ประชาสังคมภาคอีสาน ร่วมแถลงการณ์จี้รัฐหยุดโครงการผันน้ำ โขง-เลย-มูล-ชี

เครือข่ายภาคประชาสังคมภาคอีสาน เผยบทเรียนการจัดการน้ำด้วยโครงการขนาดใหญ่ล้มเหลวตลอดมา พร้อมเรียกร้องให้รัฐเน้นกระบวนการการมีส่วนร่วมของ ปชช.

12 พ.ค. 2558  ที่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น เครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ภาคอีสาน ได้ร่วมแถลงการณ์แสดงจุดยืน “ไม่เห็นด้วยกับโครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล”  เผยบทเรียนการจัดการน้ำด้วยโครงการขนาดใหญ่ในภาคีสานตลอดช่วง 40 ปีที่ผ่านมาล้มเหลวทุกโครงการ พร้อมยืนยันให้รัฐหยุดโครงการดังกล่าว และหาวิธีจัดการน้ำที่ยั่งยืนกว่าร่วมกันกับประชาชน ย้ำประชาชนคนอีสานไม่ควรถูกบังคับให้ยอมรับการพัฒนาที่พวกเขาไม่ได้มีส่วนร่วม

00000

แถลงการณ์

“ผันน้ำ โขง-เลย-ชี-มูล ไม่ใช่คำตอบของคนอีสาน”

มายาคติเรื่อง “อีสานแล้งซ้ำซาก” กลายเป็นช่องทางของหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบเรื่องน้ำเพื่อนำเสนอโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ในภาคอีสานตลอดมา “โครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล” นับเป็นโครงการล่าสุดที่ กรมชลประทาน และ มูลนิธิน้ำและคุณภาพชีวิต ต่างผลักดันจะให้เกิดขึ้นให้ได้ในยุคนี้ ทั้งที่ปัจจุบันนี้แม่น้ำโขงนั้นมีความผันผวนและเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศมาก เนื่องจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนบนและเขื่อนที่กำลังก่อสร้างคือ เขื่อนไซยะบุรี ได้ส่งผลต่อการไหลของแม่น้ำโขงและระดับน้ำที่ขึ้นๆลงๆอย่างเห็นได้ชัดทำให้ เราไม่สามารถจะกำหนดทิศทางของน้ำได้  ประกอบกับปริมาณน้ำมีไม่เพียงพอที่จะผันเข้ามาเติมในภาคอีสานอย่างแน่นอน และในฤดูฝนเองน้ำในภาคอีสานก็มีมากอยู่แล้ว จะผัน ไปเก็บที่ไหน นี้คือความจริงที่รัฐจะต้องกล้าที่จะฟังเสียงของคนลุ่มน้ำ ไม่ใช่เร่งแต่จะผลักดันโครงการอย่างเดียวเพื่อนำงบประมาณมาตอบสนองคนแค่ไม่ กี่กลุ่ม

บทเรียนการจัดการน้ำด้วยโครงการขนาดใหญ่ในอีสานกว่า 40 ปี แทบจะเป็นบทสรุปความล้มเหลวในทุกโครงการ ได้แก่ โครงการโขง-ชี-มูล เขื่อนปากมูล โครงการชลประทานระบบท่อ โครงการน้ำแก้จน ฯลฯ ผลที่เกิดจากโครงการเหล่านี้ได้ทำให้ระบบนิเวศสำคัญของอีสานพังพินาศไป มากกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่ การแพร่กระจายของดินเค็ม การสูญเสียที่ดินทำกิน การสูญเสียพันธุ์ปลาและความหลากหลายทางชีวภาพ ยังมีชาวบ้านอีกจำนวนมากที่ต้องประสบปัญหาและรอการแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้น จากโครงการเหล่านี้มามากกว่า 20 ปี และผ่านมาแล้ว มากกว่า 10 รัฐบาล โครงการบางแห่งก็กลายเป็นอนุสาวรีย์แห่งความล้มเหลวประจานผลงานภาครัฐ บทเรียนและงบประมาณรัฐหลายแสนล้านบาทเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างคุ้มค่า และสร้างปัญหามากมายในภายหลัง แต่ก็ไม่ได้ทบทวนแนวทางรูปแบบโครงการแต่อย่างใด กลับจะเดินหน้าพัฒนาโครงการใหม่โดยละเลยกระบวนการและขั้นตอนที่ภาคประชาชน ให้ความสำคัญและติดตามมาตลอด และยังวนเวียนซ้ำซากกับโครงการแบบเดิมๆ ที่เพิ่มขนาดใหญ่ขึ้น ใช้เงินมากขึ้น และสร้างผลกระทบมากขึ้น

ในยุคที่ทางหน่วยงานรัฐยังพยายามผลักดันโครงการเมกะโปรเจคนี้ โดยไม่คำนึงถึงความต้องการที่แท้จริงของอีสาน การโหมข่าวว่า ภาคประชาชนเห็นด้วยต่อโครงการนี้ และการใช้งานวัฒนธรรมประเพณีของคนลุ่มน้ำโขง ในวันที่ 18 เมษายน 2558 ที่แก่งคุดคู้ จังหวัดเลย เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการ นับเป็นวิธีการที่ถือว่าไม่จริงใจ และไม่เคารพวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่น

พวกเราองค์กรประชาชนต่างๆ ขอแสดงจุดยืน “ไม่เห็นด้วยกับโครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล” และหาก กรมชลประทาน และ มูลนิธิน้ำและคุณภาพชีวิต ในฐานะผู้ผลักดันโครงการมีความจริงใจ ก็ควรจะมีการเปิดเผยข้อมูลและเปิดเวทีให้ประชาชนทั้งภาคอีสาน ทุกอำเภอ ทุกจังหวัด ได้แสดงความคิดเห็นและเปิดให้มีการถกเถียงกันถึงความจำเป็นของโครงการ รวมทั้งให้โอกาสประชาชนได้เสนอทางเลือกอันหลากหลายในการจัดการน้ำที่สอด คล้องกับระบบนิเวศอีสานทั้งหมดที่ประกอบไปด้วย พื้นที่ทาม ทุ่ง โคก ภู ซึ่งมีลักษณะจำเพาะของแต่ละพื้นถิ่นและสามารถพัฒนารูปแบบที่หลากหลาย สอดคล้อง มีความยั่งยืนกว่า ถูกกว่า บริหารจัดการง่ายกว่า โดยไม่จำเป็นที่จะต้องผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ หรือใช้แม่น้ำระหว่างประเทศเลย กรมชลประทานไม่ควรสร้างภาพ บิดเบือน และสมรู้ร่วมคิดกับภาคประชาชนจอมปลอม ทำการรวบรัดตัดตอนดำเนินโครงการ โดยออกแบบกำหนดรูปแบบวิธีการทางวิศวกรรมทั้งหมดเอาไว้แล้ว โดยไม่ฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่ของภาคอีสาน รัฐจึงควรจะให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมที่แท้จริง ไม่ใช่มีส่วนร่วมเพียงแค่ทำไปตามรูปแบบขั้นตอนให้เสร็จๆ ไปตามกฎหมายทั้งที่ได้กำหนดทุกอย่างเอาไว้แล้ว ประชาชนคนอีสานไม่ควรถูกบังคับให้ยอมรับการพัฒนาที่พวกเขาไม่ได้มีส่วนร่วม ในการกำหนด และนำความหายนะมาให้เหมือนเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา

รัฐต้องหยุด! โครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล และหาวิธีจัดการน้ำที่ยั่งยืนกว่าร่วมกับประชาชนคนอีสาน

ลงชื่อ

เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน

การจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง

กลุ่มศึกษาการพัฒนาภาคอีสาน

โครงการทามมูล จ.สุรินทร์

เครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำของ จ.อุบลราชธานี

ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมอีสาน

ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำโขง(กรณีคัดค้านเขื่อนปากชม) อ.ปากชม จ.เลย

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี

กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู

กลุ่มเกษตรและประมงพื้นบ้านเชียงคาน

กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา

ศูนย์ข้อมูลชุมชน (ศขช)

กป.อพช.อีสาน

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

เครือข่ายคนรุ่นใหม่กลุ่มลุ่มน้ำโขงศึกษา

สถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง

มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ(ประเทศไทย)

 

โครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูน มีความจำเป็นต่อคนอีสานจริงหรือ...?

ความเป็นมา

มหากาพย์เรื่องการจัดการน้ำของภาคอีสาน เริ่มต้นแนวคิดเรื่องการผันน้ำจากแม่น้ำโขง แม่น้ำระหว่างประเทศที่ไหลผ่านประเทศไทยเขตภาคอีสานมากกว่า 700 กิโลเมตร ใน 7 จังหวัด โครงการโขง –ชี –มูล เป็นโครงการจัดการน้ำอันแรกที่ตั้งใจจะผันน้ำโขงเข้ามาเติมพื้นที่ภาคอีสาน ภายใต้โครงการนี้ รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ได้วางแผนโครงการไว้ 42 ปี ใน 3 ระยะ ตั้งแต่พ.ศ.2535 – 2576 รวม 42 ปี ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 228,000 ล้านบาท พื้นที่ชลประทานที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ประมาณ 4.98 ล้านไร่แต่เมื่อดำเนินโครงการไปได้แล้วในระยะแรกซึ่งใช้งบประมาณไปแล้ว 10,346 ล้านบาท กลับต้องหยุดชะลอการดำเนินโครงการ เนื่องจากเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เกิดการกระจายตัวของดินเค็ม น้ำท่วมที่ดินทำกินและพื้นที่ชุ่มน้ำในแม่น้ำสายหลักเช่น หนองหานกุมภวาปี แม่น้ำมูนและแม่น้ำชีอย่างหนัก และการคัดค้านของชาวบ้านในพื้นที่เขื่อนราศีไศล กลายเป็นจุดสำคัญที่ทำให้โครงการนี้ต้องชะลอโครงการไป  ครั้งนั้นนับเป็นความล้มเหลวและบทเรียนอย่างสาหัสเรื่องการจัดการน้ำโดยโครงการขนาดใหญ่ที่ไม่ได้มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างรอบคอบ

อย่างไรก็ตาม แนวคิดการจัดการน้ำที่ต้องการจะทำให้ภาคอีสานมีระบบชลประทานที่เทียบเท่าภาคกลางก็ยังไม่หยุด หลังปี 2545 การปฏิรูประบบราชการ ได้ทำให้หน่วยงานราชการด้านการจัดการน้ำกลายเป็น 2 หน่วยงาน คือ กรมชลประทาน และกรมทรัพยากรน้ำ ซึ่งทำให้ภารกิจด้านการจัดการน้ำเกิดความซ้ำซ้อนขึ้น ทั้งสองหน่วยงานต่างแย่งเสนอโครงการจัดการน้ำในภาคอีสาน ทั้งโครงการชลประทานระบบท่อ ซึ่งก็พบความล้มเหลวเรื่องโครงสร้างและเทคนิคที่ไม่สามารถส่งน้ำให้เกษตรกรและค่าน้ำที่มีราคาแพงได้   โครงการน้ำแก้จน  สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า และที่สำคัญในระยะที่ผ่านมา กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ(Feasibility:FS) ศึกษาการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(Environmental Impact Assessment:EIA) และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์(Strategic Environmental Assessment:SEA) ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2554 – เดือนกันยายน 2555 ใช้งบประมาณ รวมทั้งสิ้น 865,541,400 บาท

ขณะที่ เดือนกันยายน 2552 – เดือนกันยายน 2554 กรมชลประทาน ได้ใช้งบกว่า 197  ล้านบาท จ้างบริษัทปัญญาคอนซัลแตนท์ ทำการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) โครงการบริหารจัดการน้ำโขง-เลย-ชี-มูล โดยแรงโน้มถ่วงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2553-2554 ที่ผ่านมา[1]

ผลการศึกษาครั้งนั้นของรายงานการศึกษายุทธศาสตร์โดยกรมชลประทานนั้นได้เสนอทางเลือกในการพัฒนาคลองส่งน้ำสายหลักให้เต็มศักยภาพ ความยาวประมาณ 2,143  กม. โดยผันน้ำผ่านอุโมงค์และคลองส่งน้ำ เพื่อจะส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานเดิมและพื้นที่เปิดใหม่ จำนวน 33.07 ล้านไร่พื้นที่ชลประทานเดิม  31.24 ล้านไร่ และพื้นที่ชลประทานใหม่ 1.83 ล้านไร่ครัวเรือนที่จะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นจำนวน 1,545,327 ครัวเรือน หรือประมาณ 54.45 เปอร์เซ็นต์ และจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 103,037บาทต่อปี (รายได้เพิ่มขึ้น 54 เปอร์เซ็นต์/ปี)พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการประมาณ 283,552.75ไร่  แนวผันน้ำนี้จะตัดผ่านแนวดินเค็มเพียง 255 ไร่ และจะมีผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ประมาณ 1,459,831 ครัวเรือน โดยจะทำให้คนจนในอีสานที่มีอยู่ประมาณ 2.8  ล้านคน ลดลงประมาณ 1.9  ล้านคน และจะทำให้คนจนเหลือเพียง 1.29  ล้านคนเท่านั้นในภาคอีสาน พื้นที่ครอบคลุมโครงการ 17 จังหวัด ยกเว้น ชัยภูมิและมุกดาหาร  ซึ่งนับว่าต้องใช้งบประมาณมหาศาลมาก 

สร้างเขื่อนกั้น พรมแดน ไทย-สปป.ลาว ผันน้ำโขง ด้วยแรงโน้มถ่วง

ปี 2558 นี้ ภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา กรมชลประทานและมูลนิธิน้ำและคุณภาพชีวิตได้ตีปี๊บที่จะผลักดันโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วงอีกครั้ง เพราะว่าระดับน้ำแม่น้ำโขงที่ปากน้ำเลย อ.เชียงคาน จ.เลย เป็นจุดแรกที่ลำน้ำเลยสาขาแม่น้ำโขงมีค่าระดับสูงสุดที่ 210 ม.รทก.ระดับต่ำสุดที่ปากมูน อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี จากการศึกษาโครงการมีความเป็นไปได้ทางวิศวกรรมถือว่าคุ้มค่าต่อการลงทุนที่โดยการศึกษาระบุว่า ถ้าแม่น้ำโขงเต็มตลิ่งจะมีระดับความสูง 200 เมตรจากระดับน้ำทะเล จากนั้นขุดคลองชักน้ำที่แม่น้ำเลย อ.เชียงคาน ระยะ 28 กม. แล้วผันน้ำจากแม่น้ำโขงโดยวิธีแรงโน้มถ่วงแล้วเจาะอุโมงค์ขนาดใหญ่มาลงที่ลำพะเนียงและผันไปลงที่เขื่อนอุบลรัตน์และเขื่อนลำปาว เพื่อเป็นธนาคารน้ำ โดยใช้ระบบชลประทานกระจายน้ำไปยังพื้นที่การเกษตรเสนอคือทำเฟสแรกให้เสร็จ[2]แนวทางการผันน้ำครั้งนี้คือ จะนำจากแม่น้ำโขงปีละ 40,000 ล้าน ลบ.ม. บวกกับสภาพภูมิประเทศที่เหมาะสมในการส่งน้ำด้วยแรงโน้มถ่วงบริเวณปากแม่น้ำเลย อ.เชียงคาน จ.เลย ผ่านคลองผันน้ำ อุโมงค์ผันน้ำ และคลองส่งน้ำซึ่งจะขุดใหม่ตามแนวที่สูงริมขอบลุ่มน้ำโขง-ชี-มูลจะทำให้เกิดแม่น้ำเพิ่มขึ้นใหม่ 6 สาย มีความยาวรวมกัน 2,210 กม. อยู่บนที่สูงเพื่อโรยน้ำลงมาให้พื้นที่ตอนล่าง กระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่ชลประทานด้วยแรงโน้มถ่วงประมาณ 20 ล้านไร่ และสูบน้ำริมขอบแม่น้ำอีก 10 ล้านไร่ รวมเป็นพื้นที่กว่า 30 ล้านไร่ หรือ 1.04 เท่าของพื้นที่ชลประทานปัจจุบัน[3]เมื่อวิเคราะห์กันให้ดีจะพบว่า แนวคิดดังกล่าว เป็นการใช้แนวทางโครงการ “โครงข่ายน้ำในพื้นที่วิกฤต 19 พื้นที่”  ของกรมชลประทานที่ได้เสนอไว้เมื่อหลายปีก่อน และมีการดำเนินการขุดลอกและขยายลำพะเนียงในช่วงเกือบสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ชาวบ้านสูญเสียที่ดินและได้มีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองกรณีการบุกรุกขุดที่ดินของชาวบ้าน จนในที่สุดกรมชลประทานแพ้คดีและต้องจ่ายเงินค่าชดเชย ในการผลักดันครั้งนี้ มีข้อกังวลสำคัญคือ ยังไม่มีแผนจะต้องส่งเสริมรูปแบบการผลิตให้กับชุมชนอย่างไร จะต้องเพาะปลูกหรือสร้างระบบเกษตรแบบใด จึงจะสามารถเพิ่มรายได้ให้มากถึง 54 เปอร์เซ็นต์ต่อปีได้ ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าว มันสำปะหลัง และอ้อย มีราคาตกต่ำและผันผวนทุกปีตาม รวมไปถึงข้อกังวลเรื่องการนำน้ำปริมาณมหาศาลเกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณน้ำท่าทั้งหมดต่อปีในภาคอีสาน เข้ามาในช่วงฤดูฝน น้ำที่เหลือจะมีจัดการอย่างไร ลำพังเพียงฤดูน้ำหลากน้ำก็มากมายเพียงพอแล้วการขออนุญาตใช้น้ำโขงก็ยังไม่ชัดเจนเนื่องจากเป็นแม่น้ำนานาชาติ มีข้อตกลงแม่น้ำโขงปี 2538 เป็นกติการ่วมกัน  และในรายงานการศึกษาด้านยุทธศาสตร์ฯ อธิบายว่า

(1)โครงการนี้อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์การผันน้ำในฤดูน้ำมากและใช้น้ำภายในลุ่มน้ำ ซึ่งหากมีการพัฒนารัฐบาลไทยต้องแจ้งไปให้ประเทศภาคีทราบเท่านั้น และหากจะต้องผันน้ำในฤดูแล้งต้องหารือก่อน  

(2)โครงการนี้จะไม่มีการก่อสร้างในแม่น้ำโขงทำให้ไทยสามารถตัดสินใจได้ตามลำพัง 

(3)การสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนบนของจีน ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในฤดูแล้งและลดปริมาณน้ำในฤดูฝนอันเป็นผลดีต่อท้ายน้ำของไทย แต่ในทางปฏิบัติจริงนั้น มีความเป็นไปได้ยากที่ไทยจะสูบน้ำมาใช้โดยลำพัง เนื่องจากจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อประชาชนท้ายน้ำในเขต 6 จังหวัดภาคอีสานไทย และประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว กัมพูชา เวียดนามอย่างแน่นอน

ที่สำคัญคือ ภาคอีสานนับเป็นภูมิภาคที่มีระบบนิเวศที่สลับซับซ้อนมากมาย ทั้ง โคก ภู ทุ่ง ทาม ที่ราบลอนคลื่น ระบบชลประทานแบบเดียว ไม่สามารถตอบสนองระบบการผลิตในพื้นที่หลากหลายทางระบบนิเวศได้ ในระยะที่ผ่านมีหลายพื้นที่ที่ชาวบ้านสามารถออกแบบระบบชลประทานขนาดเล็ก (Small Scale Irrigation System) ที่สอดคล้องกับระบบนิเวศพื้นที่และระบบการผลิตของตนเองร่วมกับหน่วยงานของรัฐ เช่น กรณีบ้านลิ่มทอง ต.ลิ่มทอง อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ,กรณีตำบลบุ่งคล้า อ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ , กรณีตำบลท่านางแนว จ.ขอนแก่น ฯลฯ ที่มีการลงทุนต่ำ ชาวบ้านดูแล บริหารจัดการและซ่อมแซมกันเองได้ นับเป็นพื้นฐานสำคัญของการจัดการน้ำในพื้นที่ภาคอีสาน ลักษณะเฉพาะของพื้นที่ระบบนิเวศอีสาน และบทเรียนนโยบายการจัดการน้ำที่ผ่านก็ย้ำชัดให้เห็นถึงความล้มเหลวมากพอแล้ว

ในอนาคตข้างหน้า อยากให้หน่วยงานรัฐและมูลนิธิที่กำลังผลักดันโครงการนี้ได้ทบทวนแนวทางและร่วมกันวางแผนการจัดการน้ำที่มีความหลากหลายรูปแบบตามความจำเป็นและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ภูมินิเวศในภาคอีสาน เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมร่วมกัน

ดังนั้นทางเครือข่ายลุ่มน้ำประชาชนอิสาน จึงแถลงข่าวเพื่อแสดงจุดยืนดังนี้

1.ในประเด็นการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำประชามติคนอิสาน เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่อโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งทางเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสานมองว่าการจัดการน้ำไม่ใช่มองเฉพาะแค่คนลุ่มน้ำแต่ควรที่จะให้ความสำคัญกับการจัดการน้ำในหลากหลายพื้นที่โดยใช้รูปแบบที่หลากหลายและเหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ  หรือการผลักดันโครงการโขง เลย ชี มูล ซึ่งบางหน่วยงานพยายามผลักดันนั้นที่จะใช้งบประมาณมหาศาลจะเป็นแค่ฉากบังหน้าแต่สุดท้ายเป็นการผลักดันงบประมาณเพื่อใครกันแน่คนอีสานจะได้ประโยชน์จริงหรือ

2.ทางเรามองว่าประเด็นเรื่องผันน้ำโขง เลย ชี มูล เครือข่ายภาคประชาชนลุ่มน้ำอีสานท้าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเวทีเพื่อดีเบตการเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริง ให้สาธารณะชนได้รับทราบข้อมูลทั้งฝ่ายที่ตั้งคำถาม และฝ่ายที่พยายามผลักดันโครงการ

 



[1]อภิมหาโครงการจัดการน้ำ! ภาวะคุกคามชาวอีสานรอบใหม่,สมพงศ์ อาษากิจ ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.)

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ),2011-11-17 01:16

[2]ดร.จงกล พิมพ์วาปี ที่ปรึกษามูลนิธิน้ำและคุณภาพชีวิต, ฟื้นโปรเจกท์โขง-เลย-ชี-มูลแก้อีสานแล้งหรือเพิ่มปัญหา : โดยกวินทรา ใจซื่อม22 เมษายน 2558 /http://www.komchadluek.net/detail/20150422/205072.html

[3]โขง–เลย–ชี–มูล โดย ชมชื่น ชูช่อ ไทยรัฐออนไลน์,  27 ม.ค. 2557 05:00

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท