แรงงานในฐานะเหยื่อและแพะรับบาปของเศรษฐกิจไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ที่มาของภาพ: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์, “ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน,” ( 4 พ.ค. 2558), 
http://www.thairath.co.th/cartoon/6/90  เข้าถึง 4 พ.ค. 2558  

การพัฒนาประเทศและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยไม่ได้เกิดจากความสามารถของภาคเอกชนและภาครัฐเท่านั้นแต่ยังเกิดจากการกดขี่แรงงานด้วย เมื่อพิจารณาจากนโยบายต่าง ๆ ของรัฐไทยนับจากพุทธทศวรรษที่ 2500 เป็นต้นมา เป็นต้นว่าการไม่ให้ความคุ้มครองแรงงาน กดค่าแรง กดราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะราคาข้าวให้อยู่ในระดับต่ำ (ผาสุก พงษ์ไพจิตรและคริส เบเคอร์, เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพ, พ.ศ. 2546; น. 159) เพื่อ “ดึงส่วนเกินจากภาคชนบทให้เข้ามาสู่เศรษฐกิจเมือง สนองการบริโภคและสะสมทุนของเมือง” (ผาสุก พงษ์ไพจิตรและคริส เบเคอร์, พ.ศ. 2546; น. 370)

นอกจากนโยบายรัฐที่กดขี่แรงงานตั้งแต่อดีตแล้ว ในปัจจุบันคนชั้นกลางที่ได้ประโยชน์จากการกดขี่แรงงานในฐานะผู้บริโภค ผู้ประกอบการ เทคโนแครตและผู้มีอำนาจตัดสินใจเรื่องเศรษฐกิจในหน่วยงานรัฐและรัฐบาลก็ยังคงกรอบความคิดที่กดขี่แรงงานและยืนยันเจตนารมณ์ที่จะกดขี่แรงงานของพวกเขาต่อไปด้วยปากคำตนเองอยู่เสมอผ่านการแสดงความเห็น ข้อเรียกร้อง ข้อเสนอ ฯลฯ เกี่ยวกับเศรษฐกิจ ในนามผลประโยชน์ของชาติ

คนชั้นกลางมักแสดงความเห็นเกี่ยวกับแรงงานอย่างง่ายด้วยการติดกับดักวาทกรรมค่าแรงแพงทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถแข่งขันได้ ผู้ประกอบการก็เรียกร้องให้รัฐสนับสนุนการดำเนินธุรกิจในด้านต่าง ๆ เช่น สนับสนุนเรื่องของการพัฒนา วิจัย ข้อมูลข่าวสาร เสริมสภาพคล่องทางการเงิน จัดหาตลาด  ฯลฯ รวมทั้งให้รัฐมีนโยบายที่รักษาระดับอุปทานแรงงานสม่ำเสมอด้วยการจัดหาแรงงานและสร้างแรงงานฝีมือรองรับภาคการผลิต (ดู “ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจประเทศไทยโดยหอการค้าไทย,”   เข้าถึง 4 พ.ค. 2558)

ในขณะเดียวกันเทคโนแครตเศรษฐศาสตร์มักต่อต้านการขึ้นค่าแรงให้กับแรงงาน เช่น ผลการสำรวจความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ไทยจากองค์กร 30 แห่งโดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพพบว่านักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ของผู้ที่ให้ข้อมูลคิดเป็นร้อยละ 64.3 เห็นว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทนั้นเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกทางเพราะธุรกิจจะไม่สามารถปรับตัวได้ 

ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงสิ่งที่พวกเขาเหล่านั้นต้องการคือ แรงงานราคาที่ถูกที่สุด ซึ่งรัฐไทยสนับสนุนความต้องการนี้โดยตลอดด้วยการส่งเสริมการศึกษาที่เน้นทักษะฝีมือ ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ผ่อนปรนนโยบายเกี่ยวกับการไหลเข้าของแรงงานต่างชาติ แต่ไม่สนับสนุนการรวมกลุ่มของแรงงานเพื่อต่อรองค่าจ้างและสวัสดิการ กระทั่งมีการลงโทษแรงงานที่ขัดขืนไม่ยอมรับ “สวัสดิการในระดับสูงสุดเท่าที่จะต่ำได้” จากบริษัท เช่น กรณีการจับกุมแกนนำสหภาพไทรอัมพ์ในการชุมนุมเรียกร้องให้ช่วยเหลือคนงานที่ถูกบริษัทเลิกจ้าง (“ตร.ออกหมายจับ 3 แกนนำคนงานไทรอัมพ์ฯ ฐานชุมนุมปิดถนนหน้าทำเนียบฯ ก่อความวุ่นวาย ทำปชช.เดือดร้อน,” ประชาไท, (28 ส.ค. 2551)  เข้าถึง 4 พ.ค. 2558)

ยังไม่ต้องนับว่าปัญญาชนและเทคโนแครตจำนวนหนึ่งผลิตงานวิจัยที่มุ่งส่งเสริมการกดขี่แรงงานเพื่อเพิ่มผลิตภาพ เช่น งานวิจัยที่ยกตัวอย่างระบบการผลิตที่ให้แรงงานยืนทำงานแทนการนั่งว่าเป็นนวัตกรรมที่เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, “ไทยต้องพัฒนาประเทศโดยการสร้างนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยี,” (16 ธ.ค. 2555).  เข้าถึง 26 ม.ค. 2558)

จะเห็นได้ว่าเมื่อความเป็นจริงทางเศรษฐกิจในปัจจุบันของไทยที่ขยายตัวและเชื่อมต่อกับโลกแนบแน่นบังคับให้นายทุนในประเทศไทยไม่สามารถจ่ายค่าแรงราคาถูกอย่างที่เคยจ่ายดังในอดีตเนื่องจากแรงงานมีทางเลือกในชีวิตและมีความรู้เท่าทันมากขึ้น เงื่อนไขต่อไปที่พันธมิตรระหว่างผู้บริโภค-ผู้ประกอบการและเทคโนแครตเรียกร้องจากแรงงานก็คือ “การเพิ่มผลิตภาพ” ที่มุ่งบังคับให้แรงงานทำกำไรให้นายจ้างเท่ากับส่วนเพิ่มที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่าแรงงานต้องเพิ่มผลิตภาพอีกเท่าตัวจึงจะเหมาะสมกับการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท (“ธปท.ชี้ แรงงานต้องเพิ่มผลิตภาพอีกเท่าตัว เหตุเพื่อปรับตัวรับค่าแรง 300 ปีหน้า,” ไทยพีบีเอส, (8 ธ.ค. 2555)) สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอเสนอว่าเมื่อมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำรัฐบาลต้องเพิ่มผลิตภาพแรงงานด้วยการฝึกทักษะแรงงาน (“นโยบาย 300 บ. ฉุดจีดีพี 2% แนะเพิ่มผลิตภาพช่วยเศรษฐกิจรอด,” ประชาชาติธุรกิจ, (2 พ.ย. 2555)  เข้าถึง 4 พ.ค. 2558)

สิ่งที่พวกเขาเรียกร้องคือ หากแรงงานต้องการได้รับค่าจ้างเพิ่มจาก 200 บาท เป็น 300 บาท เขาจะต้องทำกำไรให้กับนายจ้างเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อยเท่ากับส่วนเพิ่มที่เขาจะได้รับคือ 100 บาท ต่อวัน จากฐานกำไรเดิมที่เขาเคยทำให้นายจ้าง

ข้อเรียกร้องเรื่องการเพิ่มผลิตภาพนี้ มีมายาคติว่าแรงงานที่ต้องการเพิ่มรายได้และสวัสดิการของตนเองก็สมควรที่จะเพิ่มคุณภาพฝีมือแรงงานด้วย แต่ข้อเท็จจริงจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียนที่เคยร่วมงานกับแรงงานไทยในญี่ปุ่นเมื่อปี 2540  พบว่า คนงานในโรงงานประกอบรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยที่ได้รับค่าแรงต่ำกว่า 300 บาท เมื่อไปทำงานเดียวกันนี้ในประเทศญี่ปุ่นจะได้รับเบี้ยเลี้ยงประมาณวันละ 1,000 บาท/วัน (คนญี่ปุ่นที่ทำงานประเภทเดียวกันได้ประมาณ 2,500 บาท/วัน) รวมทั้งได้สวัสดิการเป็นที่พัก อาหาร 3 มื้อและบริการรักษาพยาบาลฟรี โดยที่ไม่จำเป็นต้องเพิ่มทักษะฝีมือแรงงานใด ๆ ดังนั้นอัตราค่าจ้างแรงงานจึงไม่สัมพันธ์โดยตรงกับทักษะฝีมือแรงงานแต่เป็นเรื่องของอำนาจต่อรองระหว่างนายจ้างกับแรงงานที่รัฐมีส่วนมากในการจัดแจง

ยิ่งไปกว่านั้นจะเห็นว่าโรงงานในประเทศญี่ปุ่นที่ผลิตรถจักรยานยนต์ยี่ห้อเดียวกัน จำหน่ายในราคาใกล้เคียงกันสามารถจ่ายค่าจ้างแรงงานในอัตราที่สูงกว่าเกือบ 10 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับโรงงานในประเทศไทย โดยที่สามารถดำเนินธุรกิจมีกำไรได้ ในขณะที่โรงงานในประเทศไทย ณ เวลานั้นประสบปัญหาขาดทุนและต้องขายกิจการให้แก่นักธุรกิจญี่ปุ่น จึงหมายความว่าอัตราค่าแรงที่สูงไม่ได้มีความสัมพันธ์โดยตรงหรือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ส่งผลให้ธุรกิจประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว

ด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่กดขี่แรงงานของไทย ทำให้แม้ประเทศไทยจะสามารถลดอัตราความยากจนลงได้จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ตัวเลขความเหลื่อมล้ำกลับสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ หากสถานการณ์ยังดำเนินต่อไปเช่นนี้ การลดความเหลื่อมล้ำจะเป็นเพียงวาทกรรมที่ไม่มีวันเกิดขึ้นจริง เพราะความเหลื่อมล้ำคือความต่างระหว่างรายได้ของนายทุนกับแรงงาน หากแรงงานต้องผลิตกำไรส่วนเพิ่มให้นายทุนเท่ากับส่วนเพิ่มที่นายทุนจะจ่ายให้แรงงานเป็นอย่างน้อย สถานการณ์ที่ดีที่สุดเท่าที่จะเกิดขึ้นได้คือช่องห่างระหว่างรายได้ของทั้งสองย่อมอยู่ในสภาพคงเดิม ซึ่งในความเป็นจริงมีแนวโน้มที่จะถ่างกว้างมากขึ้น

การลดความเหลื่อมล้ำที่ได้ผลจริง คือการดึงส่วนเกินและการอุดหนุนพิเศษแก่ทุนในรูปแบบของกำไรและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่บริษัทและนักลงทุนได้รับจากรัฐ ที่รัฐรวบดึงทรัพยากรอันเป็นต้นทุนร่วมของทั้งสังคมมารวมศูนย์และอุดหนุนการเติบโตของทุนส่งคืนกลับไปยังแรงงานในรูปแบบของค่าแรง สวัสดิการและนโยบายที่มุ่งสร้างส่วนเกินให้แรงงานได้สะสมเป็นทุนไปพัฒนาตนเองในด้านต่าง ๆ ในฐานะสิทธิที่แรงงานพึงจะได้รับ ไม่ใช่การอุดหนุนแรงงานเชิงสังคมสงเคราะห์ที่เป็นเพียงการทำให้แรงงานพอมีชีวิตอยู่ได้เพื่อทำงานให้ทุนเท่านั้น

หากรัฐไม่ทำการลดความเหลื่อมล้ำด้วยวิธีการดังกล่าวแล้ว วัฏจักรชีวิตของแรงงานจะอยู่ในวังวนที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคือ หนึ่ง รัฐสละแรงงานเพื่อการเติบโตของทุน สอง ชีวิตที่ดีขึ้นของแรงงานจะได้จากการทำกำไรในทุนในอัตราที่มากกว่าส่วนที่แรงงานได้รับ และสาม แรงงานถูกโครงสร้างทางเศรษฐกิจและวาทกรรมทุนนิยม เช่น “การเพิ่มผลิตภาพ” กดดันให้สละด้านอื่นของชีวิตเพื่อทำกำไรให้ทุนจนไม่สามารถพัฒนาตนเองได้

ซึ่งในวัฏจักรนี้ แรงงานมีชีวิตในฐานะเหยื่อและแพะรับบาปของระบบเศรษฐกิจ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท