Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
ในเดือนพฤษภาคม 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชากล่าวว่าเขาต้องการ “สร้างบรรยากาศที่จะเอื้อให้เกิดการเลือกตั้ง” อันเป็นการเลือกตั้งที่ “อิสระและยุติธรรม ดังนั้นการเลือกตั้งที่ว่าจะกลายเป็นรากฐานอันแข็งแกร่งของประชาธิปไตยในรูปแบบของประเทศไทย”
 
โชคร้ายที่ในทางปฏิบัติ สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมืองไทยกลับมุ่งไปในทิศทางตรงกันข้ามกับคำพูดของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทุกการกระทำของรัฐบาลทหารดูเหมือนจะเป็นไปเพื่อจุดประสงค์เฉพาะในการปิดปากผู้ไม่เห็นด้วยและการกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ผลที่ตามมาก็คือพื้นที่ปลอดภัยที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนสามารถทำงานได้หดแคบลงอย่างรวดเร็ว ข้อเสนอล่าสุดในการควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และการขยายเวลาที่พลเรือนจะถูกควบคุมตัวโดยทหารได้โดยไม่ต้องมีข้อกล่าวหาออกไปเป็นสามเดือน คือการทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายยิ่งขึ้นบนความยากลำบากอยู่แล้วของชุมชนสิทธิมนุษยชน
 
สามวันหลังจากการรัฐประหารในวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศคำสั่งหมายเลข 37 ซึ่งแทนที่ศาลพลเรือนด้วยศาลทหารในคดีภายใต้กฎหมายอาญามาตรา 107-112 ว่าด้วยการกระทำที่ต่อต้านพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, คดีภายใต้กฎหมายอาญามาตรา 113-118 ว่าด้วยความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และคดีใดๆ ภายใต้คำสั่งของคสช. รวมถึงการห้ามการชุมนุมเกินห้า คน และการออกแถลงการณ์หรือการแสดงความคิดเห็นในเชิงวิพากษ์ วิจารณ์นโยบายรัฐอาจจะนำมาสู่การเรียกตัวไป “ปรับทัศนคติ”
 
สื่อสิ่งพิมพ์และวิทยุโทรทัศน์ถูกแนะนำให้ไม่เผยแพร่บทความที่มีเนื้อหาวิพากษ์นโยบายรัฐ ในขณะที่เว็บไซต์กว่าสองร้อยเว็บไซต์ถูกปิดกั้นการเข้าถึง ท่ามกลางการจำกัดเสรีภาพเหล่านี้ ทหารได้ควบคุมตัวพลเรือนกว่าสองร้อยคนโดยพลการและใช้ศาลทหารในการพิจารณาคดี คนที่ถูกควบคุมตัวเหล่านี้ถูกปฏิเสธการเข้าถึงทนายความและญาติซึ่งถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ นอกจากนี้ คสช.ยังไม่ยอมรับและปฏิเสธที่จะดำเนินการสอบสวนอย่างจริงจังต่อข้อกล่าวหาว่าด้วยการซ้อมทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมต่อผู้ที่ถูกควบคุมตัว
 
นักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วประเทศซึ่งชุมชนของพวกเขาได้รับผลกระทบจากการโครงการเหมืองแร่ขนาดใหญ่เพิ่งพบปะกันไม่นานมานี้ เพื่อพูดคุยเรื่องพื้นที่ที่หดแคบลงสำหรับการทำงานสิทธิมนุษยชนชุมชนสิทธิมนุษยชนในกรุงเทพฯ ซึ่งร่วมด้วยกลุ่มนักศึกษา นักการเมืองฝ่ายตรงข้าม นักวิชาการ และนักข่าว กำลังหมกมุ่นอยู่กับการปฏิรูปทางการเมืองและรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ทำงานในประเด็นสิทธิที่ดินและสิ่งแวดล้อมในชนบทยิ่งรู้สึกถึงความเป็นชายขอบและความเปราะบางมากกว่าที่เคย
 
ก่อนหน้าการรัฐประหาร เจ้าหน้าที่ที่มาการจากเลือกตั้งท้องถิ่นเต็มใจที่เล่นบทบาทของผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างบริษัทใหญ่และชุมชนท้องถิ่นในระดับหนึ่ง ปัจจุบันทหารถูกนำเข้ามาเพื่อเคลื่อนย้ายเครื่องกีดขวางและผู้ประท้วงคัดค้านโครงการเหมืองแร่ซึ่งมีข้อบกพร่องในการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือไม่มีการปรึกษาหารือเพื่อให้มีการพิจารณาข้อเสนอจากชุมชน บริษัทใหญ่และกองทัพทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ในขณะที่กองทัพเล็งเป้าไปยังนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ออกมาเรียกร้องในนามของชาวบ้าน
 
วันที่ 15 สิงหาคม 2557 บริษัทเหมืองแร่ทองคำทุ่งคา จำกัด ฟ้องร้องคดีอาญาต่อผู้นำชุมชน โดยกล่าวหาพวกเขาว่า “ทำลายชื่อเสียงของบริษัท” ข้อเท็จจริงที่ว่าชาวบ้านต้องเดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อขึ้นศาลถือเป็นการคุกคามในอีกรูปแบบหนึ่ง เรื่องราวแบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นทั่วประเทศ ในขณะเดียวกันนักปกป้องสิทธิ มนุษยชนที่แสดงความคิดเห็นทางการเมือง ยิ่งถูกตอบโต้อย่างรุนแรงและรวดเร็ว
 
ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 องค์กรภาคประชาสังคม 12 องค์กรและบุคคลอีก 17 คนร่วมกันออกแถลงการณ์ประกาศจุดยืนคัดค้านกระบวนการปฏิรูปที่นำโดยคสช. วันต่อมา กองทัพภาคที่สองเรียกตัวนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเข้าพบเพื่อ สอบสวน หลายคนถูกเรียกตัวเข้าพบผ่านทางโทรศัพท์และปฏิบัติตามข้อ เรียกร้องของกองทัพโดยการแสดงตนเพื่อการสอบสวน อย่างไรก็ตาม ในบางกรณี ทหารและเจ้าหน้าที่รัฐถูกส่งไปที่บ้านของนักปกป้องสิทธิ มนุษยชนเพื่อสอบถามถึงเหตุผลในการออกแถลงการณ์ ก่อนการปล่อยตัว นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ถูกบังคับให้เซ็นเอกสาร ผูกมัดว่าจะไม่ดำเนินกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารและต้อง แสดงตน โดยทันทีหากถูกเรียกพบในครั้งต่อไป นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเหล่านี้บอกว่าพวกเขารู้ตัวว่าจะถูกดำเนินคดีภายใต้กฎอัยการศึก หากพวกเขายังทำกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลทหาร จากจุดนั้น ระดับของความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนยิ่งยกระดับขึ้นไปจากเดิม
 
ประมาณหกโมงครึ่งในตอนเย็นของวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 นักต่อสู้เพื่อที่ดิน ใช่ บุญทองเล็ก ถูกยิงเสียชีวิตที่บ้านในอำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานีโดยชายนิรนาม ใช่ บุญทองเล็ก เป็นหนึ่งในสมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้หรือสกต. ซึ่งสนับสนุนชุมชนเพิ่มทรัพย์ในกรณีพิพาทเรื่องที่ดินกับบริษัทปาล์มน้ำมันไทยบุญทอง ที่ดินข้อพิพาทนั้นเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมซึ่งอนุญาตให้ชาวบ้านเข้าอยู่อาศัยและทำกินจนกว่าข้อพิพาทจะสิ้นสุดตั้งแต่ปี 2552 บริษัทยังคงเข้ายึดที่ดินและชาวบ้านยังตกอยู่ในความเสี่ยงของการบังคับให้ย้ายออก
 
ใช่ บุญทองเล็ก คือสมาชิกรายที่สี่ของสกต.ที่ถูก สังหารเนื่องจากการทำงานสิทธิมนุษยชน การสังหารและการดำเนินคดีนักสิทธิมนุษยชนที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยกำลังสร้างบรรยากาศของความหวาดกลัวและ ความรุนแรงที่จะยิ่งทำให้เกิดความไม่มั่นคงในประเทศยิ่งขึ้นไปอีก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net