Skip to main content
sharethis

ทีมนักวิจัยกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญามหาวิทยาลัยอิลลินอยส์เปิดเผยว่าผลงานที่เป็นสมบัติสาธารณะ (public domain) ถูกใช้ในงานเชิงสร้างสรรค์จำนวนมากมีมูลค่าได้มากสุดถึง 270 ดอลลาร์ต่อปี ชี้การเข้มงวดกับกฎหมายลิขสิทธิ์มากเกินไปไม่ส่งผลดีกับทุกคน

20 เม.ย. 2558 งานวิจัยล่าสุดจากกลุ่มนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์แสดงตัวอย่างให้เห็นว่างานเชิงสร้างสรรค์ เช่น หนังสือ รูปภาพ และดนตรี ที่เป็นสมบัติสาธารณะ (public domain) ไม่ผูกติดกับลิขสิทธิ์สามารถประเมินค่าเป็นเม็ดเงินได้เทียบเท่ากับผลงานที่มีลิขสิทธิ์

พอล ฮีลด์, ริชาร์ด ดับเบิลยู และ มารี แอล คอร์แมน นักวิจัยด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ระบุว่า "เจ้าของลิขสิทธิ์มักจะชอบพูดเกี่ยวกับคุณค่าในเชิงส่วนบุคคลของลิขสิทธิ์ ซึ่งมองออกไม่ยากเลยว่าถ้าหากคุณผูกขาดสิ่งใดได้คุณก็อยากจะทำเงินให้ได้มากๆ จากสิ่งนั้น"

อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยยังระบุอีกว่าผู้สนับสนุนลิขสิทธิ์ละเลยไม่มองว่าสิ่งที่ไม่มีลิขสิทธิ์คุ้มครองก็สามารถสร้างมูลค่าได้เช่นกัน รวมถึงตัวอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์เองก็อาศัยสิ่งที่เป็นสมบัติสาธารณะเพื่อเป็นแบบหรือเป็นพื้นฐานสร้างสรรค์งานใหม่ๆ ได้

ฮีลด์เปิดเผยว่าพวกเขาเลือกกลุ่มตัวอย่างของงานที่ถือเป็นสมบัติสาธารณะมาจำนวนหนึ่งแล้วประเมินค่าทางการเงินต่องานเหล่านั้นในแง่ที่พวกมันส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ได้มากขนาดไหน ยกตัวอย่างเช่นการเขียนหน้าเว็บไซต์ของวิกิพีเดียหน้าใหม่โดยอาศัยทรัพยากรที่เป็นสมบัติสาธารณะรวมถึงถ้าหากการที่เว็บไซต์หน้านั้นๆ ใช้รูปภาพที่เป็นสมบัติสาธารณะด้วยจะทำให้มีการเข้าชมเพิ่มขึ้น หรือมีการนำไปใช้ประกอบข้อมูลในที่อื่นๆ มากขึ้นหรือไม่

ผู้วิจัยพบว่าในหน้าเพจของวิกิพีเดียที่เป็นหน้าประวัติศาสตร์เก่าแก่มักจะมีรูปภาพมากกว่าหน้าอื่นๆ เพราะรูปภาพเหล่านั้นเกิดขึ้นในยุคสมัยที่ยังไม่มีการจดลิขสิทธิ์ นอกจากนี้รูปภาพส่วนใหญ่ในบทความอื่นๆ ของวิกิพีเดียก็มักจะเป็นรูปภาพสมบัติสาธารณะ พวกเขาพิจารณาจากวิกิพีเดียจำนวน 300 หน้าทำให้สรุปได้ว่ารูปภาพสมบัติสาธารณะบนวิกิพีเดียตีค่าเป็นเงินได้ระหว่าง 246-270 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี (ราว 7,900 ล้านบาทถึง 8,700 ล้านบาทต่อปี)

ฮีลด์กล่าวว่า กฎหมายลิขสิทธิ์ที่เข้มงวดมากเกินไปจะไม่ได้ส่งผลดีต่อทุกคน ดังที่เห็นในตัวอย่างของวิกิพีเดียที่พวกเขาศึกษา ซึ่งพบว่าการไม่มีลิขสิทธิ์สามารถทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับผลงานชุดอื่นๆ ได้

"ไม่มีเหตุผลเลยที่สาธารณชนต้องการมองเห็นกฎหมายลิขสิทธิ์กลายเป็นสิ่งที่ถูกใช้หาเงินเข้ากระเป๋าซึ่งจะเพิ่มความมั่งคั่งแค่กับตัวบุคคลและบรรษัทเอกชนแต่กลับสร้างภาระให้กับด้านสวัสดิการสังคมและทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเพิ่ม" ฮิลด์กล่าว

ทั้งนี้ยังมีการระบุถึงเรื่องความยากลำบากในการระบุตัวตนเจ้าของรูปถ่ายที่แท้จริงโดยเฉพาะภาพจากนิตยสารและหนังสือพิมพ์ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1940-1970 ซึ่งยังคงมีการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย แต่การตามหาเจ้าของลิขสิทธิ์ก็ทำได้ยากเนื่องจากไม่สามารถค้นหาในฐานข้อมูลของสำนักงานลิขสิทธิ์ได้ง่ายๆ เรื่องนี้ยังนำมาถึงข้อถกเถียงเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์กำพร้า (Orphan work) ซึ่งกล่าวถึงงานลิขสิทธิ์ที่ไม่สามารถหาตัวเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ทำให้ไม่สามารถนำไปใช้ในงานอื่นได้

ก่อนหน้านี้เคยมีการเสนอกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์กำพร้าในสหรัฐฯ แต่ก็ยังไม่มีการพิจารณา ซึ่งในแคนาดามีการออกกฎหมายบังคับอนุญาตใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ (Copyright Compulsory Licensing Law) ซึ่งทำให้ผู้ต้องการนำผลงานที่มีลิขสิทธิ์แต่ตามเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่พบไปใช้งานสามารถนำไปใช้ได้โดยวางทรัพย์สินส่วนหนึ่งไว้กับรัฐ ทางสหภาพยุโรปก็มีการนำแนวทางไปใช้ในลักษณะคล้ายๆ กัน โดยให้เจ้าของผลงานสามารถขอรับค่าชดเชยจากหน่วยงานที่นำผลงานของเขาไปใช้ได้ในภายหลังและทำให้ผลงานเขาสิ้นสุดสถานะลิขสิทธิ์กำพร้า

ฮีลด์กล่าวว่า กฎหมายลิขสิทธิ์กำพร้าจะไม่ใช่การถอดลิขสิทธิ์ออกโดยสิ้นเชิง แต่เป็นการที่ผู้ต้องการใช้งานผลงานที่หาเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ได้สามารถนำไปใช้โดยจ่ายค่าลิขสิทธิ์ตามราคาตลาดที่เป็นธรรมและเจ้าของลิขสิทธิ์สามารถมาทวงกับหน่วยงานเก็บค่าลิขสิทธิ์ในภายหลังได้


เรียบเรียงจาก

Absence of copyright has its own economic value, social benefits, Phys, 14-04-2015
http://phys.org/news/2015-04-absence-copyright-economic-social-benefits.html


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

คำศัพท์ Orphan work จากเว็บไซต์ 'คลังศัพท์ไทย'
http://www.thaiglossary.org/node/81054

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net