Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2558 พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้แถลงผลงานของกระทรวงในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา โดยสาระสำคัญของคำแถลงมี 7 ประเด็นที่ประสบความสำเร็จ[1] อย่างไรก็ตามหากพิจารณาลงไปในรายละเอียดของคำแถลงนั้น พบว่ายังมีปัญหาของแรงงานกลุ่มต่าง ๆจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ได้รับการสะสาง ยังคง “ซุกปัญหาเป็นขยะไว้ใต้พรม” ทั้งๆที่ตั้งแต่รมว.ว่าการกระทรวงแรงงานเข้ามารับตำแหน่ง มีผู้ใช้แรงงาน เช่น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เข้าพบเพื่อเสนอปัญหาที่ควรหยิบยกมาแก้ไข แต่พบว่าวันนี้ปัญหาบางเรื่องยังคงถูกเพิกเฉย ความสำเร็จเฉพาะหน้าจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าแถลงข่าวแบบ “แก้ผ้าเอาหน้ารอด” ให้เห็นว่ากระทรวงแรงงานก็มีผลงานเชิงรูปธรรมอยู่บ้าง

พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

ต่อไปนี้เป็นการแจงให้เห็นว่า มีประเด็นอะไรบ้างที่ยังคงถูกซุกไว้ และกระทรวงแรงงานยังไม่ใส่ใจในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

(คำแถลงผลงานที่ 1): การทำให้คนไทยมีงานทำ

มีการจัดตั้งศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย เพื่อเป็นศูนย์กลางให้ติดต่อได้ง่ายขึ้น โดยทาสีตึกให้เป็นแลนมาร์คเพื่อให้จดจำง่าย และยังมีการจัดตั้งศูนย์ฯนี้ที่นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ซึ่งคาดการณ์ในอนาคตว่าจะสามารถนำคนเข้าสู่การทำงานได้ราว 2–2.5 แสนคน และสามารถจัดส่งคนไปทำงานต่างประเทศ 45,000 คน สร้างรายได้ให้ประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเป็นเงินที่มาจากแรงงานไทยทำงานต่างประเทศปีละกว่า 7 หมื่นล้านบาท และเงินที่เกิดจากการสร้างงานใหม่อีกกว่า 3 หมื่นล้านบาท

(คำที่ไม่ถูกแถลง):

เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2558 นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวว่าปัญหาการหลอกลวงคนไทยไปทำงานต่างประเทศยังคงมีอยู่เป็นระยะและมีแนวโน้มจะสูงกว่าปีที่แล้ว[2] โดยในปี 2557 ได้ดำเนินคดีกับนายหน้าเถื่อน 134 คดี มีผู้กระทำผิด 156 คน ขณะที่ในปี 2558 ตั้งแต่เดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ดำเนินคดีกับนายหน้าเถื่อนไป 41 คดี ผู้กระทำผิด 82 คน ทั้งนี้มีข้อน่าสังเกตว่า ช่วง 2 เดือนแรกของปี 2558 มีผู้กระทำผิดเกินกว่าร้อยละ 50 ของปี 2557 แสดงให้เห็นว่าการหลอกลวงมีเพิ่มขึ้น 

ทั้งนี้การหลอกลวงไปทำงานต่างประเทศยังคงมีอยู่และมากขึ้น โดยช่วงนี้แรงงานไทยที่ถูกหลอกลวงส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อยากไปทำงานที่สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น และลาว ขณะที่นายหน้าเถื่อนมีเครือข่ายอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะจังหวัดที่คนไทยนิยมไปทำงานต่างประเทศ เช่น อุดรธานี ขอนแก่น ลำปาง สุโขทัย นครราชสีมา ชัยภูมิ ลพบุรี

(คำแถลงผลงานที่ 2): เดินหน้าดูแลแรงงานนอกระบบ 25 ล้านคน ผู้พิการ 1.6 ล้านคน คนพื้นที่สูง 20 จังหวัดได้มีงานทำ

โดยมีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานและสนับสนุนเครือข่ายแรงงานนอกระบบใน 77 จังหวัด โดยรัฐบาลจะเข้าไปสนับสนุน 

สำหรับในกลุ่มผู้พิการ ที่วันนี้มีผู้พิการอยู่ 1.6 ล้านคน โดยอยู่ในกำลังแรงงานประมาณ 7 แสนคน และอยู่ในช่วงอายุ 16 – 50 ปีที่มีงานทำ 2 แสนกว่าคน ที่เหลือ 3 - 4 แสนคนยังไม่มีงานทำ ดังนั้นกระทรวงแรงงานกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อไม่ให้คนกลุ่มนี้เป็นภาระของประเทศในอนาคต ที่ผ่านมามีการร่วมมือกับผู้ประกอบการกว่า 20 บริษัทจ้างงานผู้พิการกว่า 200 คน ทำงานในชุมชน และอีกกว่า 300 คน ทำงานด้านการศึกษา รณรงค์เมาไม่ขับ ด้านสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม วิสาหกิจชุมชนและความปลอดภัยด้วยการทำงาน

อีกกลุ่มหนึ่งเป็นบุคคลบนพื้นที่สูงใน 20 จังหวัดที่อยู่ในประเทศไทยมานาน หลายคนไม่ได้มีสถานภาพเป็นคนไทย แต่เขามีความสามารถและยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการทำงานได้อย่างยั่งยืน ขณะนี้กรมการจัดหางานกำลังดำเนินการศึกษาและหางานที่เหมาะสม เพื่อให้เขาเกิดความพึงพอใจ เนื่องจากเขาไม่ต้องการออกจากพื้นที่ไปไกล ไม่ต้องการเข้ามาทำงานในเมือง

(คำที่ไม่ถูกแถลง):

ยังมีแรงงานนอกระบบ ที่ซ้อนทับกับความเป็น “คนจนเมืองที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด” มีตัวอย่างจากเครือข่ายสลัม 4 ภาคที่เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2558 เดินทางมายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีแนวคิดเรื่องการนำแรงงานนอกระบบที่เป็นคนจนเมืองมาอยู่อาศัยบนแฟลตแทนอยู่ในชุมชนแออัด ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้ว คนจนเมืองส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบที่ต้องใช้พื้นที่อาศัยในการประกอบอาชีพด้วย ดังนั้นรูปแบบการอยู่อาศัยแบบแฟลตจึงไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตการทำมาหากินในกรุงเทพมหานคร[3] รวมถึงในเรื่องกฎระเบียบการเข้าถึงแหล่งทุนของกองทุนรับงานไปทำที่บ้าน ที่ขณะนี้มีวงเงินอยู่กว่า 20 ล้านบาท แต่แรงงานนอกระบบก็ยังคงเข้าถึงยากอยู่[4]

ในกลุ่มแรงงานผู้พิการนั้น พบว่า การปฏิบัติตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2556 นั้น สถานประกอบการส่วนใหญ่เลือกปฏิบัติตามในมาตรา 34 คือ เลือกการจ่ายเงินชดเชยเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการปฏิบัติตามกฎหมายและมีค่าใช้จ่ายคงที่ มากกว่าการเลือกจ้างแรงงานผู้พิการเข้าทำงานตามที่กฎหมายกำหนดไว้[5]

สำหรับการจ้างงานในกลุ่มบุคคลพื้นที่สูงใน 20 จังหวัดนั้น กระทรวงแรงงานต้องไม่ลืมว่าปัจจุบันยังไม่มีการแก้ไขระเบียบกรมพัฒนาฝีมือแรงงานว่าด้วยการฝึกเตรียมเข้าทำงาน พ.ศ. 2547 หมวด 1 หลักเกณฑ์การรับสมัครผู้รับการฝึก ข้อ (8) วงเล็บ 3 ที่ระบุว่า ต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น ถึงจะสามารถเข้ารับฝึกอบรมฝีมือแรงงานได้ ดังนั้นข้อจำกัดนี้จะทำให้คนกลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในการพัฒนาทักษะให้มีฝีมือในการทำงานเพิ่มขึ้นได้ และการจ้างงานก็จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายตามที่กระทรวงแรงงานมุ่งหวังไว้

(คำแถลงผลงานที่ 3): การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ

มีการเปิดให้แรงงานข้ามชาติมาลงทะเบียนกว่า 1.6 ล้านคน ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการตรวจสัญชาติเพื่ออนุญาตให้ทำงาน 3 แสนคน ส่วนที่เหลืออีกล้านคนเศษ ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการมายื่นเปลี่ยนบัตรใหม่ภายใน 3 เดือนเพื่ออนุญาตให้ทำงานในราชอาณาจักรได้อีก 1 ปี โดยกระทรวงฯมองว่าแรงงานข้ามชาติเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ควรมีจำนวนที่พอเพียงต่อการทำงานของภาคธุรกิจ เหมาะสมกับฝ่ายความมั่นคงที่สามารถควบคุมดูแลได้ สังคมไทยยอมรับและไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตคนไทย

(คำที่ไม่ถูกแถลง):

แม้มีมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 เห็นชอบให้จัดระบบการจ้างคนต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่เข้ามาทำงานในลักษณะไป-กลับ หรือตามฤดูกาล ตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ. การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 แล้วก็ตาม โดยเฉพาะการอนุญาตให้มีการจ้างงานแรงงานข้ามชาติในเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน คือ ตาก มุกดาหาร สระแก้ว สงขลา และตราด และรัฐบาลได้ออกมาตรการจูงใจนักลงทุนจำนวนมาก เช่น การลดภาษี แต่ในเรื่องการคุ้มครองสิทธิแรงงานให้มีความเท่าเทียมกับการจ้างงานในพื้นที่ชั้นใน หรือเป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กลับพบว่ารัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการจ้างงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษแต่อย่างใด เช่น อัตราค่าจ้าง ที่พบว่า วันนี้ใน อ.แม่สอด จ.ตาก ยังมีโรงงานหลายแห่งจ่ายค่าแรงเพียง 120-180 บาท/วัน ก็ยังมีอยู่

นี้ไม่นับว่าเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2557 คณะรัฐมนตรียังคงอนุญาตให้ใช้แรงงานข้ามชาติในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ทุกประเภท เช่น ยานยนต์, ไฟฟ้า, อิเลคทรอนิคส์ ต่อไปจนถึงสิ้นปี 2559 ทั้งๆที่กิจการดังกล่าวไม่ใช่กิจการขาดแคลนแรงงานไทย อีกทั้งพบว่ายังคงมีการปลดออก เลิกจ้าง ไม่มอบหมายงานให้แรงงานไทยจำนวนไม่น้อยที่ออกมาเรียกร้องสวัสดิการ โดยเฉพาะแรงงานที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ทำให้สถานประกอบการดังกล่าวจึงมีการไปเลือกจ้างงานกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ไม่สามารถออกมาเรียกร้องสิทธิได้แทน อีกทั้งยังไม่จำเป็นต้องจ่ายสวัสดิการใดๆที่นอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดไว้

(คำแถลงผลงานที่ 4): การดูแลแรงงานในระบบ

มีการกำหนดให้ปี 2558 เป็นปีแห่งการรณรงค์สร้างจิตสำนึกความปลอดภัยในการทำงาน มีการจัดทำ “โครงการสถานประกอบการปลอดภัยเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี” สถานประกอบการเข้าร่วม 7 พันกว่าแห่ง เพื่อทำให้โรงงานปลอดภัย และแรงงานไม่บาดเจ็บจากการทำงาน ในช่วง 6 เดือนที่ผ่าน จำนวนแรงงานที่เกิดอุบัติเหตุจนสูญเสียอวัยวะและทุพพลภาพลดลงจาก 2,436 คน เหลือ 508 คน และทุพพลภาพลดลงจาก 34 เหลือ 4 คน ทำให้การใช้กองทุนเงินทดแทนที่เดิมต้องจ่ายเงินไปกว่า 360 ล้านบาทในปีก่อนนี้ แต่ปีนี้จ่ายเพียง 60 ล้านบาท

นอกจากนั้นแล้วในเรื่องการคุ้มครองสิทธิลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้างหรือเมื่อออกจากงาน ได้เน้นย้ำในเรื่องการเจรจาไปสู่ทวิภาคี เพื่อให้เหตุการณ์ขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่เกิดขึ้น ให้จบให้ได้ที่โรงงาน ไม่นำไปสู่การพิพาทที่ศาลแรงงาน เพื่อชี้ให้เห็นว่านายจ้างกับลูกจ้างต้องอยู่ร่วมกัน

(คำที่ไม่ถูกแถลง):

แม้มีความพยายามในการดูแลแรงงานในระบบ แต่ปัญหาสำคัญของแรงงานกลุ่มนี้ไม่ใช่เพียงเรื่องความปลอดภัยในการทำงานเท่านั้น การมีค่าจ้างที่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นพร้อมๆกับการป้องกันไม่ให้มีการละเมิดสิทธิในการจ้างงาน นี้เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งกว่า

ผลสำรวจค่าครองชีพของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เมื่อมกราคม-กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งได้แถลงข่าวไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 ชี้ชัดว่า ค่าจ้างแรงงานที่พอเพียงต่อการเลี้ยงชีพคนในครอบครัว คือ 360 บาท/ วัน ทำให้แรงงานจึงต้องทำงานล่วงเวลาหลายชั่วโมงเพื่อให้มีรายได้ที่เพียงพอ[6]

นี้ไม่นับว่าวันนี้ประเทศไทยยังไม่มีการรับอนุสัญญาฉบับที่ 131 ว่าด้วยการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำโดยการอ้างอิงพิเศษแก่ประเทศกำลังพัฒนา ค.ศ.1970 (พ.ศ.2513) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งได้กำหนดให้ดำเนินการกำหนดระบบค่าจ้างขั้นต่ำ ที่ครอบคลุมผู้มีรายได้จากค่าจ้างทุกกลุ่มอย่างมีหลักประกันที่เพียงพอ ทำให้ค่าจ้างแรงงานในประเทศไทยสำหรับลูกจ้างจึงไม่ใช่ค่าจ้างที่ยุติธรรมหรือ Just Wage คือ ค่าจ้างที่ทำให้คนหนึ่งๆสามารถดำรงชีพได้อย่างเหมาะสมกับสถานะตำแหน่งในการทำงาน นั่นคือ ถ้าเขามีตำแหน่งสูงขึ้น ค่าจ้างก็ควรสูงตาม

สำหรับในกรณีเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานนั้น ที่เห็นได้ชัดเจนและกระทรวงแรงงานไม่มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาแม้แต่น้อย คือ กรณีบริษัทโคบาเทค (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนปั๊มเชื้อเพลิงแรงดันสูงและชิ้นส่วนหัวฉีดเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะ ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองบอนแดง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี  ที่ปัจจุบันนี้พบว่า นายจ้างยังคงให้ลูกจ้างทั้ง 195 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานโคบาเทคประเทศไทย นั่งอยู่ในเต็นท์หลังโรงงานโดยไม่มอบหมายงานใดๆให้ทำทั้งสิ้นมาตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2558 ภายหลังจากที่ลูกจ้างกลุ่มนี้เกิดข้อพิพาทแรงงานกับบริษัทเมื่อตุลาคม 2557 ที่สหภาพแรงงานฯได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทเกี่ยวกับการพิจารณาเรื่องโบนัส, การปรับเงินขึ้น, ค่าอาหาร, ค่าเช่าบ้าน เป็นต้น[7] นี้ไม่นับกรณีอื่นๆที่ปัญหายังคงหมักหมมมาข้ามปี[8]

ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่ประเทศไทยยังไม่มีการรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ
(ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง อีกทั้งยังมีความเร่งรีบในการนำร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ (ฉบับที่...) ที่ขาดการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน และไม่มีการหยิบยกเอาเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.... ฉบับบูรณาการแรงงาน ที่เป็นฉบับลงรายมือชื่อของผู้ใช้แรงงานกว่า 1 หมื่นคนของมาพิจารณาประกอบการจัดทำร่างกฎหมายฉบับนี้

(คำแถลงผลงานที่ 5): การบริหารกองทุนประกันสังคม

ปัจจุบันมีเงินกองทุนกองทุนประกันสังคมกว่า 1.5 ล้านล้านบาทและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่ในอนาคตเมื่อเข้าสู่สังคมสูงอายุ เงินอาจจะมีการเริ่มลดลง ขณะนี้ประกันสังคมอยู่ในระหว่างการดำเนินการแก้ไขอยู่ ขณะเดียวกันกระทรวงก็พยายามหาวิธีการเพื่อทำให้กองทุนประกันสังคมบริหารงานอย่างโปร่งใส เปิดเผย ตรวจสอบได้ รวมถึงอยู่ในระหว่างการประกาศใช้ พ.ร.บ.ประกันสังคมที่ออกมาใหม่ แม้ยังไม่สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนมากมาย และกระทรวงก็อยู่ในระหว่างจัดทำกฎหมายลูกอีก 17 ฉบับ ซึ่งวางกรอบในการทำงานให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน หลังกฎหมายประกาศใช้

(คำที่ไม่ถูกแถลง):

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2558 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับใหม่ อย่างไรก็ตามพบว่า ปัญหาสำคัญของกองทุนประกันสังคม คือ การบริหารจัดการโดยภาคราชการที่ยังขาดการมีส่วนร่วมจากผู้ประกันตนที่เป็นเจ้าของเงินตัวจริง[9] เห็นได้ชัดจากกรณีล่าสุดที่เมื่อต้นเดือนเมษายน 2558 คสรท.ได้ออกมาคัดค้านกรณีคณะกรรมการประกันสังคมได้มีมติเรื่องการไปติดตามผลที่ สปส.นำเงินไปลงทุนที่ประเทศเยอรมนี แต่ที่ผ่านมากลับไม่เคยมีการรายงานผลที่เกิดขึ้นจากการไปศึกษาดูงานว่าผู้ประกันตนได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นอย่างไร ทั้งๆที่เงินที่ใช้ในการศึกษาดูงานมาจากเงินของผู้ประกันตน ซึ่งไม่ใช่เพียงเงินของนายจ้างและภาครัฐเท่านั้น ที่ผู้ประกันตนต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ แต่กลับมีการเปิดเผยจำนวนค่าใช้จ่ายในส่วนนี้น้อยมาก[10]

เมื่อมาพิจารณาในร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่ มีประเด็นสำคัญ คือ อัตราเงินสมทบในมาตรา 40 ของกลุ่มแรงงานนอกระบบยังคงสูงกว่าการสมทบจากภาครัฐ ที่จ่ายเพียง “ไม่เกินครึ่งหนึ่ง” ของที่กลุ่มแรงงานนอกระบบจ่าย กล่าวได้ว่าแรงงานนอกระบบจ่าย 2 ส่วน และรัฐจ่ายเพียง 1 ส่วน ทั้งๆที่แรงงานนอกระบบหลายๆกลุ่มเป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อยอยู่แล้ว และแรงงานนอกระบบยังเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญในการทำงานของกระทรวงแรงงาน แต่กลับยังมีการละเลยในเรื่องดังกล่าวนี้[11]

(คำแถลงผลงานที่ 6): การค้ามนุษย์

มีการประกาศเป็นวาระแห่งชาติ มีการตั้งกรรมการระดับชาติโดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ตั้งอนุกรรมการ 5 อนุฯ มีการออกกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมง และออกกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานเกษตรกรรม ซึ่งประกาศใช้ไปแล้วเมื่อธันวาคม 2557 , สำหรับในเรื่องการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ได้พยายามบูรณาการการทำงาน ทำทั้งเครื่องมือจับปลาให้ถูกกฎหมาย จดทะเบียนเรือ ติดระบบติดตามเรือ แต่ยังคงติดขัดเรื่องข้อกฎหมาย ซึ่งขณะนี้กำลังปรับกฎหมาย พ.ร.บ.ประมงซึ่งอยู่ในสภาฯ กฎกระทรวงของกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงคมนาคม ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล 

(คำที่ไม่ถูกแถลง):

เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2558 เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant working group) ได้แถลงข่าวเรื่อง “ฤา จะหนีไม่พ้นวังวนการค้ามนุษย์?”[12] ซึ่งได้ระบุชัดเจนว่า

-        รัฐบาลไทยมักจะกล่าวอ้างอยู่เสมอว่าประเทศไทยไม่มีการใช้แรงงานเด็ก อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2558 มีเหตุการณ์กวาดจับบุตรหลานของแรงงานข้ามชาติที่ตลาดไท รังสิต อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สนใจว่าเด็กจะมีเอกสารการเข้าเมืองถูกกฎหมายหรือไม่ วันนั้นมีเด็กจากประเทศพม่าและประเทศกัมพูชาถูกจับทั้งสิ้น 59 คน และถูกผลักดันกลับประเทศต้นทางทันทีโดยไม่มีการจำแนกแยะแยะ

-        แม้นโยบายของรัฐบาลต้องการให้เกิดความคุ้มครอง แต่การที่เจ้าหน้าที่ที่เข้าจับกุมกลับทำให้เด็กตกอยู่ในฐานะผู้กระทำผิดแทนการได้รับความคุ้มครอง การกระทำดังกล่าวจึงถือเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก และเป็นการทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศ ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ประเทศไทยแย่ลงกว่าเดิม และจะหนีไม่พ้นถูกจัดอันดับการค้ามนุษย์ให้ต่ำลงอีก

-        ภายหลังจากที่ประเทศอินโดนีเซียมีมาตรการทางกฎหมายจับกุมลูกเรือประมงที่ทำผิดกฎหมาย และให้หยุดเดินเรือ ทำให้มีลูกเรือทั้งชาวไทย พม่า ลาว และกัมพูชา ตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก ประมาณเกือบ 4,000 คน แบ่งเป็นคนไทยประมาณ 2,000 คน พม่า กัมพูชาและลาวประมาณ 2,000 คน  พบว่า มีเรื่องของผลประโยชน์ทางธุรกิจมาเกี่ยวข้อง เพราะผู้ประกอบการบางส่วนยังคงซื้อเวลาด้วยการไม่ให้แรงงานมารายงานตัวที่ศูนย์ One Stop Service เพื่อรอดูท่าทีของอินโดเซีย เพราะหากอินโดนีเซียอนุญาตให้ออกเรือต่อได้ ก็จะทำให้เกิดประโยชน์กับภาคธุรกิจที่ไม่ต้องไปหาแรงงานใหม่ ทำให้ที่ผ่านมา
แรงานที่ได้รับการช่วยเหลือมีไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์

-        การที่รัฐบาลมุ่งเป้าแต่จะแก้ปัญหาไปที่การค้ามนุษย์อย่างเดียว ซึ่งความเป็นจริงยังมีแรงงานอีกหลายส่วนที่ตกหล่นไม่ว่าจะเป็นแรงงานเด็ก และแรงงานที่ถูกใช้งานเยี่ยงทาส ดังนั้นต้องมีการรื้อกระบวนการแก้ไขปัญหาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เกิดการจ้างงานที่เป็นธรรมอย่างแท้จริง

(คำแถลงผลงานที่ 7): การพัฒนาฝีมือแรงงาน

มีการปรับปรุงกฎหมายพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อทำให้ผู้ที่ประกอบอาชีพต่อไปต้องได้มาตรฐาน ซึ่งได้เริ่มในกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ โดยร่วมกับผู้ประกอบการในการพัฒนาฝีมือและมอบใบรับรองมาตรฐานฝีมือ ทั้งนี้การจ่ายค่าตอบแทนจะแปรไปตามมาตรฐานฝีมือ, สำหรับในส่วนผู้ประกอบการ SMEs ได้จัดทำโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานตามความต้องการของสถานประกอบกิจการ ซึ่งมีสถานประกอบการเข้าร่วม 260 แห่ง

(คำที่ไม่ถูกแถลง):

ปัญหาสำคัญของการพัฒนาฝีมือแรงงานในประเทศไทย คือ ยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำและมีแนวโน้มลดลง สะท้อนว่าผู้ประกอบการยังคงมุ่งเน้นปัจจัยด้านเงินทุนและปริมาณแรงงานมากกว่าการพัฒนาคุณภาพแรงงาน นอกจากนั้นแล้วกระทรวงแรงงานยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนด้วยว่า ถ้าลูกจ้างมีทักษะฝีมือที่สูงขึ้นไม่ว่าจะอยู่ในประเภทการจ้างงานใดๆ ค่าจ้างก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะต้องมีกลไกในการบังคับให้เกิดการปฏิบัติจริง เพื่อทำให้เกิดแรงจูงใจให้ลูกจ้างสนใจการฝึกทักษะและฝีมือของตน ขณะเดียวกันก็ต้องมาพร้อมกับการยกระดับการศึกษาของแรงงาน เพื่อพัฒนาความรู้ที่จำเป็นแก่แรงงานร่วมด้วย

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจึงเห็นได้ว่ากระทรวงแรงงานจำเป็นต้องมองสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานให้รอบด้านมากขึ้น สอดคล้องกับบริบทการจ้างงาน อีกทั้งยังต้องให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิแรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ที่วันนี้มาตรฐานกฎหมายภายในประเทศยังมีข้อจำกัดอย่างมาก และเป็นช่องว่างให้สถานประกอบเอาเปรียบลูกจ้างในรูปแบบต่างๆโดยไม่ผิดกฎหมาย มากกว่าการมุ่งเน้นไปที่ปัญหาเฉพาะหน้าหรือเรื่องที่เอื้อต่อผู้ประกอบการมากกว่าตัวแรงงานที่เป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในกระบวนการผลิต

อีกไม่กี่วันข้างหน้านี้จะถึงวันกรรมกรสากล 1 พฤษภาคม 2558 วันที่ชนชั้นกรรมกรปลดแอกออกจากอำนาจที่กดขี่ แต่วันนี้สิ่งที่การจ้างงานในประเทศไทยกำลังดำเนินการอยู่ คือ การลดพลังการต่อสู้ต่อรองของกรรมกร ท่ามกลางสถานการณ์และรูปแบบการเอารัดเอาเปรียบในการจ้างงานที่ซับซ้อนมากขึ้น

พวกเขาได้แบ่งแยกกรรมกร ออกเป็นภาคเอกชน ภาครัฐวิสาหกิจ แบ่งแยกเป็นแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ และแรงงานข้ามชาติ นี้ไม่นับแบ่งตามลักษณะการจ้างงาน เช่น แรงงานประจำ แรงงานชั่วคราว แรงงานเหมาช่วง แรงงานรายชั่วโมง เป็นต้น ทั้งๆที่ตัวตนของพวกเราทั้งหลายนั้น คือ กรรมกรเหมือนกัน วันนี้รัฐจึงไม่มีข้ออ้างใดๆ ที่จะไม่คุ้มครองกรรมกรทุกคน สิ่งเดียวที่รัฐต้องตระหนักคือ กรรมกรมิใช่เพียงเครื่องจักรในการผลิต กรรมกรเป็นผู้มีศักดิ์ศรีที่ได้มาด้วยการต่อสู้และหยาดเหงื่อ กรรมกรทุกคนจึงต้องมีสิทธิและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน

นับแต่วันนี้ไปกรรมกรต้องมาก่อน !!!!!!!




[1] สรุปคำแถลงโดยผู้เขียนโดยตรง อ้างอิงข้อมูลที่เผยแพร่โดยคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เมื่อ 22 เมษายน 2558 สืบค้นจาก www.mol.go.th    

[2]  กรมการจัดหางาน ห่วงการหลอกลวงไปทำงานต่างประเทศมีแนวโน้มสูงกว่าปีที่แล้ว สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย , 19 เมษายน 2558 สืบค้นจาก http://thainews.prd.go.th/centerweb/News/NewsDetail?NT01_NewsID=WNSOC5804190020002

[3] เครือข่ายสลัม 4ภาคร้องนายกฯทบทวนแนวคิดนำคนสลัมขึ้นแฟลต สืบค้นจาก http://www.thanonline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=270267:--4&catid=176:2009-06-25-09-26-02&Itemid=524

[4] ก.แรงงาน เร่งสำรวจแรงงานนอกระบบ ดูแลคุ้มครอง เข้าถึงบริการภาครัฐ เพื่อความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ สืบค้นจาก http://www.mol.go.th/anonymouse/news/41544

[5] รายงานผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์ (Final Report) โครงการ “การศึกษาการส่งเสริมอาชีพและการมีงานทำตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550” สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.), 2557 (เอกสารอัดสำเนา)

[6] ค่าครองชีพพุ่ง!! ร้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 360 บาททั่วประเทศ สืบค้นจาก http://s.ch7.com/116718

[7] คำพิพากษาศาลฎีกา 2850/2525 และการ “ฉวยโอกาส” ของนายจ้างโคบาเทค สืบค้นจาก http://prachatai.org/journal/2015/02/57798

[8] เปิดเวที การละเมิดสหภาพ ช่องทางกฎหมายหมายทางออกที่เป็นไปได้ สืบค้นจาก http://voicelabour.org/เปิดเวที-การละเมิดสหภาพ/

[9] แรงงานจี้ “บิ๊กเต่า” ตรวจสอบประกันสังคมย้อนหลัง 7 ปี เน้น “ลงทุน-งบ PR-ดูงาน ตปท.” สืบค้นจาก http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000027324

[10] ต้าน‘บิ๊กสปส.’ดูงานเยอรมัน แรงงานโวยผลาญงบฯเละ สืบค้นจาก  http://www.thairath.co.th/content/491550

[11] ความล้มเหลวของการปฏิรูปแรงงาน มองผ่านการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มาตรา 40 สืบค้นจาก  http://voicelabour.org/ความล้มเหลวของการปฏิรู/

[12] จับตานับถอยหลังสถานการณ์ขึ้นบัญชีการค้ามนุษย์ในไทย ชี้ยังแก้ไม่ถูกจุด สืบค้นจาก http://prachatai.org/journal/2015/04/58947   เมื่อ 27 เมษายน 2558 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net