iLaw: รายงาน 364 วันหลังรัฐประหาร ประมวลสถานการณ์เสรีภาพในการแสดงออก

เนื่องในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 จะเป็นวันครบรอบ 1 ปี การรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ iLaw จัดทำรายงาน "364 วันหลังรัฐประหาร ประมวลสถานการณ์เสรีภาพในการแสดงออก" รายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
 
สถิติการเรียกบุคคลไปรายงานตัวหลังการรัฐประหาร
นับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ถึง 21 พฤษภาคม 2558 บุคคลอย่างน้อย 751 คน ถูกคสช. เรียกรายงานตัวด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งประกาศเรียกอย่างเป็นทางการผ่านวิทยุและโทรทัศน์ และการเรียกเข้ารายงานตัวอย่างไม่เป็นทางการ การโทรศัพท์มาเชิญไปรับประทานอาหารหรือกาแฟ และการส่งทหารไปเชิญที่บ้าน 
 
หากจำแนกประเภทของบุคคลจะพบว่า 
  • ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทยและกลุ่มคนเสื้อแดงถูกเรียกตัว อย่างน้อย 278 คน
  • ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่ม กปปส. และกลุ่มคปท. ถูกเรียก อย่างน้อย 41คน
  • นักวิชาการ นักกิจกรรม นักศึกษา นักเขียน และสื่อมวลชน ถูกเรียก อย่างน้อย 176 คน
ในจำนวนนี้ มีอย่างน้อย 22 คน ถูกตั้งข้อกล่าวหาหลังเข้ารายงานตัว ซึ่ง 6 คน ถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ดูเหมือนว่า การเรียกบุคคลรายงานตัว นอกจากจะเป็นเครื่องมือที่ใช้ "ปรับความเข้าใจ" หรือสร้างเงื่อนไขไม่ให้กลุ่มคนที่เห็นต่างจากคสช.เคลื่อนไหวทางการเมืองแล้ว ยังถูกใช้เป็นทางลัดในการตามตัวบุคคลมาดำเนินคดีอีกด้วย 
 

 
สถิติคดี 112 หลังการรัฐประหาร
ในช่วงเวลา 364 วัน หลังการรัฐประหาร มีการตั้งข้อหาบุคคลตามมาตรา 112 จากการแสดงออก อย่างน้อย 46 คน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับบรรยากาศก่อนการรัฐประหารที่มีนักโทษ 112 อยู่ในเรือนจำ 5 คน และมีคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาอยู่อีก 5 คดี 
  • การดำเนินคดีพลเรือนในความผิดตามมาตรา 112 โดยศาลทหาร
หลังการรัฐประหาร มีการประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีพลเรือนบางประเภท รวมทั้งคดี 112 จากการเก็บข้อมูลพบว่า ศาลทหารมีคำพิพากษาคดี 112 ที่เกิดจากการแสดงความคิดเห็นออกมาแล้วอย่างน้อย 4 คดี  
นอกจากนี้ ยังมีการจับกุมและดำเนินคดี คนป่วยทางจิตด้วย โดยมีผู้ต้องหาตามมาตรา 112 อย่างน้อย 3 คนที่ถูกจับกุมหลังการรัฐประหารและถูกส่งไปตรวจอาการทางจิต แต่ยังคงถูกคุมขังและดำเนินคดี คือ "ธเนศ", สมัคร และประจักษ์ชัย กรณีของ "ธเนศ" และ ประจักษ์ชัย นั้นมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเคยพบตัวและพูดคุยแล้วแต่ตัดสินใจไม่จับกุมเพราะสังเกตเห็นอาการไม่ปกติจากการพูดคุย แต่มาถูกจับกุมและดำเนินคดีอีกครั้งในยุคหลังการรัฐประหาร
 
การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมและการจัดกิจกรรมสาธารณะหลังการรัฐประหาร
จากการเก็บข้อมูล พบว่า นับจากการรัฐประหาร มีการปิดกั้น แทรกแซง การชุมนุมและการจัดกิจกรรมสาธารณะอย่างน้อย 71 ครั้ง แบ่งเป็นชุมนุมสาธารณะ 22 ครั้ง และเวทีเสวนาวิชาการและกิจกรรมสาธารณะอื่นๆ 49 ครั้ง ประเด็นที่ถูกปิดกั้นหรือแทรกแซงมากที่สุด ได้แก่ ประเด็นประวัติศาสตร์และการเมือง 33 ครั้ง รองลงมาเป็นเรื่องที่ดินและสิทธิชุมชน 12 ครั้ง   
 
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการใช้ พ.ร.บ. ความสะอาดฯ มาเป็นบทลงโทษสำหรับผู้ใช้เสรีภาพในการชุมนุม โดยวัตถุประสงค์ของการใช้กฎหมายนี้ ไม่ใช่การมุ่งดำเนินคดีเพื่อลงโทษให้หนัก แต่ใช้เพื่อทำให้ผู้ใช้เสรีภาพมีภาระมากขึ้น
จากการสังเกตการณ์ พบว่ามีอย่างน้อย 4 กรณี ที่ผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงออก ถูกเปรียบเทียบปรับ ตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯ ได้แก่ กรณีญาติผู้เสียชีวิตจากการสลายชุมนุมปี 53 โปรยใบปลิวเรียกร้องความเป็นธรรม กรณีที่นักศึกษาแขวนป้ายผ้า รำลึกถึงการรัฐประหาร 19 กันยา ที่สะพานลอย หน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์์ไทยรัฐ และบนสะพานลอยข้ามถนนพญาไท และกรณีชายชาวระยองโปรยใบปลิวต้านรัฐประหาร
 
การใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ดำเนินคดีกับชาวบ้านที่เผยแพร่รูปภาพของทหารที่มีข้อพิพาทกับชาวบ้าน
จากการเก็บข้อมูลพบว่า มีอย่างน้อย 3 กรณีที่เจ้าหน้าที่เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษและแจ้งข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.คอมฯ
  • กรณีชาวลาหู่ ถูกดำเนินคดีแจ้งความดำเนินคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หลังโพสต์วิดีโอคลิปการเจรจาระหว่างชาวบ้านกับทหาร ซึ่งในวิดีโอ มีการกล่าวหาว่าทหารตบหน้าชาวบ้าน 
  • กรณีผู้ดูแลเพจเฟซบุ๊กกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล-ดูนสาด ที่เคลื่อนไหวคัดค้านโครงการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียม ถูกสารวัตรกำนันที่ ต.ดูนสาด อ.กระนวน จ.ขอนแก่น เข้าแจ้งความร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาท และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เนื่องจากมีการโพสต์รูปถ่ายสารวัตรกำนันลงในเพจเฟซบุ๊กดังกล่าว และมีผู้ใช้เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นที่อาจเข้าข่ายดูหมิ่นใส่ความผู้เสียหาย 
  • กรณีลูกจ้างของหน่วยควบคุมไฟป่า ถ่ายภาพทหารที่เข้าไปยังที่ทำกินของชาวบ้านคำน้อย จ.ชัยภูมิ และภาพดังกล่าวถูกนำไปโพสต์ในเพจเฟซบุ๊กสมัชชาคนจน พร้อมแถลงการณ์ระบุว่า เจ้าหน้าที่บังคับให้ชาวบ้านเซ็นชื่อในเอกสารยินยอมคืนพื้นที่ โดยเจ้าตัวยอมรับว่าเป็นผู้ถ่ายภาพจริง แต่ไม่ได้เป็นผู้โพสต์ แต่ก็ถูกพาตัวไปที่ สภ.เมืองชัยภูมิ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท