Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภาพจากเว็บไซต์กระทรวงแรงงาน

การเรียกร้องให้รัฐบาล ปรับค่าจ้างขั้นต่ำทุกปีของสหภาพแรงงาน คือ การเรียกคืนเอามูลค่าส่วนเกิน (Surplus value) ที่มาจากการทำงานของผู้ใช้แรงงาน  แรงงานทำงานวันละนับสิบชั่วโมงเพื่อแลกกับค่าจ้าง/เงินเดือนอันน้อยนิด เมื่อเทียบกับผู้บริหาร คนรวยที่ยังรวยต่อไปไม่หยุด  และเมื่อเทียบกับตัวเลข GDP ที่เติบโตขึ้นมากบ้างน้อยบ้าง สะท้อนให้เห็นการสร้างผลผลิต (สินค้าและบริการ) ภายในประเทศ รวมไปถึงมูลค่าของผลผลิตในต่างประเทศจากการส่งแรงงานไทยไปทำงานในประเทศ อื่น  แต่ค่าจ้างยังล้าหลัง และยิ่งกว่านั้นภายใต้รัฐบาลทหาร ที่ไม่สนใจดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานภาคเอกชน  ทั้งๆ ที่การเรียกร้องของแรงงานภาคเอกชน อุตสาหกรรมต่างๆ ส่งผลต่อแรงงานทุกภาคส่วน รวมไปถึงพนักงานของรัฐ ไม่ใช่มาจากความเมตตาของรัฐบาลทหาร ที่หน้าด้านช่วงชิงความชอบธรรมทางการเมืองไปจากทุกฝ่าย

บทความนี้ต้องการผู้อ่านที่เป็นผู้ใช้แรงงานทุกส่วนตระหนักถึงความสำคัญของการรณรงค์เรื่องค่าจ้าง เชื่อมโยงกับประเด็นความยุติธรรมทางสังคม รวมทั้งการทำให้เป็นเรื่องของสังคมวงกว้างมากขึ้น เพื่อให้เกิดแรงผลักดันจากระดับล่างสู่ระดับชาติ เช่นที่เกิดในต่างประเทศ ไม่ใช่ในวงแคบๆ อีกต่อไป

ค่าจ้างกับมูลค่าส่วนเกิน 

มูลค่าส่วนเกินจากการผลิตสร้างทำของแรงงาน จากชั่วโมงการทำงานในแต่ละวัน ที่ได้สร้างมูลค่าของผลผลิตมากกว่าค่าจ้างที่ได้รับ แต่ทุนนำส่วนเกินนี้ไปใช้จ่ายค่าดอกเบี้ย ค่าเช่า ทำการค้า  เพราะนี่คือสิ่งที่ทุนคำนวณมาแล้วเป็นอย่างดีก่อนที่จะจ้างคนงาน

กล่าวคือ เมื่อคนงานขายพลังแรงงาน(ทักษะความสามารถ)ให้แก่นายจ้าง นายจ้างก็อาจจะจัดแจงให้เขาทำงานเป็นเวลา 10 ช.ม. กับเครื่องมือและวัตถุดิบที่จัดหามาให้ แต่ใน 3 ช.ม. แรกของวันทำงาน คนงานนี้สร้างมูลค่าแลกเปลี่ยนให้แก่นายจ้างเท่ากับมูลค่าแลกเปลี่ยนของพลัง แรงงานของเขาทั้งวันอยู่ที่ 300 บาท มูลค่าที่ถูกสร้างใน 3 ช.ม.แรกเท่ากับค่าจ้างทั้งวันที่นายจ้างจ่ายให้คนงานดังกล่าว

แต่คนงานยังต้องทำงานต่อให้ครบ 10 ช.ม. เพราะได้ทำการตกลงกับนายจ้างแล้ว เขายังคงดำเนินการสร้างมูลค่าในเวลาอีก 7 ช.ม. เราจึงกล่าวได้ว่าใน 7 ช.ม.นี้ คนงานได้สร้างมูลค่าให้โดยไม่ได้รับอะไรตอบแทนมาอีกเลย ดังนั้น 7 ช.ม. เป็นการทำงานแบบอุทิศให้นายจ้าง ทำให้ฟรีๆ ซึ่งนั่นคือการขูดรีดมูลค่าส่วนเกิน จาก ช.ม. ทำงานที่เหลือ หรือเรียกว่าเป็นชั่วโมงของการผลิตส่วนเกิน (surplus produce) หรือแรงงานส่วนเกิน  และยังมีศัพท์เรียกว่า เวลาทำงานที่นายจ้างจ่าย กับเวลาทำงานที่นายจ้างไม่จ่าย (Paid and Unpaid Labor Time) (Industrial Workers of the World. An Economic Interpretation of the Job. จากเว็บไซด์ http://www.iww.org/history/documents/iww/economic_interpretation_of_the_job )

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่จะมีการเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำอย่างไม่หยุดนิ่ง และยังเป็นความชอบธรรม จากนั้น รายได้ก็จะถูกนำไปใช้จ่ายสำหรับการครองชีพ  เช่น ค่าเทอมของเด็กนักเรียนที่จะกำลังจะเปิดเทอมในเดือนพฤษภาคม ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และไม่เป็นธรรมกับครอบครัวผู้มีรายได้น้อย

มองประเด็นค่าจ้างจากยอดปีระมิด

ประเด็นค่าจ้าง หรือเงินเดือนขั้นต่ำ ไม่สามารถคิดตัดขาดจากเรื่องของแรงงานอื่นๆ ไม่สามารถพูดเดี่ยวๆ หรือเรียกร้องแบบโดดๆ  คือ ควรต้องเชื่อมโยงกับประเด็นอื่นอย่างเป็นระบบ เพื่อให้มีการพูดถึงความเป็นอยู่ที่ดีโดยรวมของผู้ใช้แรงงาน เหมือนการมองลงมาจากยอดปีระมิด ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่บนยอดของฐานที่กว้าง  อีกทั้งในการรณรงค์เรียกร้องค่าจ้างเพิ่มต้องรณรงค์กับคนในสังคมอย่างกว้าง ขวาง ดังเช่นในประเทศสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้

 สหรัฐอเมริกา

เมื่อวันที่ 16 เม.ย. ที่ผ่านมา ได้มีการประท้วงของผู้ใช้แรงงานเพื่อเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำครั้งใหญ่ที่ สุดของประเทศ โดยมีแรงงานจากหลากหลายสาขาอาชีพ ได้แก่ แรงงานฟาสต์ฟู้ด แรงงานซักรีด คนทำงานบ้าน พี่เลี้ยงเด็ก แรงงานร้านค้าปลีก และลูกจ้างด้านการศึกษา รวมจำนวนหลายหมื่นคน ออกมาเดินขบวนกันตามเมืองต่างๆ มากกว่า 200 เมืองทั่วสหรัฐอเมริกา (คนงานในสหรัฐเคลื่อนไหวครั้งใหญ่-เรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำ 15 เหรียญสหรัฐต่อชั่วโมง. 19 เม.ย.58.  สืบค้นจากเว็บไซด์ประชาไท http://www.prachatai.com/journal/2015/04/58887 )

การเคลื่อนไหวในครั้งนี้คือการเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำ 15 เหรียญสหรัฐ (480 บาท) ต่อชั่วโมงซึ่งเป็นเรื่องที่มีการพูดถึงในสหรัฐฯ มาเป็นเวลามากกว่า 3 ปีแล้วเกี่ยวกับปัญหาความยากจนและความไม่เสมอภาคในสังคม โดยในการเคลื่อนไหวล่าสุดนี้ไม่เพียงแค่คนงานในสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มคนงานจากอีก 35 ประเทศ ใน 6 ทวีป เช่น นิวซีแลนด์ บราซิล ญี่ปุ่น เข้าร่วมด้วย และค่าจ้างต้องครอบคลุมตนเองและครอบครัวได้

โครงการกฎหมายการจ้างงานแห่งชาติสหรัฐฯ (National Employment Law Project) เผยแพร่รายงานว่า มีผู้หญิงและคนผิวสีอยู่ในกลุ่มคนงานที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าที่ควรเป็น จำนวนมาก โดยมีคนงานเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันมากกว่าร้อยละ 50 และคนงานเชื้อสายละตินมากกว่าร้อยละ 60 ได้ค่าจ้างน้อยกว่า 15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อชั่วโมง

และจากข้อมูลสถิติรายได้ต่อช.ม.ในรอบ 1 ปี (ก.พ.57-ก.พ.58) ล่าสุด เฉลี่ยอยู่ที่ช.ม.ละ 10.54 เหรียญ ซึ่งยังไม่เพียงพอ (จากเว็บไซด์ Statista, http://www.statista.com/statistics/216259/monthly-real-average-hourly-earnings-for-all-employees-in-the-us/)

นอกจากนี้ ยังมีการร่วมเรียกร้องในประเด็นอื่นๆ คือ เชื่อมโยงเรื่องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจกับความเป็นธรรมทางสังคม คือประเด็นที่ตำรวจสังหารคนผิวดำที่ไม่มีอาวุธในหลายกรณี ดังเช่นที่เกิดขึ้นในเมืองชาร์ลสตัน รัฐเซาท์แคโรไลนา หรือในเมืองเฟอร์กูสัน รัฐมิสซูรี โดยมีการรำลึกถึงผู้ที่ถูกตำรวจสังหารซึ่งเป็นกิจกรรมของขบวนการ 'ชีวิตคนผิวดำก็มีความหมาย' (Black Lives Matter)

 เกาหลีใต้

เมื่อ วันที่ 24 เม.ย. ที่ผ่านมา ผู้ใช้แรงงานชาวเกาหลีร่วมกันนัดหยุดงานทั่วไปเพื่อกดดันเรียกร้องรัฐบาล ประธานาธิบดีปาร์ค กึน เฮ  ให้  1. ยกเลิกแผนปฏิรูปตลาดแรงงานที่ล้าหลัง ทำลายระบบจ้างงานที่มั่นคง  2. หยุดการตัดบำนาญของลูกจ้างรัฐ และปฏิรูประบบบำนาญแห่งชาติ เพิ่มบำนาญให้ประชาชน  3. เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 10,000 วอนต่อชั่วโมง (ประมาณ 300 บาท/ช.ม.)  และ 4. ประกันสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานบังคับใช้กับแรงงานทุกคน โดยไม่เลือกปฏิบัติ

สมาพันธ์แรงงานเกาหลี (KCTU) ลงมตินัดหยุดงานทั่วประเทศเพื่อคัดค้านนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่จะทำลายสภาพ การจ้างงานและความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงานทุกคน การลงมติของสมาชิกสมาพันธ์แรงงานแห่งเกาหลีจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 มีนาคมถึง 8 เมษายน 2558 ทั่วประเทศ ผลคือ 84.35% โหวตให้นัดหยุดงาน ดังนั้นในวันที่ 24 เม.ย.นี้ คนงานจะชุมนุมในเมืองต่างๆ 20 แห่ง ราว 260,000 คน และในวันแรงงานสากล (May day) คนงาน 100,000 คนจะมารวมตัวกันที่กรุงโซล

ในปีนี้ ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ชั่วโมงละ 5,580 วอน (1,166,220 วอนต่อเดือน) ซึ่งน้อยกว่าค่าครองชีพที่เป็นอยู่ของคนงานหนึ่งคนโดยไม่มีผู้พึ่งพิง (1,506,179 วอน เมื่อพ.ค.57) ดังนั้นค่าจ้างสำหรับคนงานจึงควรอยู่ที่ 10,000 วอนเพื่อที่จะช่วยให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตอันเป็นเป้าหมายของระบบค่าจ้างขั้น ต่ำ 

นอกจากนี้ KCTU ยังได้เคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมทางสังคมคือ  ผลักดันกฎหมายที่จะสร้างความยุติธรรมให้แก่ครอบครัวของเหยื่อ จากโศกนาฏกรรมเรือเฟอรี่เซวอลล่ม เมื่อเดือนเม.ย.ปี 2557  โดยมีเด็กนักเรียนเสียชีวิตราว 250 คนจากทั้งหมด 300 กว่าคน และสร้างหลักประกันความปลอดภัยในการใช้เรือโดยสารสาธารณะ ไม่ให้นำเรือเก่ามาใช้อีก

กับดักรายได้ระดับปานกลางและปัญหาของนายทุน

เมื่อปี 2554 ประเทศไทยถูกยกระดับจากธนาคารโลกให้เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ปีละ 4,210 เหรีญสหรัฐอเมริกา หรือ= 126,300 บาท (เดือนละ 10,252 บาท)  ซึ่งใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่คนงานทำงานวันละประมาณ 12 ชั่วโมง เดือนละ 25 วัน  และมีข้อเสนอแนะว่า หากไทยต้องการจะไปให้พ้นจากรายได้ปานกลางนี้ ต้องเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการ เพิ่มค่าจ้างเงินเดือน สร้างระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ใช้เวลาน้อยลงแต่สร้างผลงานได้มีคุณภาพ มีทักษะฝีมือสูง และการกระจายรายได้ลดช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย เพิ่มสวัสดิการให้แก่ประชาชน

ทว่า ปัญหาในบริบทสังคมไทย คือ กลุ่มทุนขนาดใหญ่แข่งขันกันอย่างรุนแรงจนเกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ดังที่ปรากฎ  นอกจากนี้ ทุนบางแห่งยังใช้รูปแบบการบริหารเก่าๆ คือ ลดต้นทุนด้านแรงงาน กดขี่ลูกจ้าง ปลดลูกจ้างแต่ไม่เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าและบริการ การคอรัปชั่นในระบบราชการที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ทุนรายใหญ่  ไม่สร้างนวัตกรรม ไม่เห็นคุณค่าของแรงงาน คือ ไม่ออกค่าใช้จ่ายในการยกระดับฝีมือและการศึกษาของแรงงาน และให้ค่าทักษะฝีมือ เช่น แรงงานขับรถขนส่งสินค้า (รถบรรทุก) ที่ขับมานานจนมีความเชี่ยวชาญแต่กลับไม่มีค่าวิชาชีพ ซ้ำร้ายคนงานหลายบริษัทยังได้ค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 300

กระแสโลกาภิวัตน์

ทุนพยายามลดต้นทุนด้านแรงงาน กดค่าจ้างและสวัสดิการ ซึ่งเท่ากับทำให้สังคมเสื่อมถอยลงทุกวัน  นั่นคือ กำลังแรงงานในระบบทุนนิยมโลกทำงานในลักษณะจำยอม (ทาสรูปแบบใหม่) โดยพิจารณาจากงานที่มีลักษณะไม่มั่นคงของคนงานย้ายถิ่นนับล้านๆ คนทั่วโลก ในที่ทำงานต่างๆ เช่น ที่บ้าน ไร่นา เหมือง โรงแรม เขตก่อสร้าง แม้จะมีการต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนมาตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทศวรรษที่ 1940 แต่ปัจจุบันรูปแบบการจ้างงานมีลักษณะบังคับ

กล่าวคือ ทุนใช้แรงงานย้ายถิ่นจำนวนมากขึ้น ฉวยโอกาสลดค่าใช้จ่ายในการสร้างคุณภาพชีวิต เช่น สวัสดิการด้านสุขภาพ ค่าอบรมการศึกษา และค่าใช้จ่ายในการผลิตซ้ำ (ผลิตคนรุ่นต่อไป) ของคนงาน โดยจ่ายเพียงค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อสะสมทุน ทั้งนี้ทุนใช้ความเป็นรัฐชาติ พรมแดน มาข่มขู่คนงาน หากไม่ทำตามสัญญาจ้างที่มาตรฐานต่ำ จะถูกส่งตัวกลับ ดังนั้น ประเทศที่ส่งออกกำลังแรงงานไปยังประเทศทางตอนเหนือ เป็นรายได้เข้าที่สำคัญ เช่น ฟิลิปปินส์ เม็กซิโก ต้องการเงินส่งกลับบ้าน นั่นคือ ครอบครัวเป็นจำนวนครึ่งพันล้านคนทั่วโลกกำลังพึ่งพาเงิน 530 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการอยู่รอด

ยิ่งถ้าเป็นแรงงานหญิงทำ งานบ้าน ค้าบริการทางเพศ หรือทำงานในโรงงานแถบชายแดน ยิ่งถูกเอาเปรียบสวัสดิการต่างๆ ถูกกดขี่ทางเพศ คนงานจำต้องทนเพื่อไม่ให้ถูกส่งกลับ ทุนที่ปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานเช่นนี้ กำลังจะทำให้สังคมถดถอย คนงานขาดหลักประกัน ขาดความเป็นพลเมืองของประเทศที่ตนย้ายถิ่น ทว่าพวกเขากำลังรวมตัวจัดตั้งกลุ่มเพื่อเรียกร้องสิทธิ และศักดิ์ศรีคืนมา (Susan Ferguson & David Mcnally, 20 ก.พ.58.  Capitalism’s Unfree Global Workforce. สืบค้นจาก www.opendemocracy.net )

การรณรงค์เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ และความเป็นธรรมทางสังคม

จากประวัติศาสตร์แรงงาน จะเห็นว่า การเรียกร้องค่าจ้างของสหภาพแรงงาน กลายเป็นบรรทัดฐานสำหรับลูกจ้างทุกแห่ง ไม่ว่าในภาคเอกชนหรือภาครัฐก็ตาม ทุกคนต่างได้หมด แต่ปัญหาที่พบคือ การแบ่งแยกแรงงานออกเป็นชั้นที่ต่างกัน  คือ ข้าราชการถูกแบ่งแยกจากแรงงาน อยู่ภายใต้แนวคิดข้าราชการของพระเจ้าแผ่นดิน  ที่ไม่เห็นว่าจะออกมาต่อสู้เรียกร้อง และจัดตั้งองค์กรแรงงานที่แท้จริง ในขณะที่แรงงานภาคเอกชนเป็นผู้เสียสละต่อสู้  (ไม่คิดในลักษณะแบบช่างมัน ปลงตกตามตรรกะของศาสนาพุทธ) แม้แต่ทุนซีพี ธานินทร์ เจียรวนนท์ ยังเห็นว่าค่าจ้างขั้นต่ำต้องสูงถึงวันละ 500 บาท ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทุนเอง  และเป็นการสร้างแรงผลักดัน ข้อถกเถียงกันในระดับบนได้  แล้วลูกจ้างภาครัฐ ข้าราชการระดับล่าง-กลาง เช่น ครู อาจารย์ ทำอะไรกันบ้าง

เมื่อชนชั้นนำนายทุนเอาส่วนเกินที่มาจากการทำงานของแรงงาน  และทุนไม่ได้ช่วยปรับปรุงสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ซ้ำร้ายยังละเมิด รัฐไทยที่อ้างการปฏิรูป ลดความขัดแย้ง แต่กลับไม่ได้แก้ไขอะไร และกำลังจะสร้างความขัดแย้งใหม่ๆ ขึ้นมาให้ซับซ้อน ทับถมปัญหาเก่าๆ  ฉะนั้น ในวันแรงงานสากลที่จะมาถึง 1 พ.ค.นี้ ภายใต้บริบทปัจจุบัน เราควรทำงานรณรงค์กับแรงงาน คนทุกภาคส่วน ให้สนับสนุน

  1. แนวคิดค่าจ้างขั้นต่ำที่ครอบคลุมสมาชิกครอบครัวอีก 2 คน
  2. ระบบสวัสดิการถ้วนหน้า ได้มาตรฐาน ครอบคลุมตั้งแต่เกิดจนตาย
  3. ระบบการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้าจากคนรวย เพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ
  4. นำสังคมกลับคืนสู่เสรีภาพ ยกเลิกมาตรา 44 และรัฐบาลทหารต้องออกไปโดยเร็วที่สุด
  5. เผยแพร่แนวคิดการรวมกลุ่มจัดตั้งองค์กรสหภาพแรงงานทุกภาคส่วน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net