อนุสรณ์ อุณโณ: ภาคสนามและ 'เรื่องเล่า' จากรถเข็นโรตีโรฮิงญาชายแดนใต้

เสวนา "โรฮิงญา รัฐ ชาติ ประวัติศาสตร์ และความหวัง" ชาวโรฮิงญาในไทยขอทุกฝ่ายช่วยกดดันพม่าให้ยุติเลือกปฏิบัติ ด้าน 'อนุสรณ์ อุณโณ' ชี้กระแสโซเชียลไม่ให้โรฮิงญาขึ้นฝั่ง ได้เผยด้านอัปลักษณ์ของสังคมไทย ในช่วงเวลาเดียวกับที่อุดมการณ์ชาตินิยมถูกชู พร้อมเรื่องเล่า “ภาคสนาม” ชีวิตชาวโรฮิงญาที่ขายโรตีอยู่ชายแดนใต้และอยู่ร่วมสังคมมลายูในพื้นที่

อนุสรณ์ อุณโณ คณบดี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

 

เมื่อวันที่ 24 พ.ค. มีการเสวนาหัวข้อ "โรฮิงญา รัฐ ชาติ ประวัติศาสตร์ และความหวัง" ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วิทยากรประกอบด้วย ดุลยภาค ปรีชารัชช โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการด้านผู้อพยพ ไร้สัญชาติ สภาทนายความ อนุสรณ์ อุณโณ คณบดี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอาลี อะหมัด สมาคมโรฮิงญาสากลแห่งประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้ประชาไทนำเสนอการอภิปรายผ่านวิดีโอของดุลยภาค ปรีชารัชช (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) และการนำเสนอขอสุรพงษ์ กองจันทึก (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ไปแล้วนั้น

 

ชาวโรฮิงญาในประเทศไทย ต้องการให้ทุกฝ่ายช่วยกดดันรัฐบาลพม่าให้ยุติการเลือกปฏิบัติ

โดยถัดจากนั้น อาลี อะหมัด ตัวแทนสมาคมโรฮิงญาสากลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลไทยดำเนินการกับขบวนการค้ามนุษย์ ในนามของสมาคมชาวโรฮิงญา ขอขอบคุณอย่างยิ่ง เขากล่าวต่อไปว่า บ้านของเขาคือเมืองพุทิเดาง์ (Buthidaung) ในรัฐอาระกัน ปัจจุบันเข้ามาอยู่เมืองไทยได้ 7-8 ปีแล้ว ทั้งนี้สมาคมจะคอยช่วยเหลือชาวโรฮิงญาในไทยที่ประสบความเดือดร้อน

อาลีกล่าวถึงปัญหาของชาวโรฮิงญาในพม่าว่า หนึ่ง ไม่ได้รับสิทธิอะไร ทั้งทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน ถูกรัฐบาลพม่ายึด รวมถึงเรื่องการเดินทาง การศึกษา และสาธารณสุขที่ถูกจำกัดการเข้าถึง นอกจากนี้รัฐบาลพม่ายังออกบัตรประจำตัวให้เป็นชาวบังกลาเทศ ทั้งๆ ที่เกิดในพม่า อย่างไรก็ตาม ยังให้สิทธิไปเลือกตั้ง ซึ่งก็แปลกใจเหมือนกัน

สอง รัฐบาลพม่าทำให้เกิดความแตกแยกระหว่างชาวยะไข่ กับชาวโรฮิงญา ที่ผ่านมาหลังการจลาจลในปี พ.ศ. 2555 มีการประกาศห้ามออกจากเคหะสถานยามวิกาล หรือเคอร์ฟิว ปิดมัสยิด ปิดโรงเรียน การเดินทางออกนอกชุมชนต้องขออนุญาตผู้ใหญ่บ้าน กลางคืนไม่สบายก็ไม่สามารถเดินทางไปโรงพยาบาลได้เพราะติดช่วงเคอร์ฟิวที่กินเวลาเป็นปีๆ นอกจากนี้จะแต่งงานก็ต้องขออนุญาต จะไปเรียนมหาวิทยาลัย ก็ไปเรียนไม่ได้เพราะไม่มีเอกสาร

อาลีกล่าวว่า เขาเชื่อว่า รัฐบาลพม่าวางแผนระยะยาว เพื่อทำให้ชาวโรฮิงญาออกไปจากพื้นที่ เพราะอยากได้ทรัพยากรธรรมชาติ จึงทำให้ชาวโรฮิงญาอยู่อย่างลำบากในรัฐอาระกัน เขากล่าวด้วยว่า คนโรฮิงญานี้ก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่รัฐบาลพม่าไม่ได้มองเช่นนั้น ข่มเหงรังแกตลอดเวลา สมัยก่อนที่ชายแดนมีทหารพม่าเข้ามาประจำการจำนวนมาก ก็กินกับโรฮิงญาทั้งนั้น เพราะพืชผลที่เป็นเสบียงก็มาจากโรฮิงญา

ในรัฐอาระกัน คนยะไข่ทำอะไรก็ไม่ผิด แต่คนโรฮิงญาทำอะไรก็เข้าคุกอย่างเดียว ที่หาว่าคนโรฮิงญาคือคนบังกลาเทศ ที่จริงนั้นแค่นับถือศาสนาเหมือนกัน แต่วิถีชีวิตต่างกัน ทั้งนี้ชาวบ้านโรฮิงญาซึ่งอยู่ด้วยความลำบากต้องหนีออกจากประเทศ ชนิดที่ว่าอยากไปที่ไหนก็ไป โดยไม่ได้มาแค่ประเทศไทยเท่านั้น เดินทางไปถึงอินเดียก็มี รวมทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย คือประเทศพม่าไม่มีความยุติธรรมให้ชาวโรฮิงญา จึงอยากขอให้สังคมโลกช่วยกันกดดันผู้นำพม่า ไม่ให้เลือกปฏิบัติกับชาวโรฮิงญา

ในช่วงที่สองของการอภิปรายอาลี กล่าวด้วยว่า มาอยู่ประเทศไทยไม่ได้คิดต่อสู้กับรัฐบาล แต่มาทำมาหากิน มาขายโรตีอย่างเดียว สำหรับรัฐบาลไทยอยากฝากให้ช่วยพิสูจน์สัญชาติโรฮิงญาให้ด้วย ที่ผ่านมา เขากล่าวติดตลกด้วยว่า คนหาว่าเราไม่มีประเทศ สงสัยเราจะมาจากอเมริกาแน่ๆ

สำหรัการประชุมเรื่องผู้อพยพทางเรือวันที่ 29 พ.ค. อาลีฝากว่า อยากให้นานาชาติช่วยถามพม่าดีกว่าว่าจะให้สัญชาติเราเมื่อไหร่ เอาจริงจังกับรัฐบาลพม่า

“ผมไม่อยากให้พวกท่านที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เดือดร้อน เพราะทุกวันนี้ผมก็อายมากแล้ว นอกจากนี้ขอให้ปล่อยตัวชาวโรฮิงญาที่ถูก ตม. ควบคุมตัว 800-900 กว่าคน ขอให้ปฏิบัติแบบมนุษย์ เพราะกฎหมายประเทศไทยบอกหลบหนีเข้าเมือง แต่ทำไมขังเป็นปีๆ ถามรัฐบาล รัฐบาลก็บอกว่าส่งไม่ได้เพราะไม่มีที่รับ จึงขังไว้แบบนี้ พวกเราเป็นมนุษย์นะ กินข้าวนะ ท่านคิดดูคุกสถานีตำรวจขังคนได้ 7 คน แต่ต้องนำมาใช้ขังโรฮิงญาเป็น 100 คน นอกจากนี้ อยากให้มีพิสูจน์สัญชาติ ลูกหลานจะได้ไม่เดือดร้อน ไปโรงเรียนได้”

“เราไม่ได้จะพาครอบครัวมาอยู่เมืองไทย ถ้ากลับบ้านได้เราก็อยากกลับ เราไม่ได้อยากได้ความช่วยเหลือเพราะเราทำงานหาเลี้ยงตัวเองได้ ที่ผ่านมา เราอายมากพอแล้ว” อาลีกล่าว

 

อนุสรณ์ อุณโณ ชี้ในยุคประชากรข้ามแดน โรฮิงญาอยู่ในฐานะลำบากเพราะไม่มีสิทธิความเป็นพลเมือง

จากนั้น อนุสรณ์ อุณโณ คณบดี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้อภิปรายในประเด็น “โรฮิงญาในกระแสโลก อาเซียน สังคมไทย และในชีวิตประจำวัน” โดยกล่าวถึง โรฮิงญาในบริบทโลกในทศวรรษที่มีการเคลื่อนย้ายประชากรข้ามแดน และสังคมชาวโรฮิงญาในชุมชนมลายูในพื้นที่ชายแดนใต้

อนุสรณ์กล่าวว่า การเคลื่อนย้ายของประชากรเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานาน แม้แต่หลังยุคที่มีการขีดเส้นเขตแดน แต่ชายแดนก็มีลักษณะพร่าเลือน อย่างเช่นชายแดนไทย-มาเลเซีย ด้านภาคใต้ ที่แม่น้ำโกลกมีระยะห่างแค่ไม่กี่สิบเมตรก็ข้ามอีกฝั่งได้ การไหลไปมาของคนจึงเกิดขึ้นตลอดเวลา ยังไม่นับรวมการย้ายคนตามด่านต่างๆ

ในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ภายใต้การขยายตัวของเสรีนิยมใหม่ ก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายของผู้คนมหาศาล เกิด “อาณาบริเวณสาธารณะของผู้พลัดถิ่น” มี “นักท่องโลก” เกิดขึ้นเต็มไปหมด ภาวะเช่นนี้คือ Transnationalism และท่ามกลางการเฉลิมฉลองว่าคนมีอิสระในการเคลื่อนย้ายมากขึ้น รัฐควบคุมการเคลื่อนย้ายได้น้อยลง แต่อีกด้านที่เหลือหนึ่งคือ มีผู้คนที่ถูกบังคับ คือ ผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัยสงคราม เกิดขึ้นควบคุมไปกับภาวะข้ามชาติ ลอดรัฐ

ล่าสุด อย่างที่เป็นข่าวหน้าหนึ่ง คือในตะวันออกกลาง-แอฟริกาเหนือ ซึ่งมีการสู้รบเกิดขึ้น ทำให้เกิดการอพยพของคนไปอยู่ในเขตแดนเพื่อนบ้าน หรือในแอฟริกามีคนอพยพลงเรือพยายามจะเข้าเกาะซิซิลี ของอิตาลี เพื่อไปยุโรป ทั้งจากการหนีความยากจน และการพาตัวเองข้ามแดน

อีกกลุ่มที่น่าสนใจคือชาวโรฮิงญา ที่อพยพหนีภัยสงครามและความลำบาก แต่มีลักษณะจำเพาะคือ ขณะที่คนกลุ่มต่างๆ มีสถานะความเป็นพลเมืองของชาตินั้นๆ แต่ชาวโรฮิงญาถูกปฏิเสธความเป็นพลเมือง ด้วยเหตุนี้ทำให้สิทธิการเข้าถึงประโยชน์อันพึงมีพึงได้พื้นฐาน ทั้งการศึกษา การครอบครองที่ดิน ไม่นับความขัดแย้งที่ยังดำเนินอยู่ด้วย เป็นเหตุให้คนเหล่านี้พาตัวเองออกมาสู่ประเทศอื่นๆ เดินทางข้ามรัฐที่ตนเองไม่ได้สังกัด ถือเป็นกลุ่มผู้อพยพที่มีชะตากรรมลำเค็ญที่สุด

ส่วนบริบทของรัฐในเอเชียใต้ อุษาคเนย์ และรัฐไทย กล่าวได้ว่า รัฐจำนวนมากเป็นรัฐหลังอาณานิคม เป็นรัฐที่ขาดเสถียรภาพทางการเมือง ในสมัยอาณานิคมก็ถูกเจ้าอาณานิคมไปดึงชาติพันธุ์ใดชาติพันธุ์หนึ่งมาเป็นพวกแล้วเอาไปรบพุ่ง แต่หลังจากนั้นมาความสัมพันธ์ระหว่างคนหลายชาติพันธุ์ในรัฐนั้นก็ไม่ถูกปรับเพื่อทำให้คนในสังคมอยู่ต่อไปหลังอาณานิคม ด้วยเหตุนี้รัฐจึงขาดเสถียรภาพทางการเมืองสูง โดยสิ่งนี้เกิดขึ้นเยอะในภูมิภาคเอเชียใต้ ขณะที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจจะไม่มากเท่า

นอกจากนี้ยังมีปัญหาความยากจนที่พ่วงมา ทำให้ประเทศเหล่านั้นกลายเป็นประเทศต้นทางของกลุ่มคนชายขอบทั้งทรัพยากรและการเมือง อย่างชาวโรฮิงญาทั้งที่มาจากบังกลาเทศและพม่า

ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเปรียบเทียบถือว่าประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ หลายประเทศเป็นสังคมพหุลักษณ์ ส่งผลให้กลายเป็น “ประเทศปลายทาง” ของการอพยพ เช่น มาเลเซีย ที่คนโรฮิงญาอยากจะไปที่มาเลเซีย หรืออินโดนีเซียที่ในระยะหลังจัดการความแตกต่างได้ประสบความสำเร็จ เป็นสังคมพหุลักษณ์ เมื่อเปรียบเทียบแล้ว อินโดนีเซียน่าจะเปิดกว่ามาเลเซีย อย่างเช่นที่มีรายงานว่า เมื่อชาวโรฮิงญาไปถึงอินโดนีเซียก็ได้รับการต้อนรับจากคนท้องถิ่น ก่อนที่รัฐบาลอินโดนีเซียจะประกาศช่วยเหลือ

ส่วนประเทศไทยก็มีความเฉพาะไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก ขณะเดียวกันการจัดการของรัฐไทยกลับใช้วิธีแบบอาณานิคมภายใน เช่น กรุงเทพฯ ที่มีลักษณะจัดการพื้นที่ภายใน ขณะที่เป็นรัฐเดี่ยว สร้างรัฐขึ้นบนฐานของความเป็นชาติ ความเป็นชาติที่ผูกยึดโยงกับกลุ่มชาติพันธุ์หลักคือไทย หรือคนไทยภาคกลาง

ทั้งนี้รัฐไทยมีความหวาดระแวงต่อความแตกต่าง เอาเข้าจริงแล้วไม่ได้เป็นประเทศที่เอื้ออำนวยกับการเข้ามาของคนโรฮิงญา แต่ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ รวมทั้งมีคนไทย มีเจ้าหน้าที่ไทยเข้ามาเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ แต่โดยสภาพภูมิศาสตร์ก็เป็นประเทศผ่านทาง และเป็นประเทศปลายทางของคนจำนวนหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังมีตัวกำกับท่าทีรัฐไทย ที่ยึดโยงกับความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน ทั้งนี้อุดมการชาตินิยม สุดขั้ว คลั่งชาติ ถูกหยิบยกขึ้นมาโดยกลุ่มทางการเมืองบางกลุ่ม เช่น มีการอ้างถึงสถาบัน หรือที่ผ่านมาจะเห็นธงชาติไทยโบกสะบัดในกรุงเทพฯ และภาคใต้ ขณะที่มีรัฐบาลทหารที่ระบุว่าต้องการรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นหลัก อย่างเช่น เหตุการณ์เมื่อคืนวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา เหตุผลที่ทหารเข้ามาเจรจาใน สน.ปทุมวัน กลางดึก คือ “พวกคุณมาสร้างความไม่สงบเรียบร้อย ประเทศเราต้องการความสงบ” นี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สังคมมองการทะลักเข้ามาของโรฮิงญา เป็นภัยคุกคาม อาจกล่าวได้ว่าโรฮิงญาถือเป็นเหยื่อที่สมบูรณ์แบบในช่วงที่รัฐไทยเรียกร้องให้มีความสงบเรียบร้อยในประเทศ

“สำหรับการจัดการที่ผ่านมา สำหรับรัฐไทยเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ ว่าเป็นแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไร แต่ที่น่าปริวิตกมากกว่าคือสังคมไทย เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เผยด้านอัปลักษณ์ของสังคมไทยที่เราคาดไม่ถึง เรามีระบบค่านิยม 12 ประการ เรามีสื่อสาธารณะ ละคร เพลงปลุกใจ ฯลฯ ที่ถูกปลุกมาขับเน้นในช่วงเวลานี้ กระแสนี้ขึ้นสูงมาก เราพบเรื่องไม่น่าประหลาดใจ แต่น่าปริวิตกได้ คือเรื่องของมนุษย์ปุถุชนธรรมดาที่จะคิดถึงเพื่อนมนุษย์ อย่างเช่น ในโลกโซเชียลมีเดีย เขาให้เหตุผลในการผลักไสคนโรฮิงญา เช่น ยังมีคนไทยที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ หรือนำไปเปรียบเทียบว่าค่าอาหารเลี้ยงเด็กเท่าไหร่ เลี้ยงคนชรา เลี้ยงทหารเกณฑ์เท่าไหร่ คือเอามิติความเป็นไทยเป็นชาติเป็นตัวหลักไปเปรียบเทียบ ซึ่งเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัว”

นอกจากกระแสชาตินิยม จะเป็นตัวกำกับสังคมไทยว่าจะมีท่าทีในการรับมือชาวโรฮิงญาอย่างไรแล้ว เรื่องเชื้อชาติและศาสนาก็ถูกนำมาโยงเช่น มีบุคคลมีชื่อเสียงคนหนึ่งบอกว่าเรื่องโรฮิงญาเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ หรือหาว่าจะมายึดแผ่นดิน คือ มีการนำอคติทางศาสนามายึดโยง เหตุผลที่คนกลุ่มหนึ่งในโลกโซเชียลใช้คือ เช่น ในเพจที่แคมเปญว่าจะไม่รับชาวโรฮิงญาเข้าประเทศไทย นอกจากกล่าวหาว่ามุสลิมไม่คุมกำเนิด ฯลฯ แล้ว ในเพจเดียวกันนี้ก็จะเอาเรื่องประปรายในสามจังหวัดชายแดนใต้เข้ามาเกี่ยวข้อง ผลก็คือเกิดการแพร่กระจายข้อมูลที่เป็นด้านลบ โดยที่ผู้รับก็ไม่ได้ตรวจสอบ “ถือเป็นเรื่องน่าวิตกคือสังคมขาดความรอบรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง และพร้อมจะรับแนวความคิดสุดขั้วที่มองต่อเรื่องนี้”

ทั้งนี้ แม้จะไม่มีกระแสรณรงค์บริจาคให้ชาวโรฮิงญา เหมือนเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เนปาล แต่ที่น่ายินดีคือมีภาคประชาสังคมหลายแห่ง อย่างเช่นที่ จ.ยะลา ก็ริเริ่มทำกิจกรรมเพื่อระดมการบริจาคให้กับชาวโรฮิงญา

 

เรื่องเล่าภาคสนามจากรถเข็นโรตีโรฮิงญา ในพื้นที่ชายแดนใต้

จากนั้น อนุสรณ์ อภิปรายถึง “เรื่องเล่า” ภาคสนามในเรื่องของชีวิตประจำวันของชาวโรฮิงญา ในชุมชนชาวมลายูใน อ.รามัน จ.ยะลา โดยกล่าวว่า ชุมชนที่นั่นมีโอกาสต้อนรับชาวโรฮิงญาคนหนึ่งคือ “รุสลา” (นามสมมติ)

“รุสลา” เล่าให้ฟังว่า เขาอพยพหลบหนีมาจากรัฐอาระกัน พ่อแม่พี่น้องของเขาเกือบหมดครอบครัวถูกฆ่า เขาอาศัยช่องทางนายหน้าโรฮิงญา โดยเขาจ่ายเงินมา และเลาะชายฝั่งมาเรื่อยๆ จนมาขึ้นฝั่งไทยที่พังงา จากพังงาข้ามมา นครศรีธรรมราช จนมาถึง ยะลา โดยมาตามเส้นทางที่มีเครือข่ายของชาวโรฮิงญามาอาศัยอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว

ตอนแรกรุสลาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่ใกล้กับบ้านชาวโรฮิงญาที่มาอยู่เดิมก่อน จากนั้นเขาแต่งงานกับแม่ม่ายในหมู่บ้านที่อยู่ติดกัน แต่งงานได้ลูกมาหนึ่งคน แต่ระหองระแหงกับแม่ยายจึงย้ายมาอยู่ในอีกหมู่บ้านหนึ่ง โดยมีหญิงม่ายอุปการะให้บ้านมาอยู่ อย่างไรก็ตาม บ้านที่เขาอยู่เป็นเส้นทางที่วัยรุ่นในพื้นที่ผ่านไปมาเยอะ และเป็นวัยรุ่นที่ทำกิจกรรมปริ่มกฎหมาย เขาจึงขอย้ายมาอยู่บ้าน “บังเลาะ” ซึ่งเปิดร้านขายของชำซึ่งเปิดเป็นร้านน้ำชาด้วย และมีโรงรถเป็นที่ว่าง จึงไปขออยู่ โดยบังเลาะไม่คิดค่าเช่า แต่คิดค่าน้ำค่าไฟเดือนละ 300 บาท

“รุสลา” ขายโรตีเป็นหลัก โดยขายอยู่กับร้านน้ำชา ที่ขายข้าวยำ และข้าวเกรียบกือโป๊ะ ตกบ่ายเขาไปขายโรตีที่ทางแยก ตอนเย็นก็กลับมาโรตีที่ร้านน้ำชารอบบ่าย โดยทุกวันศุกร์เขาจะหยุดร้าน ก็จะมีเพื่อนชาวโรฮิงญา 7-8 คนมาสังสรรค์กัน ทั้งหมดเป็นญาติกันหรือมาจากหมู่บ้านเดียวกัน ส่วนใหญ่จะขายโรตี อีกส่วนจะรับแหวนจากพม่ามาตระเวนขายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ โดยขายเงินผ่อน และเงินสด ทั้งนี้เป็นเพราะคนพื้นที่สามจังหวัดชอบใส่แหวน

ต่อมา “รุสลา” ย้ายไปขายอยู่ที่ริมแม่น้ำสายบุรี เพราะมีลูกค้าเยอะกว่า แต่ต่อมาเขาถูกจับกุมที่มาเลเซีย เหตุเป็นเพราะไปต่อทำเรื่องเอกสารบางอย่าง แล้วมีปัญหาจึงถูกจับที่โกตาบารู รัฐกลันตัน ถูกตัดสินจำคุก 6 เดือน เขาติดมาแล้ว 3 เดือนและหลังได้รับการปล่อยตัว เขาจะกลับมาขายโรตีต่อไป

อนุสรณ์ กล่าวด้วยว่า ในกลุ่มของชาวโรฮิงญามีการใช้คนมลายูท้องถิ่นช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทต่อกัน เวลามีเรื่องระหองระแหง เช่นยืมเงินแล้วไม่จ่าย สิ่งนี้เหมือนการผสมกลมกลืนตัวเอง หลอมตัวเองเข้าไปในสังคมของสามจังหวัดชายแดนใต้ เขาเคยถามคนมลายูท้องถิ่นว่า ให้ชาวโรฮิงญามาอยู่ในฐานะอะไร คือเขาตอบว่านอกจากความเป็นมุสลิมรวมทั้งเหตุผลเรื่องมนุษยธรรมแล้ว ชาวบ้านท้องถิ่นบอกว่าไม่รู้สึกว่าคนเหล่านี้มีอันตราย

“ในแง่ของชาวโรฮิงญาที่มาทางเรือ ชาวบ้านบอกว่าควรจะรับไว้ก่อน ช่วยเหลือเจือจานกันไป แล้วอย่างไรก็ว่ากันอีกที กล่าวคือ คนในพื้นที่แห่งหนึ่งได้ต้อนรับการเข้ามาของคนโรฮิงญา และอยู่ร่วมกันได้ โอเค ในสามจังหวัดมีลักษณะจำเพาะนอกจากการคล้ายคลึงในศาสนาแล้ว ยังมีเรื่องกฎหมายที่ใช้บังคับไม่ได้ด้วย เพราะในหมู่บ้านไม่มีตำรวจ ร้อยวันพันปีถึงจะสนธิกำลังมากับทหารมาตรวจค้นกันสักที”

ในช่วงท้าย อนุสรณ์ กล่าวถึงข้อพิจารณาต่อสถานการณ์อพยพทางเรือของชาวโรฮิงญาว่า สังคมไทยจะเผชิญหน้ากับสิ่งนี้อย่างเท่าทันโดยไม่สูญเสียความเป็นมนุษย์ได้อย่างไรถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องพิจารณา สำหรับสังคมสามจังหวัดภาคใต้ เขาตอบโจทย์เรื่องนี้ด้วยการช่วยเหลือ ในฐานะที่เป็นเรื่องศาสนา มนุษยธรรม และที่สำคัญ เขาไม่สมาทานอุดมการณ์ของรัฐไทยเต็มที่

อนุสรณ์กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ วิธีคิดเรื่องการช่วยเหลือผู้อพยพ แล้วเอาไปเทียบกับการช่วยเหลือคนทุกข์ยากในสังคม แล้วบอกว่าช่วยผู้อพยพไม่คุ้ม แต่ที่จริงแล้วการอุทิศหรือ Contribution ของคนเหล่านี้ในทางเศรษฐกิจมีนัยยะสำคัญ อย่างศูนย์พักพิงตะเข็บชายแดน กลายเป็นแหล่งจ้างแรงงานของคนในพื้นที่ หรือกรณีที่เกิดภาคเศรษฐกิจไม่เป็นทางการ เช่น คนขายโรตี เป็นต้น ทั้งนี้ เป็นข้อที่สังคมไทยยังเข้าใจคาดเคลื่อนคิดว่าการมีผู้อพยพแล้วเราจะแบกรับภาระ ทั้งที่ส่วนหนึ่งของงบประมาณความช่วยเหลือจะมาจากต่างประเทศ

นอกจากนี้อาจจะต้องกลับมาคิดเรื่องการยอมรับอัตลักษณ์ของผู้คนที่แตกต่าง รวมทั้งต้องเรียกร้องรัฐอีกประเภทหนึ่งด้วย นั่นคือ รัฐที่ยืดหยุ่นแยกย่อย ไม่ใช่รัฐที่คิดแบบปิดประเทศ ทั้งนี้แนวโน้มของรัฐแบบทหาร จะชูแนวคิดชาตินิยม เพราะคิดว่าจะปิดประเทศ จะอยู่ตามลำพัง คิดว่าเรายิ่งใหญ่อยู่ได้ด้วยตนเอง แต่เราก็เห็นท่าทีจากทั้งสหประชาชาติ และสหภาพยุโรปว่าเขาคิดกับเราอย่างไรในเรื่องนี้

ในส่วนของสมาคมอาเซียน อนุสรณ์กล่าวว่า อาเซียนต้องไม่ใช่เป็นแค่สมาคมพ่อค้าที่จ้องจะหากินอย่างเดียว เพราะจะร่วมมือเศรษฐกิจกัน แต่โครงสร้างพื้นฐานระหว่างรัฐ ความสัมพันธ์ต่อกันมันก็ต้องเหมาะควรด้วย ไม่อย่างนั้นจะเป็นความฝันสลายของ AEC ทำอย่างไรเราจะพ้นไปจากความคลั่งชาติ ไปสู่สังคมพหุลักษณ์ที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย เรื่องโรฮิงญานี้ไม่ต่างจากวิธีคิดต่อสามจังหวัดชายแดนใต้ คือมันมีบางอย่างในวิธีคิดหรือ Mentality ที่ยึดโยงเรื่องนี้ไว้ ทั้งนี้ถ้าสังคมไทยไม่เห็นความสำคัญของพลเมืองและสิทธิความเป็นพลเมือง ก็อย่าได้ฝันว่าเราจะรับมือปัญหาชาวโรฮิงญาได้อย่างรอบด้านและเท่าทัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท