ปฏิบัติการไล่รื้อชุมชนริมคลอง ปฏิบัติการเชิงเดี่ยว

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในช่วงรอบหลายเดือนที่ผ่านมา ข่าวการปรับปรุงริมคูคลองในกรุงเทพมหานครเป็นประเด็นที่น่าติดตามเพราะนี่ ไม่ใช่เป็นนโยบายระดับท้องถิ่น แต่เป็นนโยบายระดับชาติที่จะนำไปสู่การจัดระบบจัดการน้ำทั้งระบบ นายกรัฐมนตรีจึงเป็นผู้สั่งดำเนินการโดยตั้งเป็นคณะกรรมการอำนวยการในการแก้ปัญหาชุมชนริมคูคลองนี้ขึ้นมา มีรองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 เป็นประธาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, กลาโหม และการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นรองประธานทั้ง 3 คน มีเลขาการ คสช. มาเป็นเลขานุการกรรมการ โดยแบ่งย่อยการทำงานออกมาเป็น 3 อนุกรรมการ คือ คณะอนุกรรมการการโยกย้ายประชาชน คณะอนุกรรมการการพัฒนาและจัดที่อยู่อาศัย คณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์

โครงการนี้จะดำเนินการในพื้นที่ 9 คลองหลักทั่วกรุงเทพมหานคร ได้แก่

ข้อมูลจาก พอช. และสำนักระบายน้ำ

โดยจะนำร่องดำเนินการเริ่มต้นจาก ลำดับที่ 1 – 2 ในปี 2558 – 2560 นี้ก่อน ใช้งบประมาณในสองช่วงนี้รวม 2,598 ล้านบาท มาเป็นงบประมาณไว้สำหรับจ่ายค่าชดเชย, ค่าทำสาธารณูปโภคในพื้นที่รองรับใหม่ หากคิดกันหยาบๆก็ตกเฉลี่ยครอบครัวละ 272,000 บาท สำหรับการเตรียมตั้งรกรากถิ่นฐานใหม่

ข้อสังเกตว่านี่คือโครงการรัฐที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก แต่กระบวนการการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ส่วนร่วมในการออกความเห็น การออกแบบในการดำเนินโครงการนี้ กลับไม่มีเลย มีเพียงเวทีเล็กๆตามเขต ตามพื้นที่ชุมชน ที่ให้ประชาชนมา “รับฟัง” การดำเนินโครงการเท่านั้น แล้วก็เข้าสู่โหมดกระบวนการโครงการบ้านมั่นคงที่มีกรอบใหญ่ของโครงการที่กรอบไว้ ผลสรุปคือ การทำให้ระบบระบายน้ำมีปัญหา หรือถ้าจะมองย้อนหลังไปอีก น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ใน กทม. สาเหตุมาจากชุมชนที่อยู่ริมคูคลองนั้นเอง

การที่หน่วยงานรัฐจะเอาขนาดคลองกว้าง 38 เมตร เท่ากันทั่ว กทม. นั้น มีความจำเป็นขนาดไหน และโดยแท้จริงพื้นคลองดั้งเดิมมีขนาดไหนกันแน่ หากขนาดคลองเดิมมีขนาดไม่ถึง 38 เมตร จะต้องเวนคืนหรือเปล่า เป็นบทสรุปใช่หรือไม่ว่าชุมชนริมคูคลอง เป็นปัญหาสำคัญ ปัญหาหลัก ในการระบายน้ำ หรือยังมีเรื่องการจัดระบบประตูระบายน้ำ การก่อสร้างถนนเส้นทางต่างที่ไปตัดเส้นทางน้ำ หรือแม้แต่ผังเมืองที่เปลี่ยนไปทำพื้นที่คลองสาธารณะย่อยกลายเป็นที่ดินปลูกสร้างอาคารยังคงเป็นคำถามที่ไม่มีเวทีการอธิบายและเปลี่ยนข้อมูลกัน

รัฐบาลนี้เข้าใจว่าต้องการความรวบรัด รวดเร็วในการดำเนินการ จึงได้ข้ามขั้นตอนการรับฟังความเห็นต่างๆ จึงเห็นเป็นการสั่งการจากระดับบนมายังการปฏิบัติการระดับล่าง หน่วยงานช่วงท้ายจึงเป็นไปได้แค่ทำตามการสั่งการมาเท่านั้น  หากเป็นสถานการณ์ปกติคงมีการชุมนุมกันเพื่อประกาศความเดือดร้อนของแต่ละพื้นที่ แต่ละชุมชนกัน ให้สาธารณชนได้รับรู้ส่งเสียงไปถึงรัฐบาลส่วนกลางอย่างเป็นแน่ โครงการนี้จึงเป็นการคิด และดำเนินการเพียงฝ่ายเดียว

การแก้ปัญหาจากต้นตอคือต้องมาถกจากสาเหตุปัญหาการระบายน้ำอย่างทั่วทุกด้าน เปลี่ยนมุมมองชุมชนที่อาศัยอยู่ริมคูคลองที่เป็นปัญหา ให้เป็นทำอย่างไรจะใช้ประโยชน์จากชุมชนเหล่านี้ได้  ในการดูแลรักษาริมคูคลอง ที่มีตัวอย่างให้เห็นกันหลายชุมชน เช่น ชุมชนเพชรคลองจั่น ที่มีกระบวนการรักษาระบบนิเวศทางน้ำโดยการเทน้ำชีวภาพลงคูคลอง กิจกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นเชิงบวกที่ชาวชุมชนริมคลองพยายามที่สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อให้ “คนกับคลองอยู่ร่วมกันได้”

กิจกรรมเยาวชนชุมชนเพชรคลองจั่นดูแลรักษาคลอง

การลงทุนขนาดใหญ่ในการแก้ปัญหาหนึ่งคือการแก้ปัญหาระบบการระบายน้ำไปสร้างปัญหาใหม่อีกที่หนึ่งคือ ปัญหาคุณภาพชีวิตคนจนในที่รองรับใหม่ที่ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ หางานใหม่ หาโรงเรียนให้ลูกหลานใหม่ หากจะต้องกลับมาทำงาน มาเรียนที่เดิม ค่าเดินทางที่สูงขึ้น จะคุ้มกันหรือไม่ เรื่องเหล่านี้ยังไม่มีการเอ่ยถึง เพราะยังไม่รู้ว่าจะย้ายชาวชุมชนไปอยู่แห่งไหน จำนวนเท่าไร

แผนที่ภาพรวม 9 คลอง

กระบวนการที่ส่งหน่วยงานลงชุมชนไปเพื่อปฏิบัติการตามภารกิจของอนุกรรมการทั้ง 3 ชุด ก็แยกการทำงานอย่างชัดเจน  ไม่ได้มีความเชื่อมร้อยประสานถึงการทำงานร่วมกันสักเท่าไหร่นัก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ที่มีหน้าที่จัดกระบวนการพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่ตามนโยบายโครงการบ้านมั่นคงให้กับชาวบ้านก็ออกแบบกระบวนการวางผัง แบบบ้าน ของชุมชนไป  ไม่มีการแจ้งข้อมูลความช่วยเหลือในส่วนต่างๆ เช่น ค่ารื้อย้าย ค่าชดเชย ที่ชาวบ้านควรจะได้มาเพื่อจะนำมาเพิ่มเติมการสร้างที่อยู่อาศัยแห่งใหม่  แต่ก็ไม่มีการกล่าวถึงส่งผลให้ชาวบ้านต้องนึกถึงแต่เรื่องที่ต้องรื้อบ้านตัวเองแล้วสร้างใหม่ เกิดหนี้ใหม่ บางหลังเพิ่งทำการสร้างบ้านใหม่ต้องมาเจอเหตุการณ์เช่นนี้จึงเกิดอาการต่อต้านโครงการบ้านมั่นคงอย่างชัดเจน

ส่วนกรุงเทพมหานครหน่วยงานที่ต้องย้ายชาวบ้านตามอำนาจในการดูแลที่ดินเป็นหลัก แม้จะมีการโต้แย้งเบื้องต้นระหว่างกรมธนารักษ์ หรือ กทม. จะเป็นหน่วยงานดำเนินการโยกย้ายดำเนินการตามกฎหมายกับชุมชน ก็ดำเนินการแปะหมายแจ้งย้าย บางรายถึงกับโดนจับกุมคุมขัง จ่ายค่าปรับคนละ 20,000 – 40,000 บาท ถึงจะออกจากห้องขังได้ ทำให้บางรายต้องรื้อบ้านย้ายหนีไปก่อนที่จะโดนหมายเพราะไม่อยากจะต้องขึ้นโรง ขึ้นศาล มีปัญหากับราชการ นี่คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจากการลงสำรวจชุมชนร่วมกันระหว่างเครือข่ายสลัม 4 ภาค กับการเคหะแห่งแห่งชาติ

นี่อาจจะเป็นปฏิบัติการที่ไม่ได้ส่งความสุขให้กับชาวชุมชนสักเท่าไหร่นัก ชาวบ้านกว่า 68,000 คน ที่กำลังเคว้งคว้างอยู่ในทิศทางที่ขุ่นมัวไม่เห็นจุดหมายที่ชัดเจน ยังคงต้องต่อสู้อย่างเงียบๆ เพราะสถานการณ์การเมืองไม่เอื้ออำนวย ช่วงนี้จึงเป็นบทที่หน่วยงานกระทำกับชุมชนเพียงทางเดียว ส่วนจะโต้กลับไปอย่างไรนั้นคงต้องจับตาสถานการณ์ต่อไปจากนี้ หากสร้างแรงกดดันให้กับชาวชุมชนมากเท่าไหร่ การเกิดคลื่นกระแสต่อต้านก็อาจจะโต้กลับรุนแรงมากขึ้นเช่นกัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท