มาตรฐานการจัดการจัดงานวิ่งในประเทศอังกฤษ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 

การจัดการแข่งขันกีฬาวิ่ง ถือเป็นการจัดกิจกรรมกีฬาวิ่งรูปแบบหนึ่ง ที่ไม่เพียงแต่จะส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใส่ใจสุขภาพของตน ผ่านการฝึกซ้อมร่างกายก่อนเข้าร่วมกิจกรรมการวิ่ง การเข้าร่วมกิจกรรมการวิ่งและการพัฒนาตนภายหลังจากการแข่งขันกีฬาวิ่งเท่านั้น หากแต่การจัดกิจกรรมการวิ่งเองอาจถูกนำมาใช้เป็นกิจกรรมระดมทุนขององค์การ สถานสาธารณกุศล สถานพยาบาลและสถานศึกษา เพื่อนำเงินที่ได้จากการจัดกิจกรรมไปใช้ประโยชน์ในสาธารณกุศลตามวัตถุประสงค์ของการจัดการแข่งขันกีฬาวิ่งในแต่ละครั้ง ด้วยเหตุนี้เอง การจัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬาวิ่งในระยะทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระยะทาง 1k 3k 5k มินิมาราธอน ฮาล์ฟมาราธอนและมาราธอน จึงเป็นกิจกรรมกีฬารูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมและแพร่หลายทั้งในประเทศไทยและหลายประเทศ

อย่างไรก็ตาม การจัดการแข่งขันกีฬาวิ่งในระยะทางต่างๆ ย่อมมีปัจจัยหลายอย่างที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับกิจกรรมการวิ่งจำต้องคำนึงถึง เช่น มาตรฐานการแข่งขันกีฬาวิ่งที่เป็นสากล ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้เข้าร่วมการแข่งขัน และปัจจัยความเสี่ยงด้านอื่นๆ ที่อาจกระทบต่อการแข่งขันกีฬาวิ่งได้ ทั้งนี้ เมื่อการจัดการแข่งขันกีฬาวิ่งเองอาจสามารถสร้างผลกระทบทั้งในด้านบวกและด้านลบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับการจัดการแข่งขันในระดับต่างๆ องค์กรกำกับดูแลกีฬาวิ่งและกรีฑา (Governing Body for the Athletics and Running) ในหลายประเทศ จึงมีบทบาทและภารกิจที่สำคัญในการวางหลักเกณฑ์และบัญญัติข้อบังคับกีฬาวิ่งในการแข่งขันระดับต่างๆ จึงจำต้องวางมาตรฐานในการจัดการแข่งขันกีฬาวิ่ง เพื่อลดความเสี่ยงต่อผลกระทบในด้านลบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับการจัดการแข่งขันกีฬาวิ่ง ได้แก่ ผู้จัดกิจกรรม ผู้เข้าร่วมการแข่งขัน กรรมการ อาสาสมัคร ผู้เข้าชมการแข่งขัน และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มาอำนวยความสะดวกในการแข่งขัน นอกจากนี้ องค์กรกำกับดูแลกีฬาวิ่งและกรีฑาในหลายประเทศยังมีบทบาทและหน้าที่ในการกำหนดหลักเกณฑ์การแข่งขันให้สอดรับกับกฎหมายของบ้านเมืองที่เกี่ยวข้องกับการจัดการแข่งขันกีฬาวิ่ง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายอาญา กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายความปลอดภัย กฎหมายจราจร กฎหมายสุขอนามัยอาหาร กฎหมายสิทธิมนุษยชน และกฎหมายกีฬา

ในประเทศอังกฤษ องค์กร UK Athletics หรือองค์กร UKA ถือเป็นองค์กรหนึ่งที่มีอำนาจ บทบาทและภารกิจที่สำคัญในการกำหนดกฎข้อบังคับของการแข่งขันกรีฑา (UK Athletics Rules) ซึ่งผู้จัดการแข่งขันกีฬาวิ่งเอง ไม่ว่าจะเป็นการจัดการแข่งขันกีฬาวิ่งบนถนน (road race events) หรือการจัดการแข่งขันกีฬาวิ่งผ่านหลากหลายภูมิประเทศ (multi-terrain race events) ต่างก็ต้องจัดการแข่งขันให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่องค์กร UKA ได้กำหนดเอาไว้ อนึ่ง องค์กรกีฬาวิ่งในระดับภูมิภาคและองค์กรกีฬาวิ่งในระดับท้องถิ่น รวมไปถึงชมรมวิ่งต่างๆ ที่จัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬาวิ่ง จำต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของการแข่งขันกรีฑาที่องค์กร UKA ได้กำหนดเอาไว้อย่างเคร่งครัด โดยกลไกที่องค์กร UKA นำมาใช้ในการควบคุมมาตรฐานการจัดการแข่งขันกีฬาวิ่งในแต่ละครั้ง นั้นก็คือ การกำหนดมาตรฐานพิจารณาออกใบอนุญาตจัดการแข่งขันกีฬาวิ่ง (UKA Race Licence Standards)

องค์กร UKA ได้นำระบบใบอนุญาต (Licensing System) มากำหนดเอาไว้ในมาตรฐานพิจารณาออกใบอนุญาตจัดการแข่งขันกีฬาวิ่ง กล่าวคือ องค์กร UKA สามารถใช้ดุลพินิจในการออกใบอนุญาตจัดการแข่งขันกีฬาวิ่งประเภทต่างๆ โดยการใช้ดุลพินิจในการออกใบอนุญาตจัดการแข่งขันกีฬาวิ่งในแต่ละรายการ องค์กร UKA ต้องพิจารณาว่าเอกชน สมาคมกีฬา ชมรมวิ่งหรือองค์กรการกุศล ที่ประสงค์ที่จะจัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬาวิ่ง สามารถปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานที่ทาง UKA ได้วางเอาไว้สำหรับการจัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬาวิ่งหรือไม่ อันประกอบด้วย

[1] เอกชน สมาคมกีฬา ชมรมวิ่งหรือองค์กรการกุศล ที่ประสงค์ที่จะจัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬาวิ่ง ต้องยื่นคำขออนุญาตใช้เส้นทางวิ่ง (planning consents) ต่อหน่วยงานของรัฐหรือท้องถิ่นที่มีหน้าที่พิจารณาคำขอใช้เส้นทางวิ่งและกำกับดูแลด้านความปลอดภัยในการสัญจรบนท้องถนน พร้อมๆ กับการขอหารือแนวทางในการจัดวางเส้นทางการแข่งขันกีฬาวิ่งบนท้องถนนหรือสถานที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ท้องถิ่นเองสามารถออกคำสั่งทางปกครอง คำบังคับทางผังเมือง หรือคำสั่งเกี่ยวกับการปฏิบัติงานด้านจราจร ให้สอดรับกับความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาวิ่งและผู้เกี่ยวข้องกับกีฬาวิ่ง

[2] เอกชน สมาคมกีฬา ชมรมวิ่งหรือองค์กรการกุศล ที่ประสงค์ที่จะจัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬาวิ่ง ต้องกำหนดเส้นทางวิ่งที่แน่นอน (course route) โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียดังกล่าวต้องให้บริษัทหรือหน่วยงานที่ขึ้นทะเบียนกับสมาคมวัดระยะของเส้นทางวิ่ง (Association of UK Course Measurers หรือ สมาคม AUKCM) มาทำการวัดระยะเส้นทางวิ่ง แล้วบริษัทหรือหน่วยงานดังกล่าวจะออกใบรับรองระยะทาง (Certificate of Accuracy) เพื่อให้นำไปยื่นประกอบการพิจารณาของอนุญาตจัดการแข่งขันกีฬาวิ่งกับองค์กร UKA

[3] เอกชน สมาคมกีฬา ชมรมวิ่งหรือองค์กรการกุศล ที่ประสงค์ที่จะจัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬาวิ่ง ต้องกำหนดอัตรากำลังของอาสาสมัคร (marshals) และอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยในเส้นทางวิ่งให้เพียงพอและได้สัดส่วนกับเส้นทาง พื้นที่ จำนวนผู้เข้าร่วมการแข่งขันและจำนวนผู้ชม

[4] เอกชน สมาคมกีฬา ชมรมวิ่งหรือองค์กรการกุศล ที่ประสงค์ที่จะจัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬาวิ่ง ต้องจัดเครื่องบอกเวลาในจุดเริ่มต้นและจุดเส้นชัยของการแข่งขันเอาไว้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการแข่งขันหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ สามารถมองเห็นเวลาเริ่มต้นและเวลาที่เข้าเส้นชัยได้อย่างชัดเจน

[5] เอกชน สมาคมกีฬา ชมรมวิ่งหรือองค์กรการกุศล ที่ประสงค์ที่จะจัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬาวิ่ง ต้องจัดการสนับสนุนทางการแพทย์ (Medical Support) เอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นจุดปฐมพยาบาล จุดจอดรถพยาบาลประจำการแข่งขัน เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และแผนการลำเลียงผู้บาดเจ็ดหรือได้รับอุบัติเหตุจากการแข่งขันฉุกเฉิน

[6] เอกชน สมาคมกีฬา ชมรมวิ่งหรือองค์กรการกุศล ที่ประสงค์ที่จะจัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬาวิ่ง ต้องจัดจุดให้บริการน้ำดื่ม (Drink Stations) ให้เพียงพอและจัดปริมาณน้ำดื่มให้ได้สัดส่วนต่อพื้นที่ เส้นทางและจำนวนนักกีฬาวิ่ง รวมไปถึงมาตรฐานสุขภาวะน้ำดื่มและมาตรฐานสัดส่วนน้ำดื่ม ต้องเป็นไปตามกฎหมาย Food Hygiene Regulations 2006 ด้วย

[7] เอกชน สมาคมกีฬา ชมรมวิ่งหรือองค์กรการกุศล ที่ประสงค์ที่จะจัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬาวิ่ง ต้องจัดสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน (facilities) เช่น กองอำนวยการ จุดเริ่มต้น จุดเส้นชัย จุดรับฝากของและห้องน้ำ ให้เพียงพอและได้สัดส่วนต่อพื้นที่ เส้นทางและจำนวนนักกีฬาวิ่ง

[8] เอกชน สมาคมกีฬา ชมรมวิ่งหรือองค์กรการกุศล ที่ประสงค์ที่จะจัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬาวิ่ง ต้องพิจารณาข้อกำหนดอื่นๆ (miscellaneous provisions) เพื่อความปลอดภัยของนักกีฬาเองและความสะดวกในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครในการจัดการแข่งขันด้วย เช่น การแจกเบอร์วิ่งให้ผู้เข้าแข่งขันสวมใส่ ซึ่งอาจมีช่องให้กรอกข้อมูลทางการแพทย์หรือโรคประจำตัวด้านหลังเบอร์วิ่งด้วย ผู้จัดการแข่งขันต้องแนะนำให้นักกีฬาวิ่งกรอกข้อมูลที่จำเป็นในกรณีฉุกเฉินเอาไว้ เป็นต้น

ดังนั้น หากเอกชน สมาคมกีฬา ชมรมวิ่งหรือองค์กรการกุศล ที่ประสงค์ที่จะจัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬาวิ่งไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานพิจารณาออกใบอนุญาตจัดการแข่งขันกีฬาวิ่ง (UKA Race Licence Standards) เอกชน สมาคมกีฬา ชมรมวิ่งหรือองค์กรการกุศลก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้จัดการแข่งขัน หรือหากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียดังกล่าวได้รับใบอนุญาตให้จัดการแข่งขันกีฬาวิ่งแล้ว แต่หากมาพบเอาภายหลังว่า ไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานที่องค์กร UKA ได้กำหนดเอาไว้ องค์กร UKA ก็สามารถเพิกถอนใบอนุญาตให้ดังกล่าวได้

การนำระบบใบอนุญาตมากำหนดเอาไว้ในมาตรฐานพิจารณาออกใบอนุญาตจัดการแข่งขันกีฬาวิ่งของประเทศอังกฤษ ไม่เพียงจะส่งผลดีต่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาวิ่งแล้ว ยังทำให้ผู้จัดการแข่งขัน เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครปฏิบัติงานได้สะดวกและปฏิบัติได้สอดรับกับมาตรฐานการจัดงานวิ่งระดับสากลได้อีกด้วย

เมื่อหันกลับมามองดูการจัดการแข่งขันกีฬาวิ่งในประเทศไทยนั้น พบว่าผู้เข้าแข่งขันกีฬาวิ่งยังประสบกับปัญหาความไม่ได้มาตรฐานจากการไร้ระบบหรือไร้มาตรฐานการจัดการแข่งขันกีฬาวิ่งหลายประการ ตัวอย่างเช่น การที่ผู้เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาวิ่งต้องซื้อน้ำจากร้านสะดวกซื้อที่อยู่ริมเส้นทางวิ่งดื่มเอง เพราะไม่มีจุดให้บริการน้ำดื่มหรือปริมาณน้ำดื่มที่พอเพียงและการที่ผู้เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาวิ่งได้รับอุบัติเหตุจากการถูกรถชน เพราะไม่มีการจัดมาตรฐานความปลอดภัยในการแข่งขันกีฬาวิ่งอย่างเหมาะสม ฉะนั้น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐ หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง การกีฬาแห่งประเทศไทยและสมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ จึงต้องหันกลับมามองถึงมาตรฐานการแข่งขันกีฬาวิ่งและทบทวนมาตรการที่มีอยู่ในปัจจุบันว่ามีเพียงพอและเหมาะสมหรือไม่

 

 

อ้างอิง 1: British Association of Road Races, The Law and UKA Race Licence Standards 2014http://www.barr-online.org.uk/The%20Law%20and%20UKA%20Race%20Licence%20Standards.pdf

อ้างอิง 2: Scottish Athletics, 2014 LICENCE STANDARDS for ROAD and MULTI-TERRAIN EVENTS, http://www.scottishathletics.org.uk/wp-content/uploads/2014/04/UKA-Road-Race-Licence-Standards-2014.pdf

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท