำเร็จการศึกษาในระดับสูงของลูก/หลาน

การเข้าสู่มหาวิทยาลัยพร้อมกับความหวัง/ความฝันที่จะขยับฐานะของนักศึกษาได้เกิดขึ้นพร้อมๆกับการได้เรียนรู้เป็นครั้งแรกในชีวิตของพวกเขาว่าชีวิตของผู้คนต่างพื้นที่ ต่างภาค มีความเป็นอยู่กันอย่างไร  พร้อมกับการที่สังคมในขณะนั้นได้ให้ความยกย่องแก่นักศึกษาโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยอย่างสูง  จึงทำให้นักศึกษาจำนวนมากรู้สึกถึงความภาคภูมิใจในความเป็นนักศึกษาในฐานะ “ ปัญญาชน” ผู้ที่ควรจะนำความเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคม ขณะเดียวการเรียนรู้จากเพื่อนพ้องน้องพี่จากภูมิภาคอื่นๆ ก็ทำให้เห็น/ตระหนักถึงความแตกต่างของพื้นที่ของคนร่ำรวยและพื้นที่ของคนยากจน โดยเฉพาะพื้นที่ของภาคอีสานที่ถูกนำเสนอว่ายากลำบากกว่าทุกภูมิภาค

ความสำนึกที่ซ้อนทับกันเช่นนี้  ทำให้กิจกรรมนักศึกษาที่ได้รับความนิยมได้แก่การออกค่ายอาสาพัฒนาชนบทกับการเป็นนักคิดและนักเขียนสื่อสารกับเพื่อนนักศึกษาด้วยกัน  การออกชนบทได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงความคิดเรื่อง “ความยากจน”  เพราะการออกค่ายทำให้นักศึกษา “ ค้นพบ” คนจน   และการค้นพบนี้ได้กลายเป็นฐานของงานเขียนจำนวนมากของนักศึกษาเพื่อแสดงความเป็น “ ปัญญาชน”

ที่กล่าวว่าเป็นการ “ค้นพบ” คนจนก็เพราะว่าในความเป็นจริงชาวบ้านเขาอยู่อย่างนั้นมานานแล้ว แต่เมื่อนักศึกษาออกค่ายอาสาพร้อมกับความคิดว่าตนเองเป็นผู้นำทางปัญญาเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมจึงทำให้นักศึกษาได้เลือกสร้างและเขียนภาพ “ คนจน” ขึ้นมาให้เด่นชัดเป็นครั้งแรก 

ความปรารถนาที่จะเป็น “ ปัญญาชน” จึงทำให้นักศึกษาจำนวนไม่น้อยพยายามที่จะสร้างงานเขียนลักษณะต่างๆขึ้นมา  เพราะงานเขียนเป็นสัญญลักษณ์ของความเป็นผู้มีปัญญา   กลุ่มนักเขียนและกลุ่มนักศึกษาค่ายอาสาพัฒนาจะมีความสัมพันธ์คาบเกี่ยวกันส่งผลให้งานเขียนวรรณกรรม บทความ มักจะมีเนื้อหาสัมพันธ์กับความยากจนและคนจนที่ตนได้ไปพบพานในการออกค่ายอาสา

ความสำนึกในความเป็นปัญญาชนและการค้นพบคนจนในชนบทกลายเป็นฐานทางความคิดที่สำคัญในการดำรงอยู่เป็นนักศึกษา  วรรณกรรมจำนวนมากจะทิ้งท้ายไว้ด้วยการวาดความหวังและความฝันของตนว่าจะหวนคืนชนบทเพื่อแก้ไขปรับเปลี่ยนความยากจนของผู้คน

แรงแห่งความหวังและความฝันของนักศึกษานี้ได้ปะทะกับอำนาจรัฐเผด็จการที่ครองอำนาจมายาวนาน เพราะในช่วงก่อนที่จะเกิดการเคลื่อนไหวใหญ่ในพ.ศ. 2516  การขยายตัวของอำนาจรัฐที่เดิมถูกให้ความหมายในด้านที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อสังคมไทย  กลับกลายเป็นอำนาจที่กระจุกตัวอยู่กับกลุ่มชนชั้นนำทหารไม่กี่ตระกูล   การใช้อำนาจรัฐไปเพื่อผลประโยชน์ของตระกูลทหารถุกกล่าวขานอันอย่างกว้างขวางในหมู่นักศึกษาและส่วนใหญ่ให้ความเห็นสอดคล้องกันว่าเพราะการผูกขาดอำนาจและผลประโยชน์เช่นนี้เป็นสาเหตุของความยากจน

การต่อต้านการใช้อำนาจรัฐเพื่อเบียดบังผลประโยชน์เข้าสู่กลุ่มตนเองจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งของนักศึกษา กรณีสุดโต่งที่ใช้อำนาจรัฐไปเพื่อความสนุกสนานอย่างเดียวจึงยิ่งทำให้นักศึกษาโกรธเคืองมากกว่าปรกติ ได้แก่ การใช้เฮลิตอปเตอร์ไปล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่  และในท้ายที่สุด การเรียกร้อง “รัฐธรรมนูญ” เพื่อที่จะกำจัดอำนาจรัฐเผด็จการและกลุ่มผู้ผูกขาดอำนาจรัฐจึงเกิดขึ้นและนำไปสู่เหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516

กล่าวได้ว่าแม้นักศึกษาจะมีความเป็น” ชนชั้นกลาง” อยู่แต่นักศึกษายังไม่ได้อยู่ในฐานะชนชั้นกลางอย่างแท้จริงทำให้ฐานคิดจึงยังคงเป็นไปในเชิง “ อุดมคติ”  ความปรารถนาที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นในเร็ววันจึงทำให้ขบวนการนักศึกษาหันเหเข้าไปสู่ขบวนการฝ่ายซ้ายเมื่อพบว่าการแก้ไขในแนวทางรัฐสภาปรกตินั้นยังอีกยาวไกล นักศึกษาจำนวนไม่น้อยจึงเริ่มฝันถึงการเปลี่ยนแปลงทั้งสังคมไม่ใช่เพียงแค่การแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเดียว เพราะพบว่าอุปสรรคของการทำให้สังคมงดงามขึ้นได้แก่ระบบของสังคมเอง

ด้วยความเป็น “นักอุดมคติ” จึงทำให้นักศึกษาหันเหออกจากขบวนการฝ่ายซ้ายเมื่อพบว่าขบวนการนั้นก็ไม่ได้มีภาพเช่นอุดมคติที่ตนเองวาดหวังไว้ และได้หวนคืนกลับมาสู่ระบบสังคมเศรษฐกิจแบบเดิมที่ตนเองเคยอึดอัดและเจ็บปวดมาก่อน

“ชนชั้นกลางไทย” ระลอกที่สองได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมายแม้ว่าจะไม่สามารถที่จะสถาปนาระบอบของสังคมที่มีการต่อรองกันอย่างเสมอภาคได้อย่างที่คาดหวัง  สังคมไทยหลัง 14 ตุลาคม 2516 จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ชนชั้นกลางรุ่นต่อๆมาได้มีทีทางทางการเมืองและสังคมวัฒนธรรมมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม บทบาทชนชั้นกลางทั้งสองรุ่นนี้ล้วนแล้วแต่เป็นความปรารถนาที่จะเป็น “ผู้กระทำ” แทนคนอื่นๆในสังคมในการเปลี่ยนแปลงสังคม

การขยายตัวของชนชั้นกลางในสังคมไทยไม่ได้เป็นกระบวนการเดียวกันทั้งสังคม หากแต่มีลักษณะของการกระเพื่อมเป็นระลอกเหมือนระลอกคลื่น  ซึ่งทำให้ความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยจึงไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมทั้งสังคมหรือไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปสู่ “ประชาธิปไตย” อย่างที่คาดหวังกันว่าชนชั้นกลางจะเป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้นมาได้ในช่วงเวลาเดียว

ระลอกแรกของชนชั้นกลางได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 แต่เนื่องจากว่าชนชั้นกลางที่มาจากระบบราชการไม่มีอิสระทางเศรษฐกิจจึงทำให้ต้องสร้างรัฐระบบราชการขึ้นมา  ระลอกที่สอง แม้ว่าเป็นกลุ่มคนที่เป็นอิสระจากระบบราชการ แตก็มีจำนวนและขนาดไม่มากนัก จึงเป็นเสมือนหัวหอกของความเปลี่ยนแปลงไปสู่จินตภาพของการปกครองที่เสมอภาคมากขึ้นเท่านั้น 

ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจจากทศวรรษ 2520 เป็นต้นมาได้ก่อให้เกิดการขยายตัวของชนชั้นกลางอีกระลอกหนึ่งที่ได้น่าจะได้มีโอกาสและบทบาทมากขึ้นในการที่จะสร้าง “ รัฐประชาธิปไตย” ขึ้นมา

ทศวรรษ 2520 เป็นช่วงที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างลึกซึ้งและรวดเร็ว  ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนับเนื่องมาจนถึงพิธีการเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ในพ.ศ.2525 ได้ทำให้กลุ่มนักลงทุนชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น มีความเชื่อมั่นในเสถียรภาพของสังคมไทยอย่างสูง  เพราะทุกคนเชื่อในพระบารมีของสถาบันพระมหากษัตริย์ ( ผมกำลังจะเขียนเรื่องความหมายทางการเมืองและเศรษฐกิจของการเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครับ  ช่วยรออ่านด้วยนะครับ)

เสถียรภาพทางการเมืองได้ทำให้รัฐได้โอกาสในการขยายตัวออกไปสู่พื้นที่หัวเมืองต่างๆอย่างเข้มข้นมากขึ้น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ สี่และห้า ได้มุ่งเน้นสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในหัวเมืองหลักๆอย่างมาก  การขยายตัวของรัฐเข้าไปในพื้นที่ชนบทก็เข้มข้นขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน  ในช่วงต้นทศวรรษ คุณ บุญชู โรจนเสถียรได้เริ่มโครงการเงินผันสู่สภาตำบลซึ่งถือได้ว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่รัฐได้เปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้ตัดสินใจใช้เงินงบประมาณเอง (ก่อนทักษิณนานเลยครับ)

ต่อมารัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ก็ได้หยิบกรอบคิดของคุณบุญชูไปดัดแปลงเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในชนบทอย่างรอบด้านมากขึ้น  การคิดและสร้างนโยบายรัฐลงสู่ชนบทอย่างเป็นระบบเกิดขึ้นในช่วงที่คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการประสานการพัฒนาชนบทแห่งชาติและที่ปรึกษาพลเอกเปรม ในเรื่องการพัฒนาชนบท

พร้อมกัน ความภาคภูมิใจใน “ความเป็นไทย” ที่ทำให้รัฐไทยรอดพ้นจากภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์  ก็เป็นแรงผลักดันให้รัฐสร้างนโยบายการท่องเที่ยว “แห่งชาติ”  ซึ่งทำให้รายได้จากภาคการท่องเที่ยวขยายตัวขึ้นสูงอย่างมาก

การขยายตัวของรัฐเข้าไปสู่ชนบทในช่วงทศวรรษ 2520 เป็นต้นมาป็นโอกาสที่สำคัญที่ผู้คนในชนบทได้สัมพันธ์กับอำนาจรัฐอย่างเข้มข้นมากขึ้น  ความสัมพันธ์กับอำนาจรัฐเป็นทั้งโอกาสในการปรับตัวทางเศรษฐกิจและสังคม และเป็นการเปลี่ยนแปลงความหมายของตัวตน “ ชาวบ้าน” ที่ต้องจัดความสัมพันธ์กับอำนาจรัฐที่ใกล้ชิดตนเองมากขึ้น

การปรับตัวและการเปลี่ยนแปลงความหมายตัวตนของ “ ชาวบ้าน” ในแต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกันไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับสภาพเดิมทางกายภาพและสังคมเศรษฐกิจของพื้นที่นั้นๆ  แต่ก็กล่าวได้ว่าจะมีความแตกต่างแต่ก็มีลักษณะร่วมใหญ่ๆหลายประการ 

ความเปลี่ยนแปลงในภาคการเกษตรทั้งหมดเป็นการเข้าสู่การผลิตเพื่อขายมากขึ้นๆ  จนในช่วงต้นของทศวรรษ 2540 ก็กล่าวได้คนทำการเกษตรทั้งหมดในสังคมไทยไม่ใช่ชาวนา/ชาวบ้านที่ทำการเพาะปลูกแบบเดิมอีกแล้ว  การปลูกพืชเพื่อขายล้วนแล้วแต่ต้องยึดโยงกับกลไกของตลาดเป็นหลัก  การต่อรองกับตลาดโดยอาศัยอำนาจรัฐหรือการใช้รัฐเป็นเครื่องมือในการพยุงราคาพืชผลเป็นเรื่องปรกติมากขึ้นนับจากทศวรรษ 2520 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงมาสู่การผลิตเพื่อขายเป็นหลัก  ชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ล้วนแล้วแต่ใช้โอกาสที่การขยายตัวของรัฐลงไปในชนบทเป็นการปรับตัวที่สำคัญ   การปรับตัวมาหลายลักษณะขึ้นอยู่กับทุนเดิมของชาวบ้านในพื้นที่นั้นๆ กับโอกาสที่เกิดขึ้น  เช่น การขยายถนนหนทางทำให้เกิดการเกิดขึ้นของพ่อค้าเร่ในภาคอีสาน การขยายตัวของการปลูกยางพันธ์ใหม่ได้ทำให้การเกิดขึ้นของตลาดใหม่ๆในภาคใต้   การขยายตัวของธุรกิจการท่องเที่ยวทำให้เกิดการอพยพเข้าสู่ภาคบริการในภาคเหนือ รวมทั้งการเริ่มต้นเป็นแรงงานรับจ้างในภาคเกษตรของชาวบ้านภาคกลาง   เป็นต้น

นโยบายรัฐที่ทำให้เกิดการเติบโตของหัวเมืองทุกภูมิภาคก็เป็นโอกาสที่สำคัญของผุ้คนที่เคลื่อนย้ายเข้ามาสู่การทำงานเฉพาะด้านต่างๆในเขตเมือง  การขยายตัวของการผลิตภาคไม่เป็นทางการเพิ่มมากขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นการค้าขายเล็กๆน้อยๆริมทางเท้า  การเป็นผู้รับเหมาช่วงในการผลิตสินค้า หรือเป็นแรงงานในธุรกิจการก่อสร้าง ฯลฯ

การจัดความสัมพันธ์ลักษณะใหม่กับตลาดในภาคเกษตรกรรม  และการเคลื่อนย้ายเข้ามาสู่การทำงานระดับต่างในเขตเมืองที่เติบโตมากขึ้นจากนโยบายรัฐมีผลอย่างสำคัญในการเปลี่ยนแปลงความหมายของตัวตน “ ชาวบ้าน”  เพราะพี่น้องชาวบ้านทั้งหมดได้กลายมาเป็นผู้ขายทักษะ/ความสามารถส่วนตัวในการดำรงชีวิต  ทักษะและความสามารถส่วนตัวนั้นไม่ได้มาจากการศึกษาในระบบอย่างเช่นชนชั้นกลางสองรุ่นที่ผ่านมา  แต่เป็นการสร้างและสั่งสมกันมาในช่วงสอง/สามทศวรรษหลัง 2520 เช่น พี่น้องร้อยเอ็ดที่ขับแท็กซี่อยู่ในปัจจุบันล้วนแล้วแต่ย้อนไปได้ถึงญาติพี่น้องที่เคยขับ “ บลูเบิร์ด” ในสมัย 2520

กล่าวได้ว่า การขยายตัวของชาวบ้านที่ปรับตัวมาสู่การขายทักษะ/ความสามารถส่วนตัวนี้เป็นลักษณะร่วมกันของความเป็นชนชั้นกลาง หากแต่ทักษะ/ความสามารถส่วนตัวนี้แตกต่างไปจากชนชั้นกลางเดิมในก่อนหน้านี้ 

ที่สำคัญที่สุดของกระบวนการการขยายตัวของคนกลุ่มนี้  ได้แก่ เป็นการขยายตัวรุ่นสุดท้ายของชนชั้นกลางในสังคมไทยเพราะทุกคนในภาคชนบทล้วนแล้วแต่เข้ามาสู่การเป็น “ชนชั้นกลาง” ดัวกล่าวจนหมดสิ้นแล้ว แม้พี่น้องปาเกอะญอในพื้นที่ห่างไกลก็ไม่ได้อยู่แบบเดิมอีกต่อไปแล้ว ลูกหลานของพี่น้องเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เข้าสู่ระบบการศึกษาแบบทางการจนหมดสิ้น

นี่คือระลอกสุดท้ายของชนชั้นกลางในสังคมไทย  ไม่มีชาวนาและสังคมชาวนาแบบเดิมเหลืออีกแล้ว  ต่อจากนี้ไป สังคมไทยก็จะต้องจัดความสัมพันธ์ในสังคมชนชั้นกลางกันใหม่เพื่อจะข้ามพ้นวิกฤติด้านต่างๆที่รุมเร้าอยู่

การเปลี่ยนบทบาทและการขยายตัวของรัฐจากทศวรรษที่ 2520 เป็นต้นมาได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างไพศาลและลึกซึ้ง  ที่สำคัญได้แก่  การขยายตัวเข้าไปในชนบททั้งทางด้านควบคุมและบริการ ซึ่งได้ทำให้ “ชาวบ้าน” เริ่มเกิดสำนึกของความเป็น “ พลเมือง “  เพราะได้รับผลประโยชนจากรัฐมากกว่าที่เคยได้รับมาและเป็นการได้รับผลประโยชน์จากรัฐในฐานะที่ตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคมการเมืองไทย

พร้อมกันไปกับการขยายตัวของรัฐ  การขยายตัวของการผลิตเชิงพาณิชย์และการผลิตภาคบริการโดยเฉพาะการท่องเที่ยวได้เป็นแรงผลักดันให้ผู้คนในชนบทเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนเองด้วยการเข้าสู่การประกอบอาชีพเกษตรกรรมเพื่อการขายเต็มตัวและการเข้าสู่การทำงานด้วยความสามารถส่วนตัวแม้ว่าจะเป็นความสามารถในระดับที่ไม่สูงมากนัก

ทางกระบวนการการขยายตัวของรัฐและการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ทำให้เกิดนการขยายตัวรุ่นของชนชั้นกลางรุ่นสุดท้ายขึ้นในสังคมไทยเพราะทุกคนในภาคชนบทล้วนแล้วแต่เข้ามาสู่การเป็น “ชนชั้นกลาง” ดัวกล่าวจนหมดสิ้นแล้ว ตัวอย่างของพี่น้องปาเกอะญอในพื้นที่ห่างไกลก็ไม่ได้อยู่แบบเดิมอีกต่อไปแล้ว ลูกหลานของพี่น้องเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เข้าสู่ระบบการศึกษาแบบทางการและเข้าสู่การทำงานเฉพาะด้านจนหมดสิ้น 

กล่าวได้ว่าสังคมไทยทั้งหมดกลายเป็นสังคมของ “ชนชั้นกลาง” แล้ว   แต่ก็ยังอยู่ในช่วงเวลาของการก่อรูปสังคม  ดังนั้นจึงยังไม่ใช่สังคมชนชั้นกลางในความหมายที่มีความใกล้เคียงกันทางรายได้และเสมอภาคกันทางด้านการเมืองวัฒนธรรม   ทางด้านรายได้  ก่อนการรัฐประหารมีงานวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่พบว่าสัดส่วนคนยากจนในสังคมไทยลดลง  แต่มีคนที่ “ เกือบจน”  อีกประมาณเจ็ดล้านคน

กลุ่มคน “ เกือบจน”  เหล่านี้เป็นผู้ที่หลุดออกมาจากการทำงานภาคเกษตรมาสู่การทำงานภาคไม่เป็นทางการ ความสม่ำเสมอของรายได้ไม่คงที่   แม้ว่าคนเหล่านี้จำนวนมากยังคงพำนักอาศัยในพื้นที่ชนบท  แต่ชิวิตจริงสัมพันธ์อยู่กับระบบเศรษฐกิจใหญ่ของสังคม

ดังนั้น แม้ว่าสังคมไทยเริ่มเข้าสู่สังคมมชนชั้นกลางแต่ก็ยังไม่ได้อยู่ในรูปของสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนแนวตั้งหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่ารูปแบบเพชร  หากแต่ยังคงเป็นรูปแบบของสามเหลี่ยนฐานกว้างอยู่ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดในช่วงหลังทศวรรษหลังนี้

ปัญหาที่สำคัญที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมชนชั้นกลางที่มีหลายระดับของความเป็นชนชั้น ก็คือ ความปรารถนาของแต่ละกลุ่มหรือแต่ละชั้นในชนชั้นกลาง (ด้วยกัน) ในการที่จะจัดความสัมพันธ์กับรัฐนั้นแตกต่างกันไป  ซึ่งได้ทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองมายาวนานกว่าสิบปี

กลุ่มคนที่ทำงานให้ทักษิณ ชินวัตรจำนวนหนึ่งมองเห็นแรงปรารถนาที่ในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของพี่น้องคนในชนบทที่เกิดขึ้น  จึงได้สร้างนโยบายที่เอื้ออำนวยให้แก่การปรับเปลี่ยนตัวเองของพี่น้องชนบท   แต่ไม่สามารถที่จะอธิบายหรือทำความเข้าใจในนโยบายเช่นนี้ให้แก่ชนชั้นกลางกลุ่มก่อนหน้านี้ได้  ทั้งๆที่หากชนชั้นกลางรุ่นสุดท้ายนี้เข้มแข็งขึ้นทางเศรษฐกิจก็จะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมและต่อชนชั้นกลางเก่าด้วย

นอกจากไม่มีความสามารถในการอธิบายความเปลี่ยนแปลงนี้ให้กระจ่างแก่สังคมแล้ว  ทักษิณ ชินวัตร กลับพยายามหาฐานเสียงโดยไม่คำนึงถึงความแตกแยกของผู้คน   ดังที่เห็นถึงความพยายามจะเป็น “ ฮีโร่” ของคนจนอย่างเดียว  และไม่ได้แสดงถึงวิสัยทัศน์ในการทำให้เกิดการเคลื่อนของทั้งสังคม  จึงยิ่งทำให้เกิดความแตกต่างภายในชนชั้นของชนชั้นกลางจึงไม่ใช่เพียงแค่ความแตกต่างในระดับฐานะ หากนำไปสู่ความแตกต่างทางความคิดด้วย   การพูด(คนเดียว)รายสัปดาห์ของทักษิณในช่วงหลังๆแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเขาไม่มีวิสัยทัศน์ต่อการทำพาสังคมเคลื่อนไปข้างหน้า นอกจากการหาฐานเสียงเท่านั้น

น่าเสียดายที่  ความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของสังคมไทยกำลังจะเปิดโอกาสให้แก่การปรับตัวแก่ผู้คนจำนวนมากที่จะได้เข้ามาสู่การร่วมกันสร้างสังคมชนชั้นกลางใหม่  แต่การสร้างเงื่อนไขทางการเมืองที่จะครองอำนาจของนักการเมืองกลับทำให้โอกาสที่คาราคาซังอยู่   และยังไม่เดินไปข้างหน้าได้

รัฐบาลทหารที่ครองอำนาจมาเกือบปีก็มองไม่เห็นประเด็นปัญหานี้  การสร้างนโยบายจำนวนไม่น้อยกลับเป็นการซ้ำเติมพี่น้องในชนบทเพราะคิดได้แบบชนชั้นกลางรุ่นเก่า  เช่น นโยบายที่ดิน/ที่ป่า ซึ่งทำให้เกิดความเดือดร้อยของพี่น้องมากมาย  รัฐบาลมองไม่เห็นว่าภายใต้เงื่อนไขที่ทรุดต่ำลง  การใช้งบประมาณที่จะทำไปสู่การจ้างงานหรือผลิตงานนั้นจะมุ่งไปสู่คนกลุ่มใด 

ที่สำคัญ  รัฐบาลทหารมองไม่เห็นแนวทางการสร้างความเข้าใจร่วมกันของชนชั้นกลางทั้งหมดว่าสังคมไทยกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนเข้าสู่สังคมชนชั้นกลาง  ซึ่งต้องการพลังรวมกันในการผลักดันสังคมทั้งหมด   พวกเขามองเห็นแต่การกลับไปสู่ “ ความเป็นไทย /ความสามัคคี” แบบเดิมๆ  ซึ่งไม่ได้ผลทางจิตใจแต่ประการใด

แม้ว่าจะไม่รู้ว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะมาถึงเมื่อไร  แต่ก็หวังไว้ว่าน่าจะมีพรรคการเมือง “ใหม่”ที่เข้าใจปัญหาความขัดแย้งระหว่างชนชั้นกลางด้วยกันได้รับเลือกตั้งเข้ามาบ้าง  เพื่อที่จะทำให้เกิดพลังร่วมกันในการผลักดันสังคมไทย  ที่เน้นว่าพรรคการเมือง “ ใหม่” ก็เพราะว่าพรรคใหญ่ทั้งสองพรรค อันได้แก่ ประชาธิปัตย์ และเพื่อไทย  ไม่มีทางที่จะเป็นทางเลือกให้แก่อนาคตสังคมชนชั้นกลางได้  ทั้งสองพรรคจมอยู่กับความสำเร็จในอดีตของตนจนมองไม่เห็นปัจจุบันและอนาคต  มิพักต้องพูดถึงพรรคทหาร

การจัดความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างรัฐกับสังคมชนชั้นกลางจึงจะเป็นประเด็นสำคัญที่จะชี้ว่าเราจะไปรอดหรือจะเป็นคนป่วยไข้ที่น่าอนาถในสายตาของสังคมโลกต่อไป
                                                              

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net