Skip to main content
sharethis

เผยผลงานครบรอบ 4 ปี คปก. พร้อมจัดสัมนาวิชาการ "ปฏิรูปกฎหมายท้าทายปฏิรูปประเทศ" 'บรรเจิด' ระบุ ร่างรัฐธรรมนูญนี้คือการปรับสมดุลเชิงอำนาจ ด้าน 'เดือนเด่น' ชี้ การร่างกฎหมายที่ดีต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชน พร้อมแนะ การได้ยิน กับได้ฟัง แตกต่างกัน

เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2558  คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจัดงานสัมมนาวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ 4 ปี คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เรื่อง “ปฏิรูปกฎหมายท้าทายปฏิรูปประเทศ” ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ชั้น 5 โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซนเตอร์ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร โดยได้นำเสนอผลการดำเนินงานเพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศในทุกมิติตลอดช่วง 4 ปี ที่ผ่านมาของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ภายใต้วิสัยทัศน์การเป็นองค์กรหลักของชาติ ที่มีอิสระในการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายทั้งระบบ บนพื้นฐานหลักสิทธิมนุษยชน และการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ เพื่อมุ่งขจัดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมและความเสมอภาคให้เกิดขึ้นในสังคม โดยศาสตราจารย์ ดร. คณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เปิดเผยว่า กฎหมายทุกฉบับมีผลต่อประชาชน แนวทางการทำงานของ คปก.จึงเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนบนพื้นฐานของการให้ความรู้ควบคู่ไปกับงานด้านการวิจัย รวมถึงการรับฟังความเห็นของประชาชน ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย การดำเนินงานตลอดระยะเวลา 4 ปี ของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้รับความร่วมมือจากภาคประชาชนเป็นอย่างดี

“4 ปี ของการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย วางอยู่ที่พันธกิจสำคัญ ที่นำหลักสิทธิมนุษยชนมาเป็นเข็มทิศ เพื่อปรับปรุงกฎหมายทั้งระบบ และมุ่งขจัดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งถือเป็นรากที่แท้จริงของความขัดแย้งในสังคม ความท้าทายของการปฏิรูปกฎหมายในวันนี้ คือ ต้องยกระดับกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมให้สามารถปราบปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นให้เกิดผล เพราะการทุจริตคอร์รัปชั่น คือ ปัญหาเรื้อรังที่ทำร้ายสังคมไทยมายาวนาน” ศ.ดร.คณิต กล่าว

นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวในการเสวนาว่า “การปฏิรูปที่เป็นรูปธรรมต้องนำไปสู่การยกร่างเพื่อการปฏิรูปกฎหมาย หลักการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายสอดคล้องกับหลักของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปัญหาใหญ่ที่สำคัญตอนนี้คือเรื่องกฎหมาย ซึ่งการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ได้ทำไปพร้อมๆ กับการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปัญหาของประเทศไทยส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหากฎหมายล้าหลัง ไม่มีการะบวนการทบทวนปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และเสนอให้มี “กฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปกฎหมายขึ้นมา” เช่น เพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานที่ออกกฎหมายทำหน้าที่สำรวจกฎหมายของตนเองในการปรับปรุงให้ทันสมัย และเห็นว่าควรพิจารณาเรื่องอำนาจของคปก.เพื่อการปฏิรูปกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ด้านศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ กล่าวว่า “ที่ใดก็ตามมีสังคมมนุษย์ ที่นั่นต้องมีกฎหมาย ปัจจุบันเจตจำนงทางการเมืองของประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมาบอกเราว่าต้องมีการปรับความสัมพันธ์โครงสร้างอำนาจรัฐใหม่เพื่อการปฏิรูป สิ่งที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้พยายามที่จะทำคือการปรับสมดุลเชิงอำนาจ เป็นการปรับดุลยภาพในด้านต่างๆ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความแตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญฉบับใดๆ ในโลก เพราะมีภาคการปฏิรูป เนื่องจากที่ผ่านมากว่า 80 ปี ประเทศไทยไม่สามารถปฏิรูปประเทศได้จริง แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเข้ามาวางรายละเอียดทิศทางที่จะนำไปสู่การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับประชาชน แน่นอนว่ายังมีหลายเรื่องที่ต้องปรับ กฎหมายเป็นเครื่องมือที่อาจจะดีหรือไม่ดีก็ได้แต่กฎหมายต้องรับใช้เจตจำนงของประชาชน ต้องนำไปสู่ความสงบเรียบร้อย ความเป็นธรรมและความเสมอภาคในสังคม ซึ่งกฎหมายที่ดีจะต้องมีดุลยภาพที่สามารถกระจายความมั่งคั่งและความเป็นธรรมไปสู่ประชาชนทั้งปวง”

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า “การร่างรัฐธรรมนูญ หรือการออกกฎหมายทุกประเทศทั่วโลกที่มีธรรมาภิบาลที่ดีจะให้ความสำคัญกับการรับฟังความเห็นของประชาชน เพราะการรับฟังความเห็นเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ  ในต่างประเทศมองเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่  แต่ในมุมกลับกันสำหรับประเทศไทยเวทีการรับฟังความเห็นคือเขาได้ยินแต่ไม่ได้ฟัง คือไม่สนใจว่าเราจะพูดอะไร ผลสรุปจะออกมาว่า ดี เห็นด้วย ปัญหากฎหมายที่สำคัญของประเทศไทยคือ การให้อำนาจดุลพินิจแก่เจ้าหน้าที่ รวมถึงเราให้ความสำคัญกับการจัดตั้งองค์กร และมุ่งเรื่องการให้อำนาจองค์กรมากเกินไป แต่ไม่ได้วางแนวทางในการตรวจสอบไว้ การร่างกฎหมายต้องให้ความสำคัญต่อการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (Public hearing) และกฎหมายที่ใช้อยู่ในประเทศต้องมีฐานข้อมูลเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้”

“สิ่งสำคัญที่ คปก.เป็นองค์กรที่มีความจำเป็นในสังคมคือ คปก.ฟังเสียงประชาชน เช่น ในด้านการปฏิรูปความเสมอภาคระหว่างเพศ คปก.ได้เสนอร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต และยังได้ผลักดันให้มีการรับรองเพศสภาพ-เพศวิถี ซึ่งการดำเนินงานของคปก.ได้เปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าว มีพื้นที่ให้ประชาชนที่มีความเห็นต่างกันมีโอกาสหารือกัน ทำให้ได้รับรู้ว่าชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมอย่างไรบ้าง ซึ่งยังไม่ไม่หน่วยงานใดที่ทำงานในลักษณะนี้ คปก.ส่งเสียงของประชาชนเข้าไปพร้อมๆ กับหลักวิชาความรู้ กล่าวได้ว่า ความเห็นและข้อเสนอแนะของคปก.อยู่บนพื้นฐานของการรับฟังความเห็นประชาชนอย่างดี” นางสาวนัยนา สุภาพึ่ง กรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายกล่าว

การดำเนินการที่ผ่านมาของคปก. ได้กำหนดยุทธศาสตร์เร่งด่วนไว้ 10 ด้าน ทั้งด้านกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยได้ผลักดันร่างพระราชบัญญัติการบริหารจังหวัดปกครองตนเอง พ.ศ.... ที่มีสาระสำคัญมุ่งให้เกิดการกระจายอำนาจจากรัฐบาลไปสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง ซึ่งถือเป็นการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจรัฐครั้งสำคัญ พร้อมสร้างกลไก “สภาพลเมือง” เป็นองค์ประกอบหนึ่งของการปกครองท้องถิ่นเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินบริการสาธารณะและพัฒนาท้องถิ่น ตลอดจนกำหนดแผนและทิศทางการพัฒนาท้องถิ่นในด้านต่างๆ ส่วนด้านแรงงานและสวัสดิการสังคม คปก. เสนอให้มีการปฏิรูปกฎหมายแรงงานพร้อมจัดทำร่างประมวลกฎหมายแรงงาน และร่างพ.ร.บ.การบริหารแรงงาน พ.ศ.... เพื่อการยกระดับกฎหมายแรงงานไทยสู่สากล พร้อมเสนอให้มีการออกกฎหมายกลางด้านสวัสดิการสังคม และปฏิรูประบบประกันสังคมทั้งระบบ ให้เกิดความโปร่งใส-ตรวจสอบได้ รวมถึงการผลักดันร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข อีกทั้งยังมีการจัดทำร่างข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เพื่อยกระดับความคุ้มครองสิทธิแรงงานให้เป็นมาตรฐานเดียวในอาเซียน นอกจากนี้ การขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ เช่น ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ พ.ศ.... ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ.... สำหรับด้านการปฏิรูปที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คปก.ยังมีแนวทางในการจัดทำกฎหมายว่าด้วยสิทธิชุมชน การผลักดันร่างพ.ร.บ. ธนาคารที่ดิน พ.ศ.... ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า พ.ศ.... ร่างพ.ร.บ. น้ำ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น

ด้านการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ คปก.ได้จัดทำข้อเสนอแนะให้มีการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณให้มีประสิทธิภาพและเพียงพอต่อภารกิจขององค์กรตรวจสอบ ศ.ดร.คณิต ณ นคร กล่าวว่า “การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมนั้น ถือเป็นหัวใจของการปฏิรูปกฎหมาย การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมต้องเน้นการทำงานแบบลงลึก และมีระบบการตรวจสอบที่ดี เพื่อนำไปสู่การขจัดปัญหาคอรัปชั่น กระบวนการยุติธรรมต้องให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย ลดค่าใช้จ่าย และรวดเร็ว เพิ่มประสิทธิภาพทั้งในการดำเนินคดีชั้นเจ้าพนักงาน และในการดำเนินคดีชั้นศาล เพื่อแก้ปัญหาของประเทศได้อย่างเด็ดขาดไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และความขัดแย้งทางสังคมที่เกิดขึ้นในขณะนี้”

ขณะเดียวกัน คปก. ได้ผลักดันร่าง พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. .... เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจและประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากยิ่งขึ้น ขจัดปัญหาแหล่งเงินทุนนอกระบบ โดยมีหลักเกณฑ์ตามกฎหมายที่เป็นธรรม ให้ความมั่นใจแก่ผู้ให้สินเชื่อและผู้ขอสินเชื่อ อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง-ขนาดเล็กและประชาชนในการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

คปก.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จึงได้เสนอแนวทางการตรากฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า เพื่อให้เกิดการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรี-เป็นธรรม ป้องกันการผูกขาดทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม พร้อมกันนี้ คปก.ยังผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการศึกษา ศ.ดร.คณิต กล่าวด้วยว่า “การศึกษาระดับอุดมศึกษาเป็นหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหาสังคม จะต้องมีการพัฒนาระบบกฎหมายของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการรับผิดชอบต่อสังคมและเป็นที่พึ่งให้กับสังคมได้” นอกจากนี้ในด้านการปฏิรูปกฎหมายสื่อสารมวลชน คปก.ได้เสนอให้มีกฎหมายออกมารองรับองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนเพื่อเป็นการปกป้องเสรีภาพและความเป็นอิสระของสื่อมวลชน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานแห่งวิชาชีพสื่อ และยังได้เสนอให้มีกฎหมายว่าด้วยการควบคุมโฆษณาและประชาสัมพันธ์ของภาครัฐเพื่อควบคุมการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินให้มีความเหมาะสม โปร่งใส และป้องกันภาครัฐครอบงำสื่อมวลชน

นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า อีกหนึ่งภารกิจท้าทายของ คปก. ที่รออยู่ข้างหน้า คือ การปฏิรูปกฎหมายเพื่อยกระดับการคุ้มครองสวัสดิการ และสิทธิของผู้ใช้แรงงาน ที่นับว่า เป็นฟันเฝืองสำคัญของการขับเคลื่อนประเทศ และเห็นว่า การพิทักษ์สิทธิแรงงาน ควรขยายขอบเขตให้ครอบคลุมกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆด้วย

ทั้งนี้ นางสุนี กล่าวแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ควรมีบทบัญญัติ ว่าด้วยการปฏิรูปศาลแรงงาน ที่ต้องแยกออกมาจากศาลยุติธรรมทั่วไป เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในขั้นตอนการต่อสู้คดี ระหว่าง ผู้จ้างงาน และแรงงาน พร้อมเสนอแนะไปยังฝ่ายนิติบัญญัติ ว่า ควรร่างประมวลกฎหมายแรงงาน ที่รวบรวมกฎหมายแรงงานทั้งหมด มารวมให้เป็นฉบับเดียวกัน เพื่อสร้างหลักประกันในการคุ้มครอบกฎหมายแรงงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net