สมช.เสนอร่างนโยบายใหม่ดับไฟใต้ นักวิชาการแนะอย่าตกเทรนด์สิทธิมนุษยชน สันติภาพ พื้นที่ทางการเมือง

ระหว่างวันที่ 11-12 พ.ค.2558 สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้เชิญองค์กรต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพิจารณาร่างนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2558-2560 โดยวันแรกได้เชิญกลุ่มนักธุรกิจและผู้นำศาสนาเข้าร่วมประชุม ส่วนวันที่ 12 พ.ค.เชิญเครือข่ายองค์กรประชาสังคม สตรี เยาวชน นักศึกษา นักวิชาการและสื่อมวลชนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างนโยบายดังกล่าวที่โรงแรมซีเอสปัตตานี โดยมีนางกนกทิพย์ รชตะนันท์ รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นประธาน

ระบุเงื่อนไขใจกลาง’ชาติพันธุ์ ศาสนา ประวัติศาสตร์’

นายดนัย มู่สา ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์ความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้และชนต่างวัฒนธรรม สมช. กล่าวว่า เนื้อหาในร่างนโยบายนี้จะเริ่มต้นที่การประเมินสถานการณ์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยประเมินว่าความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นสถานการณ์ที่ซับซ้อนที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงเป็นอย่างยิ่ง โดยมีเงื่อนไขใจกลางของปัญหา คือ ลักษณะเฉพาะของชาติพันธุ์ ศาสนาและประวัติศาสตร์ การใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากคนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐ มีความรู้สึกคับแค้นใจและไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการดำเนินงานของภาครัฐในอดีตที่ไม่เข้าใจ หวาดระแวง กดทับลักษณะเฉพาะที่เป็นเงื่อนไขของปัญหา และได้นำขยายผลใช้ความรุนแรง

นายดนัย กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์ปัจจุบันยังมีความรุนแรงและความไม่สงบต่อเนื่องโดยเชื่อมโยงใน 3 ระดับ ทั้งเงื่อนไขระดับบุคคลที่มีอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐ เงื่อนไขระดับโครงสร้างที่ประชาชนรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมและการเลือกปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่รัฐ และเงื่อนไขระดับวัฒนธรรมที่ประชาชนรู้สึกแปลกแยกไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยอันเป็นเงื่อนไขที่กลุ่มผู้ก่อเหตุความรุนแรงใช้เป็นข้ออ้างและความชอบธรรมในการก่อเหตุ

“มุ่งขจัดความรุนแรง ปกป้องวิถีชีวิต พัฒนาบนฐานสังคมพหุวัฒนธรรม”

อย่างไรก็ตาม ผลจากการดำเนินนโยบายที่ผ่านมาพบว่า มีการยอมรับในทิศทางการแก้ปัญหาทั้งการดำเนินงานด้านความมั่นคงและการพัฒนา รวมทั้งการเปิดเวทีพูดคุยเพื่อสันติสุข บทบาทประชาสังคมที่กล้าแสดงออกและเข้ามามีบทบาทการแก้ไขปัญหาในพื้นที่มากขึ้น

“สำหรับวิสัยทัศน์ในร่างนโยบายฉบับนี้คือ สังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความปกติสุข ปราศจากเงื่อนไขความรุนแรง วิถีชีวิตของทุกคนได้รับการปกป้อง และพัฒนาบนพื้นฐานสังคมพหุวัฒนธรรมและกระบวนการสันติสุขอย่างยั่งยืน” นายดนัยกล่าว

สาระสำคัญ ‘มีส่วนร่วมในกระบวนการพูดคุยสันติสุข’

นายดนัย กล่าวต่อไปว่า ร่างนโยบายที่ สมช.นำเสนอเพื่อการพิจารณาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 6 ข้อ ที่มีสาระสำคัญคือ

1) เพื่อให้จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความปลอดภัย สงบสันติ มีความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน ปราศจากเงื่อนไขที่เอื้อต่อการใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่าย

2) เพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในพื้นที่ ให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและแก้ไขปัญหา

3) เพื่อให้สังคมไทยและสังคมในพื้นที่ตระหนักในคุณค่าของการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม และรับผิดชอบร่วมกันในการแก้ไขปัญหา

4) เพื่อพัฒนาศักยภาพของคน สังคม และเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น เกิดความเสมอภาคและเป็นธรรมในสังคมอย่างทั่วถึง

5) เพื่อสร้างความเชื่อมั่น หลักประกันความต่อเนื่อง และเตรียมความพร้อมในการเข้ามามีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข และ

6) เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นต่อสังคมทั้งภายในและภายนอกประเทศ ให้เกิดการสนับสนุนและเกื้อกูลต่อการแก้ปัญหา

ทั้งคนในและคนนอกต้องรู้ เข้าใจและพร้อมสนับสนุน

สำหรับวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับการพูดคุยเพื่อสันติสุขในข้อที่ 5 นั้นมีเนื้อหาที่ระบุในรายละเอียดอีก 2 ประการ ได้แก่

1) สร้างสภาวะแวดล้อมที่มีความเชื่อมั่นและเปิดพื้นที่ที่มีหลักประกันความปลอดภัยในการเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข โดยส่งเสริมความต่อเนื่องของกระบวนการกับบุคคลที่มีความเห็นและอุดมการณ์ต่างจากรัฐให้มีเอกภาพ และมีการดำเนินการตาม “แผนขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้” อย่างมีประสิทธิภาพ และ

2) เสริมสร้างความพร้อมของทุกภาคส่วนในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐ สื่อมวลชน และประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่ ให้มีความรู้ ความเข้าใจต่อพัฒนาการของสถานการณ์ที่เป็นจริงของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข และพร้อมเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนกระบวนการอย่างต่อเนื่อง

กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ จริงจัง ชัดเจนและต่อเนื่อง

ทั้งนี้ หนึ่งในปัจจัยความสำเร็จที่ระบุในร่างนโยบายฉบับนี้คือ การให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวาระแห่งชาติและมีการสนับสนุนการดำเนินนโยบายที่จริงจัง ชัดเจนและต่อเนื่องของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ในการพิจารณาแสดงความเห็นต่อร่างนโยบายครั้งนี้ได้มีทุกภาคส่วนร่วมแสดงความเห็นที่เป็นประโยชน์เพื่อให้สภาความมั่นคงแห่งชาติพิจารณา โดยส่วนใหญ่แล้วเห็นว่าเป็นร่างนโยบายที่มีความครบถ้วนและรอบด้าน แต่ปัญหาประการสำคัญที่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปรายกันคือ ความเป็นไปได้ในการแปรไปสู่ปฏิบัติ

แนะต้องปรับความคิดให้สอดคล้องกับสังคมที่เปลี่ยนแปลง

ผศ.ชิดชนก ราฮิมมูลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า จากการติดตามและมีส่วนร่วมในการจัดทำนโยบายความมั่นคงเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ยอมรับว่าเนื้อหาในนโยบายเขียนดีมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งร่างนโยบายฉบับนี้ที่มีเนื้อหาครบถ้วน แต่ปัญหาที่มีตลอดมาก็คือการนำนโยบายเหล่านั้นไปสู่การปฏิบัติ

ผศ.ดร. ชิดชนก กล่าวต่อไปว่า การกล่าวถึงการมีส่วนร่วมนั้นควรต้องทำให้หน่วยงานรัฐตระหนักถึงความสำคัญของการเปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้ลุกขึ้นมาต่อสู้บนดิน โดยพยายามปรับความคิดของภาครัฐให้ล้อไปกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่คนเริ่มเห็นความสำคัญของสิทธิเสรีภาพมากขึ้น

ต้องเปิดพื้นที่ทางการเมือง

“นโยบายความมั่นคงที่ดีนั้นต้องสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่กี่ปีมานี้เราพบว่ามีปัญญาชนคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่มีการศึกษาดีขึ้น รักสันติภาพ และรักบ้านเกิดของตัวเอง ที่อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับขบวนการเลยกำลังจะมีบทบาทมากขึ้น ในขณะที่องค์กรระหว่างประเทศที่เน้นหนักไปที่ปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนก็มีบทบาทมากขึ้นกว่าเดิม” ผศ.ดร. ชิดชนก กล่าว

“นโยบายต้องมีจุดเน้นให้ชัดว่าต้องการอะไรในช่วงเวลาเช่นนี้ หากมีการพูดคุยเพื่อสันติภาพไปสักระยะหนึ่งก็ต้องมีการคิดเรื่องการเปิดพื้นที่ทางการเมืองเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แต่ดูเหมือนว่าร่างนโยบายฉบับนี้จะระมัดระวังมากที่จะระบุเนื้อหาเกี่ยวกับการเปิดพื้นที่ทางการเมือง ทั้งๆ ที่แนวคิดดังกล่าวนี้เป็นการรักษาความมั่นคงที่ทันสมัยที่สุด” ผศ.ดร. ชิดชนก ย้ำ

เปลี่ยนไปจากฉบับเดิม จากสันติภาพเป็นสันติสุข

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวถึงเนื้อหาร่างนโยบายฉบับนี้เปรียบเทียบกับนโยบายฉบับที่แล้ว คือฉบับปี พ.ศ.2555-2557 ว่า มีความแตกต่างกันไม่น้อยและมีจุดเน้นหนักที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม กรอบแนวคิดก็มีเนื้อหาน้อยกว่าเมื่อเทียบกับฉบับที่แล้ว

“แม้จะให้ความสำคัญกับแนวทางสันติวิธีและสังคมพหุวัฒนธรรม แต่กรอบคิดเกี่ยวกับการแปรเปลี่ยนความขัดแย้ง การเคารพสิทธิมนุษยชนและหลักนิติรัฐหายไป ในขณะเดียวกันก็ปรากฏถ้อยคำใหม่ๆ ขึ้นมา เช่น คำว่า “ปกติสุข” ที่เพิ่มเข้ามาในวิสัยทัศน์ คำว่า “การพูดคุยเพื่อสันติสุข” แทนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ เป็นต้น ถ้อยคำในทางนโยบายเหล่านี้สะท้อนความคิดที่เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท