ผบ.ตร.แถลงผลงาน 6 เดือน คดีหมิ่นแล้วเสร็จ 239 คดีจากค้างปีก่อน 443 คดี

24 เม.ย.2558 ที่ห้องศรียานนท์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) นำแถลงผลการดำเนินงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในรอบ 6 เดือน โดยมี พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์, พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ, พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา, พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รอง ผบ.ตร., พล.ต.อ.อำนาจ อันอาตม์งาม ที่ปรึกษา (สบ 10), พล.ต.ท.จิตต์เจริญ เวลาดีวงณ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วย ผบ.ตร.ร่วมแถลง โดยมี ผู้แทน กต.ตร.กทม. สมาคมผู้ประกอบการวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ อาสาสมัครเหยี่ยวเวหา อาสาสมัครมูลนิธิต่างๆ ร่วมรับฟังกว่า 100 คน

พล.ต.อ.อำนาจกล่าวถึงผลงานด้านการปกป้อง เทิดทูนและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ การรักษาความมั่นคงของชาติ และแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมี พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา รอง ผบ.ตร.รับผิดชอบ ดังนี้

จัดการคดีหมิ่นฯ เสร็จกว่า 200 คดี

เรื่องการปกป้องสถาบันฯ ถือเป็นภารกิจที่มีความสำคัญสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้กำหนดนโยบายในเรื่องนี้ไว้ 5 ด้าน คือ

1. การรณรงค์ เทิดทูน เสริมสร้างจิตสำนึกของประชาชนให้มีความจงรักภักดีต่อสถาบันฯ

2. ติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางสื่อสมัยใหม่ เฝ้าระวังการสื่อสารข้อมูลที่ผิดกฎหมาย การสืบสวนหาข่าว การปิดช่องทางการกระทำผิด ทั้งเครือข่ายออนไลน์และเว็บไซต์ต่างๆ รวมถึงป้องกันไม่ให้ใช้ช่องทางเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐกระทำผิด

3. เมื่อตรวจพบการกระทำผิดก็มีการสืบสวนดำเนินคดีตามขั้นตอนทางกฎหมายอย่างเด็ดขาด ตอนนี้ปิดเว็บไซต์ที่ใช้กระทำผิดไปแล้วจำนวน 25,069 เว็บไซต์ เพื่อยุติการแพร่กระจายของข่าวสาร
       
4. เร่งรัดดำเนินคดีรายบุคคล ในปีที่ผ่านมามีคดีที่ค้างอยู่ทั้งสิ้น 443 คดี ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว 239 คดี ส่วนคดีที่อยู่นอกเหนือความรับผิดชอบได้ส่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษและอัยการสูงสุดรวม 76 คดี มีคดีที่อยู่ระหว่างการสอบสวน 128 คดี

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนากลไกการถวายความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด มีการทบทวนมาตรการการปฏิบัติของหน่วยปฏิบัติ พัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้และบุคลากร บูรณาการการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานทั้งภายในและภายนอก พร้อมปรับปรุงระเบียบที่เกี่ยวข้องรวมทั้งทบทวนซ้อมแผนปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

5. การส่งเสริมโครงการพระราชดำริหลายโครงการโดยมีกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนเป็นหน่วยงานรับผิดชอบร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง       

1 พ.ค.นี้ พ.ร.บ.ชุมนุม เข้าวาระ 2 และ 3

เรื่องนโยบายด้านความมั่นคงนั้น ขณะนี้ยังมีสถานการณ์ความขัดแย้งของกลุ่มต่างๆ ปรากฏอยู่ มีความเคลื่อนไหวทางด้านความคิด การจัดกิจกรรม การรวมกลุ่มสร้างพลังในการต่อรอง การก่อกวน การใช้ความรุนแรงซึ่งเป็นสถานการณ์ภายในประเทศเป็นหลัก สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ตลอดเวลา โดยเฉพาะสถานการณ์ด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เฉพาะอย่างยิ่งการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองต่างๆ การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ การเคลื่อนไหวของกลุ่มเกษตรกร พลังงาน สาธารณูปโภค และสิ่งแวดล้อม ด้วยการชุมนุมต่างๆ ตลอดจนการเคลื่อนไหวในสังคมออนไลน์ การก่อกวน รวมถึงการก่อการร้ายในประเทศที่อาจได้รับผลกระทบจากสงครามในภูมิภาคตะวันออกกลางและกลุ่มหัวรุนแรงต่างๆ

“สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เสนอกฎหมาย พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การใช้เสรีภาพในการชุมนุม กำหนดหน้าที่ของผู้รับผิดชอบผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งแนวทางการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมตามหลักสากลและภายใต้กรอบกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง โดยขณะนี้กฎหมายอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภาซึ่งจะเข้าสู่วาระที่ 2 และ 3 ในวันที่ 1 พ.ค.นี้” พล.ต.อ.อำนาจกล่าว
       
ยอดคนเจ็บ-ตาย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลง

เรื่องความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้นั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติพยายามขจัดเงื่อนไขปัจจัยที่แทรกซ้อนที่กลุ่มผู้หลงผิดนำไปใช้สร้างสถานการณ์หรือการแสวงหาแนวร่วมในทุกระดับ ผลการปฏิบัติที่สำคัญในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่า จากเดิมในห้วงเวลาเดียวกันมีเหตุเกิดขึ้น 496 เหตุ เป็นเหตุเกี่ยวกับการก่อความไม่สงบ 325 เหตุ แต่ในรอบปีนี้เกิดเหตุ 286 เป็นเหตุเกี่ยวกับการก่อความไม่สงบ 132 เหตุ ในภาพรวมเหตุเกิดลดลง การก่อความไม่สงบก็ลดลงเช่นกัน

ในส่วนประชาชนผู้บาดเจ็บเดิมบาดเจ็บ 201 คน ปัจจุบันในปีนี้มีผู้บาดเจ็บ 127 คน เสียชีวิตเดิม 182 ปัจจุบัน 129 คน ทหารเดิมได้รับบาดเจ็บ 120 คน ปัจจุบัน 36 คน เสียชีวิต 40 คน ปัจจุบัน 4 คน เจ้าหน้าที่ตำรวจเดิมบาดเจ็บ 43 คน ปัจจุบัน 17 คน เสียชีวิตเดิม 22 คน ปัจจุบัน 4 คน

รวบรวมคดีค้ามนุษย์ลงระบบฐานข้อมูล

เรื่องการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ แยกคดีออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก คดีที่เกิดเมื่อปี 2556 ประมาณ 1,400 คดี ปี 2557 ประมาณ 280 คดี ปี 2558 ประมาณ 60 คดี ในกลุ่มคดีทั้งหมดมีการรวบรวมจัดลงระบบฐานข้อมูลสารสนเทศ CMIS เพื่อเป็นแนวทางในการสืบสวนขยายผลหากเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมข้ามชาติ สำหรับยุทธศาสตร์การจัดการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณี ได้เน้นย้ำให้มีการปฏิบัติอย่างจริงจัง และมีผลเป็นที่น่าพอใจ เป้าหมายสำคัญคือจะไม่มีการบังคับค้าประเวณีในลักษณะการค้ามนุษย์ในสถานบริการทั่วประเทศโดยเด็ดขาด ส่วนในเรื่องแรงงานผิดกฎหมาย โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องแรงงานประมงได้มีการบูรณาการร่วมกับกระทรวงแรงงาน โดยจะทำให้แรงงานเหล่านั้นเข้ามาอยู่ในระบบ การเร่งรัดการจดทะเบียน มีการบูรณาการกับหน่วยงาน ตร.ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สตม.และ ปคม.ด้วย ส่วนเรื่องการจัดระเบียบขอทานจะร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีการระดมกวาดล้างเพื่อเข้าไปช่วยเหลือดูแล มีการจัดการให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หากเป็นคนไทยจะมีการสนับสนุนสงเคราะห์ช่วยเหลือ หากเป็นต่างด้าวจะมีการดำเนินคดีและผลักดันกลับประเทศ ในส่วนการป้องกันและปราบปรามเรื่องชาวโรฮิงญาซึ่งมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง แม้ว่าข้อเท็จจริงการอพยพย้ายถิ่นของชาวโรฮิงญาจะเป็นในลักษณะที่ผ่านจากประเทศไทยทางด้านชายทะเลเพื่อไปยังประเทศอื่นๆ ต่อไป

ที่ผ่านมามาตรการการสกัดกั้นได้ผลอย่างน่าพอใจ ในการทำงานเราจะพิจารณาจุดเสี่ยงต่างๆ อย่างเช่น การค้าประเวณี จุดเสี่ยงที่สำคัญคือชายแดนติดกับประเทศลาว ที่ จ.หนองคาย ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ให้ ปคม.ไปจัดการ มีการสืบสวนขยายผลพบว่ามีการนำผู้หญิงจากประเทศลาวเข้ามาทำงานตามสถานบริการและค้าประเวณี ส่วนที่ 2 แรงงานผิดกฎหมาย ส่วนใหญ่มาจากทางพม่าผ่านพรมแดนทางบก ด้าน จ.ตาก เรื่อยมาจนถึง จ.กาญจนบุรี ตร.ได้เจ้าหน้าที่ สตม.ไปดำเนินการ มีผลการจับกุมมีการขยายผลถึงเครือข่ายค้ามนุษย์ ส่วนเรื่องขอทานส่วนใหญ่มาจากประเทศกัมพูชาด้าน จ.สระแก้ว ได้มอบให้กองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและเยาวชนดำเนินการ มีการดำเนินการจับกุม สุดท้ายในส่วนของผู้อพยพย้ายถิ่นฐานชาวโรฮิงญา ได้มีการสั่งการและแต่งตั้งคณะทำงาน ได้มีการสั่งการเป็นพิเศษมีการสืบสวนสอบสวนขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา มีการยึดทรัพย์ เรื่องสุดท้ายคือการบูรณาการร่วมกันทำงานกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างดี

ครึ่งปีคดียาเสพติด 1.5 แสน ยึดยาบ้า 26 ล้านเม็ด

พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีการจัดตั้งศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ทำหน้าที่กำกับดูแลด้านนโยบาย มาตรการในการดำเนินการ รวมถึงการติดตามประเมินผล และทำงานร่วมกันกับหน่วยงานอื่นอย่างบูรณาการ สำหรับการดำเนินการมีการกำหนดมาตรการสำคัญ 7 ด้าน ได้แก่ 1. การสกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติด 2. การปราบปรามจับกุมกลุ่มการค้า 3. การหยุดยั้งการแพร่ระบาด 4. การสืบสวนสอบสวนคดียาเสพติด 5. ระบบด้านการข่าว 6. การตรวจสอบยึดและอายัดทรัพย์สอนของขบวนการค้ายาเสพติด และ 7. การดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด

สำหรับในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาสามารถจับกุมยาเสพติด 150,919 คดี ผู้ต้องหา 160,634 คน สามารถตรวจยึดของกลางยาบ้า 26,227,741 เม็ด ไอซ์ 597.26 กก. เฮโรอีน 24.33 กก. กัญชาแห้ง 8,725.74 กก. โคเคน 7.39 กก. กระท่อม 36,778.62 กก. ฝิ่น 236.74 กก. ยาแก้ไอ 606.27 กก. ดำเนินการยึดทรัพย์ผู้ค้ายาเสพติด 1,173 ราย มูลค่าทรัพย์สินที่ยึดได้ 504.07 ล้านบาท ขณะที่การสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติด มีโครงการครู D.A.R.E.เข้ามาเสริมสร้างทักษะชีวิตป้องกันยาเสพติดให้กับนักเรียนชั้น ป.6 จำนวน 11,220 ห้องเรียน มีนักเรียนเข้ารวมโครงการ 287,150 คน

พัฒนาศูนย์แจ้งเหตุ 191

พล.ต.อ.วรพงษ์กล่าวถึงผลงานการนำเทคโนโลยีมาเพื่อพิทักษ์รับใช้ประชาชนในทุกมิติว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการทำงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งระบบ POLIS ที่มีใช้มาอย่างยาวนาน ในรอบ 6 เดือน ได้มีการพัฒนาระบบที่สำคัญ คือ ระบบการพัฒนาศูนย์แจ้งเหตุ 191 ซึ่งมีความสำคัญเป็นบริการขั้นพื้นฐาน เป็นช่องทางที่ให้ประชาชนได้แจ้งเหตุอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปในที่เกิดเหตุได้อย่างรวดเร็ว ลดทอนความสูญเสียชีวิตของประชาชน ใครอยู่จังหวัดไหนโทร.ติดจังหวัดนั้น และให้ผู้การเป็นผู้ดูแล อีกทั้งทางรัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณให้จ้างคนมาทำหน้าที่รับแจ้งเหตุ โดยขณะนี้มีอัตรากำลังพลที่ทำหน้าที่ตรงนี้เป็นตำรวจ 1,416 นาย บุคคลภายนอกอีก 518 คน แต่ติดปัญหาเรื่องของงบประมาณที่ไม่สามารถจัดจ้างบุคคลภายนอกได้ จึงแก้ปัญหาโดยการใช้ตำรวจทำหน้าที่ไปก่อน ทั้งนี้ เราพัฒนาระบบจนเทียบเท่ามาตรฐานสากล กล่าวคือ เมื่อมีสายเรียกเข้าสามารถรับสายได้ภายใน 4 วินาที ตำรวจสายตรวจสามารถไปถึงที่เกิดเหตุได้ภายใน 5 นาที ในกรณีที่เป็นเขตชุมชน และ 15 นาที นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาระบบสารสนเทศสถานีตำรวจ หรือระบบไครม์ (CRIMES) เข้ามาช่วยในการสืบสวนหาคนร้ายได้อย่างรวดเร็ว และมีการเชื่อมโยงไปยังข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ทั้งส่วนของตำรวจ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่วนสิ่งที่จะมีการพัฒนาต่อไป คือ ระบบยืนยันตัวบุคคลด้วยใบหน้า (Face Recognition) ของ สตม.ซึ่งจะใช้วิธีการเดียวกับการแท็กเพื่อนในเฟซบุ๊ก หากพบข้อมูลผู้ที่อยู่ในแบล็กลิสต์อยู่ในฐานข้อมูลของ สตม.หรือของทุกหน่วย เมื่อได้ภาพมาใหม่ระบบจะนำมาเปรียบเทียบให้ ซึ่งระบบนี้ได้มีการทดลองแล้ว นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีการเฝ้าระวังผู้บุกรุกซึ่งจะมีการนำมาใช้อย่างต่อเนื่องต่อไป

คดีป่าไม้เกือบ 3,000 คดี

พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติกล่าวถึงผลงานด้านการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า ที่ผ่านมาตำรวจได้มีการบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันการประทำผิดเกี่ยวกับการตัดไม้ทำลายป่า การบุกรุกป่าและที่สาธารณะ การลักลอบค้าสัตว์ป่า และการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีผลการจับกุมผู้ต้องหาทำลายป่า 2,758 คดี ผู้ต้องหา 1,622 คน คดีการค้าสัตว์ป่า พันธุ์พืชหวงห้าม 265 คดี ผู้ต้องหา 235 คน คดีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 108 คดี ผู้ต้องหา 110 คน และคดีบุกรุกป่าและที่สาธารณะ 1,920 คดี ผู้ต้องหา 602 คน

       
       

 

เรียบเรียงจาก เว็บไซต์ASTV-ผู้จัดการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท