พบ LGBT ยังถูกเลือกปฏิบัติในการทำงาน โดยเฉพาะคนที่มีอัตลักษณ์ข้ามเพศชัดเจน

14 พ.ค. 2558 ในการเสวนา เรื่อง การเรียนและการงาน: ทลายการเลือกปฏิบัติและความรุนแรง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัปดาห์แห่งกิจกรรมวันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ (IDAHOT) ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

บุษกร สุริยสาร นักวิจัยและที่ปรึกษาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กล่าวถึงข้อค้นพบจากงานวิจัย Pride เรื่องการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและการประกอบอาชีพในประเทศไทยว่า กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศทุกกลุ่มยังถูกเลือกปฏิบัติทั้งวงจร ตั้งแต่การศึกษา การอบรม การสมัครงานตลอดจนในการทำงาน โดยมีทั้งถูกคุกคาม เลือกปฏิบัติและใช้ความรุนแรง

บุษกร ระบุว่า พบว่า คนที่มีอัตลักษณ์ข้ามเพศแตกต่างชัดเจนจะถูกเลือกปฏิบัติหนักกว่ากลุ่มเกย์หรือเลสเบี้ยน โดยถูกกีดกันจากงานกระแสหลัก เมื่อไปสมัครงาน ไม่ถูกถามถึงคุณสมบัติ ถามแต่อัตลักษณ์ นอกจากนี้ ยังพบว่า ระบบราชการและบริษัทใหญ่ๆ จะมีปัญหาเลือกปฏิบัติ มีการทำงานที่ไม่เป็นมิตร นินทา เสียดสี ล้อเลียน พบบางกรณีผู้ชายมีความพยายามจะข่มขืนทอม

เธอระบุว่า ตัวตนของผู้มีความหลากหลายทางเพศกลายเป็นอุปสรรคความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและการเข้าถึงสวัสดิการการทำงาน โดยยกตัวอย่างกรณีคู่เพศเดียวกันที่เมื่อมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียชีวิต อีกฝ่ายไม่สามารถเรียกร้องสวัสดิการได้ เนื่องจากกฎหมายไทยไม่ได้รับรองสถานะไว้เหมือนคู่ต่างเพศ

ทั้งนี้ บุษกรระบุว่า แม้จะพบปัญหาการเลือกปฏิบัติอย่างกว้างขวาง แต่ที่พบยังเป็นงานในกระแสหลัก ยังมีกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในชนบท ที่มีทางเลือกในการทำงานน้อย เนื่องจากไม่ได้รับการศึกษา เมื่อแสดงตัวว่าเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศก็กลายเป็นตัวตลกในหมู่บ้าน มีรายหนึ่งในเชียงใหม่ต้องผันตัวไปเป็นคนทรงเจ้า เพื่อให้ได้รับการยอมรับ จึงอยากเสนอให้มีการเปิดเวทีออกจากกรุงเทพฯให้มากขึ้น

เคท ครั้งพิบูลย์ อดีตผู้ผ่านการคัดเลือกเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ตำแหน่งอาจารย์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เล่าถึงกรณีที่เธอถูกปฏิเสธการบรรจุเข้าเป็นอาจารย์ แม้ว่าเธอจะผ่านการคัดเลือกจากคณะสังคมสงเคราะห์ฯ แล้วโดยมหาวิทยาลัยให้เหตุผลหลังจากเธอทวงถามไปว่า ไม่รับเพราะเธอมีพฤติกรรมการใช้สื่อสาธารณะไม่เหมาะสม ส่งผลต่อภาพลักษณ์อาจารย์มหาวิทยาลัย ขณะที่ผู้บริหารให้เหตุผลกับเธอว่าเพราะเธอโพสต์ภาพที่ไม่เหมาะสมลงในเฟซบุ๊ก ซึ่งเธอชี้ว่ากรณีนี้เป็นครั้งแรกที่มีการใช้เกณฑ์แบบนี้ในการพิจารณารับเข้าเป็นอาจารย์ 

เคท กล่าวว่า จากประสบการณ์ครั้งนี้ ทำให้เห็นว่า ต่อไปจะต้องเผชิญการเลือกปฏิบัติที่ซับซ้อนและแนบเนียนขึ้น เพื่อปกปิดการเลือกปฏิบัติทางเพศ แม้แต่ในแวดวงวิชาการ พร้อมเสนอให้แหล่งทุนต่างๆ ไม่ควรให้เงินทุนสนับสนุนทางวิชาการกับนักวิชาการที่เลือกปฏิบัติ

นอกจากนี้ในเวที ผู้ร่วมเสวนาซึ่งเป็นทอมและผู้ชายข้ามเพศยอมรับว่าเลือกเรียนต่อในคณะหรือมหาวิทยาลัยที่ไม่ต้องใส่ชุดนักศึกษา รวมทั้งหลีกเลี่ยงการถูกตั้งคำถามเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศด้วยการตั้งใจเรียนจนได้เกรดดีหรือเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ในมหาวิทยาลัย ในการสมัครงาน มักถูกถามเรื่องเพศ ทั้งที่เป็นเรื่องส่วนตัว ขณะที่เมื่อเข้าทำงานก็เลี่ยงจะเปิดเผยตัวตนเพราะกลัวจะเกิดปัญหา บ้างหลีกเลี่ยงการทำงานในระบบราชการ หันไปทำงานกับองค์กรพัฒนาเอกชน หรือภาคธุรกิจเล็กๆ แทน

อดีตพนักงานฝ่ายบุคคลคนหนึ่งเล่าว่า ทราบถึงการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศจากเพื่อนที่เป็นฝ่ายบุคคลด้วยกันในโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง ซึ่งรับทอมเข้าทำงานจำนวนมาก โดยทราบภายหลังว่า ผู้บริหารให้เลือกรับทอมด้วยเหตุผลว่าคนเหล่านี้ทำงานอึด ทำงานล่วงเวลาได้ ไม่บ่นเวลาเลิกงานดึกและควงกะได้ และไม่ลาคลอดด้วย

นัยนา สุภาพึ่ง ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร และอดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เล่าว่า จากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา พบว่า การเปิดพื้นที่ให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศได้สื่อสารนั้นมีความสำคัญ เพราะการเปิดเผยตัวตนมีนัยสำคัญในการสร้างพลังการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม ในการเปิดเผยนั้นไม่ควรจมอยู่กับความทุกข์ แต่ควรนำสิ่งที่เปิดเผยมาสร้างเป็นองค์ความรู้ให้คนที่ไม่เคยได้รับรู้เรื่องเหล่านี้มาก่อน เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงและก่อให้เกิดการยอมรับ พร้อมย้ำว่าต้องสื่อสารให้สังคมรู้ว่า สิทธิความหลากหลายทางเพศนั้นไม่ใช่ของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น แต่เป็นสิทธิของมนุษย์ทุกคน

ก้าวหน้า เสาวกุล ประธานร่วมของอิลก้า เอเชีย เสนอว่า ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศต้องหาความรู้เรื่องสิทธิ กฎหมายและองค์กรคุ้มครองสิทธิต่างๆ เพื่อปลดปล่อยตัวเองจากความเชื่อว่าตัวเองผิดบาปหรือเป็นเหยื่อ นอกจากนี้ เน้นถึงความร่วมมือกันในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยชี้ว่า จุดยืนทางการเมืองนั้นต่างกันได้ แต่จุดร่วมควรเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ มีข้อเสนอด้วยว่า เร็วๆ นี้จะมีการตั้งคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ตาม พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อ 13 มี.ค. ที่ผ่านมา อยากให้ผลักดันคนที่เข้าใจเรื่องนี้เข้าไปเป็นคณะกรรมการ เพื่อจะได้มีคนทัดทานกรณีที่เกิดความไม่เสมอภาคระหว่างเพศขึ้น

อนึ่ง IDAHOT มาจาก International Day Against Homophobia, Transphobia and Biphobia หรือวันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ ตรงกับวันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี  โดยมีการฉลองวันดังกล่าวในกว่า 100 ประเทศทั่วโลกเพื่อเป็นการสนับสนุนสิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศและการขจัดการเลือกปฏิบัติ วันนี้ถูกกำหนดขึ้นเมื่อปี 2547 โดยเลือกเอาวันที่ 17 พฤษภาคมเนื่องจากองค์การอนามัยโลกประกาศให้รักเพศเดียวกันไม่ใช่ความผิดปกติทางจิตในวันดังกล่าวเมื่อปี 2533

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท