Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เมื่อวันที่ 17 เมษายน ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้แถลงผลงานรอบ 6 เดือนของรัฐบาลทหาร โดยยืนยันว่า รัฐบาลของเขาเป็นรัฐบาลที่เข้ามาแก้ปัญหา แม้ว่าจะใช้อำนาจ “เด็ดขาด ดุเดือดไปหน่อย” ก็เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าได้ และในตอนหนึ่ง นายกรัฐมนตรีได้ระบุถึงกรณีข้าวลายจุดว่า โดยส่วนตัวมองว่าคงทำไม่ได้จริง และ “ไม่รู้ด้วยว่าข้าวลายจุดนั้นมีทะเบียนการค้าถูกต้องหรือไม่” ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าแปลกว่า นายกรัฐมนตรีในระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย มากล่าวถึงเรื่องการค้าข้าวของพ่อค้ารายเล็กรายหนึ่ง และคงไม่ใช่หน้าที่ของนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว ที่จะต้องมาตรวจสอบทะเบียนการค้าของใคร แต่นัยยะของเรื่องนี้ก็คือ มีความเป็นไปได้ว่า ฝ่ายรัฐบาล คสช.นั้น น่าจะเห็นว่า การขายข้าวของ บก.ลายจุด เป็นภัยต่อความมั่นคงจึงจะต้องจับตาเป็นพิเศษ

ทั้งนี้ เริ่มจากตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ได้เปิดโครงการจำหน่ายข้าวถุงที่ชื่อสินค้าว่า "ข้าวลายจุด" เป็นข้าวหอมปทุม ขายในราคาถุงละ 200 บาท โดยชูจุดเด่นเป็นข้าวที่รับซื้อจากชาวนาในราคา เกวียนละ 15,000 บาท โดยนายสมบัติย้ำว่า ข้าวลายจุดดำเนินไปภายใต้แนวคิดว่า “คนปลูก-คนขาย-คนกิน อยู่ร่วมกันได้บนความยุติธรรม” นายสมบัติขยายความด้วยว่า การทำธุรกิจข้าวถุงครั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะถูกอายัดบัญชีเงินฝาก จากกรณีขัดคำสั่งเรียกเข้ารายงานตัวของ คสช. จึงหันมาทำนาฬิกาคณะราษฎรขาย แล้วนำเงินที่ได้จากการขายนาฬิกามาเป็นทุนก้อนแรก เพื่อทำข้าวถุงจำหน่าย และหวังว่าจะเป็นโครงการเพื่อช่วยชาวนาที่ได้รับผลกระทบจากราคาข้าวตกต่ำ แม้ว่าราคาข้าวลายจุดจะสูงกว่าท้องตลาด แต่ก็มั่นใจว่า โครงการจะประสบความสำเร็จ เพราะผู้ซื้อเข้าใจความเดือดร้อนของชาวนา

นอกจากนี้ นายสมบัติยังได้ย้ำว่า เขามีศักยภาพที่ทำได้ในสเกลเล็ก แต่โครงการของเขาไม่ใช่เรื่องผูกขาด เขาต้องการกระตุ้นให้ผู้ที่มีศักยภาพทั้งหลายมาช่วยกันทำ คือ ซื้อข้าวจากชาวนาเกวียนละ 15,000 บาทแล้วมาขาย  ให้ได้ทุกจังหวัด ทุกพื้นที่ก็จะยิ่งเป็นการดี ชาวนาก็จะได้มีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งแนวคิดนี้ สอดคล้องกับ นายสุรนันท์ เวชชาชีวะ ที่สนับสนุนการขายข้าวลายจุด และเสนอความเห็นว่า “เป็นโมเดลที่น่าทดลอง คือทุกคนน่าร่วมด้วยช่วยกัน ให้ขยายไปสู่วงกว้างได้จริง”

คงต้องยอมรับว่า การรณรงค์ขายข้าวลายจุด มีความหมายในทางการเมือง เพราะตามหลักการของ บก.ลายจุดที่ว่า การซื้อข้าวจากชาวนาเกวียนละ 15,000 บาท ซึ่งเท่ากับราคาในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แล้วดำเนินไปได้ด้วยดี ย่อมหมายความว่า ราคาของโครงการจำนำข้าวมีความชอบด้วยเหตุผล การกล่าวหาโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่าเป็นความผิดพลาด ก็จะหมดความชอบธรรมไปด้วย ดังนั้น แทนที่จะมีการสนับสนุนกันในเรื่องการช่วยเหลือชาวนา กลุ่มฝ่ายขวาสลิ่มทั้งหลายจึงร่วมกันโจมตีแนะนำว่าอย่าซื้อขายถุงเหล่านี้ เพราะเป็น “ข้าวบูดข้าวเน่า ของยิ่งลักษณ์” บ้างก็ว่าเป็น “ข้าวที่หายไปจากโกดัง” และยังมีข่าวว่า มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงก็เข้าไปตรวจค้นสถานที่ขายข้าวจนบางแห่งต้องยอมปิดร้าน หรือสอบถามเรื่อยไปจนถึงโรงสีที่เกี่ยวข้อง แสดงถึงการคุกคามต่อโครงการ และหนังสือพิมพ์แนวหน้า ก็ได้นำเสนอข่าวและบทความ โจมตีข้าวลายจุดหลายครั้ง

ในที่สุด วันที่ 16 เมษายน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีข้าวลายจุดว่า การขายข้าวทุกชนิดทุกพันธุ์ในราคาเกวียนละ 15,000 บาท เป็นไปไม่ได้ เพราะจะทำให้กลไกตลาดได้รับความเสียหาย และว่า สิ่งที่นายสมบัติเสนอให้ช่วยชาวนาเป็นสิ่งที่รัฐบาลปัจจุบันพยายามดำเนินการ เพียงแต่รัฐบาลในอดีตไม่ได้ทำ และท้าว่า “หากนายสมบัติทำได้ตามที่พูดจริง ก็จะเชิญชวนประชาชนให้นำข้าวที่เก็บไว้มาขายให้นายสมบัติในราคาเกวียนละ15,000 บาท แต่ไม่รู้ว่าจะทำได้หรือไม่”

ในวันต่อมา พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ก็ได้กล่าวโจมตีเรื่องข้าวลายจุดอีกว่า กิจกรรมรับซื้อข้าวแล้วเอามาขายต่อเป็นข้าวถุงของนายสมบัติ “หากคิดอย่างมีสติ มีเหตุมีผล ไม่หวังผลทางการเมือง จะรู้ว่าเป็นเพียงการจัดอีเวนต์เชิงสัญลักษณ์เท่านั้น” และเตือนว่า นายสมบัติยังอยู่ในรายชื่อผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองที่เคยถูกเรียกปรับทัศนคติ และรับปากกับฝ่ายความมั่นคงว่าจะไม่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองให้เกิดความวุ่นวายอีก ดังนั้น การออกมาเคลื่อนไหวแบบไม่สร้างสรรค์เช่นนี้ อาจทำให้เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องทบทวนมาตรการที่ใช้กับนายสมบัติต่อไป

คงไม่อาจเข้าใจได้ว่าการขายข้าวลายจุด จะเป็นเรื่อง “การเคลื่อนไหวแบบไม่สร้างสรรค์” ได้อย่างไร นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีต ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย จึงอธิบายว่า อยากจะให้รัฐบาลใจกว้าง อย่ามองเป็นประเด็นการเมือง เพราะเป็นความพึงพอใจของทั้งสองฝ่ายที่คนซื้อข้าวก็เต็มใจซื้อข้าวช่วยชาวนา และเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ของนายสมบัติในฐานะพ่อค้าข้าว ไม่ได้ทำลายระบบเศรษฐกิจ ไม่ได้ก่อให้เกิดการชุมนุม จึงไม่จำเป็นต้องห่วงอะไร

แต่กระนั้น ในวันที่ 18 เมษายน นายสมบัติจึงประกาศยุติการขายข้าวลายจุดลอตแรกไว้ก่อน โดยอธิบายว่า “ตอนเริ่มต้นผมคิดว่าตัวเองเป็นพ่อค้าข้าว แต่วันหลังเริ่มรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นพ่อค้ายาเสพติด”  เพราะถูกจับตามอง มีเสียงตำหนิในลักษณะประหนึ่งว่าตนเป็นบุคคลหายนะที่เข้าทำลายกลไกตลาด และสร้างความวุ่นวายให้แก่ประเทศชาติ แต่ประเด็นสำคัญ นายสมบัติชี้แจงว่า อยากจะหยุดเพื่อแก้ไขจุดอ่อน และทำให้ข้าวลายจุดเป็นข้าวถุงในระดับมืออาชีพ หรือ มาตรฐานสูงมากขึ้น แต่ได้อธิบายว่า โครงการขายต้นกล้ามะนาว จะดำเนินต่อไป โดยต้นมะนาวที่นำมาขายนั้นเป็นพันธุ์ไต้หวัน ออกลูกทั้งปี แม้ข้อด้อยคือผิวหนา แต่ปลูกง่ายและทนต่อสภาพอากาศในเมืองไทย มีอยู่ 200 ต้น ต้นละ 150 บาท ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของนายกรัฐมนตรีที่แนะนำให้คนปลูกมะนาวเองที่บ้าน

กรณีปรากฏการณ์การขายข้าวลายจุดในครั้งนี้ สะท้อนว่า สังคมไทยยังไม่ได้ถอนจากอคติอันรุนแรงจำนวนมาก ที่เป็นผลจากวาทกรรมทำลายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ในที่นี้ ยังอยากที่จะยืนยันว่า ที่อ้างกันว่า โครงการรับจำนำข้าวมีความผิดพลาด และความเสียหายจำนวนมหาศาลแก่ชาติบ้านเมือง มีการทุจริตกันจนเกินระดับที่จะยอมรับได้ ก็ยังไม่เห็นมีหลักฐานที่แสดงได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งที่ผ่านการรัฐประหารมาเกือบครบปี น่าสงสารว่า ความพยายามทั้งหลายที่จะกล่าวร้าย น.ส.ยิ่งลักษณ์และจะนำไปสู่การลงโทษ ทำได้เพียงแค่การสร้างวาทกรรมว่า “ส่อ” ในทางทุจริต ข้าวเน่าข้าวบูดที่โจมตีกัน ก็ไม่เคยมีหลักฐานชัดเจนแม้แต่ครั้งเดียว ราวกับว่าข้อโจมตีทั้งหมดเป็นเรื่องโกหกทางการเมืองเพียงเพื่อใช้ล้มทำลายรัฐบาลยิ่งลักษณ์เท่านั้น

วาทกรรมลวงเหล่านี้ ก็ยังตามมาทำลายโครงการแบบข้าวลายจุด ซึ่งทำให้ชาวนาต้องรับผลร้ายจากข้าวราคาตกต่ำต่อไป และนี่คือ ราคาที่ชาวนาเป็นผู้จ่ายให้กับการรัฐประหาร


 

เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 511 วันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2558
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net