Skip to main content
sharethis

จากกรณีปัญหาผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่เป็นประเด็นซึ่งสังคมไทยให้ความสนใจอย่างมาก มีการตั้งคำถามว่าเหตุใดอองซานซูจีผู้นำการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของพม่าไม่พูดถึงผู้อพยพที่เคยอาศัยอยู่ในพม่าเหล่านี้เลย ซึ่งผู้ที่ติดต่อกับอองซานซูจีเปิดเผยว่าเธอกลัวว่าถ้าพูดอะไรเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ชาวโรฮิงญาก็จะยิ่งลำบาก

17 พ.ค. 2558 สำนักข่าวฮัฟฟิงตันโพสต์รายงานถึงประเด็นที่มีคนตั้งคำถามว่าเหตุใดอองซานซูจีนักสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนพม่าและผู้ได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพถึงไม่ได้กล่าวอะไรเลยในประเด็นของผู้อพยพชาวโรฮิงญา แม้ว่าก่อนหน้านี้อองซานซูจีจะกล่าวในทำนองว่า คำพูดเป็นสิ่งที่มีพลังสามารถ "เปลี่ยนความคิด เปลี่ยนมุมมอง และทำให้ประเทศชาติและประชาชนขับเคลื่อนอย่างมีพลัง"

นักวิเคราะห์ทางการเมืองผู้ที่สามารถติดต่อสื่อสารกับอองซานซูจีได้เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า อองซานซูจีได้กล่าวกับเขาว่าเธอไม่ได้เงียบในกรณีของโรฮิงญาเพราะคำนวนผลได้ผลเสียทางการเมือง แต่ที่เธอเงียบต่อเรื่องนี้เพราะเธอคิดว่าไม่ว่าเธอจะอยู่ข้างใครก็ตามก็จะมีการนองเลือดมากขึ้นอีก ถ้าเธอพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญาก็จะยิ่งประสบกับความยากลำบาก

ฮัฟฟิงตันโพสต์ระบุว่าโรฮิงญาเป็นชื่อที่ใช้เรียกตัวเองของชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ประเทศพม่า มีประชากรอยู่ราว 800,000 ถึง 1.1 ล้านคน มีชาวโรฮิงญามากกว่า 140,000 ถูกผลักให้อยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นหลังจากมีเหตุขัดแย้งในพื้นที่เมื่อปี 2555 มีอยู่ราว 100,000 คน ที่หนีออกจากพม่าเพื่อหลบหนีจากความรุนแรงและการไล่ล่า รัฐบาลพม่าไม่ยอมให้ชาวโรฮิงญาเข้าถึงสวัสดิการสาธารณะพื้นฐานและไม่ยอมให้สัญชาติพลเมืองกับพวกเขา

สถานการณ์ในรัฐยะไข่และในหลายๆ ที่ของพม่ามีความตึงเครียดและความไม่แน่นอนสูง ฮัฟฟิงตันโพสต์ระบุแม้ว่าจะยังคงมีเหตุนองเลือดเกิดขึ้นเช่นที่ซูจีกล่าวแต่การเงียบเสียงต่อเรื่องนี้ก็ไม่ใช่ทางออก ถึงแม้จะมองในมุมที่ว่าอองซานซูจีจะให้ความสำคัญกับพรรคเอ็นแอลดีและการเลือกตั้งในปีถัดไปมากกว่าแต่การไม่ยอมพูดถึงสถานการณ์วิกฤติทางมนุษยธรรมในประเทศเธอเองเลยก็เสี่ยงต่อการทำให้เธอเสียความน่าเชื่อถือและสถานะที่นานาชาติยกย่องให้เธอเป็นวีรสตรี

ฮัฟฟิงตันโพสต์ระบุอีกว่าการที่อองซานซูจีได้รับการยกย่องจากชาวโลกทำให้เธอมีศักยภาพเฉพาะที่จะทำตัวอยู่เหนือการเมืองหรือหลีกเลี่ยงการเมืองในประเทศ ถึงแม้กองทัพพม่าจะไม่ยอมให้เธอเปลี่ยนแปลงนโยบายภายในประเทศ แต่อองซานซูจีก็มีหน้าที่เชิงจริยธรรมที่จะต้องพยายามเปลี่ยนแปลงจากนอกวง เธอควรจะใช้รางวัลโนเบลที่เธอได้รับเพื่อนำพาสันติภาพมาสู่ชนกลุ่มน้อยและประชาธิปไตยในประเทศพม่าที่ยังกระท่อนกระแท่น ฮัฟฟิงตันโพสต์เรียกร้องให้ซูจีประณามความเลวร้ายที่รัฐบาลทหารพม่ากระทำต่อชนกลุ่มน้อยเหล่านี้

ฮัฟฟิงตันโพสต์เปรียบเทียบอองซานซูจีกับรัฐบุรุษแอฟริกาใต้อย่างเนลสัน แมนเดลา ผู้ที่ถึงแม้จะมีการตัดสินใจที่ผิดพลาด แต่การพยายามต่อสู้เพื่อให้เกิดการไกล่เกลี่ยประนีประนอมระหว่างเชื้อชาติในยุคที่การเหยียดผิวในแอฟริกาใต้จบสิ้นไปแล้วรวมถึงประเด็นท้าทายในเรื่องอื่นๆ ทำให้แมนเดลาได้รับการยกย่องหลังจากเสียชีวิต ขณะที่การเงียบเสียงของอองซานซูจีจะทำให้ชื่อเสียงในฐานะวีรสตรีของเธอจะทำให้เกิดความผิดหวังและเสี่ยงต่อการทำให้เธอสูญเสียสถานะในสายสายตาชาวโลก

 

เรียบเรียงจาก

Why Won't Nobel Peace Laureate Aung San Suu Kyi Say The Word ‘Rohingya'?, Huffington Post, 12-05-2015
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net