Skip to main content
sharethis

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มอบอำนาจให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จัดทำแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้, การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2557 โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่าไม้อย่างต่อเนื่องจนปริมาณลดลงจำนวนมาก ด้วยการวางยุทธศาสตร์ภายใน 10 ปี ต้องทวงคืนพื้นที่ป่าไม้ให้ได้อย่างน้อย 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศไทย

แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาการประกาศเขตป่าสงวนและเขตอุทยานทับที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของประชาชนทั่วประเทศไทยเป็นปัญหาหนึ่งที่เรื้อรังและมีการต่อสู้เรียกร้องมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน มีประชาชนจำนวนมากที่อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนกับเขตป่าสงวนและเขตอุทยานแห่งชาติมีฐานะเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย และมีความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีจากรัฐได้ทุกเมื่อ

ดังนั้น แผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ฯ ย่อมสร้างความระแวงหวาดกลัวให้กับประชาชนไทยทั่วสารทิศจากภาคเหนือจรดภาคใต้ แม้ ‘ยุทธการทวงคืนผืนป่า’ ของ กอ.รมน. และกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจะพุ่งเป้าเพื่อขจัดกลุ่มนายทุน ผู้มีอิทธิพลบุกรุกป่าก็ตาม

5 จังหวัดรอบเทือกเขาบรรทัดร้อนหารือต่อเนื่อง

ก่อนหน้านี้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 5 พฤษภาคม 2558 ระบุว่าถึงคิวดาหน้าตัดฟันยางพาราภาคใต้แล้ว และหนึ่งในนั้น คือ อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า จึงสร้างความร้อนรนให้กับประชาชนแนวเขตป่าอนุรักษ์บริเวณเทือกเขาบรรทัด 5 จังหวัดพัทลุง, ตรัง, นครศรีธรรมราช, สงขลา และสตูล และพยายามมีการหารืออย่างต่อเนื่องจากวันที่ 17 พฤษภาคม 2558

วันที่ 23 พฤษภาคม 2558 ณ ห้องประชุมสำนักงานเทศบาลตำบลบ้านนา อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ขบวนแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเดิมแนวเทือกเขาบรรทัด จ.พัทลุง, ตรัง, นครศรีธรรมราช, สงขลา และสตูล ประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินเขตภูมินิเวศน์เทือกเขาบรรทัด

โดยมีประชาชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลจากจังหวัดตรัง,พัทลุง,นครศรีธรรมราช,สงขลาและสตูล รวมถึงเจ้าหน้าที่ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน-พอช.) เข้าร่วมประมาณ 140 คน

มติรับข้อตกลงร่วมแก้ไขปัญหาที่ดินเดิมด้วยตนเอง

ที่ประชุมมีมติรับบันทึกข้อตกลงร่วม ‘การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเดิมและที่อยู่อาศัยการอนุรักษ์ผืนป่าแนวเทือกเขาบรรทัด’ ด้วยหลักการและเหตุผลว่า ร้อยกว่าปีที่ผ่านมารัฐได้ใช้กฎหมายหลายฉบับและกลไกการทำงานของรัฐเป็นหลักในการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ พิสูจน์ได้ว่าพื้นที่ป่าไม้ลดลงประมาณปีละ 1.3 ล้านไร่ จนถึงขั้นวิกฤตทั่วประเทศ เป็นเหตุผลให้องค์กรชุมชนรวมตัวกันเป็นเครือข่ายจัดการปัญหาที่ดินและทรัพยากรด้วยตนเอง

เทือกเขาบรรทัด เป็นเทือกเขาที่ทอดยาวกั้นแนวฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามันจากจังหวัดนครศรีธรรมราชถึงจังหวัดสตูล คลอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ครอบคลุม 19 อำเภอ 43 ตำบล โดยแบ่งเป็น 16 ตำบล จาก 6 อำเภอของจังหวัดตรัง 15 ตำบลจาก 6 อำเภอของจังหวัดพัทลุง 3 ตำบลจาก 2 อำเภอของจังหวัดนครศรีธรรมราช 2 ตำบลจาก 1 อำเภอของจังหวัดสงขลา และ 7 ตำบลจาก 4 อำเภอของจังหวัดสตูล

รัฐประกาศเขตป่าอนุรักษ์ทับที่-ปัญหาสารพัด

ในบันทึกข้อตกลงร่วม ‘การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเดิมและที่อยู่อาศัยการอนุรักษ์ผืนป่าแนวเทือกเขาบรรทัด’ ระบุถึงปัญหาว่า ถูกรัฐประกาศเขตป่าทับซ้อน 2 ประเภท คือ อุทยานแห่งชาติเขาปู-เขาย่า ประมาณ 433,750 ไร่ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ประมาณ 791,847 ไร่ ถูก ตรวจยึด จับกุม ดำเนินคดี ฟ้องศาล ยางถูกโค่น จำคุก คดีทางแพ่งปรับกรณีก่อปัญหาโลกร้อน ปัญหาการตัดโค่นยางพาราของเจ้าหน้าที่ การปรับเปลี่ยนพันธุ์พืชไม่ได้ พื้นที่ที่มีเอกสารแสดงสิทธิที่ดิน เช่น นส.3, สค 1, นค1, นค.3, สปก.4-01 ไม่สามารถออกโฉนดได้ และไม่สามารถขอทุนสงเคราะห์ได้ ทั้งที่เดิมเคยขอได้ และการถูกเรียกเก็บเงินจากเจ้าหน้าที่กรณีโค่นยางหมดอายุ การปลูกยาง ถางสวนยาง

คณะทำงานขบวนเขาบรรทัด 22 ตำบลลงชื่อพร้อมร่วมแก้

บันทึกข้อตกลงร่วมขบวนแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเดิมแนวเทือกเขาบรรทัด พัทลุง, ตรัง, นครศรีธรรมราช, สงขลา และสตูล โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญ คือ การมีคณะทำงานขบวนแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเดิมแนวเทือกเขาบรรทัด โดยให้แต่ละตำบลเสนอตัวแทนตำบลละ 2 คน จาก 5 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 76 คน มีกองเลขานุการ 2 คน และที่ปรึกษา จำนวน 5 คน

โดยเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา ตัวแทนประชาชน ตำบลละ 2 คน ซึ่งเป็นคณะทำงานขบวนแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเดิมแนวเทือกเขาบรรทัด ประกอบด้วย ตำบลบ้านนา ตำบลชุมพล อำเภอศรีนครินทร์ ตำบลตะแพน ตำบลเขาปู่ อำเภอศรีบรรพต ตำบลลานข่อย อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง ตำบลปะเหลียน อำเภอปะเหลียน ตำบลเขาไพร ตำบลหนองบัว อำเภอรัษฏา ตำบลในเตา ตำบลห้วยยอด อำเภอห้วยยอด ตำบลละมอ ตำบลช่อง อำเภอนาโยง ตำบลน้ำผุด อำเภอเมือง จังหวัดตรังตำบลวังอ่าง ตำบลเขาพระทอง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ตำบลควนกาหลง อำเภอควนกาหลง ตำบลปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง ตำบลทุ่งหว้า ตำบลป่าแก่บ่อหิน อำเภอทุ่งหว้า ตำบลน้ำผุด อำเภอละงู จังหวัดสตูล ตำบลท่าชะมวง และตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา จำนวน 22 ตำบล จาก 43 ตำบล ใน 5 จังหวัดรอบเทือกเขาบรรทัดและได้ร่วมกันลงชื่อแนบท้ายบันทึกข้อตกลงร่วมขบวนแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเดิมแนวเทือกเขาบรรทัด

ตั้งทีมยุทธศาสตร์รวมข้อมูล ‘ศึกษากฎหมาย-นโยบาย-สร้างกติการ่วม’

บันทึกข้อตกลงร่วมขบวนแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเดิมแนวเทือกเขาบรรทัด พัทลุง, ตรัง, นครศรีธรรมราช, สงขลา และสตูล ยังระบุให้มีคณะทำงานยุทธศาสตร์ขบวนแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเดิมแนวเทือกเขาบรรทัด โดยมาจากจังหวัดตรังและพัทลุง จังหวัดละ 5 คน สตูลและนครศรีธรรมราช จังหวัดละ 3 คน ส่วนจังหวัดสงขลา 2 คน มีกองเลขานุการ 2 คน มีที่ปรึกษา 5 คน รวมเป็น 25 คน และให้มีผู้ประสานงานจังหวัดละ 1 คน

สำหรับคณะทำงานยุทธศาสตร์ฯ ประกอบด้วย นายประสาท ท่องคง นายสุชาติ สงจันทร์ นายขนิฐ คงทอง นายปลอด  ท่องคง นายชำนิ ยอดแก้วเรือง จากจังหวัดพัทลุง นายอานนท์  สีเพ็ญ นายสมศักดิ์ พรมแก้ว นายจีรวัฒน์  ควนวิลัย นายธันวาคม  หนูจันทร์ นางบุญทิพย์ เกตุทอง จากจังหวัดตรัง นายหลั่มหลี อรุณฤกษ์ นายทัน  จีนหวั่น นายสมพร  เกลี้ยงกลม จากจังหวัดสตูล นายจำเนียร  คงขำ นายสุทิน  สุกใส นายเทิดศักดิ์ บุญสุวรรณ จากจังหวัดนครศรีธรรมราช นางสาววรรณณี หลงพัน นายชะหริฟ  หมัดล๊ะ จากจังหวัดสงขลา

โดยมีนายสมปอง บุญรอด จากจังหวัดตรัง และนางนิสรา ละมูลสุข จากจังหวัดสตูล เป็นเลขานุการ ขณะที่ปรึกษาคณะทำงานยุทธศาสตร์ฯ คือ นายกรีฑา ด้วงมณี นายจรูญ ทองบุญแก้ว นายอำนวยโชค ฮุ้ยเคียน และนายสายัญ ทองสม

คณะทำงานยุทธศาสตร์ฯ มีบทบาทหน้าที่ คือ

1. รวบรวมข้อเท็จจริงของพื้นที่ตำบล จังหวัด เป็นข้อมูลระดับเครือข่าย
2. ศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พ.ร.บ. มติ ครม. กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ระเบียบ หลักเกณฑ์ คู่มือการปฏิบัติ  ประกาศจังหวัด อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
3. พัฒนาข้อเสนอการแก้ปัญหาจำแนกตามประเภทปัญหาตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
4. เจรจาการขอมาตรการคุ้มครองชั่วคราวในการแก้ปัญหากับหน่วยงาน ระดับพื้นที่ จังหวัด นโยบาย
5. พัฒนาระเบียบ ข้อตกลง ข้อบัญญัติ เทศบัญญัติ สู่ธรรมนูญเทือกเขาบรรทัด
6. หนุนเสริมพื้นที่ตำบลในภูมินิเวศน์เทือกเขาบรรทัด
7. กรณีตำบลใดหรือจังหวัดใดมีแนวเขตติดต่อเทือกเขาบรรทัดมีระเบียบหรือกฎกติกาเดิมอยู่แล้วให้ใช้หลักเกณฑ์นี้เป็นหลัก

นัดหารืออีกครั้ง 30 พฤษภา พัฒนาข้อมูลเพื่อเจรจา

บันทึกข้อตกลงร่วมขบวนแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเดิมแนวเทือกเขาบรรทัด พัทลุง, ตรัง, นครศรีธรรมราช, สงขลา และสตูล กำหนดภารกิจเร่งด่วน คือ การรวบรวมข้อเท็จจริง ข้อมูลผู้เดือดร้อน สภาพปัญหาของแต่ละตำบลที่สามารถประสานงานได้จากทั้งหมด 43 ตำบล ใน 19 อำเภอของ 5 จังหวัด เพื่อเจรจากับทหาร รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสกัดก่อนการถูกตัดฟันและยุติการดำเนินคดีกับประชาชน โดยนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 30 พฤษภาคม 2558 ที่องค์การบริหารส่วนตำบลช่อง อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง

ส่วนแนวทางการปฏิบัติการพัฒนาข้อมูลของแต่ละตำบล คือ

1. การทำข้อมูลผู้เดือดร้อน แผนที่ทำมือ สืบค้นประวัติชุมชนและประวัติการถือครองรายแปลง ทำข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) รายแปลงลงในแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศมาตราส่วน 1:4000
2. การจำแนกแนวเขตพื้นที่ชุมชน พื้นที่ป่า จำแนกประเด็นปัญหาที่ดินทับซ้อน ลงในแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศมาตราส่วน 1:4000
3. ดำเนินการจัดทำกติกาของชุมชน ในการดูแลรักษาพื้นที่ป่า การใช้ประโยชน์ที่ดินเสนอเป็นข้อบังคับสภาองค์กรชุมชน และพัฒนาเป็นข้อบัญญัติท้องถิ่นว่าด้วยเรื่องการจัดทรัพยากรดิน น้ำ ป่า และสิ่งแวดล้อม
4. การรับรองข้อมูลการทำกินในที่ดินเดิมผ่านเวทีผู้เดือดร้อน สภาองค์กรชุมชน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และออกหนังสือรับรองข้อมูลรายชุมชน รายแปลง

ระดมหนุนช่วยพัฒนาข้อมูลตำบลต้นแบบ-แล้วเปิดเจรจา

ขบวนแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเดิมแนวเทือกเขาบรรทัด พัทลุง, ตรัง, นครศรีธรรมราช, สงขลา และสตูล ได้ให้แต่ละจังหวัดเสนอพื้นที่นำบนต้นแบบที่ได้ทำข้อมูล และมีความพร้อมกว่าตำบลอื่น โดยจังหวัดตรังให้ตำบลช่อง อำเภอนาโยง เป็นตำบลนำร่อง จังหวัดพัทลุงได้เสนอให้ตำบลลานข่อย อำเภอป่าพะยอม เป็นตำบลนำร่อง จังหวัดสตูลให้ตำบลปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง เป็นตำบลนำร่อง จังหวัดสงขลาเสนอให้ตำบลท่าชะมวงเป็นตำบลนำร่อง ส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราชยังไม่พร้อมที่เสนอตำบลใด

ทั้งนี้ในการจะเปิดเจรจากับทหาร รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสกัดก่อนการถูกตัดฟันและยุติการดำเนินคดีกับประชาชนนั้น ขบวนแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเดิมแนวเทือกเขาบรรทัดย้ำเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าข้อมูลต้องพร้อมสมบูรณ์ จึงจำเป็นต้องระดมคณะทำงานยุทธศาสตร์หนุนช่วยตำบลต้นแบบที่แต่ละจังหวัดเสนอก่อน เพื่อเปิดทางนำร่องในการเจรจา

เล็งร่วมเทือกเขาบูโดเจรจาสำนักนายกตอนลงใต้

ในการประชุมหารือขบวนแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเดิมแนวเทือกเขาบรรทัดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา มีตัวแทนจากเครือข่ายแก้ปัญหาที่ดินบูโด-สุไหงปาดี ได้มาเล่าถึงสภาพปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดิน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ในพื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติ บูโด-สุไหงปาดี และตัวแทนจากเครือข่ายแก้ปัญหาที่ดินบูโด-สุไหงปาดีได้แนะช่องทางหนึ่งเดียวกับที่เทือกเขาบูโดใช้ในการเจรจา คือ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

ขบวนแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเดิมแนวเทือกเขาบรรทัดก็เห็นด้วยที่จะร่วมเจรจาพร้อมเครือข่ายแก้ปัญหาที่ดินบูโด-สุไหงปาดี กับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีตอนที่ลงมาภาคใต้  แต่ทั้งนี้เบื้องต้นข้อมูลตำบลต้นแบบต้องเสร็จก่อน ส่วนตำบลที่เหลือต้องเร่งทำข้อมูลความเดือดร้อน ถึงจะเปิดเจรจาได้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net